Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงโอกาสในการสนทนาทางวิชาการผ่านตัวอักษรกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาน ชุมพล ที่ท่านได้เขียนบทความ "ประชาธิปไตยไม่ใช่แก้วสารพัดนึก" ลงตีพิมพ์ในจดหมายข่าว สถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2556  กระผมจึงเขียนบทความตอบ ดังนี้


------------------------------------------------------


การรัฐประหารโดยคณะ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ได้ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยุติบทบาทลงโดยอำนาจของกองทัพ หลังจากนั้นประเทศไทยได้เข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง มีการจับกุมคุมขังผู้ที่ออกมาต่อต้านกองทัพ แจ้งข้อหาและกล่าวโทษโดยใช้ประกาศของคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ คณะ คสช. ยังได้สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้แก่สังคมภายใต้คำขวัญ “คืนความสุข” สร้างแรงกดดันไปยังประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ออกคำสั่งให้ตำรวจใช้อำนาจจับประชาชนหากมีการต่อต้านทางการเมือง เช่น จับผู้กินแซนวิส จับผู้อ่านหนังสือ 1984 จับผู้ชูสามนิ้ว เป็นต้น

ประชาธิปไตยที่กำลังประสบปัญหาในขั้นปัจจุบันได้ถูกกองทัพเข้าแทรกแซงเข้าแก้ไขปัญหาอย่างไม่ชอบธรรมตามครรลองแบบกระบวนการประชาธิปไตย บทความชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่ผู้มีอำนาจในกองทัพจะสามารถชี้นิ้วสั่งการให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายลงไปได้ตามอำเภอใจและไม่มีความชอบธรรมอย่างไร


1. ภาพลักษณ์ของการรัฐประหารในสายตาประชาชน

“ทำไมการรัฐประหารโดยกองทัพจะทำให้คนทั่วไปเห็นดีเห็นงามด้วย ทำไมทหารจึงคิดว่าคนเขาจะเชื่อถือการกระทำของทหารในทางการเมือง นั่นหมายความว่าทหารก็ต้องถามตัวเองให้ถ่องแท้ว่าการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนด้วยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ถูก ทหารจะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และต้องตระหนักให้ดีว่าทหารทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ เป็นรั้วของชาติ กินภาษีจากเงินของประชาชน ทหารมิได้มีหน้าที่ทางการเมืองที่จะเข้ามากระทำการแทรกแซงรัฐบาลพลเรือนในระบอบประชาธิปไตย”

ภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของกองทัพก็คือการปกป้องคุ้มครองประเทศชาติจากภัยคุกคามต่างๆ เป็นภารกิจหลักของทหารทุกนาย หากแต่ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพควรจะมีภาพลักษณ์และบทบาทในการปกป้องประชาธิปไตย อันหมายถึง การปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกๆคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่กระทำการอย่างสองมาตรฐานและเลือกปฎิบัติ และต้องทำหน้าที่สนับสนุนให้ประชาธิปไตยเจริญงอกงามไม่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของพลเรือนด้วยการเข้ามายึดอำนาจโดยมิชอบธรรม

การเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองโดยการทำรัฐประหารมิชอบธรรมอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย ?

การตอบคำถามนี้ไม่ได้ยากเย็นแต่อย่างใด  ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการง่ายๆขั้นพื้นฐานว่ารัฐจะต้องรับประกันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ไม่ละเมิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการทางการปกครอง การเข้าสู่อำนาจรัฐจะต้องได้รับความยินยอมจากพลเมืองเท่านั้น กองทัพไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ายึดอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืนเพราะนั่นคือการเข้าสู่อำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในระดับที่มากเพียงพอ

การอ้างว่าเมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว ได้อำนาจรัฐแล้ว กองทัพจึงเปรียบเสมือน “รัฎฐาธิปัตย์” หมายถึง อำนาจสูงสุดของรัฐ หากกล่าวในทางกฎหมายมหาชน ทหารก็จะอ้างว่าอำนาจสูงสุดนี้คืออำนาจสถาปนากฎหมาย ทหารคือกฎหมาย เป็น foundation ของกฎหมายในสังคม ทุกคนต้องยินยอมและปฎิบัติตาม

การกล่าวอ้างเช่นนี้มิใช่เรื่องผิดหากประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตย การกล่าวอ้างที่ง่ายๆและตรงไปตรงมาอย่างนี้คือการอ้างภายใต้วิธีคิดแบบเผด็จการ หมายถึงฉันจะทำอะไรก็ได้เพราะฉันยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันมีปืน คนอื่นไม่มี ดังนั้น การอ้างความชอบธรรมจึงเป็นการอ้างภายใต้ความเป็นเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อมั่นและยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นและยึดมั่นว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด การทำรัฐประหารโดยกองทัพจึงเป็นสิ่งที่ผิด ผิดทั้งความชอบธรรม ผิดทั้งศีลธรรมการเมือง ผิดทั้งมารยาททางการเมือง ผิดทั้งกฎหมายที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ภาพลักษณ์ของทหารจึงถูกตั้งคำถามจากผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยโดยกว้างขวาง เพียงแต่ท่านไม่รู้และไม่ทราบ เพราะท่านได้ใช้อำนาจปืนของท่านกดขี่สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเอาไว้นั่นเอง


2. ความหมายของการรัฐประหารในมุมมองต่างมุม

“ดูเหมือนว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจของกองทัพ มีความคาดหวังและศรัทธาว่าทหารบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียยิ่งกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้เห็นว่าการรัฐประหารเป็นแก้วสารพัดนึก สามารถแก้ไขปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ นิยมชมชอบระบอบเผด็จการเสียยิ่งกว่าสิทธิเสรีภาพของตนเองและพร้อมจะสละสิทธิเสรีภาพของตนเองทิ้งไปอย่างไม่ใยดี ในขณะที่มักจะอ้างว่าการสนับสนุนรัฐประหารคือประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง ต้องตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองด้วยวิธีการที่เฉียบขาดและรุนแรง”

การกล่าวอ้างว่าต้องการให้ทหารเข้ามายึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรมคือการตรวจสอบถ่วงดุลแบบไทยๆและเชื่อมั่นว่าการรัฐประหารคือแก้วสารพัดนึกที่จะดลบัลดาลสิ่งใดก็ได้ เป็นความเชื่อมั่นและศรัทธาที่มิได้ยืนอยู่บนหลักการของประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะว่าคำกล่าวอ้างเช่นนี้มิได้สนใจกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องและชอบธรรม ไม่ได้เชื่อว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นเรื่องของประชาชนโดยสมบูรณ์

การสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารด้วยจิตสำนึกประชาธิปไตยที่ผิดพลาดเช่นนี้ทำให้ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกกดดันและรู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่สิทธิเสรีภาพ การเรียกร้องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง การเรียกร้องให้ใช้ระบอบเผด็จการทหาร การเรียกร้องให้ทหารใช้อำนาจปืนเข้าจัดการผู้เห็นต่างและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ค่านิยมประชาธิปไตย แต่เป็นค่านิยมแบบเผด็จการ ไม่อนุญาตให้มีผู้ที่คิดต่างสามารถยืนได้ในสังคม

ในมุมมองที่ถูกต้อง เราจะต้องไม่สนับสนุนการรัฐประหารหรือการยึดอำนาจใดๆที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย เราต้องตั้งคำถามต่อกองทัพและต่อผู้ที่สนับสนุนกองทัพ เร่งสร้างจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยให้ถูกต้อง คือ สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทุกคน

การเรียกร้องสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นมุมมองที่ผิดพลาด

การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเอง การเรียกร้องเอาทหารเข้ามาแทรกแซงนอกจากจะมิได้แก้ไขปัญหาในระยะยาวแล้ว กองทัพอาจจะสร้างปัญหาตามมาในอนาคตเพราะว่าไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงจากการแก้ไขปัญหาแบบเผด็จการ

พวกเราต้องอย่าหมดหวังกับประชาธิปไตย พวกเราต้องอดทนและพร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน


3. เกณฑ์ในการชี้วัดตัดสินรัฐบุรุษและรัฐสตรี

ในระบอบประชาธิปไตย การเฟ้นหารัฐบุรุษหรือรัฐสตรีจะต้องมาจากกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นประชาธิปไตย คำถามที่สำคัญคือทำไมเราต้องบอกว่าการเฟ้นหาคนเหล่านี้จะต้องมาจากกระบวนการประชาธิปไตย ?

ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาย่อมมีดีๆชั่วๆ เลวมากเลวน้อย ดีมากดีน้อย ปะปนกันไป ความดีความชั่วก็ขึ้นอยู่บริบทสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้นๆ บางสถานการณ์เขาอาจเป็นคนดี บางสถานการณ์เขาอาจกระทำไม่ดี ดังนั้น ความดีความชั่วจึงลื่นไหลแปรเปลี่ยน ไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จะสามารถควบคุมความไม่มั่นคงทางศีลธรรมการเมืองนี้ได้ก็จำเป็นจะต้องมีการออกแบบกฎกติกา โครงสร้าง ระเบียบข้อบังคับในทางการเมืองให้ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อบุคคลหนึ่งๆเข้าสู่อำนาจทางการเมือง พวกเขาเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฎิบัติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมทางการเมือง ปฎิบัติตามกฎกติกามารยาททางการเมืองที่ถูกออกแบบเอาไว้เพื่อควบคุมความไม่อยู่กับร่องกับรอยของมนุษย์ดังที่กล่าวมา ฉะนั้น ผู้ที่ได้ยึดโยงกับกฎกติกาที่เป็นธรรม ปฎิบัติตนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงตามครรลอง และถ้าหากสามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญงอกงามได้อย่างยั่งยืนและชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเหล่านั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษและรัฐสตรี

รัฐบุรุษและรัฐสตรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะต้องยึดโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น


4. เกณฑ์คุณสมบัติของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยและความหมายของพลเมืองในวิถีประชาธิปไตย

ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าคำว่าประชาชน กล่าวคือ พลเมืองมีบทบาทและหน้าที่รวมไปถึงการมีสิทธิเสรีภาพในเวลาเดียวกัน พลเมืองทุกคนในระบอบประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาธิปไตย ทำตามกฎระเบียบของรัฐที่ออกแบบเอาไว้ร่วมกัน ร่วมกันฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน

หากมองตามเกณฑ์เช่นนี้ จะเห็นว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งฝ่ายหนึ่งมิได้ยึดถือหลักเกณฑ์นี้ร่วมกัน พวกเขาเรียกร้องให้เกิดอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมชาติ ไม่เคารพหน้าที่ของเพื่อนร่วมชาติ นอกจากนี้ ยังอาศัยอำนาจเผด็จการสนับสนุนแนวทางผิดๆต่อเพื่อนร่วมชาติของตัวเองด้วยการสนับสนุนให้ใช้กำลังต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง หัวเราะเยาะเย้ยถากถาง ดูถูกผู้อื่น ดูแคลนผู้คน เหยียบย่ำผู้อื่น ไม่มองว่าผู้เห็นต่างคือผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพทัดเทียมกับตนเอง สิ่งเหล่านี้ตัดสินได้ว่าพวกเขามิได้ผ่านเกณฑ์พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ซ้ำร้าย พวกเขานิยมชมชอบหลักเกณฑ์แบบเผด็จการที่ต้องการกำจัดอีกฝ่ายให้พ้นๆไป

วิถีพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง คือ การเคารพซึ่งกันและกันในฐานะพลเมือง เห็นต่างได้แต่ต้องเคารพกัน ไม่คุกคามสิทธิเสรีภาพระหว่างกัน ค้นหาทางออกร่วมกัน ไม่มีใครชนะเด็ดขาดหรือแพ้อย่างเด็ดขาด แต่เป็นการร่วมกันสร้างความเจริญในแนวทางที่แตกต่างกันไปโดยไม่ทำลายประชาธิปไตยนั่นเอง


5. เรื่องยกย่องคนที่ตายแล้วเป็นวีรบุรุษ

ทุกๆสังคมย่อมมีวีรบุรุษเป็นของตัวเอง แต่เรากำลังนึกถึงคำว่า “ถอดบทเรียน” เสียยิ่งกว่าวีรบุรุษเป็นบุคคลไป เมื่อคิดได้เช่นนี้ การถอดบทเรียนความล้มเหลวและความผิดพลาดที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาประชาธิปไตยไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสังคมสามารถถอดบทเรียนและสรุปความผิดพลาดได้มากน้อยขนาดไหน

มีแง่คิดที่น่าสนใจว่าอย่าเป็นสังคมความจำสั้น เพราะเมื่อความจำสั้นเราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเพราะจำอะไรไม่ได้ จะเอาแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่คำนึงถึงความผิดพลาดในอดีตก็ย่อมแก้ไขปัญหาได้ไม่ยั่งยืน หรือหากหมกมุ่นอยู่แต่กับอดีตก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

เมื่อถึงบรรทัดนี้เราคงไม่อาจยกย่องให้ใครเป็นวีรบุรุษได้เท่ากันกับตัวของเราเอง เพราะเราคือผู้ที่สร้างประเทศนี้ด้วยมือของเราเอง มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยลำพัง

วีรบุรุษในระบอบประชาธิปไตยก็คือ “ประชาชน”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net