Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้ ผมไปร่วมเสวนาในหัวข้อ "ทางออกจากวิกฤตด้วยวิถีทางประชาธิปไตย" ที่คณะศิลปศาสตร์ มธ ผมรู้สึกว่าผมยังพูดไม่เต็มที่ตามที่ตั้งใจไว้ ที่ตระเตรียมมาก็ไม่ได้พูดหมด ด้วยสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ

ข้อจำกัดด้านเวลา ประการหนึ่ง

สภาพแวดล้อมของเวทีเสวนา อีกประการหนึ่ง ข้อนี้ ผมคิดเอาเองว่า เวทีเสวนาต้ิองการหาทางออกอย่างสันติ หากผมพูดแบบที่ผมคิดทั้งหมด เกรงว่าจะยิ่งจูงใจให้คนเกลียดชังรัฐบาลมากขึ้น ประกอบกับองค์ประกอบของผู้ร่วมเสวนา ค่อนข้างเห็นไปในทางเดียวกันถึง ๔ คน ส่วนอีก ๑ คน คือ ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์

ผมเห็นว่าสิ่งที่ผมเตรียมไว้ ไม่ได้เผยแพร่ก็น่าเสียดาย เลยคิดว่าจะขอนำทั้งหมดเผยแพร่ ดังนี้

000

ผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมอภิปราย สื่อมวลชน และผู้ฟังทุกท่านครับ

หัวข้อ "ทางออกจากวิกฤติด้วยวิถีทางประชาธิปไตย" เป็นหัวข้อค่อนข้างเปิด เราจะหาทางออกได้ เราก็ต้องรู้เหตุของวิกฤติเสียก่อน ด้วยเวลาจำกัด ผมคงไม่สืบสาวไปถึงรัฐประหาร ๑๙ กันยายน แต่มาพูดกันเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ผมคิดว่าจะพูดถึงทางออกได้ ก็ต้องพูดถึง ๓ ประเด็นก่อน

ประเด็นแรก การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการสลายการชุมนุม ในฐานะต้นตอของปัญหา ต้นตอของเหตุการณ์วันที่ ๑๐ เมษายน

ประเด็นที่สอง หลังผ่าน ๑๐ เมษายนไป ดูเสมือนว่าจะมีการตกลงสงบศึกชั่วคราว แต่ก็เป็นการหยุดยิง หยุดสลาย หยุดปะทะเท่านั้น แต่ทั้งสองฝ่ายยังรณรงค์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐบาล ยังใช้เครื่องมือของตนโฆษณาชวนเชื่อทุกวัน พร้อมๆกับปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สาม เมื่อความขัดแย้งบานปลาย รุนแรงมากขึ้น ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าบรรดานักสันติวิธีในประเทศนี้ ต้องออกมารณรงค์เรียกร้องความสงบ สันติวิธี สมานฉันท์

เมื่อพูดทั้งสามประเด็นนี้แล้ว ผมจะทดลองเสนอทางออก

000

ประเด็นแรก การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสลายการชุมนุม

สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องยกเว้น แต่กระบวนทัศน์ของรัฐบาลมักจะแปรสภาพให้เป็นเรื่องหลัก บางทีสถานการณ์ยังไม่ฉุกเฉิน ก็ไปทำให้มันฉุกเฉิน ไปสร้างความน่าสะพรึงกลัว ไปสร้างความกังวลให้สาธารณชนจนรู้สึกว่า โอเคถึงจุดที่ฉันพร้อมยอมแลกละ เอาสิทธิและเสรีภาพของฉันไปก็ได้ แต่ช่วยมาจัดการความน่ากลัวเหล่านี้ให้หน่อย

Agamben บอกว่า สภาวะยกเว้น (State of exception) คือ สภาวะที่เกิด Force of law โดยที่ Force นี้ไปทำลาย Law เป็นการงดบังคับใช้กฎหมาย เป็นการทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

พวกเราได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ขออนุญาตตัดตอนอ่านให้ฟังอีกครั้ง

๑. เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐเสรีประชาธิปไตย

๒. ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง คือ ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๕ วัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องปกติในรัฐเสรีประชาธิปไตย การปิดถนนและการยึดพื้นที่สาธารณะบางส่วนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม หากการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายใด รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้

๓. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่เพียงต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนเป็นสำคัญ

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง เราเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงยังอยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากรัฐบาลต้องการให้ผู้ชุมนุมออกจากสถานที่สาธารณะ รัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนกรณีระเบิดตามสถานที่ต่างๆในแต่ละวันนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่ามีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ทั้งในแง่ความเข้มข้นของมาตรการและในแง่พื้นที่ซึ่งครอบคลุมในหลายจังหวัด

เราเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงยังไม่ถือเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

๔. มาตรา ๑๖ ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง นั่นหมายความว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้เป็นคดีรัฐธรรมนูญ ส่วนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลยุติธรรมหรือไม่นั้น ยังไม่มีคำพิพากษาบรรทัดฐานยืนยันไว้ ความข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการประกันโดยองค์กรตุลาการเพียงพอ จนอาจทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบได้

เราเห็นว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นไปเพื่อสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐบาลต่อไป ไม่ใช่รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหาให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งครั้งนี้ให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ แต่กลับเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

นี่เป็นแถลงการณ์ของกลุ่มเรา ผมขอขยายความเพิ่มเติมเล็กน้อย ในฐานะที่เป็นคนร่าง และเพิ่มความเห็นของผมไปอีก

หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมผมไปเขียนว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงยังอยู่ในกรอบตาม รธน ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า เรื่องเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะของบ้านเรามั่วมาก ไม่มีกฎหมายวางกรอบชัดเจน นั่นข้อหนึ่ง ข้อสอง บางความเห็นยกตัวอย่างของต่างประเทศว่า การชุมนุมสาธารณะมีกติกา ต้องแจ้งให้ทางการทราบ จะปิดถนนเส้นไหน เดินขบวนไปเส้นไหน ใช้เวลาเท่าไร ใครรับผิดชอบ การสลายการชุมนุมทำได้เมื่อไร มีขั้นตอนอย่างไร

ผมคิดว่า อาจะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง หากเราเทียบกับต่างประเทศ เขาไม่ค่อยปิดถนนยืดเยื้อยาวนาน เพราะ อาวุธสำคัญของเขาคือนัดหยุดงาน แล้วออกมาถือป้ายเดินบนถนนประมาณ ๒-๓ ชม. เป็นสัญลักษณ์ และได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าเดินเส้นไหน ปิดการจราจรตรงไหน

แต่ของเรา อาวุธนัดหยุดงานแทบไม่เคยนำมาใช้ ด้วยธรรมชาติของแรงงานบ้านเรา ที่ไม่ได้ทำงานในองค์กร มีสหภาพแรงงานเป็นคนนำ ลองนึกภาพคนเสื้อแดง จะให้เขาไปนัดหยุดงานอย่างไร เพราะประกอบอาชีพอิสระ และข้อเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องประโยชน์ ส่วนได้เสีย จากการทำงานในอาชีพ แต่เป็นเรื่องการเมืองระดับชาติ

ดังนั้น การชุมนุมบ้านเรา จึงเหลือเครื่องมือเดียว คือ ปิดถนน เพื่อกดดันให้รัฐบาลลงมาเจรจา

ในอนาคต หากความขัดแย้งนี้คลี่คลายลง เราอาจต้องพิจารณาเรื่องการออกกฎหมายการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน

เมื่อยังไม่มีกฎหมายเป็นเกณฑ์มาตรฐาน แล้วเราจะมองอย่างไร ว่าการชุมนุมเกินกรอบหรือไม่

ส่วนใหญ่ก็มาดูว่า มีการกระทำรุนแรงหรือไม่? ทำลายสถานที่ราชการหรือไม่ ทำลายสถานที่สาธารณะหรือไม่? ทำร้ายคนอื่นหรือไม่? สเกลการปิดใหญ่แค่ไหน กว้างแค่ไหน? ก็ดูรายกรณีไป

กรณีเสื้อแดง ผมเห็นว่า ยังไม่รุนแรงจนเกินไป แน่นอนผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่มีกฎหมายหลายฉบับเป็นเครื่องมือ เช่น กฎหมายจราจร เป็นต้น

ผมเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทางกฎหมาย รัฐบาลมีอำนาจสลายได้เองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปขออำนาจศาลด้วยซ้ำ เขาเรียกว่า "มาตรการบังคับทางปกครอง" เช่น รื้ออาคารที่ผิด กม ขับไล่คนออกจากที่ เป็นต้น

แต่ในทางการเมือง ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลเองที่จะประเมินว่า สลายแล้วตัวเองจะงานเข้าหรือไม่ จะเสียการเมืองหรือไม่

จนมาถึงการสลายการชุมนุมภายใต้ชื่อ "ขอคืนพื้นที่" เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ผมคิดว่าเป็นความผิดของรัฐบาลชัดเจน

หนึ่ง นายกฯพูดเสมอว่าชุมนุมที่ผ่านฟ้าไม่ผิด แต่ที่ราชประสงค์ผิด แต่กลับมาสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า
สอง การสลายการชุมนุมทำในเวลากลางคืน
สาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการสลายการชุมนุม มีการใช้อาวุธ
สี่ การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามขั้นตอน พ.อ.สรรเสริญบอกว่า มี ๗ ขั้นตอน แต่ไม่จำเป็นต้องจาก ๑ ถึง ๗ ให้พิจารณาสถานการณ์เป็นรายกรณีไป อาจจะข้ามขั้นตอนได้ ผมว่าแบบนี้ผิด

ประเด็นที่สอง การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ

จนวันนี้รัฐบาลยังไม่ยอมหยุดการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ นายกฯและพรรคพวกพูดทุกวันว่าต้องการให้จบ ต้องการสันติ ต้องการสงบ แต่รัฐบาลกลับใช้สื่อข้างเดียว โฆษณาชวนเชื่อทุกวัน แล้วไปไล่ปิดสื่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล โดยใช้ข้ออ้างว่าสื่อเหล่านั้นบิดเบือนความจริง แล้วสื่อในมือรัฐบาลพูดข้างเดียว ฝ่ายเสื่อแดงเขาก็มีสิทธิสงสัยว่าสื่อของรัฐบาลบิดเบือนความจริงเหมือนกัน แล้วจะทำอย่างไร ก็มีทางเดียว คือเปิดให้ทั้งสองฝ่ายพูด

เท่าที่ผมสังเกตมา กระบวนการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อตอนนี้ มีสองระดับ แบบเข้มข้น ก็พวกคอลัมนิสต์ขาโหด อาทิ เปลว สีเงิน การแถลงของ ศอฉ ช่องเอ็นบีที เอเอสทีวี พวกนี้ก็สื่อตรงๆเลยว่า ทหารโดน ผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย ต้องสลาย

แบบสอง ก็คือ แบบเบาๆเนียนๆ อันนี้มีไทยพีบีเอสเป็นหลัก นักข่าวก็ทำเป็นสกู๊ป ทำเป็นรายงาน จำพวกผลกระทบจากการชุมนุม เที่ยวไปสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ค้า คนสัญจรแถวนั้น ผู้ประกอบการ เอาตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจมาแจกแจง (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าใช้อะไรประเมิน)

ผมไม่เถียงว่าเป็นเท็จ เป็นการบิดเบือนนะ อาจเป็นจริงก็ได้ มีคนเดือดร้อนจริงก็ได้ แต่ทำไมจ้องแต่เสนอด้านเดียว ย้ำทุกวันๆ ขนาดหลังเหตุการณ์วันที่ ๑๐ เมษายนหมาดๆ แทนที่จะมีจิตสำนึกเรื่องคนเจ็บ-คนตาย หรือวิจารณ์รัฐบาลพร้อมๆกับวิจารณ์แกนนำเสื้อแดงก็ได้ แต่กลับเสนอแต่ข่าว สงกรานต์นี้คนเที่ยวน้อย ผู้ประกอบการถนนข้าวสารขาดทุนมหาศาล มหาอำนาจห้างลักซูรี่ย่านราชประสงค์และสยามเสียหาย

ผมเห็นว่า วิธีการนำเสนอข่าวแบบนี้ เป็นวิธีการแบบแอ๊บ “ขาวเนียน” (ขอยืมคำของอาจารย์พิชญ์มาใช้)

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวานผมดูรายการที่นี่ทีวีไทย เขาทำรายงานสั้นๆ เล่าว่า ที่ผ่านฟ้ากลับคืนสู่สภาวะปกติ ไปสัมภาษณ์แม่ค้าขายกรงนก ไปสัมภาษณ์ประธานชุมชน พวกเขาดีใจมากที่กลับสู่สภาวะปกติ ก่อนหน้านี้ปิดร้าน ดีใจได้กลับมาขายของ กล้องก็ฉายภาพถนนโล่งๆ ไม่มีรถติด ไม่มีเวที ไม่มีผู้ชุมนุม แต่ก็ยังมีของเกะกะบ้าง ซากต่างๆ รวมทั้งโถฉี่ ซึ่งผู้สื่อข่าวก็บรรยายว่าส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว

จากนั้นก็รายงานต่อเรื่องการชุมนุมที่ราชประสงค์ มีแผนภูมิแผนผัง ชุมนุมตรงนี้ กระทบห้างนี้ แล้วก็แจกแจงตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ

เราไม่เคยเห็นสื่อเหล่านี้นำภาพน่ารักๆ มุมน่ารักๆที่เกิดในการชุมนุมมาเผยแพร่ (ซึ่งต่างกับตอนพันธมิตรชุมนุมนะครับ ยังมีรายงานข่าวเรื่องพวกนี้) ผมไปสังเกตการณ์มา ๔ ครั้ง ก็พบว่า มันไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น มันมีมุมน่ารักๆอยู่ มีมุมเอื้ออาทรซึ่งกันและกันอยู่

ในบางครั้ง การเสนอความจริง แต่เป็นความจริงครึ่งเดียว ด้านเดียว ยังอันตรายมากกว่าการเสนอความเท็จเสียอีก

ผมคิดว่า ภาพภาพเดียวกัน เหตุการณ์เหตุการณ์เดียวกัน เราสามารถสร้างเรื่องเล่าอย่างไรก็ได้ ให้ต่างกันก็ได้ เช่น สมมติผมไปสังเกตการณ์ชุมนุมที่สยาม บนสถานีรถไฟฟ้า มีผู้ชุมนุมนอนเต็มไปหมด กางมุ้งเล็กๆ ตากผ้า ภาพนี้หากออกสื่อของรัฐ หรือสื่อแอ๊บขาวเนียน ก็อาจใช้แอพโพรชว่าสร้างความเดือดร้อน มาเกะกะ หากออกสื่อเสื้อแดง ก็อาจดูน่าเอ็นดู ชาวบ้านได้แสดงอำนาจของตนต่อคนเมือง ในเมื่อสถานการณ์แบบนี้ หาสื่อที่ “เป็นกลาง” ไม่มี เราจะแก้อย่างไร ก็ต้องเปิดให้พูดได้ทั้งสองข้าง

ผมเห็นว่า รัฐบาลพยายามใช้สื่อเพื่อผลิตความกลัวสองประการ ประการแรก สร้างความกลัวให้ผู้ชุมนุม ให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่าเป็นอันตรายหากไปร่วมชุมนุม เพราะจะโดนปราบ โดนสลาย โดนตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ประการที่สอง สร้างความกลัวให้แก่ประชาชนทั่วไป ให้รู้สึกว่าสถานการณ์น่าสะพรึงกลัวเหลือเกิน ราวกับข้าศึกมาประชิดประตูเมืองแล้ว เลวร้ายอย่างยิ่ง จนประชาชนยินยอมพร้อมใจให้รัฐลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของตนเอง เพื่อไปจัดการสลายความน่าสะพรึงกลัวนี้ออกไป

ประเด็นที่สาม สมานฉันท์และสันติวิธี?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศในสังคมไทยตอนนี้ คุกรุ่นไปด้วยความเกลียดชัง ทั้งโลกจริง และโลกไซเบอร์ เราพบเห็นการด่าทอ การสาปแช่ง การดูถูกความเป็นมนุษย์ การสนับสนุนให้คนทำร้ายกัน สนับสนุนให้รัฐบาลปราบ

สถานการณ์แบบนี้ ก็มีผู้หวังดีเสนอเรื่งสันติวิธี

สมานฉันท์ – สันติวิธี ณ เวลานี้คืออะไร

ผมเห็นว่าไม่ใช่การซุกไว้ใต้พรม ไม่ใช่การยอมๆเลิก โดยความไม่ถูกต้อง ความอัปลักษณ์ ความไม่เป็นธรรม ยังคงดำรงอยู่ ไม่ใช่กลับบ้าน นอนหลับ กินอิ่ม ค้าขายดี ไม่ใช่เอ้าๆ คนไทยรักกันนะ

สันติวิธี ไม่ใช่ คนไทยรักกัน ผมเหม็นเบื่อ อายากจะอาเจียนกับโฆษณาจำพวกนี้มาก เชิญเหล่าเซเลบ ดารา พระสงฆ์องค์เจ้ามาพูด รักกันๆ พูดตรงๆ มันตอแหลไปหน่อยมั้ย คนไทยไม่รักกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เราจะบังคับให้คนรักกันได้หรือ ในสังคมขนาดใหญ่ คนจำนวนมาก ความแตกต่างเยอะ ผมคิดว่า "รัก" ไม่สำคัญเท่า "เคารพ" ไม่ต้องรักกันหรอกครับ เกลียดขี้หน้ากันก็ได้ ไม่ชอบไอ้หมอนี่ก็ได้ แต่สำคัญที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพในความแตกต่าง

สันติวิธี ไม่ใช่ กูตบหัวมึง กระทืบมึงเสียน่วม พอมึงลุกขึ้นสู้ จะเอาคืน กูบอก เอ้า เราดีกันเถอนะตัวเอง อย่าโกรธกันเลย รักกันดีกว่า โลกจะได้สงบสุข

แต่สันติวิธี คือ พูดความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่พวกเขา

ข้อเสนอของนักวิชาการขาประจำให้ตั้งกรรมการคนกลางมาเจรจา มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงวันที่ ๑๐ เมษา ผมไม่เห็นด้วยเรื่องตั้ง โอเคล่ะ จะตั้งก็ได้ แต่รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน ด้วยการลาออกหรือยุบสภา แล้วจะมาสืบสาวราวเรื่องก็เอา การเสนอให้ตั้งกรรมการของคนกลุ่มนี้ อาจเป็นไปเพื่อซื้อเวลา และออกมาดูดีแค่นั้นเอง

ข้อเสนอ

ผมมีข้อเสนอไปทางฝั่งคนเสื้อแดงและรัฐบาล คนเสื้อแดงมีสั้นๆเท่านั้น แต่รัฐบาล ขอมากหน่อย

ทางฝั่งคนเสื้อแดง

ผมไปสังเกตการณ์การชุมนุมเสื้อแดง ๔ ครั้ง ผ่านฟ้า ๓ ครั้ง ราชประสงค์ ๑ ครั้ง ผมพบว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงบางส่วนพร้อมจะเจ็บ พร้อมจะตาย พร้อมจะเจอสถานการณ์ทุกรูปแบบ มองไปที่แววตาแล้วมีความมุ่งมั่นมาก มีความหวังมาก แล้วมีจำนวนไม่น้อยนะครับ

ก็ขนาดวันที่ ๑๐ เจอของหนักไปขนาดนั้น วันรุ่งขึ้น ยังกำลังใจดี ไม่มียุบ ไม่มีถอย แล้วโดนนวดมาหลายปีก็ยังไม่ทรุด อาจมีแผ่วๆไป เดี๋ยวเดียวกลับมาใหม่

ผมเรียกร้องไปยังแกนนำว่า นับจากนี้เป็นต้นไป การเคลื่อนไหวและการตัดสินใจของพวกท่าน โปรดคำนึงถึงความปลอดภัย ชีวิต ร่างกาย อันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ชุมนุม เป็นเรื่องแรก การเคลื่อนไหวใด การมีมติใด หากต้องประเมินผลได้เสีย พวกท่านจงนำประเด็นเรื่องชีวิตของผู้ชุมนุมขึ้นไว้อันดัยหนึ่ง

โปรดอย่าใช้พลังของมวลชน ความตั้งใจของมวลชน ความมุ่งมั่นของมวลชน ไปในทิศทางใดก็ได้ ไปในวิธีการใดก็ได้ ไปในเป้าหมายก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

ข้อเสนอไปยังรัฐบาล เดิมผมเตรียมมา ๔ ข้อ แต่เมื่อเช้านี้เห็นคุณสุเทพแถลงข่าวแบบนั้น ขอเพิ่มเป็น ๕ ข้อดีกว่า

ข้อแรก นายกฯต้องแถลงแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ ๑๐ เมษายน

จนกระทั่งวันนี้ เราัยังไม่เห็นนายกฯเอ่ยปากแสดงความรับผิดชอบใดๆในกรณีมีคนเจ็บ คนตาย จำนวนมาก ไม่มีคำขอโทษ ไม่มีแม้แต่คำเสียใจ ไม่มีการแสดงความเสียใจอย่างตรงไปตรงมา มีแแต่แถลงว่าเป็นความจำเป็น ก่อนหน้านั้นก็แข็งขัน ขึงขัง ต้องชนะ ต้องเอากฎหมายกลับมา

การแถลงของนายกฯในลักษณะนี้ มีแต่ไปเร่งเร้าอารมณ์ของคนเสื้อแดงให้โกรธมากขึ้น ไม่แน่ใจว่านายกฯได้ส่งคนไปสอดแนมฟังปฏิกริยาของผู้ชุมนุมหลังยุติการปะทะหรือไม่ ผมไปดูมา มีแต่เสียงก่นด่า สาปแช่ง

การแสดงความรับผิดชอบตอนนี้ ยังไม่สายเกินไป แต่จะช่วยทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น

รัฐบาลเรียกร้อง กวักมือ เรียกคนเสื้อแดงให้มาเจรจารอบที่สาม แต่จะให้เขาไปเจราจาได้อย่างไร ในเมื่อคุณไปสั่งสลายการชุมนุมเขาด้วยวิธีแบบนั้น มันเกิดความเกลียด ความโกรธแค้น ความไม่ไว้วางใจกัน

ข้อสอง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที

การคงประกาศฯนี้ไว้ ทำให้สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจมากขึ้น ผู้ชุมนุมก็กังวลตลอดว่าจะมีการสลายการชุมนุมแบบเดิมอีกหรือไม่ ทางรัฐบาลเอง ก็เหมือนมีกระดูกมาแขวนคอไว้ เื่มื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ นั่นหมายความว่าต้องสลายการชุมนุมให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ ก็สะท้อนให้เห็นความไร้น้ำยาของรัฐบาล

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสายตาชาวโลกนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงมาก มองจากคนข้างนอกเข้ามา เขาก็คิดว่าบ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะอันตราย น่ากลัว ทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น

ในทางเนื้อหา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก และไม่เฉพาะเอากับผู้ชุมนุมเท่านั้น ยังลุกลามขยายผลไปถึงคนอื่นๆด้วย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้อำนาจตามประกาศนี้ ผลิตผลจากการใช้อำนาจตามประกาศนี้ ก็ไม่มีศาลไหนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบได้

มาตรา ๑๖ ก็ไปเขียนตัดอำนาจศาลปกครองไว้ ไม่ให้ศาลปกครองเข้ามาควบคุม มาตรา ๑๗ ก็ไปเขียนยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัยเอาไว้อีก

นายกฯอภิสิทธิ์เป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน คัดค้านอย่างจริงจัง แข็งขัน แต่กลับกลายเป็นว่า เป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคนใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มากที่สุด

นายกฯโปรดทบทวนความทรงจำของตนเองสมัยเป็นฝ่ายค้านด้วย ยกเลิกประกาศฯนี้โดยทันที

เอาทหารออกไป กลับไปใช้กำลังตำรวจดูแลสถานการณ์ อย่างน้อยที่สุด กลับไปให้เหมือนเมื่อเริ่มชุมนุมใหม่ๆตอนกลางเดือนมีนาคม

ข้อสาม ยุติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ

รัฐบาลต้องยุติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ ยุติการ "เปิดเผยข้อเท็จจริง" ที่เอาแต่ส่วนของตนเอง เอาแต่ส่วนที่ตัวเองได้ออกอากาศ เลิกปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม ยุติการปิดเว็บไซต์

การปิดสื่้อฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่คิดไม่เหมือนรัฐบาล ไม่ได้ช่วยรัฐบาลเลย เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปิดอย่างไรก็ไม่มิด อาจสร้างความรำคาญใจอยู่บ้าง แต่เขาก็หาหนทางเปิดใหม่ได้อยู่ดี ตรงกันข้าม ยิ่งสร้างความเกลียดชังรัฐบาลมากขึ้น

การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อของรัฐบาล เป็นการกระตุ้นความเกลียดชังของคนในสังคม ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลก็ยิ่งเกลียดคนเสื้อแดงมากขึ้น คนเสื้อแดงก็ยิ่งเกลียดรัฐบาลมากขึ้น

รัฐบาลต้องปรับทัศนคติของตนเองเสียใหม่ เลิกมองคนเสื้อแดงเป็นศัตรู หากในหัวสมองคิดว่าคนเสื้อแดงเป็นศัตรูแล้ว ก็จะพยายามกำจัดคนเสื้อแดงให้ได้ ระดมสรรพกำลัง ใช้ทุกวิถีทางเพื่อกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก สื่อก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อ

ผมเรียกร้องให้องค์กรที่เป็นกลาง หรือดูเสมือนว่าเป็นกลาง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหลาย ช่วยกันกดดันรัฐบาล และสื่ออื่นๆที่ร่วมกับรัฐบาล ให้ยุติการโฆษณาชวนเชื่อ และเขียนภาพให้ "คนเสื้อแดง" เป็นศัตรูของชาติ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกป่วนบ้านป่วนเมิอง

ข้อสี่ รับรองว่าจะไม่สลายการชุมนุม

เช้านี้ ได้ฟังคุณสุเทพแถลง น่าตกใจมาก เหมือนว่าจะเตรียมสลายการชุมนุมอีกรอบ ได้โปรดเถอะครับ อย่าสลายการชุมนุมวันนี้เลย เมื่อวานซืน ผมไปเดินดูที่ราชประสงค์ คนเยอะมากๆ ยิ่งตกเย็นคนยิ่งเยอะ แล้วไม่ได้มีแต่คนต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯเยอะมาก รอบๆเวทีมีแต่คนกรุงเทพฯ ส่วนคนต่างจังหวัด อาจเป็นเพราะชุมนุมยาวนานต่อเนื้อง ก็มักจะไปกางมุ้ง ไปหาที่หลับที่นอนอยู่ด้านนอก แต่ด้านในลึกๆนี่มีแต่คนกรุงเทพฯเสียส่วนใหญ่ ตั้งอกตั้งใจฟัง มีรถทะเบียนกรุงเทพฯ จอดอยู่ด้านนอกเต็มไปหมด

บริเวณนั้นคับแคบมาก ถนนสี่สายเล็กๆ แล้วมีแต่ตึกสูงล้อมหมด หากสลายหนักแบบเดิม ผมคิดว่าจะเสียหายรุนแรง มีคนเจ็บคนตายมากกว่าเดิม ห้างใหญ่แถวนั้นพังแน่นอน

หากไม่สลาย แล้วจะทำอย่างไร ห้างร้านเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล? ผมคิดว่าทางคนเสื้อแดงอาจเจรจาทำความตกลงกับผู้ประกอบการแถวนั้นก็ได้ ว่าจะเปิดช่องทางจราจรให้บางส่วน แกนนำต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศมิตรไมตรีให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้เส้นทางบริเวณนั้น เหมือนดังที่คนเสื้อแดงเคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ได้การตอบรับจากคนกรุงเทพฯค่อนข้างดี

ในส่วนของรัฐบาล หากแสดงความรับผิดชอบเรื่องวันที่ ๑๐ เมษายน และรับรองว่าจะไม่สลายอีก ก็เปิดโอกาสให้กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้มากขึ้น

ผมคิดว่าทุกวันนี้ รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องการ "ขอคืนพื้นที่" เป็นเพียงการ "ขอคืนพื้นที่" แต่มองเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของตนเอง กูจะเอาให้ได้ ไม่งั้นกูแพ้ กูเสียหน้า ขนาดใช้ยาแรงอย่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังเอาพื้นที่คืนไม่ได้ ขายหน้าแน่ๆ

รัฐบาลต้องปรับการมองเรื่องนี้เสียใหม่ ไม่ใช่เอาชนะคะคานกัน แต่ต้องคิดจากใจจริงว่าจะเอาอย่างไรดี แก้ไขอย่างไรดี

ข้อสุดท้าย ยุบสภา

หากคุณอภิสิทธิ์ยังอยากประกอบอาชีพนักการเมือง ยังอยากโลดแล่นบนเวทีการเมือง ผมว่ายุบสภาเสียเถิดครับ

ถามว่าอยากยุบ แต่ตกลงเวลาไม่ได้ ณ เวลานี้ เวลาอาจไม่สำคัญแล้ว จะทันที จะ ๑๕ วัน จะ ๓ เดือน จะ ๖ เดือน จะ ๙ เดือน ก็คุยกันอีกทีได้ แต่คุณอภิสิทธิ์ต้องแสดงเจตจำนงตนเองอย่างชัดเจน เปิดเผย ไม่บิดพริ้ว ผูกมัดตนเองต่อสาธารณะว่าจะยุบสภา ผมเชื่อว่าคนเสื้อแดงรับได้ พรรคร่วมรัฐบาลรับได้ พรรคเพื่อไทยรับได้

คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยยืนยันแบบตรงไปตรงมา พูดแต่ ยุบได้ ไม่ขัดข้อง ไม่ยึดติดหรอก แล้วก็ต้องเติมคำว่า แต่... มีข้อแม้สารพัดอย่างตามมาเต็มไปหมด

นปช เสื้อแดง ยืนยันตลอดว่า เป้าหมายของเขา คือ ยุบสภา นปช ยืนยันเสมอว่า จะสู้ในกรอบ ผมคิดว่ามวลชนคนข้างล่างอาจเร่าร้อนกว่านั้น แต่แกนนำเขาก็มีความพยายามคุมอารมณ์ให้อยู่ในกรอบตลอด หากรัฐบาลยังดันทุรังเดินหน้าแบบนี้ต่อ และเสื้อแดงพ่ายแพ้ ถูกปราบรุนแรง ผมเกรงว่าการลุกฮือของประชาชนจะเกิดขึ้น และเมื่อนั้น ไม่ต้องมาตั้งโต๊ะเจรจา ไม่ต้องมาจัดเวทีคุยกันแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องกรอบ กติกา กฎหมายแล้ว เพราะมันเป็นเรื่อง “การเมือง” เพียวๆ และสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาชน" ก็อาจเกิดขึ้นได้

การยุบสภาอาจไม่ทำให้วิกฤตินี้หายไปในพริบตา แน่นอน ความไม่ไว้วางใจยังมี ความเกลียดชังอาจยังมี คนเกลียดรัฐบาลมี คนเกลียดเสื้อแดงมี มือตบยังมี ตีนตบ หัวใจตบยังมี อำมาตย์ยังมี สองมาตรฐานยังมี ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ รัฐธรรมนูญห่วยๆยังอยู่

แต่การยุบสภาเป็นตัวช่วยทำให้วิกฤตินี้คลี่คลายได้ง่ายขึ้น ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภา เท่ากับว่าเป็นการโยนลูกกลับไปให้คนเสื้อแดง แกนนำต้องไปนั่งคิดจะยุติการชุมนุมอย่างไร จะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะรัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้องให้แล้ว การชุมนุมอาจยังมีอยู่บ้าง แต่ก็บรรเทาความเข้มข้นลงไปเยอะ เพราะสมาธิของทุกฝ่ายไปอยู่ที่การเลือกตั้ง

การยุบสภายังช่วย reactivate อำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะในสภาวะเช่นนี้ ฝ่ายบริหารทำอะไรมากไม่ได้ เดินหน้าไม่ได้ จะคิดอ่านทำอะไร ก็กังวลเรื่องการชุมนุมตลอด ไม่ใช่แต่เพียงรัฐบาลนี้ สภาวะ "ไร้อำนาจ" เป็นมาตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาบสมัคร ต่อเนื่องมารัฐบาบสมชาย จนมาถึงรัฐบาลนี้

เมื่อยุบสภา เลือกตั้งกลับมาใหม่ รัฐบาลก็มีความชอบธรรมมากขึ้น การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมก็ลดลง คราวนี้จะเดินหน้าทำอะไรก็เอา จะแก้รัฐธรรมนูญ จะทำเรื่องเศรษฐกิจก็เอา

คนรุ่นผม ส่วนใหญ่ติดตามและชื่นชมคุณอภิสิทธิ์ ผมติดตามข่าวและผลงานคุณอภิสิทธิ์มาตลอด ตั้งแต่ลงสมัคร สส สมัยแรก เราก็ตามเห่อ นิยมไปกับเขาด้วย ผมสารภาพว่าหวังว่าวันหนึ่ง คนๆนี้จะได้เป็นนายกฯ และอาจเป็นนายกฯที่ดีได้

ผมจำได้ตั้งแต่ตอนเป็นโฆษกรัฐบาลในสมัยชวน ๑ คุณอภิสิทธิ์เป็นตัวของตัวเองมากกว่าวันนี้ กล้าเถียงนายกฯชวน ถ้าผมจำไม่ผิดสื่อก็ตั้งฉายาให้ว่า “โฆษกเทวดา” เห็นต่างจากนายกฯชวนเรื่องนำพรรคชาติพัฒนาเข้าเสียบแทนความหวังใหม่ จนคุณชวนพูดว่า “ให้ไปถามคุณพ่อคุณอภิสิทธิ์”

เป็นฝ่ายค้าน ก็โดดเด่น เป็นคนอภิปรายสรุปคนสุดท้าย ผมก็ตามฟังเสมอๆ มาชวน ๒ ก็เป็น รัฐมนตรีสำนักนายกฯ มีความคิดความอ่านไปในทางปฏิรูป ทั้งเรื่องการศึกษา และการกระจายอำนาจ

แต่ความโดดเด่นเหล่านี้ค่อยๆหายไป หายไป ตั้งแต่เป็นหัวหน้าพรรค และหายไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเป็นนายกฯ

ผมเรียนตามตรง คุณอภิสิทธิ์เป็นคนมีความรู้มีความสามารถ และอาจจะไม่ใช่คนเลวร้าย ใจไม้ไส้ระกำ และผมให้เครดิตด้วยว่าอาจเป็นนายกฯที่ดีได้ แต่ไม่ใช่นายกฯที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤตนี้ ผมเห็นต่างจาก พล.อ.เปรม ที่ว่าบ้านเมืองโชคดีที่ตอนนี้ได้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

จะโทษคุณอภิสิทธิ์ฝ่ายเดียวก็ไม่เป็นธรรมกับคุณอภิสิทธิ์นัก ระบอบการเมืองแบบบ้านเราไม่เอื้อต่อนักการเมือง ไม่ช่วยผลักดันให้นักการเมืองได้แสดงศักยภพา ความรู้ความสามรถออกมาได้เต็มที่ ระบอบการเมืองแบบนี้มีแต่ทำลายนักการเมือง ซึ่งน่าเสียดดายมี่คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นนักการเมืองอาชีพคนหนึ่ง กลับเข้าไปร่วมมือกับระบอบนี้มาทำลายนักการเมืองด้วยกัน

รัฐบาลนี้มีที่มาไม่ชอบธรรม ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ เอาพูดให้เบากว่านี้ก็ได้ มีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยถึงที่มาของรัฐบาลนี้

คุณอภิสิทธิ์อาจเถียงเก่ง อธิบายเก่ง ว่าตนมาเป็นนายกฯที่ชอบธรรม แต่คุณอภิสิทธิ์หลอกตัวเองไม่ได้หรอกครับ ส่องกระจกก็ต้องเห็น ว่าตัวเองมาอย่างไร หากจะหลอกตัวเองว่าชอบธรรม ก็หลอกให้ตัวเองสบายใจเท่านั้นเอง คุณอภิสิทธิ์รู้ดีว่าตัวเองมีที่มาอย่างไร และระดับมันสมองของนักเรียนเก่าออกฟอร์ดย่อมรู้แก่ใจดีว่า เมื่อมาวิธีแบบนี้ ก็ต้องขึ้นต่อปัจจัยต่างๆเต็มไปหมด บริหารงานไม่ได้ดังใจนึก ต้องเกรงใจคนนั้นคนนี้ แล้วจะอยู่ไปทำไมครับ

หากคุณอภิสิทธิ์ยืนยันว่าเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นกับใคร ไม่ได้ขึ้นกับอำนาจนอกระบบ ไม่ได้ขึ้นกับอำมาตย์-กองทัพ ไม่มีใครอุ้ม โปรดพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นเถิดครับ ด้วยการตัดสินใจด้วยตนเอง ยุบสภาเสีย

ถอนตัวออกมาให้สมกับเป็นคนที่พูดว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ถอนตัวออกมาจากระบอบเฮงซวยเถิดครับ ก่อนที่คุณอภิสิทธิ์จะปลาสนาการไปพร้อมกับระบอบนี้

000

หมายเหตุ
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายนิกร จำนง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล ทับจุมพล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net