Skip to main content
sharethis

ศปช.เผยฟื้นฟูแม่สายคืบหน้า 99% เตือนประชาชนในภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ติดตามเฝ้าระวัง ภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. 2567


ภาพที่ชุมชนถ้ำผาจม​ หมู่ 1 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 | ที่มาภาพ: สวท.เชียงราย กรมประชาสัมพันธ์

19 ต.ค. 2567 เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่านายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เตือนประชาชนในช่วงวันที่ 19 – 22 ต.ค. นี้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 25 ต.ค. 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพเนื่อจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย

ในส่วนของ ศปช. แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 19-21 ตุลาคม ดังนี้ พื้นที่ภาคกลาง ราชบุรี : บ้านคา ปากท่อ เพชรบุรี : แก่งกระจาน ท่ายาง ภาคตะวันออก ได้แก่ตราด : เขาสมิง เกาะช้าง เกาะกูด คลองใหญ่ เมือง แหลมงอบ จังหวัดจันทบุรี : เขาคิชฌกูฎ มะขาม เมือง จังหวัดชลบุรี : บางละมุง ศรีราชา สัตหีบ บ้านบึง ระยอง : เขาชะเมา แกลง เมือง ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง : กะเปอร์ สุขสำราญ จังหวัดพังงา : กะปง ตะกั่วป่า และจังหวัดภูเก็ต : ถลาง กะทู้ เมืองภูเก็ต

สำหรับความคืบหน้า ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กห.ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ตรวจความเรียบร้อยโดยลาดตระเวนทางเท้าและทางรถยนต์ การนำดินโคลนออกจากบ้านเรือน ปชช.เรียบร้อยแล้ว 99% เหลือการเก็บรายละเอียดพื้นที่ส่วนกลาง การนำกองดินออกจากถนน การขุดลอกท่อระบายน้ำหลัก และการเก็บขยะตกค้าง ฯลฯ ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ฟื้นฟูครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมแล้ว 807 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 819 หลังคาเรือน ทั้งนี้ ยังมีบางพื้นที่น้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ มีน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาต่อเนื่อง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสาย ยังอยู่ในระดับสูงกว่าภาวะปกติเล็กน้อย


คืบหน้าฟื้นฟูแม่สาย เคลียร์ดินโคลนตามบ้านใกล้ 100% เร่งคืนพื้นที่ก่อนสิ้นเดือน ต.ค. 2567

สวท.เชียงราย กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ว่าเมื่อเวลา 17.30 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย นายประสงค์  หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พล.ต.บุญญฤทธิ์  เกษรเวทิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอแม่สาย พร้อมด้วย  ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินงานแต่ละพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปรายงาน ดังนี้

- กรมการทหารช่าง ความแข็งแรงของบิ๊กแบ็คแข็งแรงปกติ จุดที่อุดตามลำน้ำสาย 21 จุด แข็งแรงปกติ  ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- ทหารเรือ ดำเนินการฟื้นฟูบ้านพักอาศัย ผลการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แยกเป็น 2 ชุมชน คือ ความก้าวหน้าชุมชนหัวฝาย 100% ความก้าวหน้าตลาดสายลมจอย 94% 
- ทหารบก ดำเนินการฟื้นฟูบ้านพักอาศัย ผลการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความก้าวหน้าบ้านไม้ลุงขน 99%
- กองทัพไทย ดำเนินการฟื้นฟูบ้านพักอาศัย ผลการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความก้าวหน้าบ้านเกาะทราย 98%
- ชุด ชป.อส. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการฟื้นฟูบ้าน ความก้าวหน้าบ้านเหมืองแดง 100% ความก้าวหน้าบ้านเหมืองแดงใต้ 100% ความก้าวหน้าบ้านปิยะพร 100% ภาพรวมโซนมหาดไทย  100%
- สภ.แม่สาย วางกำลังพลอำนวยสะดวกให้กับเครื่องจักรในการทำงาน และขนย้ายดินออกจากพื้นที่ประสบภัย
- ประปา เร่งดำเนินการซ่อมแซมระบบประปา ตรวจสภาพระบบประปาในพื้นที่ที่กำลังฟื้นฟู
- ไฟฟ้า เข้าดำเนินการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในครัวเรือนที่ฟื้นฟูสภาพบ้านที่เรียบร้อยแล้ว

ความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามมติ ครม. ล่าสุด โอนเงินสำเร็จแล้วมากกว่า 412 ล้านบาท

NBT Connext รายงานว่านายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี ล่าสุด  (19 ต.ค. ) ปภ. ส่งข้อมูลผู้ประสบภัยให้ธนาคารออมสินแล้ว 10 ครั้ง รวม 64,732 ครัวเรือน และโอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยสำเร็จ (ข้อมูล ณ เวลา 18 ต.ค. 2567 เวลา 16.30 น.) 45,827 ครัวเรือน รวมเป็นเงินจำนวนกว่า 412,379,000 บาท คาดโอนเงินช่วยเหลือครั้งที่ 9 ของจังหวัดหนองคายได้ในวันที่ 21 ต.ค. 2567 และครั้งที่ 10 ของจังหวัดสุโขทัย เลย แพร่ และเชียงราย ได้ในวันที่ 22 ต.ค. 2567 พร้อมประสานจังหวัดเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยประชาชนที่ลงทะเบียนยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือก่อนวันที่ 16 ต.ค. 2567 จะต้องได้รับเงินภายในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงาน รวมไปถึงวิธีการกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ ได้ที่กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปภ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2637-3508 – 10,12 หรือ 089-600-6777 และ 084-874-7387 และหากต้องการสอบถามเรื่องการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์ https://flood67.disaster.go.th หรือพบปัญหาในการใช้งาน สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปภ. ได้ที่หมายเลข 0-2637-3604-06 และ 089-968-1232 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net