Skip to main content
sharethis

สงครามฮามาส-อิสราเอลช่วงไม่นานมานี้ ชื่อของ 'ฮิซบอลเลาะห์' กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังกลุ่มจากเลบานอนเพิ่งเปิดปฏิบัติการยิงแลกกับอิสราเอล และอาจมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาไทชวนรู้จักกลุ่ม ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ว่าเป็นใคร และมีที่มาจากไหนกัน


เลบานอนเป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 5.3 ล้านคน อยู่ทางทิศเหนือของอิสราเอล ซึ่งทั้ง 2 ชาติมีการทำสงครามระหว่างกันหลายครั้ง ตอนที่สถาปนารัฐชาติอิสราเอลปี 1948 (พ.ศ. 2491) ชาวปาเลสไตน์ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคนอพยพมาอยู่ที่เลบานอน

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หมายความว่า 'พรรคของพระเจ้า' ถือเป็นกลุ่มการเมืองมุสลิมนิกาย ‘ชีอะห์’ ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองและการทหาร มีผู้นำคนสำคัญคือ ฮะซัน นัศรุลลอฮ์ (Hassan Nasrallah) 

ปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากในเลบานอน ทั้งในรัฐสภา รัฐบาล และทหาร นับตั้งแต่ฮิซบอลเลาะห์ เข้ามามีบทบาทเมื่อปี 1982 (พ.ศ. 2525) โดยสู้รบแบบกองโจรกับอิสราเอล ที่ยึดครองภาคใต้ของเลบานอน ซึ่งอิสราเอลตอบโต้กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ก่อเหตุโจมตีก่อนหน้านั้น สงครามครั้งนี้ชาวเลบานอนเสียชีวิตนับหมื่นคน ก่อนที่อิสราเอลจะถอนกำลังออกไปในปี 2000 (พ.ศ. 2543) และฮิซบอลเลาะห์อ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง รวมทั้งยังคงประจำการบริเวณชายแดนทางใต้ของเลบานอนต่อไป

ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งอยู่ทั้งในรัฐบาลเลบานอน และมีกองกำลังของตัวเอง ประกาศการก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1985 (พ.ศ. 2528) ด้วยการออกจดหมายที่ประกาศว่าสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสลาม โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการทหารจากอิหร่าน และเป็นพันธมิตรที่ดีกับประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ขณะที่ชาติตะวันตก อิสราเอล และหลายชาติอาหรับ ระบุว่า ฮิซบอลเลาะห์เป็นองค์กร ‘ก่อการร้าย’

ปี 2006 (พ.ศ. 2549) ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อฮิซบอลเลาะห์ สังหารทหารอิสราเอล 8 นาย และจับทหาร 2 นายเป็นตัวประกัน อิสราเอลตอบโต้ครั้งใหญ่จนกลายเป็นสงครามที่สังหารชาวเลบานอนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และมีทหารอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 160 คน ระหว่างการสู้รบที่กินเวลายาวนาน 34 วัน ฮิซบอลเลาะห์ อ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ชนะ และขยายกองกำลังในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ต่อมาปี 2009 (พ.ศ. 2552) ฮิซบอลเลาะห์ ประกาศว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ และต่อต้านอิสราเอล นับเป็นการประกาศครั้งที่ 2 ต่อจากจดหมายเปิดผนึกเมื่อปี 1985 (พ.ศ. 2528)

ในการเลือกตั้งปี 1992 (พ.ศ. 2535) ฮิซบอลเลาะห์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในรัฐสภา โดยเครือข่ายฮิซบอลเลาะห์สามารถครองที่นั่งในสภาได้ 8 ที่นั่งจากทั้งหมด 128 ที่นั่ง และกุมอำนาจในเลบานอนได้มาตลอด ปัจจุบันมีที่นั่งในสภา 62 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2022 (พ.ศ. 2565) ฮิซบอลเลาะห์ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ แต่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนทำให้ฮิซบอลเลาะห์ เป็นรัฐบาลรักษาการ จนถึงปัจจุบันอำนาจของฮิซบอลเลาะห์ กระจายเข้าสู่ในโรงเรียน การศึกษา และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศเลบานอน

ฮิซบอลเลาะห์ มีคลังขีปนาวุธอยู่ทางตอนใต้ของเลบานอน และอ้างว่ามีกองกำลังหนึ่งแสนนาย แม้ว่าหน่วยงานอื่นๆ จะคาดว่า ฮิซบอลเลาะห์ มีทหารประมาณ 20,000 ถึง 50,000 คน โดยทหารส่วนใหญ่ได้รับการฝึกมาอย่างดี และเคยเข้าร่วมในสงครามกลางเมืองซีเรีย

หลังสงครามในปี 2006 (พ.ศ. 2549) จบลง โดยที่องค์การสหประชาชาติเป็นตัวกลางในการเจรจาได้ข้อตกลงว่าบริเวณพรมแดนจะเป็นพื้นที่ปลอดการสู้รบ แต่ไม่เกิดขึ้นจริง ทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดข้อตกลง ฮิซบอลเลาะห์ สะสมอาวุธมากขึ้น จนกระทั่งอิสราเอล มีปฏิบัติการทางอากาศตอบโต้การโจมตีจากกลุ่มฮามาส จากปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 (พ.ศ. 2566) ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกลุ่มฮามาส ก็เริ่มเปิดฉากยิงเข้าไปในภาคเหนือของอิสราเอล ในวันที่ 8 ต.ค. จากฐานทัพในเลบานอน นับตั้งแต่นั้นมาก็มีการสู้รบบริเวณชายแดน

ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามไม่ให้การสู้รบขยายวงกว้าง แต่เมื่อเดือน ก.ค. 2567 มีจรวดจากฝั่งเลบานอนถล่มเมืองเมืองมาชดอลแซม บนราบสูงโกลัน ที่อิสราเอลควบคุมอยู่จนมีเด็กเสียชีวิต 12 คน อิสราเอลแก้แค้นด้วยการโจมตีทางอากาศสังหารผู้บัญชาการของฮิซบอลเลาะห์ ชานเมืองของกรุงเบรุต ตามด้วยปฏิบัติการโจมตีด้วยเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และมีการทิ้งระเบิดหลายจุดในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อ 4 ต.ค.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สถานการณ์ปัจจุบัน (8 ต.ค.) อิสราเอล และฮิซบอลเลาะห์ ยังคงแลกขีปนาวุธกันอยู่ โดยฮิซบอลเลาะห์ ใช้ฐานยิงจรวดในเลบานอน ยิงจรวด 105 ลูกใส่เมืองไฮฟาทางตอนเหนือของอิสราเอล โดยจรวดส่วนใหญ่ถูกสกัดเอาไว้ได้ หรือตกลงไปในพื้นที่เปิดโล่ง แต่ยังมีอาคารอย่างน้อย 2 แห่งในเมืองเคอร์ยัต ยัม และเมืองเคอร์ยัต มอตซคิน ถูกโจมตีโดยตรง

อิสราเอล กล่าวว่า เป้าหมายอยู่ที่การพาชาวอิสราเอล 60,000 คนที่อพยพจากการโจมตีของฮิซบอลเลาะห์ สามารถเดินทางกลับบ้านทางตอนเหนือของอิสราเอลได้ ขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กล่าวว่าจะไม่หยุดยิงจรวดข้ามพรมแดนจนกว่าอิสราเอลจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซ่า


เรียบเรียงข้อมูลจาก
https://www.vox.com/israel/375125/lebanon-hezbollah-israel-iran-invasion-gaza
https://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-67307858
https://www.bbc.com/thai/articles/cd1kr3d1vd4o
https://www.cbsnews.com/news/what-is-hezbollah-israel-lebanon-border-hamas-war/
https://www.nytimes.com/2024/10/02/world/middleeast/israel-hezbollah-lebanon-war-history.html
https://www.aljazeera.com/news/2024/9/18/hezbollah-and-israel-a-timeline-of-conflict

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net