Skip to main content
sharethis

"รอมฎอน" ชมนโยบายรัฐบาลแพทองธารมองปัญหาถูกจุดปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องการเมือง แต่ยังมีเรื่องที่ต้องทบทวนทั้งการใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ กลไกหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. ไปจนถึงยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด "ทวี" ตอบว่ารัฐบาลจะเดินหน้าสร้างทั้ง "สันติภาพ" และ "สันติสุข" 

เมื่อวานนี้ 12 ก.ย.2567 ที่ประชุมรัฐสภา ในวาระรัฐบาลแถลงนโยบาย รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชนลุกกล่าวอภิปรายนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลแพทองธาร

รอมฎอน กล่าวว่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งชายแดนใต้นี้ผ่านมาแล้ว 10 รัฐบาล 8 นายกฯ แล้วแพทองธารจะเป็นนายกฯ ในรอบ 20 ปีนี้ที่จะต้องรับมือและภาระในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

นโยบายและการทำงานตลอด 20 ปี 12 ก.ย.เมื่อ 10 ปี ที่แล้วก็เป็นวันแถลงนโยบายของประยุทธ์หลังการรัฐประหารของยิ่งลักษณ์ รัฐบาลประยุทธ์ก็เขียนนโยบายมา 1 ย่อหน้าเรื่องนี้ว่าเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ

3 คำนี้เป็นแนวทางที่รัฐบาลทักษิณได้รับคำแนะนำมาจากในหลวง ร.9 เมื่อ 23 ก.พ. 2547 หลังจากเกิดความไม่สงบในชายแดนใต้มาได้ราว 2 เดือนแล้วก็ได้ให้แนวคิดเรื่อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาด้วยเช่นกัน ปัจจุบันก็แพร่กระจายไว้หน่วยงานทั้ง กอรมน.ด้วย

1ปีที่แล้วเป็นของรัฐบาลเศรษฐาก็มีนโยบายเรื่องนี้และเขาเองก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้เพราะไม่ได้ระบุเรื่องชายแดนภาคใต้ไว้ตรงๆ เขาประเมินว่ารัฐบาลเศรษฐาคงไม่แยแสแล้วหรืออาจจะไม่กล้าแตะเรื่องฝ่ายความมั่นคงยังครองอยู่ในมือ ตอนนั้นกองทัพยังถือว่ามีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา

แล้วรัฐบาลแพทองธารนี้เขียนเรื่องชายแดนใต้ไว้ว่า “...รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” ซึ่งเขาก็มองว่าประโยคนี้เพียงประโยคเดียวก็มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะวางอยู่ในส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย การมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและการปฏิรูประบบราชการและกองทัพ

“เท่ากับเป็นการมองปัญหาชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็นปัญหาทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่ต้องออกแบบในเชิงสถาบันว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” รอมฎอนมองว่าการวางเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วยกันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและเป็นการตั้งหลักของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างสำคัญมาต่างจากรัฐบาลก่อนๆ

สส.พรรคประชาชนกล่าวว่าในรัฐบาลที่ผ่านๆ มานั้นมองเรื่องปัญหาในชายแดนใต้ว่าเป็นเรื่องของอาชญากรรม ความรุนแรง การฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือเรื่องอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเรื่องชายแดนใต้ถูกมองว่าเป็นปัญหาการเมืองเป็นเรื่องเรื่องที่เขาเห็นด้วยว่าถูกต้องแล้วและต้องการทางออกทางการเมือง

แต่ 1 ปีที่ผ่านมารอมฎอนมองว่าการแก้ปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องที่สูญเปล่าแม้ว่าเศรษฐาในฐานะนายกฯ จะลงพื้นที่ไปหลายครั้งหรือได้ไปพบปะกับนายกฯ มาเลเซียหลายครั้งแต่กลับไม่มีความคืบหน้าที่สำคัญมากนัก แต่กลับหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสันติภาพหรือความมั่นคง ย้ำแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น

ส่วนการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็เดินหน้าไปอย่างเชื่องช้าโดยไม่ได้รับการผลักดันจากทำเนียบรัฐบาล แล้วยังขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 5 ครั้งรวมเป็น 77 ครั้ง และไม่รับรองร่างกฎหมาย กอ.รมน. เพื่อให้สภาได้พิจารณา ไปจนถึงไม่ปรับอัตรากำลังลงตามที่แถลงไว้เป็นนโยบาย การจัดการปัญหาชายแดนใต้จึงยังคงถูกครอบงำโดยหน่วยงานราชการและกองทัพไร้แรงผลักดันจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็นที่สำคัญกว่านั้นคือไม่แตะกฎอัยการศึก

“เรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีแพทองธารต้องเรียนรู้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนและแน่วแน่มั่นคงในการแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สัญญาณแนวโน้มความรุนแรงจะหวนกลับคืนมา ตอนนี้มีสัญญาณแบบนี้ถี่ขึ้น ถ้าเราไม่มุ่งมั่นแก้ปัญหาและนำในทางการเมืองโดยรัฐบาล ผมนึกถึงภาพที่เราเคยเห็นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้จึงต้องขีดเส้นใต้ท่านนายกรัฐมนตรีต้องให้ความใส่ใจให้ความสำคัญ”

นอกจากในปี 2570 จะเป็นปีที่รัฐบาลอาจหวังว่าจะอยู่จนครบเทอมแล้ว ตามแผนยุทศาสตร์ชาติยังกำหนดเป้าหมายไว้ด้วยว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นศูนย์ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีหน่วยงานใดเลยที่สามารถให้หลักประกันได้ว่าเป้าหมายนี้จะบรรลุ

อย่างไรก็ตาม แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรียังเป็นหัวโต๊ะของหน่วยงานต่างๆ ที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายต่างๆ ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) และจะต้องใส่ใจกับกลไกเหล่านี้เพราะเป็นหน่วยงานที่จะกำหนดทิศทางชี้ชะตาของจังหวัดชายแดนใต้ว่าจะไปในทิศทางใด

นอกจากนั้นยังต้องรู้ด้วยว่าที่ผ่านมา งบประมาณที่ใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ใช้ไปแล้วถึง 5.6 แสนล้านบาท และจะต้องไม่โดนหน่วยงานราชการหลอกที่ในปีหลังๆ จะถูกระบุว่ามีใช้แค่ประมาณไม่กี่พันล้าน แต่งบที่จะใช้กับชายแดนใต้มี 3-4 หมื่นล้าน

รอมฎอนกล่าวว่า แพทองธารจะต้องพลิกแกนการแก้ปัญหาให้กระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางการเมืองเป็นหลัก เพราะถ้าปล่อยปะละเลยให้มุมมองความมั่นคงครอบงำแก้ไขปัญหาภาครัฐต่อ จะไม่เป็นประโยชน์และทำให้ปัญหาค้างเติ่งยาวนานออกไป

รอมฎอน 3 ประเด็นที่จะเป็นตัวชี้วัดภาวะผู้นำของคุณแพทองธาร และอนาคตของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้

เรื่องแรก ในวันที่ 19 กันยายน 2567 จะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 77 มาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ และในตอนนี้ ครม.ใหม่นี้จะต้องตัดสินใจว่าจะมีครั้งที่ 78 ต่อไปอีกหรือไม่

เรื่องที่สอง นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจว่าจะทบทวนกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ทั้ง กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง แม้ว่าตอนรัฐบาลเศรษฐาจะเคยปัดตกไป แต่พรรคประชาชนก็เตรียมเสนอเข้าสภาอีกครั้ง แพทองธารจะต้องตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้สภาได้ถกเถียงกันถึงอนาคตของ กอ.รมน. หรือไม่ นายกรัฐมนตรีจะยังคงยืนอยู่ที่จุดยืนเดิมหรือว่าจะเปลี่ยนไปเพราะตัวเขาเองก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเพราะนโยบายของรัฐบาลแพทองธารได้ส่งสัญญาณเชิงบวกมาแล้ว

รอมฎอนกล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบว่าในวันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีนัดสอบคำให้การจำเลยที่กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบดำเนินการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คนไว้ตั้งแต่ 25 เม.ย.2567 และศาลก็รับฟ้องไว้ 7 คน เมื่อ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย 1 ในนั้นเป็นเพื่อน สส.ของเราในพรรคเพื่อไทย แต่นัดสอบคำให้การนัดแรกก็ไม่มีจำเลยไปปรากฏตัวที่ศาลเลยแม้แต่คนเดียว จนศาลต้องออกหมายจับจำเลย 6 คน และจะทำหนังสือแฉพาะจำเลยที่ 1 มายังประธานสภาฯ เพื่อขออนุญาตจับกุม

“เรื่องนี้เป็นมรดกที่คนรุ่นผม คนรุ่นแพทองธาร นายกรัฐมนตรีต้องแบกรับต่อ ผมอยากเห็นการแสดงความกล้าหาญทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ มาร่วมคลายปมปัญหานี้ไปด้วยกัน แสดงจุดยืนว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดต้องไม่เกิดขึ้นอีก การฆ่าประชาชนที่มีคนต้องสูญเสียไปเห็นร้อยคนแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” รอมฏอนย้ำและขอให้รัฐบาลยืนยันว่าต้องไม่มีกล้าฆ่าประชาชนแบบที่เคยเกิดในนราธิวาส มุกดาหาร เมืองกาญจนฯ นครพนม เชียงใหม่ หรือใจกลางกรุงเทพอีกครั้ง

สส.พรรคประชาชนกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องกล้าแสดงจุดยืน และขอให้โน้มน้าวใจเพื่อน สส.เดินทางไปที่ศาลในนัดครั้งต่อไปในวันที่ 15 ต.ค.นี้ที่จะเหลือเวลาอีกแค่ 10 วัน และพี่น้องประชาชนก็รอมาแล้ว 20 ปี เราจะมาสร้างบรรทัดฐานและนิติธรรมที่เข้มแข็งด้วยกัน เราในฐานะฝ่ายค้านยินดีทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีสร้างสันติภาพและสร้างหลักนิติธรรม ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศนี้ไปพร้อมกัน จึงขอคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีด้วย

รัฐบาลเดินหน้าสร้าง "สันติภาพ" และ "สันติสุข"

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบในประเด็นนี้ว่า เรื่องจังหวัดชายแดนใต้รัฐบาลได้นำมารวมไว้กับเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ที่ผ่านมาแม้ว่าจะแก้ไขความยากจนยังเกิดปัญหา แก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดแล้วก็ยังเกิดปัญหา ไปจนถึงการแก้ไขให้มีสวัสดิการก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะปัญหาจริงของพื้นที่คือเรื่องการบริหารและการปกครอง รัฐบาลจึงนำเรื่องชายแดนใต้ไปอยู่ในหมวดของการเมืองที่จะพิจารณาร่วมกันใน 4 หัวข้อคือ

  1. รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
  2. รัฐบาลต้องยึดหลักนิติธรรมและความโปร่งใส่ กฎหมายต้องเป็นธรรมและต้องอยู่เหนือบุคคลหรือเหนือคำพูดของผู้มีอิทธิพล
  3. ปฏิรูประบบราชการ เพราะที่ผ่านมาขยายไปสู่บริหารส่วนภูมิภาคแต่จริงๆ แล้วเป็นการขยายไปยึดอนาจท้องถิ่นจึงต้องปฏิรูป
  4. ทำให้ภาครัฐตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า เรื่องชายแดนใต้จะอยู่ในประเด็นเร่งรัดเรื่องรัฐธรรมนูญ และได้บรรจุเรื่องการสร้าง “สันติภาพ” และ “สันติสุข” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทวีกล่าวว่าในช่วงปี 2556 เขาเป็น 1 ในคณะพูดคุยกับผู้เห็นต่างเขาได้ใช้คำว่า “สันติภาพ” แต่หลังการรัฐประหารมีการเปลี่ยนเป็นคำว่า “สันติสุข” แทน แม้ว่าสองคำนี้ความหมายอาจคล้ายกันแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “สงครามความรู้สึก” รัฐไทยอาจมองว่าประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งจึงไม่ควรใช้คำว่า “สันติภาพ” เพราะว่าความขัดแย้งอาจนำไปสู่การต่อสู้ประหัตประหารกันรัฐบาลในเวลานั้นจึงมองว่าเป็นเรื่องของปัญหาภายในความไม่เป็นธรรมหรือปัญหาทั่วไปจึงใช้คำว่าสันติสุขแทน

“แต่ในรัฐบาลนี้เราใช้คำว่าสันติภาพและสันติสุข” ทวีกล่าว แต่เขาก็เห็นว่าการสร้างสันติภาพและสันติสุขนั้นต่างเป็นคำที่ใหญ่มาก เบื้องหลังของสันติสุขประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี มีความรู้มีศักยภาพ

ส่วนประเด็นเรื่องที่ข้อห่วงกังวลถึงการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทวีกล่าวว่า จะต้องมีกฎหมายที่ดี สนองเจตนารมณ์ของคนในจังหวัดชายแดนใต้และกฎหมายนั้นจะต้องส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมและการสงเคราะห์รวมถึงการเจริญทั้งด้านจิตใจและวัตถุ อีกทั้งจะต้องกำหนดให้มีผู้นำในชายแดนภาคใต้ที่ดี มีความยุติธรรมและมีความรับผิดชอบ

รมว.ยุติธรรมกล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลแถลงแล้วไปผูกมัดกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้คือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมและเปลี่ยนมิติใหม่จากเดิมที่มีเพียงเรื่องความมั่นคงของรัฐอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงของคนในชายแดนใต้หรือความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของประชาชนจะต้องเป็นเรื่องเดียวกันและยังจะต้องขยายไปสู่เรื่องความยั่งยืน ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมและการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือการมีประชาธิปไตย

ทวีกล่าวว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ช่วงปี 2554-2555 ที่มีความรุนแรงมากที่สุดแต่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพและสันติสุขก็ต้องนำความยุติธรรมเข้าไป มีการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ และเหตุการณ์อื่นๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดในทุกยุคทุกสมัย สิ่งที่สูญเสียในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนอาจมองว่าไม่ว่าเรื่องใดก็ไปจบลงที่ศาล แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นความสำคัญจึงจัดให้มีการเยียวยากรณีของตากใบโดยใช้เงินไป 261 ล้านบาทกับคน 987 คน แล้วกรณีที่เป็นผู้เสียชีวิตก็มีการจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่าสำหรับความยุติธรรมโดยการเยียวยาในเวลานั้นยังไม่พอ การเรียกร้องส่วนของกระบวนการยุติธรรมด้วยก็เห็นใจกับผู้สูญเสียที่ใช้กระบวนการทางศาลไปฟ้องเขาทราบว่ามีการดำเนินคดีแล้วอยู่ในการพิจารณาของอัยการสูงสุด และรัฐบาลก็มีความมุ่งมั่นว่าเรื่องชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net