Skip to main content
sharethis

ผู้รายงานพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลต่อการเสียชีวิตในเรือนจำของ เนติพร หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” และเรียกร้องให้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการสืบสวนการเสียชีวติและการดำเนินคดีม.112 และ ม.116 ต่อบุ้งด้วย 

18 ต.ค.2567 เว็บไซต์ของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่จดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลและขอข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง ในฐานะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวหญิง ที่เสียชีวิตหลังการอดอาหารประท้วงขณะที่ถูกคุมขังและรักษาพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยให้รัฐบาลไทยตอบกลับใน 60 วัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“โดยไม่ประสงค์ที่จะตัดสินความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ เราขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเนติพร เสน่ห์สังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวหญิง ซึ่งเสียชีวิตได้ไม่นานหลังจากอดอาหารประท้วงช่วงระยะเวลาหนึ่งขณะส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ความกังวลของเรายังประกอบกับข้อเท็จจริงที่เนติพรถูกควบคุมตัวเนื่องจากเธอทำกิจกรรมไม่ใช้ความรุนแรงและสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยและการเมือง” ผู้รายงานพิเศษระบุในจดหมาย

ผู้รายงานพิเศษได้ระบุข้อเรียกร้องไว้ด้วยว่าให้รัฐบาลยุติดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและพลเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างสงบและชอบธรรมด้วยกฎหมายอาญาโดยเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

“เราขอย้ำเตือนว่าเมื่อเกิดผู้เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวในรัฐ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดการเสียชีวิตตามอำเภอใจ ซึ่งการจะหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการสืบสวนสอบสวนอย่างเหมาะสมเท่านั้น และเราขอเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนการเสียชีวิตของเนติพรตามมาตรฐานสากลรวมถึงพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนการเสียชีวิตที่อาจผิดกฎหมาย”

จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ในการส่งถึงรัฐบาลไทยไว้ตั้งแต่เมื่อ 6 ส.ค.2567 โดยเนื้อหาผู้รายงานพิเศษในด้านต่างๆ ที่ร่วมกันลงนามในจดหมายฉบับนี้ ระบุถึงความกังวลต่อการเสียชีวิตของเนติพรซึ่งออกมาเคลื่อนไหวทั้งในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมาย “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่กลไกพิเศษของยูเอ็นเคยแสดงความกังวลถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการดำเนินคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขามาก่อนแล้ว

ในจดหมายได้ระบุถึงลำดับเวลาเหตุการณ์นับตั้งแต่เนติพรออกมาเคลื่อนไหวโดยการร่วมทำกิจกรรมสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องขบวนเสด็จที่ทำให้เธอถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2565 และการอดอาหารประท้วงครั้งแรกเป็นเวลา 64 วันของเธอในเรือนจำและต่อมาศาลให้ประกันตัว จนกระทั่งเธอถูกดำเนินคดีอีกครั้งจากการทำกิจกรรมพ่นสีประท้วงเมื่อ 6 ก.ย.2566 ที่กระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกันเนติพรในคดีทำโพลด้วยเหตุผลว่าเธอละเมิดเงื่อนไขประกันที่จะไม่กระทำการที่เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์เพราะพ่นสีลงบนธงประจำพระองค์และทำให้เธอถูกคุมขังตั้งแต่ 26 ม.ค.2567 และเริ่มอดอาหารประท้วงในวันรุ่งขึ้น

จากการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและยุติการคุมขังคนที่ออกมาใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็นของเนติพร ทำให้เธอต้องถูกย้ายไปมาระหว่างทัณฑสถานหญิงกลางกับโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพราะมีสภาวะโลหิตจางและความดันต่ำและเธอต้องกลับมาเริ่มทานอาหารและดื่มน้ำอีกครั้งในวันที่ 4 เม.ย.

แต่ด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแอ ทำให้วันที่ 14 พ.ค.ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ในเวลา 6.20 น.ในสถานคุมขัง ทางเจ้าหน้าที่พยาบาลแจ้งว่าได้พยายามกู้ชีพแล้วแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นเธอถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในเวลา 9.30 น.และต่อมาทางโรงพยาบาลจึงประกาศเสียชีวิตเป็นทางการในเวลา 11.22 น. และระบุว่าเนติพรถูกส่งมาถึงโรงพยาบาลโดยไม่มีสัญญาณชีพแล้วและมีการ “ใส่ท่อช่วยหายใจผิด” (faulty intubation)

ในจดหมายยังระบุด้วยว่าตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.รายงานชันสูตรการเสียชีวิตออกมาแต่ยังไม่สมบูรณ์ และอัยการไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการไต่สวนการตายของเธอ อีกทั้งทนายความและครอบครัวของเธอยังเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของเนติพรรวมถึงภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุด้วย จนันที่ 18 มิ.ย.ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้เริ่มกระบวนการไต่สวนการตายตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งวันที่ผู้รายงานพิเศษฯ เขียนจดหมายฉบับนี้

นอกจากนั้นในจดหมายระบุว่าการดำเนินการครั้งนี้ของผู้รายงานพิเศษครั้งนี้ยังเป็นไปความความรับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตราสารและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และภายใต้คำสั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมอบหมาย

ผู้รายงานพิเศษฯ ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตอบกลับภายใน 60 วันใน 3 ข้อดังนี้

1. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและ/หรือความคิดเห็นที่คุณอาจมีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่กล่าวมาข้างต้น

2.  ระบุข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพื้นฐานทางกฎหมายของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และการยุยงปลุกปั่นต่อเนติพร

3.   ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการสืบสวนหรือการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของเนติพร และการสอบสวนใด ๆ ซึ่งเป็นการตามพิธีสารมินนิโซตา หากไม่มีการสืบสวนหรือการสอบสวนดังกล่าวขอให้อธิบายเหตุผลด้วย

ทั้งนี้ในจดหมายได้ระบุด้วยว่าจดหมายตอบกลับของรัฐบาลไทย จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์การรายงานการสื่อสาร นอกจากนี้ จะมีการจัดทำรายงานดังกล่าวไว้ในรายงานตามปกติเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย 

ท้ายจดหมายได้ระบุรายชื่อผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นด้านต่างๆ ที่ร่วมลงนามไว้ดังนี้ Mary Lawlor ผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, Morris Tidball-Binz ผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับการสังหารโดยมิชอบหรือโดยพลการ, Irene Khan ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และ Gina Romero ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพิ่งเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) จำนวน 18 ประเทศ สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งปี 2568-2570 โดยเริ่มทำงานในฐานะสมาชิกวันแรก คือ วันที่ 1 ม.ค. 2568 และประเทศได้รับเลือกเป็น 1 ในประเทศสมาชิกด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net