Skip to main content
sharethis
ในปี 2555 ที่ผ่านมา จากการทำงานในพื้นที่เขตพระนครโดยเจาะลึกเฉพาะเจาะจงในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) เสียชีวิตสะสมตลอดทั้งปี 49 คน โดยที่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถแจ้งตายในฐานะพลเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์
 
ผ่านปี 2556 มาเพียง 34 วัน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) ที่อยู่ในบริเวณ สนามหลวงและคลองหลอด เสียชีวิตแล้ว 6 คน โดยที่ทั้งหมดเสียงชีวิตในสภาพที่อยู่ข้างถนน ภาพที่เกิดขึ้นจนไม่อยากจะเรียกว่า "ชิน" คือ เมื่อใดก็ตามที่ เขตพระนคร เปลี่ยนผู้อำนวยการเขตคนใหม่ มักจะแสดงแสนยานุภาพด้วยการไล่รื้อคนที่ไร้ที่ไปในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ของเขตพระนคร โดยใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ได้แก่ เพื่อความสวยงาม การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งแอบอ้างเบื้องสูงว่า เป็นเขตพระราชฐาน ทั้งที่ ข้ออ้างต่าง ๆ ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
 
ในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่อยู่ในระหว่างการหาเสียงกันอย่างดุเดือด พยายามไล่เรียงหานโยบายจากผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เขาว่ากันว่าเป็นตัวเต็งอย่างน้อย สองสามคน ก็ให้สะท้อนใจว่าไม่มีใครให้ความสำคัญกับชีวิตข้างถนนเลยแม้แต่คนเดียว จะมีก็แต่ผู้สมัครอิสระอย่างน้อยสามคน คือ  นายโสภณ นายโฆษิต และ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ ที่มีนโยบายเล็ก ๆ อ้างถึงเข้ามาให้สังคมสะกิดหูเล็ก ๆ บ้าง
 
ซึ่งสองในสามคนเน้นการทำให้คนที่อยู่ข้างถนนหายไปจากถนน ด้วยการพาออกจากพื้นที่เป็นสำคัญ ไม่มีแนวทางในการฟื้นฟูหรือค้นหาคำตอบที่แท้จริงของการออกมาใช้ชีวิตข้างถนน เพื่อนำไปสู่การเยียวยา และฟื้นฟูอย่างครบถ้วน เพื่อบรรเทาปัญหาอย่างยั่งยืน
 
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครมีไม่เกิน 3,000 คน แต่หากรวมกลุ่มที่เป็นขอทานทั้งขอทานไทยและขอทานต่างด้าวเข้าไปด้วยแล้วคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน คนเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลในกรณีที่เป็นคนไทยที่ขาดรายได้และไร้ที่พึ่ง ในกรณีที่เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประสานงานช่วยเหลือหรือส่งกลับอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบมนุษยธรรม และภายใต้เงื่อนไขของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 
 
คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แม้ว่า เขาเหล่านี้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่ผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ แต่เขาก็ถือได้ว่า เป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ต้องได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเสมอภาคไม่แตกต่างจากพลเมืองคนอื่น ๆ หรือแม้ว่าเขาจะไม่ใช่พลเมืองชาวไทย แต่เขาก็คือ พลเมืออาเซียน ที่ประชาคมอาเซียนต้องดูแลเช่นกัน
 
นายนที  สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยมูลนิธิอิสรชนร่วมกับบ้านมิตรไมตรี กรุงเทพมหานคร ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 2,846 คน  โดย 5 เขต ที่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุด ได้แก่
 
1. เขตพระนคร  518  คน
2. เขตบางซื่อ  263  คน
3. เขตจตุจักร  215  คน
4. เขตปทุมวัน  202  คน
5. เขตสัมพันธวงศ์  173  คน
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net