"คนดี" ทำให้ผมลำบากใจมาก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเกิดมารายล้อมด้วยคนดี ทั้งในชีวิตวัยเด็กก็รายล้อมด้วยชุมชนชาวนาที่ขยันขันแข็งทำนาปีละ 2-3 ครั้งเพื่อไทยรักษาตำแหน่งประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ... แม้ว่าจะมีทะเลาะเบาะแว้งกินเหล้าเมายาและเล่นหวยเล่นไฮโลกันบ้าง แต่ผู้คนในหมู่บ้านก็ช่วยเหลือกัน เข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม และใส่บาตรกันทุกวัน

ยามอยู่ในวัยเรียนจนจบมหาวิทยาลัย แม้จะโดดเรียนบ้างเข้าเรียนบ้างเพราะทำกิจกรรมนักศึกษา ผมก็รายล้อมไปด้วยเพื่อนและอาจารย์คนดี และในชีวิตการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นงานที่ต้องทะเลาะกับนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ ผมก็รายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานและคนดีมากมายที่ทำงานด้วย

ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมพบพานคนชั่วมากกว่าคนดี ผมคงหมดหวังกับประเทศไทยและท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่เป็นแน่แท้ แต่ผมยังมีความหวัง เพราะแม้ว่าในความเป็นหมู่เป็นพวกที่ดูโหดร้ายรุนแรง ผมยังเห็นความเป็นปัจเจกชนคนดีอยู่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เส้นวัดความเป็นคนดี-คนเลวของผมนั้นไม่ซับซ้อน มันตั้งอยู่เพียงแค่การรู้จักเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่กัน เห็นอกเห็นใจกัน รู้จักอดทนอดกลั้น และเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันของผู้คนในสังคม ที่ไม่จำตัวว่าต้องสัญชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน สีผิวเดียวกัน มีชาติตระกูลสูงส่ง มีใบปริญญาบัตร หรือมีหน้าที่การงานหรือความมั่งคั่งแห่งทรัพย์สินเงินทอง

ยามเขียนถึงตรงนี้ ดวงหน้าของคนดีของผมก็ลอยมาในมโนสำนึกมากมาย ... ทั้งพี่สาวแสนดี ที่เสียสละเงินเดือนส่งผมเรียนมหาวิทยาลัย คิดถึงอาจารย์แสนดีที่แสนรักหลายคน ที่ช่วยเหลือดูแลจนผมสามารถเรียนจบ นึกถึงหญิงสาวคนแรกๆ ที่พบเจอในวัยทำงาน คนดีที่ยอมเสียสละร่างกายตัวเองเพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัว คิดถึงชาวสิงคโปร์คนดีขาเป๋ ที่อุตสาห์เดินพาผมไปส่งยังแคมป์คนงานเมื่อผมถามทาง โดยที่จริงๆ แล้ว เขาเพียงแค่ชี้ทางก็น่าจะพอแล้ว และยังคิดถึงนักกิจกรรมหญิงชาวเปรูที่อดตาหลับขับตานอนพาผมตระเวณพูดคุยกับคนงานหลายจุดในเวลาอันจำกัดที่เรามีเพียง 24 ชั่วโมง และคิดถึงคนดีอีกมากมายที่ไม่อาจบรรยายได้หมด

แน่นอนว่าสังคม ประเทศชาติ และโลก ต้องมีคนดี ไม่งั้นชาติก็ล่มจม โลกก็ล่มสลาย การศึกษาในทุกประเทศในโลกนี้(รวมทั้งประเทศไทย) ก็เพื่อต้องการให้คนในชาติเป็นคนดีและเคารพกฎกติกาของประเทศและกติกาสากลที่ร่วมกันกำหนดของทุกประเทศในโลก เพื่อสันติภาพและสันติสุขของมวลมนุษยชาติ ... ซึ่งแน่นอนในประเทศไทย ผมก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ผมเห็นว่าไทยมีคนดีเยอะอยู่ ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว สีส้ม สีดำ หรือสีน้ำเงิน ฯลฯ ก็ตาม

ตลอดหลายสิบปีแห่งการใช้ชีวิตท่ามกลางคนดี ผมไม่เคยถามไถ่คนที่รู้จักหรือทำงานด้วยเพื่อจะดูว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ด้วยคำถามว่า คุณนามสกุลอะไร จบมหาวิทยาลัยไหน คุณร่ำรวยแค่ไหน หรือคุณรักในหลวงหรือเปล่า เป็นอาทิ ... จริงๆ แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการถกเถียงในประเด็นอ่อนไหวในสังคมไม่ใช่ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ผมจะหลีกเลี่ยงประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คน และจะมุ่งเป้าคุยเรื่องการแก้ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้คนในสังคมและ ให้ความรู้เรื่องการต่อรองเรียกร้องสิทธิจากนายจ้างจะต้องทำกันอย่างไร 

แต่ ณ ยามนี้ "คนดี" ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจมากจริงๆ

สืบเนื่องมาจากช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อสังคมไทยร้อนฉ่าท่ามกลางการปะทุของการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง อันเป็นการต่อเนื่องแห่งสงคราม "โค่นทักษิณไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม" ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และก็เช่นเดียวกับในปี 2549 ขบวนการคนดี ณ พ.ศ. 2556เริ่มเรียกหารัฐบาล "คนดี" พระราชทาน กันอย่างกระหึ่มอีกครั้ง โดยที่ภาพ "คนดี" ที่ทำให้ผมเห็นคือ การเป็นคนมีชาติตระกูล มีภูมิความรู้ มียศฐาบรรดาศักด์  และที่สำคัญต้องรักในหลวง ผมก็เลยตั้งคำถามเรื่องนิยามและความหมายของ "คนดี" ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

"คนดี" สำหรับผม ไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่ว่าต้องเป็นคน "รักในหลวง" อย่างขาดสติและบ้าคลั่งเท่านั้น

การเรียกหาผู้นำ "คนดีพระราชทาน" ในทางการเมืองไทย นำไปสู่การถูกอ้างเพื่อล้ม "รัฐบาลคอร์รัปชั่น" มาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมหรือคนไทยไม่ต้องการคนดีมาบริหารบ้านเมือง แต่เพราะว่า แม้แต่นิยาม "คนดี" ของเรา ก็ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันซะแล้ว

และผมก็ไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาดกับการล้มรัฐบาลด้วยวิถีนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะด้วยการรัฐประหาร การตัดสิทธิ์ยุบพรรค เพื่อการเพรียกหา "สภาประชาชนคนดี" ที่มาจากการแต่งตั้ง "โดยคนดี ของคนดี และเพื่อคนดี" ที่ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปส. กำลังกดดันอยู่ ณ ขณะนี้

กระนั้น ผมก็ไม่อาจดูแคลนคนเข้าร่วมขบวนการล้มรัฐบาลเพื่อแต่งตั้ง "สภาประชาชนคนดี" ในนาม กปปส. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นม็อบรับจ้าง เช่นเดียวกันที่ผมก็ไม่อาจดูแคลนคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมกับขบวนการนปช.ที่ปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยว่าเป็นม็อบรับจ้างได้เช่นกัน ...

เพราะผมมีคนที่รู้จักและทำงานด้วยมาเป็นสิบและยี่สิบปีจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมอยู่ในทั้งสองค่าย และหลายคนก็เป็นคนดีในสายตาผม เป็นคนที่ผมก็เชื่อว่าพวกเขาก็ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองพัฒนาเช่นกัน

แต่การตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์การทำงานและการต่อสู้นั้นต่างกัน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในวิถีประชาธิปไตยที่คนคิดต่างได้ เลือกอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันได้ และสามารถอยู่ร่วมกันในความต่างได้ ณ ขณะนี้ ได้นำสังคมคนหมู่มากให้มาอยู่ในสภาวะทางสองแพร่ง - ต้องเลือกว่าจะ "ปกป้อง" หรือ "จะโค่น" พรรคการเมืองเพียงเพราะเป็นกลุ่มทุนนามสกุลชินวัตรเท่านั้น

โดยฝ่ายที่ต้องการ "โค่นรัฐบาลทักษิณและตระกูลชินวัตร" ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ได้เข้าหานายชนชั้นสูง ทหารและนายทุนขั้วอำนาจเก่า เพื่อร่วมกันถล่มชินวัตรให้ยุติบทบาททางการเมืองในประเทศไทย เพราะรู้ว่ากำลังตามลำพังมันไม่พอ โดยพวกเขาต้องยอมประนีประนอมผลประโยชน์ให้กับพวกทุนกลุ่มที่หนุนเช่นกัน

ด้วยเป้าหมายต้องชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีใด โดยไม่สนกติกาประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างข้างๆ คูๆ อันล้าสมัยว่า เพื่อเรียกร้องให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง ... คนดีที่ผมรู้จักที่เคยประกาศว่า "งาช้างไม่ได้งอกจากปากหมาฉันท์ใด นโยบายเพื่อคนจนก็ไม่มีทางออกมาจากรัฐบาลนายทุนฉันท์นั้น" ได้ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง และเลือกยุทธศาสตร์การต่อสู้ในนามเพื่อคนดี และกระโดดร่วมอย่างออกหน้าออกตาไปกับกลุ่มนายทุนเก่าเพื่อโค่นทุนใหม่ที่เขากลัวมากกว่า

แน่นอนผมไม่เห็นพ้องกับแนวคิดการเมืองคนดีพระราชทานที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้ ที่เริ่มก่อตัวอีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2548 และก็ต้องเศร้าสลดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นผู้คนรอบข้างเริ่มไม่สามารถรับฟังเหตุผลหรือข้อคิดเห็นต่างได้มากขึ้นเรื่อยๆ ...

แต่ผมเลือกที่จะไม่ปะทะโดยตรงกับคนดีที่รักและรู้จัก และเลือกที่จะไม่ไปยืนอยู่ในขบวนประชาชนอีกค่าย เพื่อเป็นแนวร่วมเพิ่มจำนวนให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ยังไม่ใช่พรรคการเมืองในฝันของผม

แม้จะถูกชวนร่วมชุมนุมจากคนทั้งสองค่าย ผมก็เลือกไม่เข้าร่วม และมุ่งมั่นทำงานศึกษาปัญหาแรงงานในระดับหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นในงานช่วยประชาชนและคนงานให้รวมตัวต่อรอง และต่อสู้กับนายทุนหรือนายจ้างของพวกเขาได้อย่างเข็มแข็งมากขึ้น

ผมเลือกที่จะยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยเลือกตั้งตัวแทนเข้ารัฐสภา แม้ว่าผมไม่ได้เลือก แต่ถ้าพรรคนั้นชนะการเลือกตั้ง ผมก็พร้อมเคารพเสียงคนที่เลือกพรรคนั้นเข้ารัฐสภา ... ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่า "ทุกชนชั้น" ควรมีตัวแทนในรัฐสภา และผมก็ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนชั้นล่างจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และส่งคนลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อเข้าไปเป็นปากเสียงของตัวเองในสภา

แน่นอนการเลือกของผมมันไม่สะใจ และเดินไปอย่างเชื่องช้า แต่ผมเชื่อว่ามันไม่มีวิธีการอื่น ถ้าจะสร้างเสถียรภาพทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่มีประชากร 65 ล้านคน จากหลายสิบชนเผ่า และหลายสิบภาษา ให้สามารถอยู่ร่วมกันและเคารพกันในความแตกต่างได้ โดยไม่ยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตยเลือกตั้ง "หนึ่งคนหนึ่งเสียง" เท่ากันทั้งประเทศ

"คนดี" ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจอีกแล้ว

มันน่าเศร้าสำหรับประเทศไทย ที่สภาวะคุยกับคนดีไม่ได้หรือเลือกที่จะไม่คุยกันดีกว่า มันใช้เวลานานกว่าที่คิด และก็เป็นเวลา 5-6ปีแล้ว ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคม(รวมทั้งผมด้วย) ต้องอยู่กันด้วยวิถีเลือกค่าย หรือเลือกที่จะไม่คุยกันเพื่อที่จะได้ไม่ทะเลาะกัน

แต่ขณะนี้เราก็กำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งบรรยากาศทางการเมืองที่การหลีกเลี่ยงการไม่ปะทะกันทำได้ไม่ได้ง่ายนัก แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสามารถจัดการรับมือกับความร้อนแรงทางการเมืองด้วยการยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ "เลือดนองท้องถนน" ไปได้อย่างสันติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ไทยที่น่าชื่นชม ...

แต่การประท้วงของ กปปส. ก็ยังไม่จบ  

ขณะนี้ คนไทยและคนทั่วโลกที่ห่วงใยสถานการณ์ในเมืองไทย กำลังได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์และอัดฉีดนโยบายด้านการเมือง การทหาร และการศึกษา ที่กล่อมเกลาผู้คนทั้งประเทศไทย ให้อยู่ภายใต้แนวนโยบายเพื่อปกป้อง "เพื่อชาติ ศาส์น กษัตริย์" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคปี 2500 ที่ยังคงใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์เมืองไทย ณ ขณะนี้จึงยังน่าห่วงใยยิ่งเมื่อ ...

คนไทยจำนวนไม่น้อยรักชาติอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนไทยจำนวนมากรักในหลวงอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนดีหลายคนรักชาวบ้านอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนมีอำนาจและคนดีจำนวนไม่น้อยเกลียดทักษิณและยิ่งลักษณ์อย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
นักการเมืองและนักกิจกรรมหลายคนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริงและอย่างรวดเร็ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ เรื่องที่ต้องระวังคือการปะทุแห่งอารมณ์ความเกลียดชังที่ถูกบ่มเพาะและโหมโฆษณาเพื่อจัดตั้งมวลชนจนน่ากลัวและน่าสยดสยอง

เรื่องตลกร้ายคือ ผมแทบไม่เชื่อว่า ภายใต้วิถีการเมืองประชาธิปไตยที่ประเทศไทยใช้เวลาไปแล้วถึง 80 ปีเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในหมู่พลเมืองว่า จะอยู่ร่วมกันภายใต้การเมืองวิถีนี้ได้อย่างไร ... ผู้ทรงคุณวุฒิและครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อยในสังคม จะยังสามารถอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ถึงความจำเป็นที่จำต้องล้มกติกาประชาธิปไตยเลือกตั้ง เพื่อเรียกหาการแต่งตั้ง "สภาประชาชนคนดี" ด้วยความคิดอันไม่น่าเชื่อว่า "คนดี" และ "คนมีความรู้" เท่านั้น ที่มีความรู้ ศักยภาพ และประสิทธิภาพมากพอที่จะพัฒนาประเทศไทย

ถ้ามวลมหาประชาชนของฝ่ายเรียกร้อง "สภาประชาชนคนดี" จากการ "แต่งตั้ง" เกิดปะทะกับมวลชนของ "พรรคการเมือง "คนเลว”" ที่ชนะการ "เลือกตั้ง" แล้วละก็ ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า จะไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกได้ และ ณ จุดนั้น "คนดี" กับ "คนเลว" ก็ไม่มีความแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งผมและ (ผมเชื่อว่า) คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเห็นภาพสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย และพวกเราต่างก็หวังกันว่า ความเป็นคนดีในหลายๆ ด้านของคนในประเทศไทย จะช่วยเตือนสติคนไทยทั้งหลาย ไม่ให้โหดร้ายพอที่จะลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าสังหารกันเพราะอยู่คนละค่ายการเมืองเท่านั้น
 
การตระหนักว่าแม้ในโลกไร้พรมแดนที่เปิดเชื่อมต่อกันสู่สากลเช่นนี้ คนในดินแดนที่เรียกว่าชาติไทยยังอาจจะสามารถลุกขึ้นมาฆ่ากันได้เพราะความเกลียดชัง เป็นความจริงที่น่าตระหนกและไม่ใช่เรื่องที่จะทดลองเล่น

คนไทยได้เรียนรู้บทเรียนในประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศและของโลกมากมาย ที่บันทึกถึงโศกนาฎกรรมแห่งการเข่นฆ่าสังหารกันเพราะการรังเกียจเดียจฉันท์ - ไม่วาจะเป็นการเหยียดศาสนา การเหยียดผิวดำ เหยียดเกย์ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดชนชั้น หรือเพื่อลัทธิการเมือง - ซึ่งต่างก็เป็นชนวนให้คนในประเทศลุกมาฆ่ากันอย่างรุนแรงจริงและตายกันจริงกันถึงครึ่งค่อนประเทศ

ผมเลือกที่จะไม่ไปยืนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนท้องถนนแห่งการต่อสู้เช่นนี้ เพราะผมคิดว่าเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว ที่มีประวัติศาสตร์รอบโลกให้ได้เรียนรู้ศึกษา ถ้าผมยังโง่ พาตัวเองไปตายในสถานการณ์เช่นนั้นอยู่ได้อีก ก็เท่ากับตลอดชีวิตจนเกินวัย 40 ปีมาแล้วเช่นนี้ ผมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

เป็นเรื่องที่คนในประเทศไทยแล้วล่ะ ที่จะต้องหยุดและร่วมกันคิดว่า ถ้าสังคมไทยจะต้องอยู่กันบนความแยกขั้วแยกค่ายอย่างชัดเจนเช่นนี้ต่อไป เราจะต้องทำอะไรกันบ้าง ที่จะให้ได้อยู่ร่วมกันได้แบบ "อดทนและอดกลั้น" และ "เคารพ" ในความแตกต่างของผู้คนในสังคม แม้มันจะไม่ง่ายนักก็ตาม เพราะเราคงต้องละวางทิฐิและอัตตาตัวตนกันพอสมควร พร้อมทั้งเริ่มพูดคำว่า "ขอโทษ" กันมากขึ้นเรื่ิอยๆ

ในท้ายที่สุดนี้ แม้ผมไม่รู้ว่าจะสมานความรู้สึกกับครอบครัวและเพื่อนเก่าได้อย่างไร และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด เมื่อต่างเห็นแย้งกันมาค่อนข้างยาวนานในเรื่องความคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อมองย้อนไปถึงภาพความสัมพันธ์ 10 ปี 20 ปี หรือทั้งชีวิตที่มีมาร่วมกัน ผมคิดว่า เมื่อบทสรุปแห่งการเมืองไทยมันตกผลึกจนชัดเจนขึ้นแล้ว และ...

เมื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
สามารถปักหมุดหลักเริ่มต้นได้ที่เมืองไทย
เมื่อนั้น ...
ถ้าเราได้มีโอกาสมานั่งวงกินข้าวร่วมกันเพียงครั้งสองครั้ง
มิตรภาพจะเริ่มกลับคืนมา!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท