Skip to main content
sharethis

'เซีย' สส.พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถาม รมว.แรงงาน เมื่อไรจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วไทย ด้าน 'พิพัฒน์' ตอบจะพยายามทำให้ได้ภายใน ต.ค.นี้ พร้อมยืนยันไม่สามารถแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคี

 

26 ก.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคประชาชน รายงานวันนี้ (26 ก.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 ประจำวันที่ 26 ก.ย. 2567 เซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสด พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรคภูมิใจไทย กรณีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ SME

เซีย จำปาทอง

เมื่อ 1 ม.ค. 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ รวมระยะเวลา 11 ปี ไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 6 ครั้ง ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30-70 บาท กระทั่งวันที่ 1 พ.ค. 2567 พิพัฒน์ แถลงข่าวเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เผยว่ามีบิ๊กเซอร์ไพรส์คือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ต่อมา นายกฯ คนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร เข้าแถลงนโยบายรัฐบาลที่รัฐสภา ก็ได้ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ต.ค.นี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา การประชุมล่ม เพราะผู้แทนฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 คน และเมื่อมีการนัดประชุมครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ก็ล่มอีกครั้ง โดยครั้งนี้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างมาครบ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่เข้าร่วมประชุมถึง 4 คน ฝ่ายลูกจ้างอีก 2 คน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เซีย ถามว่า รัฐบาลทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะกรรมการฝ่ายรัฐบาล อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมว.แรงงาน รวมถึงผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเข้าร่วมประชุมโดยตลอด แม้กระทั่งในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ก็เข้าประชุม แต่ไม่ถึงเมื่อสัปดาห์กลับบอกว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของ ธปท.แล้ว ต้องรอแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่ จึงจะประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำได้

จึงขอถามไปยัง รมว.แรงงาน ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมการเมืองและเล่นละครตบตา เพื่อบ่ายเบี่ยงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใช่หรือไม่ การประชุมจึงล่มแล้วล่มอีกเช่นนี้ รัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทจริงหรือไม่ และจะปรับขึ้นเมื่อไหร่

พิพัฒน์ ตอบคำถามแรกว่า ขอยืนยันมีความตั้งใจ ตนยึดถือนโยบายปรับค่าแรงเป็น 600 บาทภายในปี 2570 แม้ในนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่รับมาจากรัฐบาลอดีตนายกฯ เศรษฐา ส่วนที่ถามว่าเล่นละครหรือเปล่า ต้องบอกว่าการประชุมไตรภาคีนั้น ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 ไม่สามารถเปิดประชุม และลงมติได้

"ดังนั้น เรื่องนี้อยู่นอกเหนือการที่ผมจะเข้าไปกำกับหรือบังคับ เพราะเป็นข้อห้ามว่ารัฐมนตรีแรงงานไม่สามารถแทรกแซงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ" รมว.แรงงาน กล่าว

พิพัฒน์ รัชกิจประการ (ที่มา: TPchannel)

พิพัฒน์ กล่าวว่า เรียกว่าเป็นเทคนิคก็ได้ แต่ถ้ามีการประชุมในวันที่ 20 ก.ย. ก็ไม่สามารถโหวตได้ แต่ถ้ามีการโหวต ขอถามว่าผู้เสียหายคือกลุ่มใด ฝ่ายนายจ้างอย่างไรเขาก็ไม่อยากขึ้น ประเด็นสำคัญไปกว่านั้น นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้ฝ่ายนายจ้าง คือ ดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริง รัฐบาลพยายามเจรจากับ ธปท. เรื่องความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท.อ้างว่าหนี้สินครัวเรือนสูงมาก

เซีย ถามคำถามต่อไปว่า ฟังคำชี้แจงแล้วสงสัย บอกว่าไม่สามารถแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคีได้ในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ที่ผ่านมา รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 ว่าจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่

ล่าสุดที่ รมว.แรงงาน บอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเฉพาะบริษัทไซส์ L ที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่าจะปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ หรือกรณีก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย. ปรับขึ้นแค่ 10 จังหวัด เฉพาะกิจการโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป และต้องมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไปเท่านั้น ทำให้โรงแรมอยู่คนละฟากถนน แต่กลับมีค่าจ้างไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร ปรับขึ้นแค่เขตวัฒนา และปทุมวัน โรงแรมเขตวัฒนาปรับขึ้น แต่โรงแรมเขตคลองเตยไม่ปรับขึ้นทั้งที่อยู่บนถนนสายเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคราคาเท่ากัน ทำไมปรับไม่เท่ากัน เวลาไปซื้อของ พ่อค้าแม่ค้าเขาไม่ได้ถามพี่น้องแรงงานว่าใครอยู่เขตไหน แล้วจะให้ราคาสินค้าถูกกว่า เพราะค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่า จึงอยากทราบว่าเหตุใดกระทรวงแรงงานถึงมีแนวคิดปรับค่าแรงไม่เท่ากัน

สำหรับพรรคประชาชน ตอนที่เราคิดนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท เราคิดถึงนโยบายที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและลดผลกระทบให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย รวมถึงปรับเพิ่มสวัสดิการของคนทุกช่วงวัย จึงขอถามว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีบ้างหรือไม่

พิพัฒน์ ตอบคำถามที่ 2 ว่า การให้สัมภาษณ์ของเขา ถือเป็นการให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปหารือในที่ประชุมไตรภาคีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแทรกแซง

ส่วนการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะกิจการขนาดใหญ่นั้น รมว.แรงงาน เผยเหตุผล เพราะเอสเอ็มอี มีแรงงานอยู่ในระบบถึง 90% ของประเทศ วันนี้เอสเอ็มอี แทบจะอยู่ไม่ได้ เพราะการต่อสู้ทางการค้าค่อนข้างรุนแรง กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน กำลังหาแนวทางในการกู้สถานะทางการเงินของเอสเอ็มอีเพื่อรองรับการปรับค่าแรงในครั้งต่อไป

"แต่ถ้าเราทำกันในเวลานี้ คงมีเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่จะไม่มีงานทำ ผมคงไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบมากมายขนาดนั้น" พิพัฒน์ กล่าว

พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างเฉพาะกิจการไซส์ L กระทบผู้ใช้แรงงานประมาณ 2,290,000 คน แรงงานไทยที่ได้ประโยชน์ประมาณ 1,700,000 คน นอกนั้นเป็นแรงงานต่างด้าว แต่นายจ้างจะได้รับผลกระทบประมาณ 72.78 บาทต่อคน ค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเราผลักภาระนี้ไปให้เอสเอ็มอี ถ้าเอสเอ็มอี ล้มความรับผิดชอบก็อยู่ที่กระทรวงแรงงาน

แต่ถ้าเราขึ้นค่าแรงให้ไซส์ L ไปก่อน เมื่อกู้สถานะของเอสเอ็มอี ได้แล้ว ค่อยมาว่ากันก็ได้ โดยเรามีนโยบายในช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 จะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่งตามที่คณะอนุกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้

คำถามสุดท้าย เซีย ถามว่า รมว.แรงงาน จะสามารถให้ไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าจ้าง ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2570 ได้หรือไม่ว่า แต่ละช่วงจะมีการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นอย่างไร รวมถึงคำถามที่หลายฝ่ายสงสัยว่าปี 2570  ค่าจ้างขั้นต่ำจะถึง 600 บาทหรือไม่

พิพัฒน์ กล่าวว่า ตนมีความมุ่งมั่น เดือนตุลาคมนี้ให้จบที่ 400 บาทให้ได้ก่อน เมื่อจบแล้วจึงจะชี้แจงไทม์ไลน์ของการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าจะมีอีกเมื่อไร

"ถ้าผมประกาศอย่างเดียวแต่ไม่ดูสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การประกาศก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริง ก็อาจไม่ถึง 600 บาทก็ได้ แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานต้องอยู่ให้ได้ จึงขอไม่ตอบในเรื่องนี้" รมว.แรงงาน กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net