Skip to main content
sharethis

พลันที่พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) นำโดยกองกำลังโกก้าง MNDAA, กองกำลังตะอาง TNLA, กองกำลังอาระกัน AA และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เปิดปฏิบัติการ 1027 ภาค 2 รุกคืบในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า มาตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. 2567 กองกำลังสามารถยึดเมืองสำคัญในรัฐฉานตอนเหนือตามทางหลวงหมายเลข 3 ที่เชื่อมต่อมัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว โดยกองกำลังตะอาง TNLA และฝ่ายต่อต้านยึดเมืองสีป้อ, จ็อกแม, หนองเขียวในรัฐฉาน ทำให้กองทัพพม่าเสริมกำลังสร้างแนวป้องกันทางหลวงหมายเลข 3 อยู่ที่ปยินอูลวิน ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศ และเป็นที่ตั้งทางทหารสำคัญอย่างโรงเรียนการทหาร (DSA)

กองกำลังตะอาง TNLA ยังยึดเมืองตามทางหลวงหมายเลข 31 สายมัณฑะเลย์-มิตจีนา ได้แก่ เมืองมีด ในรัฐฉาน และเมืองกุด ในภาคมัณฑะเลย์ ติดชายแดนรัฐฉาน และมีรายงานว่าพื้นที่ตอนเหนือชานเมืองมัณฑะเลย์อย่างซินกู และมัตตะยา ถูกฝ่ายต่อต้านยึดเช่นกัน

สมรภูมิสำคัญของปฏิบัติการ 1027 เฟส 2 อยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว เมืองสำคัญตอนเหนือของรัฐฉาน บนทางหลวงหมายเลข 3 เชื่อมตอนกลางของพม่าและชายแดนรัฐฉานเหนือ-จีน โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังโกก้าง MNDAA อ้างว่าสามารถยึดกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Regional Military Command) ของกองทัพพม่า โดยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พม่าได้เอกราชที่ประสบความพ่ายแพ้ระดับสูญเสียกองบัญชาการภาค

กองกำลังโกก้างพยายามกวาดล้างทหารพม่าในพื้นที่ส่วนที่เหลือรอบๆ เมืองล่าเสี้ยว ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ยังมีข่าวกองทัพสหรัฐว้า UWSA ส่งทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่สำคัญในเมืองล่าเสี้ยว โดยอ้างว่าได้รับการประสานจากรัฐบาลทหารพม่า เพื่อเข้ามาปกป้องเขตธุรกิจและสำนักงานประสานงานของกองทัพสหรัฐว้า

นอกจากนี้ ยังมีข่าวกองทัพสหรัฐว้า UWSA เคลื่อนกำลังทหารเข้ามายึดเมืองต้านยาง ทางทิศตะวันออกของล่าเสี้ยว เช่นเดียวกับ พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA ที่ส่งทหารเข้ายึดเมืองใหย๋ เมืองทางทิศตะวันออกของล่าเสี้ยว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามขยายแนวรบมาทางทิศตะวันออก และเป็นการเคลื่อนกำลังเข้าเมืองโดยความยินยอมของทหารพม่าประจำเมือง

ในเวลาเดียวกัน เมื่อมองแผนที่รัฐฉานผืนใหญ่ ในทางตอนใต้ของรัฐฉานติดกับชายแดนไทย สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เมื่อ 29 ก.ค. 2567 เผยแพร่แถลงการณ์หลังประชุมรอบ 6 เดือน ที่ บก.ดอยไตแลง แสดงความหดหู่และเสียใจหลังสงครามในรัฐฉานตอนเหนือบานปลาย มีผู้บาดเจ็บสูญเสีย ระบุหลังรัฐประหารพม่า 3 ปีเศษทำให้เกิดการสู้รบไปทั่ว ประชาชนทุกข์ยากลำบาก โดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานจะร่วมมือกับประชาชนเพื่อปกป้องดูแลความสงบในพื้นที่รัฐฉานใต้ และเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเจรจากันและยุติการสู้รบ

พลเอกเจ้ายอดศึก ปัจจุบันเป็นผู้นำกองกำลัง RCSS/SSA แฟ้มภาพเมื่อปี 2553

ท่าทีดังกล่าวเป็นการขยับตัวของ RCSS/SSA หลังแนวรบทางเหนือขยายตัว แม้จะไม่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรง แต่นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องหลังจากต้นปีมานี้ (พ.ศ. 2567) RCSS/SSA ประกาศระดมพล ฝึกทหารใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าปกครองบริหารพื้นที่อิทธิพล และแถลงการณ์วันกอบกู้รัฐฉาน 21 พ.ค. 2567 ก็ยังคงแสดงจุดยืนเน้นการเจรจาเพื่อสันติภาพ สร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย และคลี่คลายวิกฤตการเมืองพม่า อย่างไรก็ตาม การดำรงท่าทีเรียกร้องสันติภาพ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งนับตั้งแต่รัฐประหารพม่าเมื่อต้นปี 2564 เช่นนี้ ทำให้ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์

เพื่ออธิบายจุดยืนของ RCSS/SSA และ พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ประชาไทพูดคุยกับ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายประเด็น ตั้งแต่เบื้องหลังยุทธศาสตร์นักสร้างสันติภาพของ RCSS/SSA การถอยร่นจากรัฐฉานตอนเหนือ การขยายอิทธิของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ภัยคุกคามทั้งรัฐไทย และ บก.ดอยไตแลง พร้อมจับตาลูกไม้กองทัพพม่าสลายพลังกลุ่มชาติพันธุ์

ความแตกแยกของกองทัพ 'ไทใหญ่' เบื้องหลังบทบาทนักสร้างสันติภาพ

อาจารย์ดุลยภาค ระบุว่า การดำเนินนโยบายของ RCSS/SSA ที่ไม่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารพม่า สามารถมองข้อจำกัดได้ 2 แบบ คือ ความแตกแยกของชาวไทใหญ่ด้วยกันเองระหว่างพรรครัฐฉานก้าวหน้า (SSPP/SSA) และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SAA) 

“ข้อตีบตันก็คือว่า กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) และกองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA) จะต้องรวมตัวกันเพื่อเอกภาพในการเคลื่อนไหวเรื่องชาติพันธุ์นิยม และเพื่อเพิ่มพลังการเมืองและการทหาร แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะว่า SSPP สนิทกับสหรัฐว้า UWSA ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ขณะเดียวกัน RCSS/SSA สนิทกับฝั่งไทย และสหรัฐฯ ทำให้การเมืองเอกภาพทางชาติพันธุ์ของไทใหญ่กระท่อนกระแท่น ลดทอนพลังทางการเมืองและอำนาจทางการทหาร" ดุลยภาค กล่าว

ทั้งนี้ 'กองทัพไทใหญ่' ทั้งเหนือและใต้ ขัดแย้งกันมาตั้งแต่ปี 2558 และบานปลายเมื่อกองกำลังตะอาง TNLA และกลุ่มอื่นๆ ร่วมสนธิกำลังถล่ม RCSS/SSA จนกระทั่ง RCSS/SSA ยอมถอนกำลังทั้งหมดจากฐานที่มั่นในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือเมื่อสิ้นปี 2564 จนนำมาสู่การพูดคุยเจรจาและ “กองทัพไทใหญ่” RCSS/SSA และ SSPP/SSA ลงนามตกลงหยุดยิงเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566

อีกปัจจัยหนึ่งคือ RCSS/SSA ต้องระมัดระวังจากการสู้ศึกกับสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งเป็นศัตรูที่มีประสิทธิภาพ และมีกำลังพลเกรียงไกรที่สุดกองกำลังหนึ่งในรัฐฉานเหนือ ซึ่งตอนนี้สหรัฐว้ามีโปรเจกต์สำคัญในการสร้างรัฐว้าในการขยายอิทธิพลจากด้านตะวันออกของสาละวิน ข้ามมาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน เพื่อสถาปนารัฐว้าที่ใหญ่กว่าที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551)

ผลที่ตามมาคือเขตอิทธิพลของว้า จะชนเข้ากับ RCSS/SSA โดยว้าจะมีการเพิ่มปริมาณกองกำลังเข้ามาเพื่อกระชับเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลว่าปริมาณทหารกองทัพว้ามีมากกว่า RCSS/SSA แล้ว ทำให้การขยับของเจ้ายอดศึกต้องระมัดระวัง

ดุลยภาค ปรีชารัชช

บทเรียนช่วงขยายอิทธิพลไปทางรัฐฉานเหนือ

อาจารย์จาก มธ. มองด้วยว่า การเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบและบทเรียนจากการขยายอิทธิพลของ RCSS/SSA ขึ้นไปที่ด้านรัฐฉานเหนือ และถูกกองกำลังอื่นๆ สนธิกำลังผลัก RCSS/SSA กลับมาในเขตอิทธิพลเดิมในรัฐฉานใต้ 

ย้อนไปช่วงก่อนทำรัฐประหารของมินอ่องหล่าย เมื่อปี 2558 ทาง RCSS/SSA เคยขยายอิทธิพลขึ้นไปที่รัฐฉานเหนือติดชายแดนประเทศจีน เพื่อยึดกุมเครือข่ายการค้าและเส้นทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ชายแดนจีนลงมาที่พม่าตอนกลาง มีการสร้างค่ายฐานทหารประดับเรียงรายจากชายแดนไทย-พม่าขึ้นไปทางเหนือ สะบั้นอิทธิพลของ UWSA และกองทัพพม่า อีกทั้งเมื่อขยายอิทธิพลก็ได้รับการต้อนรับจากชุมชนไทใหญ่ในพื้นที่รัฐฉานเหนือจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม พื้นที่รัฐฉานเหนือก็เป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังตะอาง TNLA และกองกำลังอื่นในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ (คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ หรือ FPNCC) พอ RCSS/SSA ขยายอิทธิพลขึ้นไป กองกำลังเหล่านี้ก็มีความไม่สบายใจ ทำให้กองกำลังตะอางTNLA และกองกำลังอื่นๆ ร่วมกันตีเจ้ายอดศึก จนต้องถอยร่นลงมาถึงรัฐฉานกลางและใต้ จน RCSS/SSA ต้องยอมเสียอิทธิพลรัฐฉานเหนือในที่สุด ซึ่งการสงครามนี้เป็นการทำสงครามสะสมเป็นปีๆ การที่ RCSS/SSA ยันการบุกโจมตีได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งมาก เพราะว่าโดนรุมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือจนต้องถอยร่นลงมา

"ผมคิดว่าผลข้างเคียง (side effect) สำคัญคือเจ้ายอดศึกโดนรุมในสมรภูมิรัฐฉานภาคเหนือ ทำให้ ณ วันนี้ เจ้ายอดศึก ยังมีความทรงจำ หรือระบบคิดที่ต้องใคร่ครวญให้ดีถึงการดักซุ่มดีสกัดศัตรูสารพัดชนิด เพราะฉะนั้น เจ้ายอดศึกจะไม่กล้าเท่าไรในการเคลื่อนทัพแบบรวดเร็ว หรือเปิดหน้าชกกับศัตรูฝ่ายหนึ่งและโดนขนาบอีกข้างหนึ่ง เขากลัวเพราะเขาเคยโดนมาแล้ว" ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ หรือ FPNCC เป็นการรวมตัวกันหลังการประชุม "ปางคำซัมมิท" ครั้งที่ 4 ระหว่าง 15-19 เมษายน 2017 ที่เมืองปางคำหรือปางซาง เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองของกลุ่มว้า ประกอบด้วย 7 กองกำลังหลักได้แก่ กองทัพสหรัฐว้า UWSA, กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ-รัฐฉานตะวันออก (NDAA-ESS) หรือกองทัพเมืองลา NDAA, กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง TNLA, กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา หรือ กองทัพโกก้าง MNDAA, พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA, กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น KIA และ กองทัพอาระกัน AA

เปิดช่องคุยกับกองทัพพม่า หวั่นถูกตีขนาบข้าง

ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นคำอธิบายว่า เหตุใด RCSS/SSA จึงเลือกเส้นทางไม่แข็งกร้าว และรักษาช่องทางพูดคุยกับกองทัพพม่า เพราะว่าเขากลัวว่ากองทัพพม่าจะสนธิกำลังกับกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าตีเจ้ายอดศึก ดังนั้นการรักษาช่องทางพูดคุยกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร กับ พล.อ.อาวุโส โซวิน รองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า 'จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ'

แม้ว่าทาง RCSS/SSA จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพพม่า แต่มีเหตุการณ์เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันระหว่าง SSPP/SSA และ RCSS/SSA ที่เมืองล็อกจ็อก รัฐฉาน มีการตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีดังกล่าวมีการประสานกำลังระหว่าง SSPP และ UWSA รวมถึงอาจมีทหารพม่าจากตองจี และภาคสามเหลี่ยมเชียงตุงเข้ามาร่วม ซึ่งมีการยืนยันจากแหล่งข่าวในพื้นที่ ดุลยภาค ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์แบบนี้เป็นปัจจัยทำให้ RCSS ระมัดระวังตัวมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะเขามีศัตรูซึ่งหน้า และศัตรูที่ลอบมาโจมตี 

พลเอกยอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ( RCSS)  พร้อมคณะ เข้าร่วมประชุมกับ  พล.ท. หย่าปแยะ ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (NSPNC) ที่อาคารสภาบริหารแห่งรัฐ กรุงเนปิดอว์ เมียนมา (ที่มา: Burma News International)

ยุทธศาสตร์การขยายดินแดนของ UWSA

เมื่อพูดถึงนโยบายการทูตของ RCSS/SSA แล้ว ละเว้นไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงการขยายอิทธิพล และการสถาปนารัฐว้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง กล่าวว่า เรื่องนี้มีความน่าสนใจประมาณ 3 จุด คือ การพยายามครองความเป็นเบอร์ 1 ของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการทหาร และการเมืองความมั่นคงในรัฐฉาน ผ่านการเล่นบทบาทนำ และสร้างระบบพันธมิตรขึ้นมา เช่น พันธมิตรฝ่ายเหนือ (FPNCC) พันธมิตรสามภราดรภาพ รวมตัวกันเพื่อไปเจรจาสร้างสันติภาพ หรือใช้อิทธิพลของว้าเข้าไปควบคุมกองทัพพันธมิตรต่างๆ ให้ช่วยรบ

อีกยุทธศาสตร์คือเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ UWSA ต้องการสร้างรัฐว้า ที่ใหญ่กว่าที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพม่า ค.ศ. 2008 โดยเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเมืองปางซาง ติดชายแดนจีน และคุมเมืองลา จากเมืองลา จะใกล้กับระเบียงยุทธศาสตร์เชื่อมกับสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น เฮโรอีน และที่ผลิตยาเสดติดจำนวนมาก และขยายพื้นที่ลงมาที่ว้าใต้ ซึ่งมีชายแดนติดกับไทย ควบคุมส่วนใหญ่ของฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ขยายมาตรงชายแดนจีน ลาว และไทย และพยายามสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมระหว่างว้าเหนือกับใต้ ซึ่งอนาคตอาจมีการผนวกดินแดนเชื่อมถึงกัน เพื่อสร้างรัฐว้าที่ใหญ่โตขึ้น หรืออาจใช้อิทธิพลเข้าไปในดินแดนระหว่างว้าเหนือ-ใต้ เพื่อประสานกำลังให้ดีขึ้น ซึ่งอนาคตอันใกล้คาดว่า UWSA ข้ามมายังสาละวินฝั่งตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

"นี่คือศึกที่ SSPP ลุยกับ RCSS ของเจ้ายอดศึก ผมว่ามันสอดคล้องกับ UWSA ที่จะทอดมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน กลืนอิทธิพลของ SSPP ต้องฟังคำสั่งของว้า และมีว้าช่วยรบ เข้าไปจัดระเบียบอำนาจสร้างเขตอิทธิพล" ดุลยภาค กล่าว

อีกส่วนหนึ่งก็คือ UWSA ตอนนี้อยู่ในกระบวนการสร้างรัฐว้าให้ยิ่งใหญ่ ซึ่งองค์ประกอบของการสร้างรัฐ มันต้องมีการจัดระเบียบเรื่องเส้นเขตแดน หรือการเอากำลังทหารเข้าไปคุมพื้นที่ให้ชัด ดังนั้น จะตามมาด้วยที่ว้าจะเข้าไปทำสงคราม หรือเข้าไปหนุนให้พันธมิตรเป็นตัวแทนทำสงคราม และว้าจะควบคุมบางเมือง หรือควบคุมผ่านระบบพันธมิตร 

'พญามังกรพันธุ์ว้าแดง' ภัยคุกคามทั้งเก่าและใหม่ต่อรัฐไทย

ดุลยภาค อธิบายว่า ภัยคุกคามของว้าแดงต่อรัฐไทย ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่มีมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว ถ้าไปย้อนดูในช่วงทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี (2544-2549) ก็มีการประกาศปราบปรามยาเสพติด ซึ่งหมายถึงการจะต้องไปขัดผลประโยชน์กับว้าแดงแน่นอน นอกจากนี้ สื่อบันเทิง หรือละคร ไทยในอดีต มีละครเรื่อง 'เมืองดาหลา' (ปี 2546) และเรื่อง 'เก็บแผ่นดิน' (ปี 2544) ก็มีเรื่องสงครามยาเสพติด โดยตัวร้ายของเรื่องก็คือกองทัพพม่า และว้า และละครสะท้อนภาพเยาวชนติดยาเสพติด เพราะชนกลุ่มน้อยผลิตยาเสพติด ผลิตยาบ้าเข้ามาขายมอมเมาเยาวชนไทย เรื่องแบบนี้สะท้อนเรื่องเล่า (narrative) ที่ว่า ‘ว้า’ เป็นภัยคุกคามของไทยไม่ใช่เร็วๆ นี้

โปสเตอร์ ละครเรื่องเก็บแผ่นดิน เมื่อปี 2544

ปัจจุบัน ภัยคุกคามจากว้ามันชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามจากว้าโดดๆ มันน่าจะเป็น 'พญามังกรพันธุ์ว้าแดง' คือมีอิทธิพลของจีนด้วย โดยว้า จะมีการเชิญชวนนักธุรกิจชาวจีน ไม่ว่าจะสีไหน ขาว เทา หรือดำ ให้เข้ามาทำธุรกิจที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยมีนักธุรกิจของว้า เข้าไปร่วม สุดท้ายผลิดอกออกผลออกมาเป็นเขตว้าใต้ที่มีเงาของพญามังกรมาทาบทับ ประจันหน้ากับชายแดนไทย ประกอบกับ ว้าต้องการสถาปนารัฐว้าให้เข้มแข็ง จะต้องมีการเอากำลังพลเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการชายแดนติดไทย หรือว้าจะสร้างรัฐว้า อาจจะมีการผลิตและส่งออกยาเสพติดมากขึ้น เพื่อนำรายได้มาสร้างสิ่งปลูกสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาความเจริญของรัฐว้า ดังนั้น การจะสร้างรัฐว้าตามฝัน จะต้องพึ่งพิงจีนและธุรกิจจากจีน ซึ่งเป็นการพึ่งพาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่ง UWSA เคยเป็นสมาชิกและเป็นแนวร่วม เพราะฉะนั้น ในภาพรวมก็คือว่า "ว้าเป็นภัยคุกคามใหม่ของไทยที่น่าสนใจ"

นอกจากเรื่องการส่งออกยาเสพติดที่อาจเป็นภัยคุกคามไทยใหม่ อาจารย์ มธ. กล่าวว่า ถ้าเราใช้กรอบความมั่นคงในการวิเคราะห์ พรมแดนระหว่างไทย-พม่า เมืองฝาง ชัยปราการ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปาดไปบางส่วนเข้าไปใกล้กับเชียงราย แม่ฮ่องสอน ฐานทหารไทยจะมีสักประมาณ 80-100 แห่ง แต่พอชำเลืองไปยังฝั่งพม่าจะมี 4 กองกำลัง คือกองทัพพม่า ทหารไทใหญ่ ทหารว้าแดง (UWSA) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของชาติพันธุ์ลาหู่ อยู่ตรงนั้น ซึ่งฐานทหารที่มีกำลังคนมากที่สุดเป็น 'ว้าแดง' และน่าจะมีบางพื้นที่ที่ติดชายแดนไทยที่ว้าเข้าไปควบคุม ทหารพม่าเข้าไปยุ่งไม่ได้ กลุ่มอื่นๆ เข้าไปยุ่งไม่ได้ ทีนี้ว้าต้องมาจัดระเบียบเขตแดน ส่งผลให้ทหารไทยต้องมาเผชิญหน้ากับว้าโดยตรง และต้องมาดูกันว่าจะมีการล้ำเขตแดนมากแค่ไหน

"มีข้อมูลจากกองทัพภาคที่ 3 ตรวจพื้นที่จริง ถ้าเราจับกลุ่มเจ้ายอดศึกมาเทียบกับว้า พบว่าทหารของเจ้ายอดศึก เช่น ฝาง ชัยปราการ แม่อาย และบริเวณข้างเคียง ของเจ้ายอดศึก จะมีประมาณไม่กี่พัน มวลชนหลักร้อยหลักพันประมาณนี้ ส่วนว้า กำลังพลประมาณ 6-7 พันคน มวลชนประมาณ 7 หมื่นคน ซึ่งมันเยอะมาก ในแง่กำลังรบเชิงเปรียบเทียบ ว้าก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามในระยะประชิด หรือในระยะเร่งด่วนแล้วสำหรับกองทัพไทย และกองกำลังกอบกู้รัฐฉาน" ดุลยภาค กล่าว

ดุลยภาค กล่าวว่า ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เจ้ายอดศึกไม่กล้าในการเคลื่อนทัพแบบรวดเร็ว หรือเปิดหน้าชกกับศัตรูฝ่ายหนึ่ง เพราะเขากลัวโดนโจมตีขนาบอีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันเป็นช่วงที่ RCSS/SSA มีนโยบายในการสะสมกำลังอยู่นิ่งๆ วางท่าทีเป็น ‘กลาง’ แต่ในขณะเดียวกัน จะเกณฑ์ชาวไทใหญ่ให้มาเป็นทหารเพิ่ม

ส่วนข้อกังวลของ RCSS/SSA อีกประการ คือ แม้ว่าจะได้ทหารเข้ามาเพิ่ม แต่ขาดอาวุธ ทหารถือปืนได้ไม่ครบทุกคน ต้องไปหาวิธีเติมยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย RCSS จะเปิดศึกแบบพร่ำเพรื่อไม่ได้

กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) (ที่มา: เฟซบุ๊ก SHAN News (Burmese Version))

อนาคตของกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA บทบาทนักสร้างสันติภาพ

ดุลยภาค กล่าวว่า ปัจจัยตรงนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ RCSS/SSA ที่ค่อนข้างวางตัวเป็นกลาง ไม่ร่วมหัวจมท้าย ทั้งกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือกองกำลังที่เป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า อาจทำให้ RCSS/SSA เผชิญกับการโจมตีในช่วงเวลาที่ยังไม่พร้อมด้านกำลังรบ แต่ถ้าสร้างกลุ่มสันติภาพ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง เปิดช่องคุยกองทัพพม่า NUG และกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า กล่าวว่า เท่าที่ติดตามดูเจ้ายอดศึก เขาอยากจะเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ที่ไม่ใช่ KNPP (พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี) KIO/KIA (กองกำลังแห่งอิสรภาพกะฉิ่น) KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ NUG แต่จะเป็นกลุ่มที่ RCSS/SSA และกองกำลังอื่นๆ จากรัฐยะไข่ รัฐกะเหรี่ยง และทางรัฐฉาน มารวมตัวกัน อาจจะมีกองกำลังเด่นๆ ประมาณ 7-8 กลุ่ม ฟอร์มตัวขึ้นมาเป็นกลุ่ม 7 EAOs โดยมี RCSS/SSA เป็นผู้นำการเจรจาสู่สหพันธรัฐประชาธิปไตย และวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นกลาง แสวงหาพันธมิตรในต่างประเทศที่เป็นกลางเหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นไทย เพื่อทำให้กลุ่มของตัวเองมีอำนาจเจรจาต่อรองมากขึ้น แต่ต้องดูว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าสถานการณ์การสู้รบยังรุนแรงอยู่

ดุลยภาค กล่าวว่า ยุทธวิธีของ RCSS/SSA ถูกวิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งอยากให้ RCSS/SSA เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรุกไล่กองทัพพม่า กับฝ่ายไม่ปะทะ และใช้กระบวนการสร้างสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ดุลยภาค มองว่า แม้ว่าจะผู้วิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก แต่ถ้าวันดีคืนดี กองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านสู้กัน และเคลียร์ไม่ลงตัว บทบาททางการเมืองอาจจะหลุดมาที่พลเอกเจ้ายอดศึก และทำให้เจ้ายอดศึก เป็นผู้เล่นบทบาทประสานงานสร้างสันติภาพ หรือสร้างกำลังหนุนต่อรอง ซึ่งแน่นอนว่ามีกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางนี้ แต่เบื้องต้น เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่ากลยุทธของเจ้ายอดศึกมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร ต้องจับตาดูต่อไป

กลับมาจับมือ RCSS/SSA สกัดอิทธิพลว้า?

ช่วงเวลาที่กองทัพสหรัฐว้า UWSA กำลังแผ่ขยายอิทธิพล อาจารย์จาก มธ. มองว่า มาตรการรับมือของรัฐไทยคงต้องมีการกวดขันเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดนของกองทัพภาค 3 โดยจะเน้นเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ต่อมา ไทยต้องเข้าไปกวดขันในส่วนที่เป็นเขตอิทธิพลของกองทัพว้า จะเข้ามาตั้งฐานทหารคร่อมพื้นที่พิพาทด้านกรรมสิทธิ ต้องส่งสัญญาณว่าตรงไหนไม่ชัดเจน กองทัพว้าต้องถอนทหารกลับไป เพราะถ้าปล่อยให้กองทัพว้าตั้งฐานค่ายทหารคร่อมแล้ว เขาจะไม่ถอยกลับ เพราะว่ามวลชนเขามีกำลังพลในพื้นที่จำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนจากจีน และมันจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจต่อฝ่ายความมั่นคงถ้าจะต้องสู้กับว้าแดง

ดุลยภาค เสนอว่า ไทยอาจต้องเล่นเกมการทูตกับฝ่ายต่อต้านกองทัพสหรัฐว้า UWSA และฝ่ายที่มีความเห็นสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของรัฐไทย ไทยอาจต้องเข้าไปสนับสนุน เพื่อคานและปรับสมดุลอำนาจกับทางว้า UWSA และรัฐบาลปักกิ่ง

"เอาโจทย์เบื้องต้นไปลองดูภูมิทัศน์รัฐฉานใต้รอบๆ น่าจะยังมีกลุ่มที่พอคุยได้ และความเห็นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในแนวเดียวกันกับรัฐไทยในมิติความมั่นคง น่าจะเป็นกลุ่มเจ้ายอดศึก คิดว่าเบื้องต้นคงจะต้องพูดคุยกระชับความสัมพันธ์ ถ่ายเทข้อมูลด้านความมั่นคงกับกลุ่มของเจ้ายอดศึกให้มากขึ้น ถ้าทหารไทยกระชับมีบทสนทนาพูดคุยกับทาง RCSS/SSA มากขึ้น ก็เหมือนกับเป็น 2 กลุ่มที่จะทัดทานอิทธิพลของว้า กับจีน ในพื้นที่นั้นได้ด้วย" ดุลยภาค กล่าว

ดุลยภาค กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าไทยจะมองว้าเป็นภัยคุกคามได้ทุกเรื่อง เพราะว่าเขาอาจจะเป็นภัยด้านยาเสพติด และการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ แต่ถ้ามีกลยุทธรับมือว้าแดง โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับเจ้ายอดศึก ให้แน่นขึ้น แต่เวลาเดียวกันก็ต้องมีแพลตฟอร์มที่สามารถเจรจากับว้า เพื่อสร้างความร่วมมือบางประการ มันมีหลายเรื่องที่สามารถร่วมมือคู่ขนานกัน ไม่ประกาศว่าใครเป็นศัตรูแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้วิธีเจรจา ถ่วงดุล และตั้งรับ ซึ่งการใช้กลยุทธร่วมมือกันแบบนี้มันน่าจะทำให้ชายแดนมีสันติมากกว่า

เป่าโหย่วเสียง (Pao Youxiang) ผู้บัญชาการของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) (ที่มา: BNI)

แก้ระบบเลือกตั้งทั่วไป จาก 'กินรวบ' สู่ระบบสัดส่วน

ดุลยภาค กล่าวต่อว่า ที่จะต้องจับตามองเรื่องการเมืองพม่าต่อไป คือจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เขาคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ คือระบบเลือกตั้งตั้งแต่พม่าได้ระบบเอกราชจากอังกฤษ จะเป็นระบบผู้ชนะกินรวบทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่งจะมีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนอันดับ 1 อันดับ 2 และอันดับ 3 เวลาคิดคำนวณที่นั่งในสภาฯ พรรคที่ได้อันดับ 1 จะได้แค่เจ้าเดียว หรือ "The winner takes all" และการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) และ ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้อานิสงส์กินรวบมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เกิดเผด็จการในรัฐสภา นี่มุมมองของทหารพม่า

ทหารพม่ามีแผนจะแก้เอาระบบสัดส่วนเข้ามาผสม พรรคอันดับ 2 และ 3 ของการเลือกตั้งจะได้มีที่นั่งในสภาฯ แต่มีคะแนนลดหลั่นมากน้อยลงไปตามผลคะแนนที่ได้ แต่ไม่ถูกตัดออก ซึ่งทหารพม่าอ้างว่าระบบนี้ไม่ดีหรือ หรือพรรคการเมืองตัวเล็กตัวน้อย หรือพรรคชาติพันธุ์เล็กๆ จะได้มีที่นั่งในสภาฯ ทำให้เสียงที่พ่ายแพ้ไม่ถูกตัดทิ้ง สามารถเข้าไปมีบทบาทในสภาฯ ซึ่งแนวทางนี้พรรคการเมืองชาติพันธุ์หลายกลุ่มเขาเห็นด้วย เพราะทำให้พรรคชาติพันธุ์ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก เข้าไปนั่งในสภาฯ ได้

ดุลยภาค กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่ทราบอยู่แล้วว่าเบี้องหลังการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งของทหารพม่าคือเพื่ออะไร เพื่อขัดขวางพรรค NLD ไม่ให้มีเสียงข้างมากในสภาฯ เหมือนในอดีตเท่านั้นเอง ไม่ต้องมาอ้างเรื่องอื่น แต่ว่าทหารพม่าก็มีเหตุผล ออกแบบแบบนี้ผิดตรงไหน เหมาะสมด้วยซ้ำ มันจะมีการเถียงกันไปมาในบางประเด็น ต้องจับตามอง ต้องมาดูเกมแก้ไขของฝ่ายต่อต้านด้วยอีกทีหนึ่ง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net