Skip to main content
sharethis

กรีนพีซชี้เทคโนโลยีมีความเสี่ยงแฝงเร้น แนะแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ เครือข่ายต้านฯ เผยเตรียมยื่นจดหมายถึงผู้นำไทย-เวียดนาม คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชาวบ้านถามหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับบ้านเรา จะมีใครรับผิดชอบชีวิตประชาชน

 
วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นเลวร้ายลงอีกเมื่ออาคารปฏิกรณ์ที่ตั้ง ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 แห่งเกิดระเบิดขึ้น ภายหลังวิกฤติภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิ ติดตามมาด้วยข่าวคราวการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีทั้งทางอากาศและทางทะเล ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียงต่างต้องเตรียมรับมือผลกระทบอันเลว ร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่อีกหลายประเทศต้องทบทวนมาตรการความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตน เอง
 
สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ในยุคสมัยน้ำมันแพง และความต้องการใช้พลังงานมีมาก แม้จะถูกคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่ตลอดมา
 
 
วานนี้ (15 มี.ค.54)กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ แถลงข่าวจุดยืนกรณีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ภายหลังการร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะเรื่อง “วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น”ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
 
ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ให้ทั้งคนวางแผน และคนทั่วไปว่าเทคโนโลยีมีความเสี่ยงแฝงเร้น ที่ผ่านมาการใช้นิวเคลียร์มีการพัฒนาเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดกำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศฟินแลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งกระบวนการก่อสร้างต้องระวังความปลอดภัยอย่างมาก ทำให้โครงการล่าช้าและใช้งบประมาณสูง อย่างไรก็ตามความเสียงที่มีอยู่เหนือการควบคุม
 
ผู้ประสานงานฯ กรีนพีซ กล่าวด้วยว่า จากกรณีของญี่ปุ่นมีความพยายามลดขอบเขตการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีให้ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย แต่การแก้ปัญหาก็อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็อาจทำให้ไม่รู้วิธีการที่จะรับมือหากเกิด ข้อผิดพลาด ยกตัวอย่างแท่งเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนจากแร่ยูเรเนียมเป็นพลูโตเนียม ซึ่งเรารู้แต่เพียงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าเดิม แต่เราไม่ค่อยรู้ถึงการรับมือผลกระทบ
 
ทั้งนี้ ความผิดพลาดเกิดขึ้นเมื่อระบบระบบหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์หยุดทำงานจากผลกระทบ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งนำไปสู่การหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง ถึงขั้นที่จะปล่อยกัมมันตภาพรังสี โดยสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากอาจมีการรั่วไหลได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการพยายามเติมน้ำทะเลเพื่อรักษาระดับความดัน แต่เตาปฏิกรณ์ก็เกิดระเบิดขึ้นในเวลาต่อมา
 
ธารา ยังกล่าวถึงกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์​ฟุกุชิมะ โรงที่ 1 ที่บริษัทไฟฟ้าโตเกียวของญี่ปุ่น หรือเทปโก้ ออกมายอมรับว่าได้ทำการปล่อยก๊าซที่มีกัมมันตภาพรังสีผสมอยู่ว่า ถือเป็นการละเมิดกฎหมายในการควบคุมการปล่อยก๊าซอันตราย แม้จะเป็นการอ้างว่าเพื่อลดแรงดันภายในเครื่องเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้ การจะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัยหรือเหตุการณ์เหนือความ คาดหมายหรือไม่นั้นไม่สามารถบอกได้ เพราะปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยที่ผ่านมามีเหตุการณ์กรณีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ควบคุมยากเพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อน
 
สำหรับประเทศไทย ผู้ประสานงานฯ กรีนพีซ กล่าวว่าแผนพัฒนากำลังไฟฟ้ามีเรื่องผลประโยชน์ที่ซับซ้อนอยู่ เพราะเท่าที่ดูกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศยังเหลืออยู่ อีกทั้งเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังสามารถใส่ลงไปในแผนพีดี พีได้ ส่วนระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ในประเทศไทยก็มีศักยภาพ เพราะเรามีระบบสายส่งภายในประเทศที่ส่งเข้าถึงในหมู่บ้านซึ่งเป็นโครงสร้าง พื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างระบบพลังงานที่กระจายศูนย์ ตรงนี้ไม่ได้พูดถึงแค่จะใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องของการวางแผนพลังงานกระจายศูนย์ที่มีความโปร่งใส โดยยังไม่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นการผูกขาดของหน่วยงานด้านไฟฟ้าของไทย
 
ธารา กล่าวต่อมาว่า เรื่องทางออกของพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยมีคำตอบ โดยการพัฒนาศักยภาพของสิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าได้พร้อมกัน ทั้งนี้สิ่งที่เรียกร้องไม่ใช่การกลับไปหายุคอดีตที่ต้องจุดเทียนกินข้าว แต่มองไปถึงอนาคตในเรื่องของการกระจายศูนย์พลังงาน การปฏิรูประบบพลังงานไทย และสิ่งที่กรีนพีซพยายามจะยกระดับขึ้นมาเรียกว่าเป็นการปฏิวัติพลังงานที่ พิจารณาถึงว่าจะใช้พลังงานอย่างไร ส่งมันไปอย่างไร และใช้มันอย่างไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกๆ คน
 
“ประเด็นใหญ่เลยก็คือเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลที่ก็ยังบิดเบือนอยู่ ในขณะนี้ เพราะมันมีผลประโยชน์เรื่องนิวเคลียร์ มีผลประโยชน์เรื่องผู้ผลิตพลังงานขนาดใหญ่ไม่ว่าจะมาจากก๊าซธรรมชาติ หรือมาจากถ่านหินก็ตาม ซึ่งมันเป็นประเด็นที่เราคงไม่ได้มองแค่เรื่องตัวเลขว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่แต่อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระบบพลังงานโดยรวมด้วย” ธาราแสดงความเห็น
 
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 20 ปี (2553-2573) หรือพีดีพี 2010 จะศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรงจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประเมิน และคัดเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 พื้นที่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ตราด จ.นครสวรรค์ จ.อุบลราชธานี จ.ชัยนาท จ.ชลบุรี และ จ.นครศรีธรรมราช
 
 
เผยเตรียมยื่นจดหมายถึงผู้นำไทย-เวียดนาม ต้านสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
สดใส สร่างโศรก หนึ่งในแกนนำเครือข่ายคนไทยไม่เอาไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นและการรั่วไหลของ กัมมันตรังสี ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่สมควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนั้นประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องศักยภาพทั้งมาตรฐาน ความรู้ รวมทั้งในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญการเลือกพื้นที่โครงการก็ไม่ได้สอบถามประชาชน และใช่เหตุผลในการก่อสร้างเพียงว่า “ประชาชนไม่คัดค้าน”
 
สดใส กล่าวต่อมาว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ คือ ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะมีการจักรณรงค์และไว้อาลัยให้แก่ผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นที่ศาลหลักเมือง จ.อุบลราชธานี และจะไปวางดอกไม้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า อีกทั้งจะมีการทำจดหมายถึงนายกของเวียดนาม กรณีที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจุดที่ใกล้กับ จ.อุบลราชธานี นอกจากนั้นจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย จากนั้นในวันที่ 18 มี.ค.หรือ 21 มี.ค.นี้จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเรียกร้องไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ 
 
สดใส กล่าวยืนยันด้วยว่า เครือข่ายฯ จะทำการเคลื่อนไหวคัดค้านไปทุกรัฐบาล อีกทั้งจะมีการให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลด้านเดียวมาโดยตลอดว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก แต่ไม่พูดถึงผลกระทบ อีกทั้งที่ผ่านมาการผลิตกระแสไฟฟ้าคนใช้คืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่ประชาชนเป็นผู้เดือดร้อนจากผลกระทบของโครงการ
 
“หากประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ ประเทศเรามีทางเลือก นิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออก” สดใสกล่าว
 
 
มุมมองจากชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
มานะ ช่วยชู ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวแสดงความเสียใจต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับสังคมทั่วโลก ใน 2 ประเด็น คือ เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ อย่างแท้จริง มนุษย์ไม่สามารถไปควบคุมหรือจัดการได้ซึ่งสุดท้ายก็ต้องยอมให้เกิดการระเบิด ขึ้น และประเด็นต่อมาคือสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ ดังกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พร้อมฝากคำถามถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหาไฟฟ้าว่า แม้จะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีแต่เชื่อจริงๆ หรือว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดในประเทศไทย
 
“ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลในโอกาสที่รัฐบาลนี้กำลังหมดวาระไปด้วยการยุบ สภา อยากเรียกร้องให้เกิดผลงานที่ชัดเจนของรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย โดยการมีกระบวนการที่จะนำไปสู่การยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน ประเทศไทย” มานะกล่าว
 
“ประกาศยกเลิกไปเลยครับ ท่านนายกครับ เอาโครงการนี้ออกจากแผนพีดีพีไปเลยครับแล้วท่านจะได้รับความสนับสนุนจาก ประชาชนให้เป็นรัฐบาลสมัยหน้าอีกสมัยครับ” บุญเรือง เรืองอร่ามศรี เครือข่ายพลังงานจากจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวฝากไปถึงนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ
 
ส่วนพรพิพัฒน์ วัดอักษร เครือข่ายพลังงานจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าแม้จะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย แต่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเอาชีวิตประชาชน ไปเสี่ยงกับเทคโนโลยีที่ไม่มีความปลอดภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
 
“ทุกคนได้เห็นภาพที่โรงไฟฟ้าฯ ถูกตั้งขึ้นแล้ว ส่งผลกระทบ ซึ่งมันไม่ใช่เฉพาะชีวิต แต่ยังกระทบเศรษฐกิจ สังคม ผลเสียหายมากมาย” พรพิพัฒน์ ระบุ
 
“เราจะส่งมอบโลกใบนี้ให้ลูกหลานเราโดยมีสารปนเปื้อนอย่างนี้หรือครับ ในวันนี้เราสงสารประเทศญี่ปุ่น สงสารประชากรญี่ปุ่นที่ต้องเสียชีวิต แต่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เราต้องสงสารตัวเองหรือเปล่า” สนั่น กลับดี เครือข่ายพลังงานจากจังหวัดชุมพร ตั้งคำถามฝากไว้
 
วิจาร ขันธุวาร เครือข่ายผู้คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.ตราด กล่าวว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนระเบิดเวลา ซึ่งสำหรับประเทศไทยไม่ต้องรอสึนามิ เพราะเรามีการคอรัปชั่น ทำให้การก่อสร้างโครงการไม่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้ ทั้งนี้จากตัวอย่างที่ผ่านมาจะเห็นว่าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใช้งบบานปลาย การกำจัดและจัดเก็บมีปัญหา จึงไม่อยากให้ดื้อสร้างอีกต่อไป
 
“หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับบ้านเรา จะมีใครรับผิดชอบชีวิตประชาชน นึกถึงว่าประเทศญี่ปุ่นเทคโนโลยีเขาเรียกว่าอันดับหนึ่งในโลกเขายังไม่ สามารถแก้ปัญหาตรงนั้นได้ แล้วจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยไม่รู้ว่ามาตรฐานการสร้างมันจะเท่า กับที่ญี่ปุ่นทำหรือเปล่า คิดแล้วยิ่งน่ากลัว ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในบ้านเรา อยากให้พี่น้องในประเทศไทยทุกๆ คนมาช่วย ร่วมกันคิด ช่วยกันออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ช่วยเราด้วยค่ะ” พิระจิตร จันทรวรชาต เครือข่ายพลังงานจากจังหวัดนครสวรรค์กล่าว
 
ทั้งนี้ โครงการพลังงานนิวเคลียร์ของไทย ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรายงานข้อมูลความพร้อมการก่อสร้างแก่สำนักงานพลังงาน ปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่ง ไอเออีเอ จะส่งเอกสารตรวจสอบกลับมายังไทยในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนกระทรวงพลังงานจะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม.ต่อไป เพื่อตัดสินว่าจะเดินหน้าในระยะที่ 2 หรือไม่ หลังจากที่มีการเสนอข่าวว่า ในระยะแรกที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงสร้างความเข้าใจ และเตรียมข้อมูลศึกษาก่อสร้างไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net