Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจน ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีชาวบ้านถูกคุกคาม หลังรัฐประหาร พร้อมออกแถลงการณ์ จี้ คมช. รัฐบาล สนช. หยุดคุกคาม คืนสิทธิ-พื้นที่การเมืองให้คนจน

 

ประชาไท - 13 ม.ค. 2550 ตัวแทนจากสมัชชาคนจนแห่งชาติ ประมาณ 20 คน เข้ายื่นหนังสือกับนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ ตำรวจ ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง บางกรณี ถูกข่มขู่คุกคามโดยการอ้างกฎอัยการศึก ทำให้ชาวบ้านที่ถูกติดตามเกิดอาการหวาดระแวงและวิตกกังวล และทำให้ไม่สามารถประชุมปรึกษาหารือตามปกติเพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนได้ นับเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้าน ทำให้ไม่อยู่ในภาวะที่จะปกป้องสิทธิของตนได้

 

 

นอกจากนี้ ข้าราชการในท้องถิ่นยังฉวยโอกาสที่ประชาชนถูกจำกัดสิทธิใช้อำนาจตามอำเภอใจ จัดการกับชาวบ้าน เช่น เข้าไปตัดโค่นต้นยางของชาวบ้าน ทั้งบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมที่ชาวบ้านทำกินกันมาหลายชั่วอายุคน ดังนั้น จึงขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิดังกล่าว เพื่อให้คนจนสามารถดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคน และมีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคม

 

 

รายละเอียดของหนังสือมีดังนี้

 

หลังจากการยึดอำนาจการปกครอง ของคณะนายทหารในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยต้องถูกลิดรอนให้จำกัดอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศของ คปค. ฉบับที่ 7 ที่ห้ามไม่ให้มั่วสุมประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น

 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สมัชชาคนจน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนจนทั้งในเมืองและชนบทที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาประเทศและโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยพึงมีและสามารถแสดงออกได้อย่างชอบธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของตน ที่สำคัญนอกจากการสูญเสียสิทธิที่เป็นนามธรรมแล้วชาวบ้านยังต้องเผชิญกับสภาพปัญหาที่เป็นรูปธรรมดังนี้

 

1. หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผู้นำชาวบ้านสมัชชาคนจนในพื้นที่ต่างๆ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนราศีไศล กรณีที่สาธารณะประโยชน์ โนนหนองลาด กรณีที่ทหารทับที่ ต.ยางตาล อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ กรณีป่าดงมะไฟ เป็นต้น ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ ตำรวจ ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องรวมถึงบางกรณีมีการข่มขู่คุกคามโดยการอ้างกฎอัยการศึก ทำให้ชาวบ้านที่ถูกติดตามเกิดอาการหวาดระแวงและวิตกกังวล และทำให้ไม่สามารถประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตนได้รับความเดือดร้อนได้ตามปรกติ นับเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้านทำให้ชาวบ้านไม่อยู่ในภาวะที่จะปกป้องสิทธิของตนได้

 

2. ข้าราชการในท้องถิ่นฉวยโอกาสที่ประชาชนถูกจำกัดสิทธิใช้อำนาจตามอำเภอใจ จัดการกับชาวบ้าน เช่น การที่เจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่ เขาย่า ในพื้นที่ อ.รัษฎา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้เข้าไปตัดโค่นต้นยางของชาวบ้าน ทั้งบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมที่ชาวบ้านทำกินต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน การใช้อำนาจในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ประชาชนไร้สิทธิเสรีภาพเท่านั้นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการปิดประตูตีแมว

 

สมัชชาคนจนจึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดตรวจสอบการละเมิดสิทธิดังกล่าว เพื่อให้คนจนสามารถดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคน และมีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคมซึ่งจะเป็นการเปิดช่องทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของคนจนในสังคมไทยอันจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์อย่างแท้จริงต่อไป

 

 

 

จี้ คมช. รัฐบาล สนช. คืนสิทธิ-พื้นที่การเมืองให้คนจน

พร้อมกันนั้น สมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการดังต่อไปนี้ เปลี่ยนจากการสร้างรัฐทหารมาสร้างชุมชนเข้มแข็ง สนับสนุนให้เกิดกลุ่มองค์กรชาวบ้านในการดำเนินกิจกรรมมิติต่างๆ

           

คืนสิทธิ พื้นที่ทางการเมือง และชีวิตปกติของคนจนด้วยการเร่งยกเลิกกฏอัยการศึก ประกาศคปค.ฉบับที่ 7 และถอนกำลังทหารที่เข้าไปสอดส่อง ติดตามการเคลื่อนไหวออกจากพื้นที่โดยทันที

           

เอาใจใส่ติดตามกระบวนการแก้ปัญหาของคนจนกลุ่ม เครือข่ายต่างๆ ที่มีพัฒนาการความคืบหน้าต่อเนื่องมาจากรัฐบาลต่างๆ และด้านการปฏิรูปการเมือง ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนจนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มากไปกว่าการหย่อนบัตรประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทำการโดยผู้เชี่ยวชาญ และรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเพียงองค์กรทางการ 12 องค์กร

           

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ของคนจน ที่ไม่มีอยู่ในกระบวนการที่เป็นทางการแต่อย่างใดเลย ได้เข้ามาเสนอวาระของตนเองอย่างเสมอหน้ากับภาคส่วนอื่นๆ

 

 

 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

หยุด! "รัฐทหาร" การข่มขู่คุกคามคนจน

คืนสิทธิ พื้นที่การเมือง และชีวิตปกติให้คนจน

ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๐

           

ระบอบเผด็จการทหารชั่วคราวที่สถาปนาขึ้นจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้นคณะมนตรีความมั่นคง(คมช.) จะประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาสังคมการเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 4 เดือน สถานการณ์ของคนจน คนด้อยโอกาส ดังกรณีสมัชชาคนจน และพี่น้องคนจนเครือข่ายต่างๆ กลับอยู่ในสภาพที่ถูกคุกคามสิทธิ พื้นที่การเมือง และการดำเนินชีวิตปกติในทุกมิติ

 

ประการแรก ยุทธการถอนรากถอนโคนระบอบเดิมภายใต้ปฏิบัติการต่อ "ภัยรูปแบบใหม่" ด้วยการสร้าง "รัฐทหาร" การฟื้นฟูกอ.รมน.และการใช้กลไกราชการในการควบคุม ปราบปราม การคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกและประกาศคปค.ฉบับที่ 7 ฯลฯ ในสถานการณ์ความกลัวอย่างตื่นตูมในเรื่องคลื่นใต้น้ำได้ก่อให้เกิดการควบคุม กำกับ ตรวจสอบ สอดส่อง ห้ามปราม ข่มขู่แกนนำชาวบ้านไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ

 

ดังนั้น ชุมชนท้องถิ่นของคนจนในชนบทภายใต้ "รัฐทหาร" และการกลับมามีอำนาจล้นพ้นของระบบราชการซึ่งเข้าไปควบคุมการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทุกกระเบียดนิ้วเช่นนี้ จึงทำให้สิทธิในการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองอันเป็นช่องทางและพื้นที่การเมืองสำคัญที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้านสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง

 

ประการที่สอง หลังการรัฐประหาร ข้อตกลงที่รัฐบาลเดิมเคยมีมติครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการดำเนินการคืบหน้าแตกต่างกันออกไปได้ยุติลงทั้งหมด ระบบราชการที่รับผิดชอบได้อาศัยสถานการณ์ของระบอบรัฐประหารยกเลิกข้อตกตงที่เคยผ่านการผลักดันของคนจนด้วยความยากลำบาก ดังที่พบว่า คณะกรรมการแก้ปัญหาทุกระดับเลิกทำงาน ด้วยการหยุดกิจกรรมต่างๆ ไม่มีการประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งแก่คนจนว่า ต้องรอท่าทีรัฐบาลใหม่

 

ดังนั้น หลังระบอบรัฐประหารสภาพการแก้ไขปัญหาคนจนจึงอยู่ในสภาพ "เว้นวรรค"

 

ประการที่ 3 ด้านการปฏิรูปการเมือง คณะรัฐประหาร 19 .. 2549 มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ว่า "จะเร่งจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชนทุกขั้นตอน" แต่กลับปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า สสร.จำนวน 100 คน กลับมีแต่ตัวแทนเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคราชการ และภาควิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญที่ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการเสนอเข้ามาโดยคมช. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 35 คน ก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ใกล้ชิดกับคมช.เช่นเดียวกัน ดังนั้น องค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีพื้นที่หรือตัวแทนของคนจน

 

ในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็มีการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ชัดเจนแต่เพียงการหย่อนบัตรลงประชามติเท่านั้น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีเพียงแต่องค์กรทางการ 12 องค์กรเท่านั้น

 

การออกแบบการปฏิรูปการเมืองที่ให้คณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) มีอำนาจในการควบคุม กำกับ และยับยั้ง การได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบจึงมีลักษณะ "ไม่เห็นหัวคนจน" ไม่มีพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนจนแต่อย่างใด

วิสัยทัศน์ของชนชั้นนำทางการเมืองที่เข้ามาควบคุมกระบวนการปฏิรูปการเมืองต่อการมีส่วนร่วมของจนจึงมีลักษณะแคบและสั้นยิ่งนัก

           

สมัชชาคนจนและเครือข่ายคนจนจึงเห็นว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารควรดำเนินการดังต่อไปนี้

           

1.การเปลี่ยนฐานคิดในการจัดการต่อ "ภัยคุกคามใหม่" และคลื่นใต้น้ำ" จากการสร้าง "รัฐทหาร" ด้วยการฟื้นฟูหน่วยงานด้านความมั่นคง การขยายกลไกระบบราชการเพื่อเข้าไปควบคุม ปราบปรามและกำกับชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มาสู่การสร้าง "ชุมชนเข้มแข็ง" สนับสนุนให้เกิดกลุ่มองค์กรชาวบ้านในการดำเนินกิจกรรมมิติต่างๆ วิธีคิดเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้ชาวบ้านไม่ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง

           

2.คืนสิทธิ พื้นที่ทางการเมือง และชีวิตปกติของคนจนด้วยการเร่งยกเลิกกฏอัยการศึก ประกาศคปค.ฉบับที่ 7 และถอนกำลังทหารที่เข้าไปสอดส่อง ติดตามการเคลื่อนไหวออกจากพื้นที่โดยทันที

           

3.เอาใจใส่ติดตามกระบวนการแก้ปัญหาของคนจนกลุ่ม เครือข่ายต่างๆ ที่มีพัฒนาการความคืบหน้าต่อเนื่องมาจากรัฐบาลต่างๆ การแก้ไขปัญหาของคนจนไม่สามารถเว้นวรรคได้

           

4.ในมิติด้านการปฏิรูปการเมือง ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนจนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มากไปกว่าการหย่อนบัตรประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทำการโดยผู้เชี่ยวชาญ และรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเพียงองค์กรทางการ 12 องค์กร

           

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ของคนจน(ที่ไม่มีอยู่ในกระบวนการที่เป็นทางการแต่อย่างใดเลย) ได้เข้ามาเสนอวาระของตนเองอย่างเสมอหน้ากับภาคส่วนอื่นๆ

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net