นักข่าวพลเมือง: “คลองโยง” กว่าจะเป็นโฉนดชุมชนแห่งแรก

จากชุมชนเก่าแก่ใน “ทุ่งนครชัยศรี” ที่บรรพบุรุษได้บุกเบิกหักร้างถางพง มาเป็นสหกรณ์บ้านคลองโยง เพื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์บนผืนแผ่นดินเพื่อการทำอยู่ทำกินตามกฎหมาย สู่แนวทาง “โฉนดชุมชน” ที่มุ่งหวังมรดกแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน 

 
พื้นเพถิ่นฐาน
 
บ้านคลองโยงเป็นชุมชนเก่าแก่บริเวณ “ทุ่งนครชัยศรี” บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย ได้บุกเบิกหักร้างถางพงเพื่อจับจองที่ดินทำกินและฝังรกรากกันมากว่า 4-5 ชั่วอายุคน พื้นที่ดินของสหกรณ์บ้านคลองโยงปัจจุบันจำนวนราว 1,800 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล และตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตามแนวคลองโยงซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำนครชัยศรี 
 
ผืนดินนี้เคยอยู่บนพื้นที่พัฒนาคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งขุดในช่วง พ.ศ.2400-3 หลังสัญญาเบาริง พ.ศ.2398 ไม่นานนัก เมื่อขุดคลองเสร็จเจ้านายในรัชกาลที่ 4 ทรงให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จับจองที่ดินว่างเปล่าริมคลองทางแขวงเมืองนนทบุรีฝั่งเหนือ 1,620 ไร่ แขวงเมืองนครชัยศรีฝั่งเหนือ 9,396 ไร่ ฝั่งใต้ 5,184 ไร่ รวมเป็นนาทั้งหมด 16,200 ไร่ แบ่ง 50 ส่วน ได้ส่วนละ 324 ไร่ เป็นที่นายาว 60 เส้น กว้าง 5 เส้น 8 วา เพื่อพระราชทานแก่สมเด็จกระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ และให้บ่าวไพร่ ชาวบ้านคลองโยงผู้บุกเบิกที่ดินด้วยการหักร้างถางพงกันมาสมัยบรรพบุรุษจึงต้องเช่าที่นาทำกินกันเรื่อยมา 
 
ที่ดินผืนซึ่งชาวบ้านสหกรณ์บ้านคลองโยงทำกินกันมานี้พบหลักฐานโฉนดที่ดินผู้ถือกรรมสิทธิ์คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 (หลังโฉนดระบุปีออกโฉนดคือ พ.ศ.2460)ซึ่งต่อมาที่ดินทั้งหมดในผืนเดียวกันนี้ได้ตกทอดมาสู่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สามารถดูได้จากหลักฐานจากหลังโฉนด) และชาวบ้านมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่นาของวังวรดิศ ลงวันที่ “ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 ”เก็บค่าเช่านาของนายจุ้ย ปี 2478 เป็นจำนวนเงิน 20 บาท ใบเสร็จนั้นลงชื่อผู้เก็บเงินคือ “หลวงสกลคณารักษ์” พระนามของ “หลวงสกลคณารักษ์”ยังปรากฏในหนังสือสัญญาเช่าในปี 2476 ของนายฉาย อ่อนสัมพันธ์ ระบุการเช่าที่นาจำนวน 157 ไร่ ค่าเช่า 315 บาท (เอกสารฉบับนี้ลูกหลานค้นพบในกระบอกไม้ไผ่เมื่อวันที่8กรกฎาคมที่ผ่านมาและอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก)
 
ที่ดินผืนนี้ตกทอดกันมาในพระราชตระกูลดิสกุลจนถึงเจ้าของรายสุดท้ายที่ระบุอยู่ในโฉนดที่ดินแปลงนี้ เจ้าของโฉนดที่ดินคือนางประไพพิศเกตุรายโดยมีนายบุญชิตเกตุรายนาคเป็นผู้จัดการมรดก และเคยประกาศขายยกผืนครั้งใหญ่มาครั้งหนึ่งในปี 2496 ในราคา ไร่ละราว 1,100 บาท แต่ขายได้เพียง 700 ไร่ ยังเหลืออีกจำนวน 1,800ไร่ นายบุญชิต เกตุรายนาค ได้มอบให้ “นายกองนา” เก็บค่าเช่าเพื่อส่งให้แก่ตนเองต่อไป 
 
 
ความหวังที่จะมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
 
ภายใต้กระแสประชาธิปไตยเบ่งบานและกระแสการปฏิรูปที่ดิน ในปี 2518 เจ้าของที่ดินก็ต้องการจะขายที่ดิน ขณะที่ชาวนาก็ต้องการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเสนอต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอยืมเงินจากกองทุนหมุนเวียนจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร พ.ศ.2518 มาดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์นิคมเพื่อดำเนินการเช่าซื้อที่ดิน โดยชาวบ้านค่อยๆ ผ่อนส่งเงินคืนแก่กองทุนหมุนเวียนฯ
 
ดังพบหลักฐานจากหนังสือราชการกองสหกรณ์นิคม กส. 12.8/198ลงวันที่ 20พฤศจิกายน 2518 ได้อ้างถึงคำสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ 609/2518 สั่ง ณ วันที่ 29 กันยายน 2518 ให้คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินที่ตำบลคลองโยง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พิจารณาราคาที่ดินและความเหมาะสมของที่ดินตามที่เกษตรกรผู้เช่านาได้ร้องขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดตั้งสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการซื้อที่ดินจำนวน ราว 1,800ไร่ ในราคาไร่ละ 2,500บาท โดยปรากฏหลักฐานว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ซื้อโดยเงินกองทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกร เป็นเงินทั้งสิ้น 4,507,500บาท (หนังสือราชการโดยนิคมสหกรณ์คลองหลวง ลงวันที่ 1มีนาคม 2543 ระบุว่าจนถึงปี 2542 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเงินเข้าบัญชีกองทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกร 4,141,791บาท และจนถึงปี 2550 ชาวบ้านได้คืนเงินกองทุนไปแล้วราว 5.6 ล้านบาท)
 
ปี 2519 หลังการซื้อที่ดินได้เข้าสู่กระบวนการจัดตั้งสหกรณ์ จนกระทั่งในปี 2523 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง และไม่ได้มีการดำเนินการเช่าซื้อที่ดินตามเจตนารมณ์เดิมของการซื้อที่ดินภายใต้กองทุนจัดหาที่ดินช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ ซึ่งมีหลักฐานเอกสารทางราชการระบุไว้อย่างชัดเจน (หนังสือราชการ กส.1208/198 ลงวันที่ 20 พ.ย.2518) รวมทั้งหลักฐานที่ปรากฏในรายงานการประประชุมของสหกรณ์คลองโยงปี 2520 และหลักฐานจากคำบอกเล่าของของสมาชิกสหกรณ์ที่ยืนยันว่า ต้องการจัดตั้งสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน ที่ในระยะเริ่มแรกให้จัดตั้งเป็นสหกรณ์เช่าที่ดินก่อน หลังจากผ่อนส่งเงินยืมจากกองทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 4.5 ล้านบาท (ซึ่งพบในหนังสือราชการปี 2543 ระบุว่า ได้มีการส่งเงินคืนกองทุนไปแล้วราว 4.2 ล้านบาท) และมีการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งเมื่อสหกรณ์มีความเข้มแข็งแล้ว จึงจะมีการดำเนินการเช่าซื้อ
 
ภายหลังการจัดตั้งสหกรณ์นิคมฯ ชาวบ้านได้ผลักดันให้มีการดำเนินการเช่าซื้อ 2 ครั้ง คือในปี 2533 และในปี 2546 ซึ่งมีชาวบ้านในชุมชนบางส่วนเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถผลักดันจนสำเร็จได้
 
 
มติ ครม.ดับฝันเกษตรกร
 
อย่างไรก็ดีในปี 2549 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งมอบที่ดินคืนแก่กรมธนารักษ์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้กรมธนารักษ์ทวงที่ดินคืนจากหน่วยงานต่างๆ มาดำเนินการจัดเช่าเองภายใต้โครงการรัฐเอื้อราษฎร์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า มติ ครม. 25 ธันวาคม 2544 ห้ามนำที่ดินราชพัสดุมาดำเนินการจำหน่าย จ่าย โอน แก่ผู้อื่น จึงได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้คืนแก่กรมธนารักษ์ เมื่อปี 2549 โดยมีหนังสือราชการมาแจ้งแก่สหกรณ์การเช่าที่ดินตำบลคลองโยงในปี 2550 (หนังสือราชการที่ ปท.0010.1/... เรื่อง การส่งคืนที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงวันที่ 28 มีนาคม 2550) ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงให้แก่ชาวบ้านได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในการจัดการที่ดินแปลงนี้
 
ในการดำเนินการเช่าโดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐม ได้มีการคิดค่ารังวัด ค่าประกันที่ดิน ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ในอัตราที่สูงมาก ซึ่งเดิมสมาชิกจะเสียประมาณ 3,000 - 4,000 บาทต่อ แปลง ประมาณ 20 ไร่ (ค่าเช่าทั้งที่อยู่อาศัยและที่นาไร่ละ 180 บาท-) อัตราค่าเช่าที่กำหนดโดยธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐม จึงทำให้ชาวนาค่าเช่าทั้งที่อยู่อาศัยและที่นาแปลงละ 20 ไร่ ราวปีละประมาณ 40,000 -50,000 บาทในปีแรกเข้า จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับได้ 
 
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดการเช่าโดยธนารักษ์พื้นที่ เป็นการให้เช่าเป็นรายบุคคล ไม่ผ่านการดำเนินการโดยสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง และปล่อยให้มีการเปลี่ยนมือการเช่าโดยผู้ที่ไม่เป็นเกษตรกรก็ได้ ดังที่เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ชี้แจงว่า “ไม่มีระเบียบห้ามคนจน-คนรวยเช่าที่ดิน” จึงเป็นส่งเสริมให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร และเป็นการทำลายความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของเกษตรกรรายย่อย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต้องการส่งเสริมระบบสหกรณ์
 
 
การต่อสู้เพื่อสิทธิอันพึงมีพึงได้
 
ชาวบ้านได้รวมตัวกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 สมาชิกสหกรณ์ฯ ประชุมร่วมกันและมีมติให้ร่วมกันเรียกร้องให้ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐมชะลอการเก็บค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่างๆ และเห็นว่า ต้องผลักดันที่ชาวนามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินตามเจตนารมณ์ของผู้ขายที่ดิน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 85 วรรค 2 และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
หลังจากนั้นได้เคลื่อนไหวในทุกๆ ช่องทาง เช่น วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 เข้าพบเพื่อเจรจากับรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายนเรศ วงศ์สวัสดิ์ นางวลัยลักษณ์ สืบวิเศษ ธนารักษ์พื้นที่นครปฐม ร่วมกับตัวแทนของหน่วยราชการอื่นๆ ธนารักษ์พื้นที่นครปฐม แจ้งว่า การให้เช่าที่ดินเป็นไปตามโครงการ “รัฐเอื้อราษฎร์” และต้องทำตามระเบียบที่มีอยู่ ส่วนใครเดือดร้อนอย่างไรสามารถแจ้งเข้ามายังสำนักงานได้
 
วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เข้าพบเพื่อเจรจากับ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่า ได้พยายามค้นหาเอกสารที่มีการระบุเจตนารมณ์ของการใช้ที่ดินแปลงนี้ว่ามีความเป็นมาเพื่อการเช่าซื้อหรือไม่ แต่ไม่พบเอกสาร 
 
วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการสืบสวนของเท็จจริงและทำรายงานเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้งสหกรณ์นิคมฯ
 
ช่วงวันที่ 4-10 มีนาคม 2552 หลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงปลายปี 2551 เริ่มผ่อนคลายลงไปบ้าง และมีรัฐบาลใหม่ภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง จึงได้ร่วมชุมนุมในนาม “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)” รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้องของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาเฉพาะอีก 6 ชุด 
 
การเจรจาที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการฯ และอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุดได้นำมาสู่ข้อตกลงร่วมกันคือ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาในแนวทางรัฐบาลมีแนวนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เพราะที่ดินแปลงนี้ยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการเช่าซื้อที่ดินครบถ้วน เพราะตามหลักการเช่าซื้อปกต้องต้องมีการคิดราคาที่ดินอย่างน้อยตามราคาประเมินที่ดินปัจจุบัน ซึ่งราคาไร่ละ 500,000 บาท นั่นหมายความว่าสหกรณ์ฯ และชาวบ้านคลองโยงต้องจ่ายเงินราว 900 ล้านบาท (พื้นที่จำนวน 1,800 ไร่) 
 
ในขณะที่ชาวบ้านก็ต้องการที่ดินที่มั่นคง และพบว่าประสบการณ์การดำเนินการแบบเดิมจะนำไปสู่การขายที่ดินล่วงหน้าเพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินรัฐบาล ที่ดินจึงเปลี่ยนมือโดยทันทีตั้งแต่ก่อนดำเนินการเช่าซื้อจะเสร็จสิ้น และเป็นแนวทางการจัดการที่ดินมิติใหม่ซึ่งผลักดันโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ที่ต้องการให้ชุมชนร่วมกันจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีการลงทุนพัฒนาระบบชลประทานไปจำนวนมาก 
 
อย่างไรก็ดีการดำเนินการล่าช้าเพราะต้องดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน เมื่อ 20 ตุลาคม 2552 ครม.พิจารณารับระเบียบโฉนดชุมชน ส่งให้กฤษฎีกาพิจารณา และในระเบียบมีการพูดถึงการจัดระเบียบโฉนดชุมชนแบบที่ดินเอกชน ซึ่งคลองโยงสามารถจัดการตามหลักเกณฑ์นี้ได้ 
 
ชาวบ้านคลองโยงได้ร่วมชุมนุมกับพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อติดตามเรื่องราวอีกหลายครั้ง เช่น มกราคม 2553 ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 3 วัน นายกรัฐมนตรีได้เร่งลงมาแก้ปัญหาเรื่องคดีความ และนำไปสู่การเร่งประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่ไม่มีการประชุมมากว่า 6 เดือน (บทความประชาชนต้องตายก่อน
 
จนกระทั่งรัฐบาลได้แก้ปัญหาชาวบ้านคลองโยงโดยมีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้งคือ มติ ครม.30 มีนาคม 2553 และมติคณะรัฐมนตรี 14 ธันวาคม 2553 ให้นำที่ดินมาดำเนินการจัดการให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองตามเจตนารมณ์ของรัฐภายใต้เจตนารมณ์เดิมของกองทุนหมุนเวียนฯ พ.ศ.2518
 
โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ให้ดำเนินตามแนวทางของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้านนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินและบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและมั่นคงโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน กล่าวคือ ให้สหกรณ์บ้านคลองโยงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสมาชิกของสหกรณ์มีสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์ โดยห้ามจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่ผู้อื่นใด เว้นแต่จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท 
 
 
ระเบียบโฉนดชุมชนสหกรณ์บ้านคลองโยง
 
สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยงได้ร่วมกันจัดทำระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการให้การจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรนำไปเพื่อใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน รักษาพื้นที่เกษตรกรรม 
 
โดยมีสาระที่สำคัญคือ โฉนดชุมชนเป็นการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันในรูปแบบสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งแปลงที่ดินร่วมกัน และสมาชิกเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและใช้ประโยชน์แบบรายบุคคลหรือครอบครัว และผู้ที่มีสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินคือ สมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ที่ครอบครองที่ดินดั้งเดิมตกทอดสืบเนื่องกันมาตั้งแต่แรกจัดตั้งสหกรณ์บ้านคลองโยง และเป็นไปตามข้อบังคับสหกรณ์ 
 
นอกจากนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามซื้อขายที่ดิน แต่ที่ดินสามารถตกทอดไปยังทายาทโดยชอบธรรมของผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน การโอนที่ดินต้องให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือโดยการมอบเป็นมรดก โดยผู้รับที่ดินต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสหกรณ์ และเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในชุมชนเท่านั้น 
 
ด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดินของสมาชิก ต้องใช้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ในการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเท่านั้น ห้ามนำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรม และกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันปรับรูปแบบการผลิตให้พัฒนาไปสู่การเกษตรกรรมยั่งยืน
 
 
อนาคตชาวบ้านคลองโยงกับผืนดินเกษตรกรรม
 
อนาคตของผืนนาไร่ในพื้นที่คลองโยง ชาวบ้านคลองโยงปรารถนาที่จะร่วมกันบริหารจัดการที่ดินทำกินผืนนี้ให้มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่จะพัฒนาชุมชนเพื่อให้เป็นต้นแบบของพื้นที่การจัดการภายใต้รูปแบบโฉนดชุมชน มุ่งหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมยั่งยืน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้เกิดรูปธรรมตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินในแนวทางโฉนดชุมชน 
 
อย่างไรก็ดี คนคลองโยงจะอยู่ในสังคมเกษตรกรรมได้หรือไม่ คนในเมืองก็ต้องเข้ามาหนุนเสริมชาวบ้าน การปรับระบบการผลิตของชาวบ้านจะไปได้หรือไม่ การปลูกพืชผักไร้สารพิษจะอยู่ได้หรือในสภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดและค่าใช้จ่ายที่สูงจึงขึ้นอยู่กับรายได้ที่กลับคืนมา หากคนในเมือง คนที่มีการศึกษาดีปล่อยให้พี่น้องคลองโยงและเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ผจญชะตากรรมกันเอง โดยไม่เข้ามาพูดคุยกันว่าจะให้เราผลิตอะไร อยากจะกินอะไร คนในเมืองต้องมาเห็นหน้าพวกเรา เห็นการปลูกพืชผักของเรา และบอกเราว่าอยู่ตรงไหนบ้างจะได้เอาพืชผักไปส่ง ต้องสร้างระบบตลาดที่เอาหัวใจมาช่วยกัน 
 
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คนในเมืองซึ่งเป็นบริโภคต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ผลิตอย่างพวกเรา พวกเราจะอยู่รอดได้อย่างไรหากคนในเมือง คนที่มีการศึกษาดีเอาแต่จ้องดูว่า พวกเราจะหายนะไปเมื่อไรกัน เพื่อจะได้สมน้ำหน้าพวกเรา 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท