Skip to main content
sharethis

เกิดเหตุเพจเจอร์หรือวิทยุติดตามตัวระเบิดพร้อมกันทั่วประเทศในเลบานอน 2 วันติด ผู้เสียขีวิตพุ่ง 35 ราย บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 3,250 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอย่างน้อย 1 คน และเอกอัครราชทูตอิหร่าน ประจำเลบานอน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ด้าน UN ประณามการก่อเหตุ และเรียกร้องให้ ฮิซบอลเลาะห์-อิสราเอล ยุติการโจมตี

 

20 ก.ย. 2567 สื่อต่างประเทศรายงานวานนี้ (19 ก.ย.) เกิดเหตุระเบิดเพจเจอร์ และวิทยุสื่อสาร ทั่วประเทศเลบานอน โดยเมื่อ 17 ก.ย.ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนและบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 2,800 คน ในวันถัดมาวิทยุสื่อสารระเบิดในหลายเมืองของเลบานอน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 450 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีเด็กอย่างน้อย 1 คน  รวมถึงเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำเลบานอนก็ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยการระเบิดครั้งนี้ส่งผลให้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางขยายวงกว้างมากขึ้น

โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอิสระและโปร่งใส และกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ หลายประเทศออกมาประณามการก่อเหตุ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง จากการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา กับนายกรัฐมนตรีเลบานอน นาจิบ มิคาติ และประณามผู้วางระเบิด แสดงความเห็นอกเห็นใจกับเลบานอนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาข้อยุติ

การโจมตี 2 วันซ้อนพุ่งเป้าไปที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อยู่ในเลบานอนกล่าวโทษ 'หน่วยมอสสาด' (Mossad) หน่วยข่าวกรองของอิสราเอล ว่าเป็นผู้ก่อการและประกาศว่าจะแก้แค้น ขณะที่อิสราเอล แม้ว่าไม่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในทันที แต่โยฟ กัลแลนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างการเยือนฐานทัพทางตอนเหนือของอิสราเอลในวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้อ้างถึงเหตุระเบิด แต่ชมเชยการทำงานของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงว่า ผลงานน่าประทับใจมาก และกล่าวว่า "สงครามยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว ศูนย์กลางเคลื่อนย้ายมาทางเหนือ"

นักข่าวบีบีซี รายงานจากกรุงเบรุต เลบานอน ระบุว่า ชาวเลบานอนทั่วประเทศอยู่ในภาวะสับสนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนตื่นตระหนก ไม่รู้ว่านั่งใกล้กับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือยืนติดกับคนข้างๆ แล้วจะมีอันตรายหรือไม่ อีกทั้งยังมีข่าวลือมากมายในโซเชียลมีเดีย เช่น แผงโซลาร์เซลล์ระเบิด และอื่นๆ

อันโตนิโด กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประณามเหตุโจมตีครั้งนี้และเรียกร้องให้อิสราเอล และฮิซบอลเลาะห์ ยุติการโจมตี ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีกำหนดที่จะประชุมฉุกเฉินในวันที่ 20 ก.ย.นี้ กูเตอร์เรส ยังกล่าวด้วยว่าปฏิบัติการนี้มีการวางแผนก่อนจะมีปฏิบัติการทางทหารใหญ่

ทั้งนี้ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ใช้เพจเจอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารหลักเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดักฟัง เพจเจอร์ที่กลายเป็นชนวนระเบิดสั่งซื้อจากบริษัทใหม่ 5,000 เครื่องหลายเดือนก่อนหน้า โดยระบุว่าเป็นผู้ผลิตจากไต้หวันชื่อ “Gold Apollo” แต่บริษัทปฏิเสธความเกี่ยวข้อง โดยให้ข้อมูลว่าได้ทำสัญญาให้บริษัทในฮังการีที่ชื่อ BAC ใช้ชื่อ Gold Apollo บนเพจเจอร์ได้ 

เพจเจอร์รุ่น AR924 ยี่ห้อ Gold Apollo (ที่มา: เว็บไซต์ Golden Apollo)

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมีการฝังวัตถุระเบิดลงไป โดยการระเบิดเกิดขึ้นจากการที่มีการฝังระเบิดในเพจเจอร์ และจะระเบิดตอนมีข้อความที่เข้ารหัสไว้ส่งเข้ามา แต่ทางการฮังการี ระบุว่าบริษัท BAC เป็นแค่ตัวกลางรับซื้อ แต่ไม่มีการผลิตในประเทศ 

ไม่มีการยืนยันทั้งจำนวนและผู้พกพาเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่ระเบิด ผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากไม่ใช่แค่นักรบของฮิซบอลเลาะห์ แต่เป็นพลเรือนที่ทำงานให้กับชุมชนชิเท ของเลบานอน มีแพทย์และพยาบาลที่ทำงานให้กับเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับฮิซบอลเลาะห์ เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน

ขณะที่วิทยุสื่อสารที่ระเบิดเป็นรุ่นที่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น “ICOM” เลิกผลิตและจำหน่ายมากว่า 10 ปีแล้ว ทางการเลบานอน ระบุว่าไม่ได้มาจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ และไม่ได้รับการตรวจสอบ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นวิทยุสื่อสารที่เคยใช้ในอดีต หรือเป็นของผลิตเลียนแบบ หรือมาจากบริษัทเอง แต่บริษัท ICOM ผู้ผลิตวิทยุสื่อสารแถลงว่าไม่มีการจำหน่ายรุ่นนี้ตั้งแต่ปี 2557

รัฐบาลเลบานอน ประณามการโจมตีครั้งนี้ อับดัลเลาะห์ บู ฮาบิบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเลบานอน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ระบุว่า นี่เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของเลบานอน และเป็นการก่ออาชญากรรม เขากลัวว่าการโจมตีอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้น เป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นสงคราม  และเรียกร้องให้ UNSC และสหรัฐฯ ฟื้นฟูสันติภาพตามแนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเลบานอน เฟราส อับเบียด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า การโจมตีถึง 2 ระลอกโดยไม่มีการเตือน ถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม การทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นอาวุธถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก ไม่ใช่แค่ต่อเลบานอน แต่เป็นภัยต่อส่วนอื่นๆ ของโลก และความขัดแย้งอื่นๆ

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่เหตุโจมตีอิสราเอลโดยกองกำลังฮามาส เมื่อ 7 ต.ค. 2563 ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้และภาคเหนือของเลบานอนนับหมื่นคนต้องไร้ถิ่นฐาน เนื่องจากการสู้รบระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองกำลังฮามาสที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิงและเรียบเรียง

https://www.theguardian.com/world/2024/sep/18/hezbollah-pagers-what-do-we-know-about-how-the-attack-happened

https://edition.cnn.com/2024/09/19/middleeast/lebanon-pager-walkie-talkie-attacks-explainer-intl-hnk/index.html

https://www.theguardian.com/world/commentisfree/2024/sep/18/hezbollah-pager-warfare-lebanese

https://www.bbc.com/news/live/cwyl9048gx8t?post=asset%3A7b6a5b8a-8953-4791-8a94-8a0b93deaacb#post

https://apnews.com/article/lebanon-israel-exploding-pagers-hezbollah-syria-ce6af3c2e6de0a0dddfae48634278288

https://www.bbc.com/news/articles/c781d8y397do

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net