Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชันไปหลายตอน บอกไว้ว่าจะเขียนเป็นบทสรุป เผื่อท่านใดสนใจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการติดตามเรื่องนี้ต่อหรือช่วยกันไปคิดต่อได้บ้าง

ระหว่างนั้น เกิดเหตุการณ์ที่แย่ๆหลายเรื่อง เช่น มีใครเสนอผลสำรวจวิจัยก็ถูกเรียกไปอบรมบ้าง ใครเสนอความเห็นก็ถูกตะคอกบ้าง ผมไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องเหล่านั้น ได้แต่นึกว่าอย่าไปโทษตัวบุคคลมากนักเลย ที่เป็นปัญหานั้น เป็นเพราะระบบไม่ดีเสียมากกว่า หากเรามีระบบที่ดี บุคคลจะเลอะเทอะอย่างไรก็ไม่สามารถทำอะไรที่ขัดต่อระบบได้ ผมยังยืนยันความสำคัญของระบบและพยายามเขียนบทสรุปมาให้อ่านกันอีกรอบ


ความล้มเหลวของระบบต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (4) บทสรุป

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนั้น มีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น กฎหมายและระเบียบต่างๆ บทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงค่านิยม จิตสำนึกของคนและวัฒนธรรมประเพณีของสังคม

องค์กรในภาครัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ความจริงแล้ว มีทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ย่อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การจะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ดี ต้องอาศัยกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่ รูรั่วน้อย การบริหารที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

สิ่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็คือระบบและกลไกที่ใช้จัดการกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย แต่น่าเสียดายที่กลับไม่พัฒนา

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาจนถึงปี 2514 กลไกที่ใชัในการจัดการกับปัญหาการทุจริต คือ หน่วยงานราชการ

องค์กรป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแต่เดิมนั้น ใช้หน่วยงานราชการเป็นหลัก ต่อมาในปี 2514 จึงมีการตั้งองค์กรขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกเป็นการตั้งโดยคณะรัฐประหาร ต่อมาภายใต้รัฐบาลพลเรือนมีการออกกฎหมายตั้งองค์กรที่ขึ้นกับฝ่ายบริหารที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังมีบทบาทอย่างจำกัดอยู่ มีความพยายามเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

คณะรัฐประหารมักตั้งองค์กรพิเศษขึ้น โดยองค์กรเหล่านี้ขึ้นต่อคณะรัฐประหารหรือรัฐบาล เช่น ในปี 2514 มีคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ(กตป.)ตั้งโดยประกาศคณะปฏิวัติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปี 2534 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินขึ้นตามประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 เรื่องให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินเป็นต้น ปี 2549 มีการตั้ง คตส. และหลังการรัฐประหารปี 2557 มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน

การแทรกแซงหรือการเข้ามาจัดการปัญหาการทุจริตเสียเองของคณะรัฐประหาร มักนำไปสู่ความล้มเหลว ไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือ ที่มักเป็นปัญหาร่วมกัน คือ การตั้งให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ และต่อมาก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของผู้มีอำนาจเอง เช่น กตป.ซึ่งมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธาน และมี พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เป็นรองเลขาธิการ ที่มีบทบาทมากกว่าเลขาธิการ เป็นองค์กรที่ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ มีไว้จัดการฝ่ายตรงข้าม กรณีนี้มีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง กับกรณีการตั้งประธาน ปปช.ชุดปัจจุบัน ที่มาจากคนสนิทใกล้ชิดของรองนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ให้กำเนิด ปปช.ที่เป็นองค์อิสระขึ้นมา โดยมีเจตนารมณ์ว่า ปปช.จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากและเป็นอิสระจากทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ การมีองค์กรอิสระนี้ได้เสนอปัญหาใหม่ คือ อำนาจของฝ่ายบริหารในการจัดการกับปัญหาการทุจริตหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ ปปช.ก็มีงานล้นมือและทำไม่ทัน

ปปช.เองก็หนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ถูกแทรกแซงได้ เลือกปฏิบัติและขาดประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่แทนที่จะมีการปรับปรุงระบบให้เข้มแข็งขึ้น การรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ทำให้เกิดการวางระบบคุณสมบัติที่มาของ ปปช.จนทำให้ ปปช.กลายเป็นองค์กรภายใต้การครอบงำของผู้ที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน คำว่า “อิสระ” จึงมีความหมายว่าเป็นอิสระจากประชาชน ปปช.กลายเป็นองค์กรที่มีสังกัด ถูกมองว่าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกปฏิบัติ จนไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม

หลังการรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีบทบาทใดๆในการตรวจสอบการทุจริต สื่อมวลชนและภาคประชาชนก็มีบทบาทอย่างจำกัดมาก เนื่องจากขาดเสรีภาพ การใช้อำนาจตามอำเภอใจของ คสช. จากการให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการและการแทรกแซงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหญ่ๆ ทำให้การป้องกันปรามปรามการทุจริตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและไม่โปร่งใส

การตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่ซ้ำซ้อน ทำให้องค์กรต่างๆที่ควรเป็นอิสระไม่เป็นองค์กรอิสระ ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย ระบบถูกรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่  คสช.โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายต่างๆในสังคม ขณะที่มีข่าวที่น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่มีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ จนไม่มีใครรู้ว่า ยังมีการทุจริตในกรณีอื่นๆอีกมากน้่อยเพียงใด

ระบบที่จะใช้ในการจัดการกับปัญหาการทุจริตตั้งแต่นี้ต่อไป ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญที่อวดอ้างว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน คือ เน้นการตรวจสอบและเอาผิดนักการเมืองกับเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระได้แก่ กกต. ปปช.และศาล

เมื่อกำหนดบทลงโทษหนักขึ้นมากและให้องค์อิสระ เช่น ปปช.เป็นต้น มีอำนาจมากขึ้นด้วยแล้ว ระบบตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็เน้นเรื่องการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์ต่างๆเหล่านี้ไว้อย่างเข้มงวดที่เรียกกันว่า “ขั้นเทพ”

แต่สุดท้าย คุณสมบัติขั้นเทพนี้ก็ไม่ถูกนำมาใช้จริงในองค์กรสำคัญๆ เช่น ปปช.และ คตง. สังคมไทยจึงยังจะต้องอยู่กับระบบที่พิกลพิการภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจไปอีกหลายปี

ความลักลั่นในการทำงานขององค์กรที่ คสช.ตั้งไว้ องค์กรสังกัดฝ่ายบริหารและองค์กรอิสระยังคงอยู่ต่อไป เกิดเป็นช่องโหว่ที่ไม่มีใครทำหน้าที่ปิดได้

ทั้งหมดนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดเวลาที่เขาจัดอันดับความสามารถในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในช่วง 3-4 ปีมานี้ ประเทศไทยจึงย่ำอยู่กับที่ในกลุ่มอ่อนด้อยล้าหลังและไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นเลย

การปราบคอร์รัปชันและการปฏิรูปประเทศเป็นข้ออ้างสำคัญของการยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจของ คสช.มาตลอด แต่เกือบ 4 ปีมานี้เรากลับได้ระบบในการปราบปรามคอร์รัปชันที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และไม่อาจฝากความหวังอะไรไว้ได้เลย นี่ย่อมหมายความว่าทั้งการปราบคอร์รัปชันและการปฏิรูประบบในการปราบปรามคอร์รัปชันภายใต้การปกครองของ คสช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

การการแก้ไขปรับปรุงระบบกลไกที่สำคัญ คงยังไม่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ เมื่อ คสช.พ้นอำนาจไปแล้ว การแก้ไขปัญหาบางส่วนสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสาระสำคัญของระบบที่เป็นปัญหาถูกสร้างขึ้นโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งยังแก้ไขได้ไม่ยากเหมือนตัวรัฐธรรมนูญเอง

ส่วนปัญหาของระบบในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ การจะแก้ไขแบบยกเครื่องคงต้องว่ากันอีกยาว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net