Skip to main content
sharethis

วุฒิสภาอาร์เจนตินาปัดร่างทำแท้งถูกกฎหมาย กลายเป็นโหมกระแสให้ขบวนการของผู้สนับสนุนร่างฯ และสัญลักษณ์ผ้าเช็ดหน้าสีเขียวกลายเป็นแรงบันดาลใจกลุ่มเคลื่อนไหวในภูมิภาคละตินอเมริกาที่คริสต์คาทอลิกมีอิทธิพลสูง ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งในการห้ามทำแท้งและสังคมที่กดขี่ทางเพศ มิหนำซ้ำ การคว่ำร่างฯ ยังขับเน้นกระแสไม่พอใจศาสนาที่แหย่ขามาเอี่ยวการเมืองเกินไปด้วย

ภาพการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ป้ายผ้าใหญ่เขียนว่า จะไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียวต้องตายจากการทำแท้งแบบลับๆ อีกแล้ว (ที่มา: iwhc.org)

เมื่อ 9 ส.ค. 2561 วุฒิสภาอาร์เจนตินาลงมติคัดค้านร่างกฎหมายที่อนุญาตการทำแท้ง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในละตินอเมริกาหยุดเคลื่อนไหวในประเด็นนี้แต่อย่างใด พวกเขายังคงเคลื่อนไหวบนท้องถนนและขยายผลการเคลื่อนไหวในเชิงประสานงานร่วมกันระหว่างองค์กรผู้หญิงในภูมิภาค

ละตินอเมริกาถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีกฎหมายและนโยบายกีดกันหนักที่สุดในเรื่องทางเลือกของผู้หญิงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง แม้ร่างกฎหมายอนุญาตให้เลือกทำแท้งได้จะผ่านร่างจากสภาล่างของอาร์เจนตินาได้ แต่ต่อมาก็ถูกโหวตคัดค้านจากสภาบนด้วยคะแนนเสียง 38 ต่อ 31 เสียง ในช่วงก่อนการโหวตครั้งดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่บนท้องถนนเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุญาตทำแท้งคนที่ท้อง 14 สัปดาห์ได้อย่างถูกกฎหมาย และการเคลื่อนไหวใหญ่ระดับในอาร์เจนตินาได้กลายเป็นความหวังให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

สถาบันกุตต์มาเคอร์ สถาบันส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงให้เป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกประเมินว่าในช่วงระหว่างปี 2553-2557 มีการทำแท้งประมาณ 6.5 ล้านกรณี ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน เพิ่มสูงขึ้นจากราว 4.4 ล้านกรณีในช่วงระหว่างปี 2533-2557 และจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันก็พบว่าในละตินอเมริกามีการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ราว 14 ล้านกรณีและร้อยละ 46 ของกรณีเหล่านี้จบลงด้วยการทำแท้ง

มาเบล เบียงโก นักสตรีนิยม ประธานมูลนิธิเพื่อการวิจัยประเด็นสตรีของอาร์เจนตินา (FEIM) กล่าวว่า ผู้ที่หลงประเด็นในอาร์เจนตินาคือวงการการเมือง เพราะในขณะที่สังคมกำลังอภิปรายกันในเรื่องนี้และมีการใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ในการสนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็กลับไม่รู้สึกรู้สาอะไร เธอมองว่าถ้าหากร่างกฎหมายผ่านจะส่งผลสะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ต่อให้ร่างกฎหมายไม่ผ่านขบวนการสีเขียวเหล่านี้ก็ผลักให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง นักข่าวและกลุ่มเคลื่อนไหวที่อาจจะส่งผลไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้

ปัจจุบันในอาร์เจนตินายังอนุญาตให้ทำแท้งเฉพาะกรณีที่ถูกข่มขืนหรือกรณีการตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อชีวิตหรือสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์เท่านั้น คนที่ไม่เข้าคุณสมบัตินี้มีโทษจำคุกสี่ปีถ้าหากไปทำแท้ง

ประเทศละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนที่อนุญาตให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหายมีอยู่แค่ในคิวบา เฟรนช์เกียนา กายอานา อุรุกวัย และกรุงเม็กซิโกซิตี บางประเทศอย่างอาร์เจนตินาอนุญาตแค่บางกรณีเท่านั้น ในบางประเทศอย่างโดมินิกัน เฮติ ฮอนดูรัส นิคารากัวและซูรินามห้ามทำแท้งในทุกกรณี

จากคว่ำร่างทำแท้งถูกกฎหมาย ถึงกระแสต้านนิกายคาทอลิก

ขบวนการเรียกร้องที่อกหักกับมติของวุฒิสภาได้เล็งเห็นว่าอิทธิพลของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในภูมิภาคมีส่วนกับการปิดกั้นการตัดสินใจทางการเมือง เบียงโกเปิดเผยว่ากลุ่มศาสนาเหล่านี้ "เข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ และเมื่อพวกเขาเข้าไปอยู่ในสภาได้ก็ทำการปิดกั้นและควบคุมกระบวนการตัดสินใจ เช่นที่เกิดขึ้นในบราซิล"

เดอะการ์เดียนเคยรายงานว่าคณะนักบวชคาทอลิกในอาร์เจนตินายังคงมีอิทธิพลในเรื่องนี้โดยเฉพาะพระสันตะปาปาฟรานซิสเองที่เป็นชาวอาร์เจนตินา แม้ว่าพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจะมีมุมมองก้าวหน้าในประเด็นสังคมหลายๆ เรื่อง แต่ในเรื่องการทำแท้งเขาก็ยังยืนกรานไม่ยอมถอย หนังสือพิมพ์คลารินจากอาร์เจนตินารายงานว่าพระสันตะปาปาถึงขั้นเคยขอให้มีการล็อบบี้วุฒิสภาให้ปฏิเสธร่างกฎหมายทำแท้งนี้ กลุ่มนักบวชคาทอลิกในอาร์เจนตินาเองก็พูดในเชิงใช้อำนาจต่อต้านการทำแท้ง

เบียงโกบอกว่าเรื่องนี้ทำให้อาร์เจนตินาและประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาเริ่มหันมาต่อสู้ด้วยการเรียกร้องรัฐที่ไม่มีการครอบงำด้วยอิทธิพลทางศาสนาหรือรัฐโลกวิสัย (secular state) เธอยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าพวกเขาจะแพ้ในการผลักดันร่างกฎหมายแต่พวกเขาจะชนะการต่อสู้ด้วยการกลับมาพร้อมความเข้มแข็ง

หลังการลงมติของวุฒิสภาอาร์เจนตินา มีผู้คนจำนวนมากชุมนุมกันในบัวโนสไอเรสเพื่อต่อต้านการส่งอิทธิพลทางศาสนาต่อการเมืองและเรียกร้องให้ผู้คนเลิกเป็นสมาชิกโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิก ผู้นำการชุมนุมคือมาเรีย โฮเซ อัลบายา จากกลุ่มแนวร่วมชาวอาร์เจนตินาเพื่อรัฐโลกวิสัย แถลงการของกลุ่มเธอระบุว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้รับเสียงในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านผู้หญิง การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน กฎหมายสนับสนุนอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ โดยต้องต่อสู้กับอำนาจสงฆ์ที่พยายามครอบงำทั้งร่างกายและจิตใจพวกเขา

ในอาร์เจนตินามีชาวคาทอลิกอยู่ 2 ใน 3 ของประชากรแต่กระแสความไม่พอใจต่อสำนักสงฆ์เริ่มเพิ่มมากขึ้นจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการต่อต้านการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

นอกจากการต่อต้านคาทอลิกแล้ว กลุ่มในอาร์เจนตินายังเน้นขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาที่ล้าสมัยให้การทำแท้งไม่เป็นความผิดทางกฎหมายอีกต่อไป และเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายสนับสนุนอนามัยเจริญพันธุ์กับเพศศึกษาที่มีอยู่แล้ว

สีเขียวของพวกเธอคือ 'ความเข้มแข็งและความหวัง'

แม้บางประเทศในละตินอเมริกาจะมีผู้นำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย แต่กลับมีกฎหมายที่ล้าหลังในทางสังคมเช่นประเทศเอลซัลวาดอร์ที่มีกฎหมายบีบเค้นคนตั้งครรภ์หนักที่สุดคือจะสั่งลงโทษจำคุกคนทำแท้งนานถึง 50 ปี โดยอ้างว่าเป็น "การฆาตกรรมร้ายแรง" เรื่องนี้ทำให้ซารา การ์เซีย นักกิจกรรมผู้สนับสนุนทางเลือกของผู้ตั้งครรภ์กล่าวว่าแม้แต่เด็กอายุ 10 ปีที่ถูกข่มขืนแล้วตั้งครรภ์ก็ไม่มีทางเลือก ทางเลือกเดียวที่พวกเธอมีคือการยอมเข้าคุก ยอมตายหรือยอมคลอดทั้งๆ ที่จะเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเธอเท่านั้น การ์เซียบอกอีกว่าผู้หญิงที่เป็นชายขอบอย่างคนจน คนที่มีการศึกษาน้อย เข้าถึงระบบสวัสดิการสุขภาพลำบากเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายเคร่งครัดนี้

องค์กรผู้หญิงเพื่อสันติภาพแห่งซัลวาดอร์ (ORMUSA) ระบุว่าในช่วงระหว่างปี 2543-2557 มีผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำแท้ง 147 ราย มีกรณีที่ศาลตัดสินวามีความผิด 49 ราย 23 รายในข้อหาทำแท้ง 26 รายในข้อหาฆาตกรรม และในปี 2561 นี้เองก็มีผู้หญิงถูกคุมขัง 24 รายด้วยข้อกล่าวหาว่าทำแท้งถึงแม้ว่าบางคนเป็นการแท้งเองโดยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การ์เซียบอกว่าขบวนการสตรีนิยมและองค์กรด้านวิชาการสามารถทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และพยายามผลักดันเพื่อนำไปสู่การลงมติแก้กฎหมายเลิกทำให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมได้ สำหรับการ์เซียแล้วขบวนการ "กระแสสีเขียว" ที่มาจากสีผ้าเช็ดหน้าของผู้สนับสนุนนี้เป็นสัญลักษณ์ของ "ความเข้มแข็งและความหวัง" ในการต่อสู้เรื่องนี้ทั้งในเอลซัลวาดอร์เองและในระดับภูมิภาค

แม้มีการเปิดอภิปรายในเรื่องนี้ได้แต่นักกิจกรรมก็ยอมรับว่าในการอภิปรายในที่ประชุมสภายังเต็มไปด้วยอคติโดยไม่ใช้หลักการวิทยาศาสตร์หรือสิทธิมนุษยชนเลย ขณะที่ผู้คนบนท้องถนน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ มีความรู้ความเข้าใจในอีกระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการ์เซียบอกว่าขณะที่มีกลุ่มเคร่งศาสนาคอยปิดกั้นก็มีกลุ่มอื่นๆ ที่พยายามสร้างความเข้าใจกับสังคม

อีกประเทศหนึ่งคือเวเนซุเอลาที่ฝ่ายซ้ายปกครองมาตั้งแต่ปี 2542 ก็มีกฎหมายห้ามทำแท้งเว้นแต่กรณีที่คนตั้งครรภ์เสี่ยงชีวิตเท่านั้น รวมถึงมีการลงโทษคนทำแท้งด้วยการจำคุก 2 ปี กับอีก 6 เดือน

แต่ในเดือน มิ.ย. ปีนี้เอง องค์กรสตรีนิยมหลายองค์กรสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญปี 2542 ที่ห้ามทำแท้ง นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการเปิดกว้างในการปรึกษาหารือเรื่องสิทธิทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ในรัฐธรรมนูญ

ทารัว ซุนิกา เป็นนักกิจกรรมจากองค์กรเครือข่ายข้อมูลเพื่อการทำแท้งอย่างปลอดภัย (RIAS) องค์กรของเธอต้องรับเรื่องจากผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง 43 รายต่อวัน ซุนิกากล่าวว่า แม้อาร์เจนตินาจะผ่านร่างกฎหมายไม่สำเร็จแต่ขบวนการสีเขียวก็เติบโตแข็งแกร่งขึ้น ความเข้าใจเรื่องสิทธิในการทำแท้งของผู้คนทำให้ขบวนการมวลชนมีพลังมากและมีชีวิตชีวา จนซุนิกามองว่ามันเป็น "ขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่มีอะไรมาหยุดได้ในละตินอเมริกา" ไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

The Fight for the Right to Abortion Spreads in Latin America Despite Political Setbacks, Toward Freedom, Aug. 26, 2018 26-08-2018

Argentines urged to quit Catholic church after it helps defeat abortion law, Boston Globe, Aug. 19, 2018

Argentina abortion defeat shows enduring power of Catholic church, The Guardian, Aug. 9, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net