Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
 
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นับเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ที่ย่านไนท์พลาซ่า เชียงใหม่ ยังคงเต็มเงียบเหงา ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยอ้างว่านักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเพราะการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อการชุมนุมสิ้นลงไปแล้ว นักท่องเที่ยวควรกลับมาเหมือนเดิม
 
เมื่อสอบถามผู้ค้าที่ว่านักท่องเที่ยวน้อยตั้งแต่เมื่อไร พวกเขาบอกว่า ตั้งแต่เสื้อแดงชุมนุม เมื่อเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตบอกว่าอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น
 
จากการเปิดเผยนายบัณฑิต นิจถาวร ของธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า นักเที่ยวช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ลดเหลือ 1,500 คนต่อวัน เดือนมิถุนายน มีจำนวน 2,500 คนต่อวัน หากคำนวณจากนักท่องเที่ยวปีละ 14.5 ล้านคน จำนวนเฉลี่ยประมาณ 40,000 คนต่อวัน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน [1]
 
ข้อมูลนี้จึงชี้ว่า การชุมนุมของเสื้อแดงไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากประกาศนี้แสดงถึงความไม่สงบที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้กลไกรักษาความสงบเรียบร้อยปกติได้ ทำให้สถานทูตต่างออกให้คำแนะนำหลีกเลี่ยงการมาประเทศอย่างหลีกเลี่ยง ทั้งที่สถานการณ์ตั้งแต่เกิดการชุมนุมไม่มีความจำเป็นต่อการประกาศ จึงเป็นเหตุผลที่นายบัณฑิต ต้องออกมาขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
คำถามที่มีอยู่คือ ทำไมการชุมนุมจึงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งที่การชุมนุมเป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย แต่อะไรจึงทำให้การชุมนุมในประเทศไทยเป็นเรื่องน่ากลัว
 
จากข้อย้อนหลังของอัลจาซีเราะ ที่รายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในเดือนตุลาคม 2552 กล่าวว่า รอบๆ พระบรมมหาราชวัง หนึ่งในสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว รถตุ๊กตุ๊กที่มีชื่อเสียงจอดว่าง จินตนา ผู้นำเที่ยวทางเรือบอกว่า “ปีนี้ (พ.ศ.2552) แย่มาก นี่เป็นความแย่ที่สุดของความแย่ ตามปกติฉันมีนักท่องเที่ยวมากมาย จำนวนมากจนฉันไม่มีเวลากินข้าว” ความตกต่ำนี้มีต้นทุน 1.4 แสนล้านบาท
 
คนจำนวนมากตำหนิความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.8 แสนล้านบาทร้อนรน ความยุ่งยากทางการเมืองมองเห็นได้ เสื้อแดง ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จัดการชุมนุมภายนอกสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงเสมอ ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องระวัง การปิดสนามบินกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้วของเสื้อเหลือง ผู้ต่อต้านทักษิณ ยังคงอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ [2]
 
ในการยึดสนามบินครั้งนั้น ผู้ติดค้างรายหนึ่งคือ เจมี่ พีค๊อก หัวหน้าทีมรับบี้อังกฤษที่สื่ออังกฤษทุกช่องทางพาดหัวข่าว เดอะการ์เดียน รายงานว่า พีค๊อก มีความทุกข์ใจรุนแรงจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกรับบี้ของทีมอังกฤษด้วยวิกฤติส่วนบุคคลที่ภรรยาครรก์แก่กับลูกวัย 4 ปีและมารดาของเธอที่ติดค้างในกรุงเทพฯ เฟย์ พีค๊อก กำลังบินกลับอังกฤษหลังจากเดินทางไปให้กำลังใจ พีค๊อก หัวหน้าทีมอังกฤษ ที่การแข่งขันชิงแชมป์โลก เธอและครอบครัวกำลังรอต่อเครื่องอยู่นั้น สนามบินนานาชาติของเมืองหลวงกรุงเทพฯ ถูกปิดลงโดยผู้ประท้วง คณะจัดการสามฝ่ายพยายามหาที่สะดวกสบายในกรุงเทพฯ แต่ พีค๊อก กังวลในการเห็นครอบครัวของเขาและชาวอังกฤษอื่นติดกับดักในกรุงเทพฯ ที่ต้องทำให้กลับบ้านเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
 
“พวกเขาถูกจับเป็นตัวประกันมานานสามวัน” พีค๊อก กล่าวจากบ้านของเขาในลีดส์ “ภรรยาของผมจำเป็นต้องกลับอังกฤษเพื่อฉีดยาทันที ซึ่งพลาดนัดหมายเมื่อวานนี้ในอังกฤษไปแล้ว ผู้ประท้วงเหล่านี้กำลังล้อเล่นกับตัวเอง ถ้าพวกเขารู้สึกว่าการประท้วงนี้สันติและไม่มีอันตราย ครอบครัวของผมเกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองของไทย? ผู้ประท้วงเหล่านี้จับประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายหมื่นคนเป็นตัวประกัน ผมกังวลกับความตึงเคียดนี้ที่สามารถนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด เพียงแต่เราจัดการรับการรักษา IVF ครั้งที่สอง ภรรยาของเขาต้องคลอดลูกในกรุงเทพฯหรือ?” [3]
 
จากรายงานอัลจาซีเราะบอกว่า การชุมนุมไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหามาจากการปิดสนามบิน ซึ่งได้สร้างภาพลักษณ์อันเลวร้าย พร้อมกับการไม่มีการดำเนินคดีต่อการกระทำนี้ จึงยากที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาสถานการณ์ที่อำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวได้
 
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ราชดำเนินและราชประสงค์สร้างความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายหนึ่งในภูเก็ตบอกว่า ข่าวการสลายการชุมนุมที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เป็นการล้อมปราบด้วยกำลังทหารติดอาวุธสงครามนั้น เป็นภาพลบอย่างยิ่ง ทำให้ความรู้สึกต่อความปลอดภัยน้อยลง ความรู้สึกต่อรัฐไทยเลวร้าย เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิปกติของประชาชนในประเทศตะวันตก การใช้ความรุนแรงจึงไม่อาจยอมรับได้
 
ผู้ประกอบการด้านนี้อีกรายเห็นว่า การยิงคนกลางเมืองที่ราชประสงค์นั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นว่าเป็นการกระทำของพวกมาเฟีย เรื่องนี้ย่อมทำให้พวกเขาไม่มีมั่นใจต่อความปลอดภัยเพราะกำลังอยู่ประเทศที่ไม่มีกฎหมาย ผู้ประกาบการรายนี้เชื่อว่าการลบภาพเลวร้ายคงไม่ง่าย เขาไม่มั่นใจการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในโลกก็เหมือนกัน ความต่างที่อยู่ความรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัย ชายหาดในมาเลย์เซียและอินโดนีเซียมีมากมายเพียงแต่ไม่เป็นที่นิยม เขาเห็นว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้ต้องกลับหาจุดเริ่มต้นในอดีตคือ เซ็กทัวร์และสวรรค์ยาเสพติด จึงจะมีโอกาสฟื้นตัวในระยะยาว
 
การปิดสนามบิน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงกฎหมายความมั่นคงล้วนส่งผลต่อการท่องเที่ยว ประกอบกับการใช้กำลังทหารที่ราชประสงค์เป็นอีกผลกระทบอันเลวร้ายต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรโยนความผิดให้กับการชุมนุมของเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอุตสาหกรรมนี้ดูเหมือนว่าทำได้ยากยิ่งในระยะสั้น อนาคตของการท่องเที่ยวจึงดูเหมือนว่าห่างไกลจากการฟื้นตัว
           
 
 
อ้างอิง
  1. มติชนออนไลน์, ธปท.ส่งซิกท่องเที่ยวฟื้นเร็วเกินคาด "ถนนข้าวสาร"ฝรั่งเริ่มคึกคัก จี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินรับทัวร์นอก, 25 มิถุนายน 2553
  2. Al Jazeera, Focus 2009: Thai tourism hit by instability, 25 October 2009
  3. Andy Wilson, The Guardian UK, Peacock's pregnant wife trapped by Bangkok airport demonstrators, 29 November 2008

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net