Skip to main content
sharethis

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ประชุมรอบ 6 เดือนที่ บก.ดอยไตแลง แสดงความเสียใจหลังสงครามบานปลาย มีผู้บาดเจ็บสูญเสียในรัฐฉานตอนเหนือ ระบุหลังรัฐประหารพม่า 3 ปีเศษทำให้เกิดการสู้รบไปทั่ว ประชาชนทุกข์ยากลำบาก โดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานจะร่วมมือกับประชาชนเพื่อปกป้องดูแลความสงบในพื้นที่รัฐฉานใต้ และเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเจรจากันและยุติการสู้รบ

แฟ้มภาพกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กองพล 505 ฝึกทหารที่เมืองน้ำจ๋าง เมื่อ 12 เมษายน 2567 | ที่มา: YouTube/Tai Freedom

วันนี้ (29 ก.ค.) ในเฟสบุ๊ค Tai Freedom ซึ่งเป็นสื่อของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เผยแพร่แถลงการณ์ภายหลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานประชุมรอบ 6 เดือนประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ที่ บก.ดอยไตแลง ในเขตอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ รัฐฉานตอนใต้ ติดชายแดนไทย-พม่า ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยเนื้อหาในแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสูงสุด สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS แสดงความหดหู่และเสียใจหลังสงครามในรัฐฉานตอนเหนือบานปลาย มีผู้บาดเจ็บสูญเสีย ระบุหลังรัฐประหารพม่า 3 ปีเศษทำให้เกิดการสู้รบไปทั่ว ประชาชนทุกข์ยากลำบาก โดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานจะร่วมมือกับประชาชนเพื่อปกป้องดูแลความสงบในพื้นที่รัฐฉานใต้ และเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเจรจากันและยุติการสู้รบ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) แถลงการณ์ประชุมรอบ 6 เดือนประจำปี 2567

วันที่ 29 กรกฎาคม 2567

ในวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ได้จัดการประชุมรอบ 6 เดือนประจำปี 2567 ขึ้นที่ บก.ดอยไตแลง ในการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหารสูงสุด คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เข้าร่วมประชุมจำนวน 232 คน หลังจากการประชุมได้เสร็จสิ้นลง ทางคณะกรรมการบริหารสูงสุดจึงได้ออกหนังสือแถลงการณ์ดังนี้

1. ในที่ประชุม ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน ในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งร่วมกันประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและสหภาพพม่า รวมทั้งได้ร่วมกันกำหนดแผนงานและการปฏิบัติที่จะดำเนินการในห้วงต่อไป

2. เนื่องจากเหตุการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉาน ทำให้ประชาชนในรัฐฉานต้องประสบกับความสูญเสียบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องอพยพหนีภัยสงคราม ทำให้เด็กและผู้สูงอายุต้องได้รับความทุกข์ยากลำบากไปด้วยนั้น ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS รู้สึกหดหู่และเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

3. ผลกระทบหลังจากที่กองทัพพม่าทำการยึดอำนาจในการปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีเศษนั้น ทำให้เกิดการสู้รบแพร่ขยายไปทั่วทั้งสหภาพพม่า เศรษฐกิจตกต่ำ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลประเทศมีความอ่อนแอทำให้โจรผู้ร้ายเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนต้องประสบกับทุกข์ยากลำบากเป็นจำนวนมาก

4. เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้ง ความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐฉานนั้น ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จะร่วมมือกับประชาชนในการปกป้องดูแล

5. ด้วยเหตุนี้ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จึงขอเรียกร้องมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้หันหน้ามาเจรจากัน และยุติการสู้รบที่เกิดขึ้น รวมทั้ง ในการที่จะก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยขึ้นมา ขอให้ทุกฝ่ายใช้การเจรจาพูดคุยในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

คณะกรรมการบริหารสูงสุด
สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS

สำหรับการออกแถลงการณ์ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เกิดขึ้นในห้วงที่พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) นำโดยกองกำลังโกก้าง MNDAA, กองกำลังตะอาง TNLA, กองกำลังอาระกัน AA และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เปิดปฏิบัติการ 1027 ภาค 2 รุกคืบในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพหลายแสนรายในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ โดยพันธมิตรสามภราดรภาพ สามารถยึดเมืองสำคัญในรัฐฉานตอนเหนือตามทางหลวงหมายเลข 3 ที่เชื่อมต่อมัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว โดยกองกำลังตะอาง TNLA และฝ่ายต่อต้านยึดเมืองสีป้อ, จ็อกแม, หนองเขียว ในรัฐฉาน ทำให้กองทัพพม่าเสริมกำลังสร้างแนวป้องกันทางหลวงหมายเลข 3 อยู่ที่ปยินอูลวิน ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศและเป็นที่ตั้งทางทหารสำคัญอย่างโรงเรียนการทหาร (DSA)

นอกจากนี้กองกำลังตะอาง TNLA ยังยึดเมืองตามทางหลวงหมายเลข 31 สายมัณฑะเลย์-มิตจีนา อาทิ เมืองมีด ในรัฐฉาน และเมืองกุด ในภาคมัณฑะเลย์ติดชายแดนรัฐฉาน และมีรายงานว่าพื้นที่ตอนเหนือชานเมืองมัณฑะเลย์อย่าง ซินกู และมัตตะยา ก็ถูกฝ่ายต่อต้านยึดเช่นกัน

ทั้งนี้กองกำลังโกก้าง MNDAA ทุ่มกำลังเข้ายึดค่ายทหารพม่ารอบๆ เมืองล่าเสี้ยว เมืองสำคัญของรัฐฉานภาคเหนือ ที่อยู่บนทางหลวงหมายเลข 3 โดยเมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญ เชื่อมระหว่างภาคมัณฑะเลย์กับด่านการค้าบริเวณชายแดนจีน-รัฐฉาน

กองกำลังโกก้าง MNDAA เผยแพร่ภาพทหารยึดจุดสำคัญในเมืองล่าเสี้ยวเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 (ที่มา: Telegram/3 Brotherhood Alliance)

โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังโกก้าง MNDAA อ้างว่าสามารถยึดกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของกองทัพพม่าได้ โดยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พม่าได้เอกราช ที่ประสบความพ่ายแพ้ระดับสูญเสียกองบัญชาการภาค ทั้งนี้กองกำลังโกก้างสามารถยึดจุดสำคัญของเมืองล่าเสี้ยวเอาไว้ได้ โดยยังคงพยายามกวาดล้างทหารพม่าที่รวมกันอยู่ในส่วนที่เหลือของล่าเสี้ยว ขณะเดียวกันยังมีข่าวกองทัพสหรัฐว้า UWSA ส่งทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่สำคัญในเมืองล่าเสี้ยวโดยอ้างว่าได้รับการประสานจากรัฐบาลทหาร เพื่อเข้ามาปกป้องเขตธุรกิจและสำนักงานประสานงานของว้า นอกจากนี้ยังมีข่าวกองทัพสหรัฐว้า UWSA เคลื่อนกำลังทหารเข้ามายึดเมืองต้านยาง ทางทิศตะวันออกของล่าเสี้ยว เช่นเดียวกับ พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA ที่ส่งทหารเข้ายึดเมืองใหย๋ เมืองทางทิศตะวันออกของล่าเสี้ยว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net