Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 66 ปี วันรำลึกการต่อต้านทหารพม่าของประชาชนในรัฐฉาน RCSS ออกแถลงการณ์เน้นแนวทางเจรจาในการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตการเมืองเมียนมา นำทางสู่การปกครองสหพันธรัฐประชาธิปไตย

 

23 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเมื่อ 21 พ.ค. 2567 เนื่องในวาระครบรอบ 66 ปี วันกอบกู้รัฐฉาน ณ ฐานที่มั่นกองบัญชาการทหารสูงสุดไตแลง อ.เมืองปั่น จ.ลางเคอ รัฐฉาน สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และ กองทัพรัฐฉาน (SSA) จัดงาน 'รำลึกการต่อต้านทหารพม่า'

บรรยากาศงานในปีนี้ มีการวางพวงหรีดรำลึกทหารของรัฐฉานที่เสียชีวิตในสมรภูมิ และมีการอ่านแถลงการณ์ "วันกอบกู้รัฐฉาน ครบรอบ 66 ปี" เมื่อ 21 พ.ค. 2567

บรรยากาศการวางพวงหรีด และประดับยศทหาร เมื่อ 19 พ.ค. 2567 (ถ่ายโดย Tai Freedom Videos)

รายละเอียดแถลงการณ์ ครบรอบ 66 ปี สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน

  1. วันปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน ครบรอบ 66 ปี ในวันนี้ถือว่าวันมงคล เป็นวันที่พวกเรายกย่องเชิดชูให้แก่เหล่าบรรดาผู้กล้าที่ได้เสียสละชีวิตและร่างกาย ในการปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในวันปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน ครบรอบ 66 ปี ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน จะได้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
  2. ในการปฏิวัติต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ประชาชนรัฐฉานทุกคน มีภาระและหน้าที่ ดังนั้น ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน จึงขอเชิญชวน มายังพี่น้องประชาชนทุกคนในรัฐฉาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานปฏิวัติกอบกู้ชาติบ้านเมือง 
  3. ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสหภาพพม่า ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จะใช้แนวทางในการเจรจาเป็นหลัก
  4. ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองสหภาพพม่า เพื่อนำไปสู่การปกครองสหพันธรัฐประชาธิปไตย สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน จะพยายามเจรจาพูดคุย ร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการดำเนินการต่อไป 
  5. ด้วยภาระหน้าที่ ที่มีอยู่ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสหภาพพม่า ขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสหภาพพม่าในขณะนี้

แถลงการณ์ ครบรอบ 66 ปี ก่อตั้ง RCSS (ที่มา:Tai Freedom - Shan Version)

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Know Shan State ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนรัฐฉาน ให้ความเห็นว่า เหตุที่ปีนี้ไม่มีการแสดงทางการทหาร เนื่องจากทหารของกองทัพรัฐฉาน ถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ชั้นใน คาดว่าเป็นพื้นที่เมือง ‘ล็อกจ๊อก’ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงรัฐฉาน ‘ตองจี’ เชื่อมด้วยถนนหมายเลข 43 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมกับเมืองจ๊อกแม เพื่อตั้งรับการโจมตีของกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP) ประกอบกับ หลังจากการประกาศบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่าเมื่อ 10 ก.พ. 2567 ทำให้มีทหารเข้ามาสมัครเป็นทหารของ SSA จำนวนมาก โดยทหารเหล่านี้จะถูกส่งเข้าไปสนามฝึกของเมืองชั้นใน ไม่ได้ประจำการบริเวณชายแดนไทย-พม่า 

บรรยากาศงานวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน ปีที่ 66 (ถ่ายโดย เจ้ายอดเมือง)

ทั้งนี้ สำหรับวันที่ 21 พ.ค. ของทุกปี กองกำลังในรัฐฉานอย่างสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA และพรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA ถือเอาวันนี้เป็นวันลุกฟื้น หรือวันรำลึกการต่อต้านทหารพม่า โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้สถาปนากองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นที่เมืองหาง เขตอำเภอเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยเริ่มต้นมีกำลังพล 30 นาย โดยเริ่มทำการสู้รบอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า และเริ่มมีนักศึกษาในรัฐฉานมาสมทบหลังกองทัพพม่าเริ่มปราบปรามกลุ่มชาตินิยมรัฐฉานภายในมหาวิทยาลัย

ในปี 2502 โป่หม่อง นายตำรวจชาวว้าได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ โดยเปิดการโจมตีจนชนะกองทัพพม่าได้ที่เมืองต้างยาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน โดยการโจมตีที่เมืองต้างยาน มีกลุ่มนักศึกษาในรัฐฉานเข้าร่วมด้วย รวมทั้งเจ้าจ่อทุน หลานเจ้าฟ้าเมืองไหย (Mong Yai) ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มของจายหล้าอ่อง ได้นำกลุ่มนักศึกษาบุกยึดเมืองล่าเสี้ยว ขณะที่กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มทั่วรัฐฉานพยายามโจมตีค่ายทหารพม่า หรือป้อมทหารที่อยู่ห่างไกลเพื่อยึดอาวุธ แต่เนื่องจากการต่อสู้มีลักษณะเป็นไปเองและขาดการวางแผนประสานงาน ทำให้ต่อมากองทัพพม่าตั้งหลักและควบคุมสถานการณ์ได้ โดยสามารถยึดเมืองต้างยานคืนมาจากฝ่ายต่อต้านในรัฐฉาน และทำให้ฝ่ายต่อต้านกลุ่มของโป่หม่องมาสมทบกับกลุ่มหนุ่มศึกหาญ ที่ชายแดนไทย-พม่า อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่ปีต่อมาฝ่ายต่อต้านในรัฐฉานจะแยกออกเป็นหลายกลุ่ม โดยแยกตัวตามพื้นที่เคลื่อนไหว ความนิยมในตัวผู้นำ รวมไปถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ฯลฯ

อนึ่งในปี พ.ศ. 2501 ดังกล่าว ถือเป็นปีครบกำหนดที่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานและชนกลุ่มน้อยในรัฐอื่นของพม่า สามารถใช้ “สิทธิแยกตัว” (Right of Secession) ตามรัฐธรรมนูญสหภาพพม่า ค.ศ. 1948 ที่ระบุว่าหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไปแล้ว 10 ปี หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช โดยสามารถจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที อย่างไรก็ตามไม่มีรัฐกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่มีโอกาสใช้สิทธิดังกล่าว เมื่อกองทัพพม่าทำรัฐประหารแทรกแซงการเมืองและปัญหาสงครามกลางเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์

SSPP รบ RCSS ที่ 'ล็อกจ๊อต' พัง 'ข้อตกลงหยุดยิง' เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

เว็บไซต์ข่าว ‘SHAN HERALD AGENCY FOR NEWS’ รายงานเมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเหตุปะทะด้วยกำลังอาวุธเมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ระหว่าง RCSS และกองกำลังผสม พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) รวมถึงกองทัพพม่า ในเมืองล็อกจ็อก ข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะถูกฉีกลงไปแล้ว  

อ้างอิงจากรายงานของ ‘Tai Freedom’ เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 8.25 น. SSPP UWSA รวมถึงกองทัพพม่า ได้ร่วมกันโจมตี RCSS ที่ปฏิบัติการทางภาคเหนือของบ้านนาสาม ตำบลเกงคำโหลง ในอำเภอล็อกจ็อก จังหวัดตองจี

Tai Freedom รายงานด้วยว่า ขณะนี้ทาง UWSA ได้นำกองกำลังเข้ามาทางด้านตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน และยังเสริมกำลังด้วยกองทัพพม่าอีก 350 นาย ออกลาดตระเวนสู้รบกับทหารของ RCSS ทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ฉานนิวส์ (Shan News) รายงานว่า มีการต่อสู้ในพื้นที่ตะวันออกของเมืองล็อกจ๊อก และมีการระบุด้วยว่า กองกำลังที่เข้าร่วมกับ SSPP น่าจะมาจากที่อื่นๆ แต่ใส่เครื่องแบบทหารของ SSPP เพราะชาวบ้านจับสังเกตว่า เวลาที่พวกเขาคุยประชาชน หรือร้านค้า พวกเขาฟังภาษาไทใหญ่ไม่เข้าใจ และในทางเดียวกัน ก็ไม่ได้พูดภาษาไทใหญ่ นั่นทำให้พวกชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ทหารเหล่านี้อาจเป็นชาวโกก้าง หรือว้า

จากเหตุการณ์ที่มีกองกำลังสหรัฐว้า และกองทัพพม่า เข้าร่วมปฏิบัติการของ SSPP ในการต่อสู้กับกองกำลัง RCSS สำนักข่าวฉาน (Shan News) ได้ติดต่อไปยังโฆษกของ SSPP และโฆษกของ RCSS ทางโทรศัพท์ แต่ยังไม่มีการตอบกลับกรณีนี้แต่อย่างใด

เจ้ายอดศึก เผยกรณีคุยอดีตนักการเมืองไทยเป็นการขอทราบข้อมูลเท่านั้น

วันเดียวกันนี้ พลเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำ RCSS กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ Thai PBS กรณีที่มีอดีตนักการเมืองไทยขอเล่นบทบาทเจรจายุติสงครามเมียนมานั้น เป็นเพียงการขอทราบข้อมูลเหตุการณ์การสู้รบ และปัญหา ไม่ได้กล่าวว่าจะเป็นคนกลางการเจรจา โดยเจ้ายอดศึก เผยด้วยว่า ได้เล่าข้อมูล และเรื่องราวให้รับทราบเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการพูดคุย

"ที่มาคุยกับผมก็เยอะมากเลย ถามข้อมูลๆ เท่านั้น

"ถ้ามินอ่องหล่าย ไม่ยอมเปิดทางก็ยากอยู่" เจ้ายอดศึก กล่าวถึงบทบาทการเป็นคนกลางสร้างสันติภาพในเมียนมา และระบุด้วยว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเมียนมา เช่น จีน อินเดีย และไทย ควรมีบทบาทในการยุติสงครามในเมียนมามากกว่านี้ แต่ประเทศที่จะเป็นคนกลางต้องไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยเหมาะสม เพราะมีความเป็นกลางมากที่สุด
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net