Skip to main content
sharethis

ครม.ชุดเล็กประชุมด่วนประกาศพื้นที่อันกระทบต่อความมั่นคง  ดุสิต-พระนคร-ป้อมปราบฯ ให้ กอ.รมน.ดูแล อ้างเตรียมรับมือการชุมนุมหน้าสภาต้านร่างนิรโทษกรรม ส่วนกวป.ประกาศยุติชุมนุม ด้านพงศ์เทพชี้ม็อบไม่มีอำนาจยื่นศาลปกครองขวางครม.ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง

31 ก.ค. 56  เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กซึ่งใช้จำนวนครม.1 ใน 3 ของทั้งหมด เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักรในช่วงของการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมว่า  ที่ประชุมเห็นสมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต พระนครและป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนดระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม โดยให้อยู่ในอำนาจของ กอรมน. ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยมีผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า มูลเหตุที่ครม.มีการประกาศดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มประกาศชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการพิจารณา กฎหมายของรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการชุมนุมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะระดมมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจชุมนุมยืดเยื้อ รวมทั้งลุกลามไปถึงการยึดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุแทรกซ้อน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือขัดขวางการทำหน้าที่ของฝายนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันและป้องปรามภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และไม่ให้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลมีความหลากหลาย รวดเร็ว จนสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัติ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยในประเทศ สมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระบุว่า ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งอยู่ในอำนาจของหน่วยงานหลายหน่วย ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนการประชุมครม.ครั้งนี้ เป็นครม. “ชุดเล็ก” ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม รวมทั้งยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที รวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.อุดมเดช สูตบุตร เสนาธิการทหารบกและตน โดยมติที่ประชุมวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศได้รับทราบมติในการประชุมครั้ง นี้แล้ว

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า หลังจากที่มมติ ครม.เห็นชอบแนวทางและมาตรการ จากนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อเห็นชอบแผนและมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช.) ที่จะเสนอให้ที่ประชุม กอ.รมน.เห็นชอบ จากนั้นก็จะมีการออกคำสั่งให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติโดย ผบ.ตร.จะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งหมด สำหรับมาตารการและการจัดกำลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นที่วางในพื้นที่สำคัญมีการเตรียมการไว้แล้วน่าจะสามารถป้องกันได้

 พล.ท.ภราดร ได้กล่าวถึงการประเมินตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมว่า ยังระบุจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเริ่มเปิดสภาแล้ว ผู้ชุมนุมจะเริ่มทยอยเข้าร่วม และเนื่องจากมีจำนวนหลายกลุ่มและมีความหลากหลาย ซึ่งมีโอกาสที่จะรวมกันได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกัน เพื่อไม่ให้กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน ส่วนจำนวนกลุ่มใหญ่ๆของฝ่ายเห็นด้วยน่าจะมีหลักๆแค่ 1 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 3-4 กลุ่ม 

"ในตอนนี้มีมาตรการที่จะป้องกันเพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างเผชิญหน้า กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบได้ แล้วตรงนี้จะเป็นเหตุให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่มีการใช้อาวุธอยู่แล้ว จะมีเพียงแค่โล่ และกระบองเท่านั้น และตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สมช.) ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด" พล.ท.ภราดร  กล่าว

'พงศ์เทพ' ชี้ม็อบไร้อำนาจยื่นศาลปค. ยกเลิกประกาศพรบ.ความมั่นคง
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม.ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อคัดค้านการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจที่จะไปยื่นให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ เนื่องจากเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาประกาศใช้ และที่ไม่สามารถไปยื่นให้ยกเลิกคำสั่งได้ เพราะได้ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากครม.แล้ว แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปยื่นก็ต้องไปยื่นที่ศาลยุติธรรม และให้ยกคัดได้เฉพาะรายละเอียดการปฏิบัติไม่ใช่ยื่นให้ยกเลิกประกาศ

กวป.ประกาศยุติชุมนุมหน้าสภาฯ หลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง
พล.ต.ต. วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 (ผบก.น.1) ได้เดินทางมายังพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมชุมสื่อวิทยุประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย (กวป.) ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเจรจากับแกนนำกวป. ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยภายหลังการเจรจา นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะยุติการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในเวลา 24.00 น. นี้ และจะย้ายไปปักหลักชุมนุมต่อที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้จะติดตามการประชุมสภาต่อไป หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปกป้องพื้นที่อาคารรัฐสภาได้ จะนำมวลชนมาหน้ารัฐสภาอีก

 

เรียงเรียง จากเว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์ไอลอว์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net