Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางทีผมก็รู้สึกว่า ศาสนาเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณส่วนตัวของปัจเจกแต่ละคนล้วนๆ ศาสนาที่เผยแผ่กันอยู่เป็นเรื่องของความเชื่อ พิธีกรรม สถาบัน องค์กรที่ถูกสถาปนาขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการสถาปนา/ปกป้อง \อำนาจทางศีลธรรม\" ที่มีลักษณะครอบงำไม่มากก็น้อย และโดยลักษณะครอบงำนั้น มันทำลายความเชื่อมั่น และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะค้นพบศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณด้วยตัวเขาเอง นอกจากศาสนาที่เผยแผ่กันอยู่ จะสถาปนาอำนาจทางศีลธรรมที่มีลักษณะครอบงำปิดกั้นเสรีภาพในการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรมเป็นต้นแล้ว อำนาจทางศีลธรรมนั้นยังถูกใช้เป็น “อาวุธ” ฟาดฟันฝ่ายที่มีความเชื่อแตกต่างทั้งในระหว่างศาสนา นิกายศาสนา ระหว่างศาสนากับภูมิปัญญาอื่นๆ และภายในศาสนานิกายเดียวกันอีกด้วย ดังที่เคยมีสงครามระหว่างศาสนา ระหว่างนิกายศาสนาในนามของพระเจ้า มีการปิดกั้นความคิดทางวิทยาศาสตร์ การล่าแม่มดในนามของการรักษาคำสอนที่ถูกต้อง และในการต่อสู้ปกป้องคำสอนที่ถูกต้องทำให้ศาสนาแต่ละศาสนาแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย ในบ้านเราที่เรียกกันว่าเป็น “สังคมพุทธ” นั้น แม้จะไม่ปรากฏความขัดแย้งและความรุนแรงทางศาสนาอย่างชัดแจ้ง แต่บรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยนในทางศาสนา ทั้งภายในศาสนาของตนเอง และระหว่างศาสนาก็ดูจะไม่ราบรื่นนัก แม้แต่ในหมู่ชาวพุทธเองก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายมากที่ใครก็ตามแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ตีความคำสอนของพุทธศาสนาแตกต่าง หรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ทางศาสนา” ความคิดต่าง ความเห็นต่าง หรือการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ จะถูกพิพากษาว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” และเป็นมิจฉาทิฐิที่เกิดจากเจตนาที่มุ่งทำลายพุทธศาสนาทันที ดูเหมือนท่านพุทธทาส ก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า ชาวพุทธเชื่ออย่างผิดๆ ว่าศาสนาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่แตะไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาเป็นเรื่องผิดบาป ความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ทำให้ชาวพุทธขาดเสรีภาพในการตั้งคำถาม ตีความ วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในทัศนะของท่านพุทธทาสเห็นว่า การที่พระพุทธเจ้าสอน “หลักกาลามสูตร” นั้น คือการให้เสรีภาพสูงสุดในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และค้นพบสัจธรรมด้วยตนเอง ความจริงแล้วเสรีภาพในการตั้งคำถามทางศาสนาเกี่ยวโยงโดยตรงกับการเข้าถึงศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ หากเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้ใช้เสรีภาพในการตั้งคำถามกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติของศาสนาต่างๆ ในเวลานั้น การค้นพบความจริงที่ต่างออกไปก็คงเป็นไปไม่ได้ และหากท่านพุทธทาสไม่ได้ใช้เสรีภาพในการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาพุทธศาสนาของสังคมสงฆ์ที่เป็นอยู่ การขบถและการค้นพบวิถีการศึกษา การตีความ การวิพากษ์วิจารณ์ การปรับใช้คำสอนของพุทธศาสนาที่เป็นตัวของตัวเอง หรือเป็น “เอกลักษณ์แบบสวนโมกข์” ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (และผมเคยได้ยินจากหลายคน) เล่าว่า ท่านพุทธทาสจะมีความสุขเมื่อมีคนถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของท่าน แม้เรื่อง “วิวาทะพุทธทาสกับคึกฤทธิ์” ท่านก็มองว่าเป็นประโยชน์ในเชิงส่งเสริมวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์แก่สังคม ซึ่งข้อมูลนี้ต่างจากที่ผมเคยได้ยินมาว่า มีบางสำนักเมื่อถูกวิจารณ์แล้วจะออกอาการ “ดิ้นพล่าน” (พูดให้เห็นภาพพจน์ในเชิงการออก actions ที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่มีความหมายเชิงคุณค่าเป็นบวกหรือลบ) ทั้งอาจารย์และบรรดาลูกศิษย์เลยทีเดียว จะอย่างไรก็ตาม แม้พระสงฆ์และชาวพุทธจะพยายามโปรโมทความสวยงามของพุทธธรรม ทั้งในแง่ความเป็นสัจธรรมที่มีเหตุผลทนต่อการพิสูจน์ เป็น “อกาลิโก” ใช้ได้กับทุกยุคสมัย เป็นสัจธรรมเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณ เพื่อการมีปัญญาและกรุณา สังคมสงฆ์ในอุดมคติคือแบบอย่างของสังคมที่มีเสรีภาพทางความคิด มีความเสมอภาค เป็นแบบอย่างของความเป็นประชาธิปไตย และสังคมพุทธบริษัทสี่คือสังคมที่มีภราดรภาพ เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เป็นสังคมที่มีความพอเพียง ไม่มุ่งตอบสนองกิเลส ความฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม แต่ทว่าเมื่อพระสงฆ์และชาวพุทธตื่นจากโลกแห่งจินตนาการในอุดมคติดังกล่าว เผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่า ตนเองถูกดูดเข้าไปใน “หลุมดำ” ของปัญหาแห่งยุคสมัยที่สลับซับซ้อน จนถูกหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งตรงข้ามกับความสวยงามของพุทธธรรม สังคมสงฆ์ที่เป็นจริงคือสังคมศักดินาพระ เผด็จการ อำนาจนิยม ส่วนวัตถุนิยม บริโภคนิยมนั้นไม่ใช่จะเป็นเพียงวิถีที่เป็นจริงของสังคมพุทธฆราวาสเท่านั้น หากยังแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของสังคมสงฆ์ ชนิดที่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันจนไม่รู้สึกแปลกแยกอีกต่อไป แม้แต่พุทธธรรมที่โปรโมทว่า เป็นสัจธรรมเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณ เพื่อปัญญาและกรุณานั้นก็ถูกแปรสภาพเป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “วิถี” (means) สู่ความสำเร็จทางโลก ดังกระแสธรรมะฮาวทู รูปแบบการปฏิบัติธรรม การทำบุญ พิธีกรรมเพื่อความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน ความมีชื่อเสียง การทำมาค้าขึ้น โชคลาภ ฯลฯ ที่กำลังมาแรง เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา คำถามทางศาสนาแบบที่ท่านพุทธทาสเคยถาม เช่น เราเกิดมาทำไม ขีวิตคืออะไร คุณค่าชีวิตคืออะไร ควรดำเนินชีวิติย่างไรจึงจะมีคุณค่าสูงสุดสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือสังคมที่ดี ที่มีความเป็นธรรมควรเป็นสังคมเช่นไร ถูกแทนที่ด้วยคำถามประเภท ทำย่างไรชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ (ทางโลก) ดังที่พระเซเลบริตี้แห่งยุคสมัยต้องเดินทางไปไข “ปริศนาธรรม” ถึงมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดว่า “ทำไมคนที่ไอคิวสูงกว่าไอน์สไตน์จึงไม่ประสบความสำเร็จ?” ที่พึงตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นพิเศษคือ ท่ามกลางสภาวะขัดแย้งระว่างอุดมคติกับความเป็นจริงของพุทธศาสนาดังกล่าว กระแสความเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค เริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้นๆ ทว่าสังคมสงฆ์และชาวพุทธจารีตนิยมส่วนใหญ่ยังหลับใหลอยู่ภายใต้โครงสร้างและดุมการณ์เก่า อันเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตย ยังใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนความคิดและอุดมการณ์เก่า เพื่อปกป้อง “อำนาจทางศีลธรรม” และสถานะแห่ง “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ให้ครอบงำประชาชนอยู่ต่อไป ในท่ามกลางสภาวการณ์ดังกล่าวมานี้ คำถามที่สังคมอาจไม่นึกถึงเลยคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์หายไปไหน? เวลาเกิดปัญหาด้านต่างๆ ขึ้นในสังคม เรามักเห็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาอธิบาย ให้ความเห็น เสนอทางออกให้กับสังคม แต่เวลามีปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ พุทธศาสนา ปัญหาจริยธรรม แม้แต่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองของพระสงฆ์เอง เรากลับไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ได้แสดงบทบาททางวิชาการ หรือการเสนอแนะทางออกแก่สังคมแต่อย่างใด มีการตั้งคำถามกันมาอย่างน้อยกว่ายี่สิบปีแล้วว่า เวลาเกิดปัญหาทางจริยธรรม ปัญหาในวงการสงฆ์และพุทธศาสนา สื่อและสังคมมักนึกถึงพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ได้นึกถึง หรือ “คาดหวัง” ว่าจะหาคำอธิบาย คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือแม้แต่จากองค์กรปกครองสงฆ์ได้อย่างไร ยิ่งเรามาคิดว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรมีบทบาทในการสร้างการศึกษาพุทธศาสนาแบบวิชาการ เพื่อจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบศาสนาแบบพิธีกรรม องค์กร สถาบันที่สถาปนาอำนาจทางศีลธรรมเชิงครอบงำ ให้ก้าวไปสู่การสถาปนา “ศาสนาเชิงเสรีภาพทางปัญญา” หรือการทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปเข้ามาร่วมสนทนาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเสมอภาค ไม่มี “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” แต่เป็นศาสนาที่มีบรรยากาศ “เสรีชนทางศีลธรรม” เพื่อแต่ละปัจเจกบุคคลจะมีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนจนตกผลึกทางความคิด และค้นพบทางเลือกเพื่อค้นพบศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ด้วยความเชื่อมั่นและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง สังคมที่จ่ายงบประมาณให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ หวังว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรจะมีบทบาทดังกล่าวนี้ แต่เสียดายที่ปัจจุบันเราไม่รู้ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์หายไปไหน!"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net