Skip to main content
sharethis

กองทัพสหรัฐว้า UWSA จัดสวนสนามฉลอง 30 ปีลงนามสันติภาพกับรัฐบาลพม่า ด้านผู้นำว้า "เปาโหย่วเฉียง" ระบุจะชูธงสันติภาพ/ประชาธิปไตย และติดอาวุธป้องกันตัวเอง จนกว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองจะบรรลุผล จีนส่งทูตพิเศษกิจการเอเชียและ จนท.รัฐบาลมณฑลยูนนานร่วมงาน ขณะที่ผู้นำระดับสูงของพม่าทั้งอองซานซูจี และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไม่ไปร่วมงาน ส่งผู้แทนรัฐบาลระดับรองเข้าร่วมแทน

การแสดงในงานฉลอง 30 ปีกองทัพสหรัฐว้า UWSA ลงนามสันติภาพกับรัฐบาลพม่า เมื่อคืนวันที่ 16 เม.ย. ที่มา: Democratic Voice of Burma

 

17 เม.ย. 62 - เช้าวันนี้กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังประจำการมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานสวนสนามฉลอง 30 ปีลงนามสันติภาพกับรัฐบาลพม่าที่เมืองปางซาง (ปางคำ) ศูนย์กลางปกครองของกองทัพสหรัฐว้า ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน โดยในช่วงหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์ เปาโหย่วเฉียง ประธานพรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) กล่าวว่า "มือหนึ่งจะชูธงสันติภาพและประชาธิปไตย มืออีกข้างจะติดอาวุธป้องกันตัวเอง" จนกว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองจะบรรลุผล รวมทั้งจะมุ่งมันรักษาสถานภาพปัจจุบันของชาวว้าอีกด้วย

ในรายงานของ สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ระบุว่างานฉลองดังกล่าวจัดขึ้นระหว่าง 15-17 เม.ย. โดยจัด 2 พื้นที่ จุดหลักคือเมืองปางซาง (ปางคำ) อีกจุดจัดที่ฐานที่มั่นบ้านห้วยอ้อ-บุ่งป่าแขม เมืองโต๋น ตอนใต้รัฐฉาน ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ด้าน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สำนักข่าวอิระวดี ระบุว่าการสวนสนามช่วงเช้าวันพุธ ประกอบด้วยกำลังพลสวนสนาม 7,600 นาย นอกจากนี้มีการเชิญแขกร่วมงานมากถึง 3,000 คน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ ซุนกั๋วเซียง ทูตพิเศษประจำกิจการเอเชีย นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลมณฑลยูนนานเข้าร่วมงาน

โดยในรายงานของ Frontier Myanmar ยังเปิดเผยภาพถ่ายของเปาโหย่วเฉียง ผู้นำกองทัพสหรัฐว้า นั่งข้างซุนกั๋วเซียงในช่วงการสวนสนามด้วย

สำนักข่าวอิระวดียังระบุว่า ผู้นำระดับสูงของพม่าได้แก่ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า ปฏิเสธคำเชิญร่วมงาน ขณะที่ฝ่ายประสานงานของกองทัพสหรัฐว้า ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลพม่า 8 รายเข้าร่วมงาน ในจำนวนนี้มี เถ่งสเว รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งมาเป็นตัวแทนของอองซานซูจี นอกจากนี้ยังมี เถ่งซอ รองประธานคณะทำงานสันติภาพ และซอเท โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี รวมทั้ง พ.อ.หล้าอู รัฐมนตรีกิจการชายแดนของรัฐบาลรัฐฉาน

ทั้งนี้ในรายงานของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) ระบุว่ามีผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าได้รับเชิญร่วมงานด้วย อาทิ ทุนเมียตหน่าย ผู้นำกองทัพอาระกัน (ULA/AA) ซึ่งปัจจุบันกองทัพอาระกันยังคงสู้รบกับรัฐบาลพม่า รวมทั้งเป็นพันธมิตรสำคัญของกองทัพสหรัฐว้า นอกจากนี้ นายหงสา รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) ซึ่งลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เมื่อกุมภาพันธ์ปี 2018 ก็เข้าร่วมงานด้วย

ขณะที่ผู้แทนสถานทูตประเทศตะวันตก และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติไม่สามารถไปร่วมงานได้ เนื่องจากเขตปกครองตนเองชนชาติว้าเป็นพื้นที่หวงห้าม

อนึ่ง สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (DEA) ยังคงขึ้นบัญชีกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ในบัญชีองค์กรค้ายาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2003 นอกจากนี้ในปี 2005 ยังตั้งข้อหาผู้นำกองทัพสหรัฐว้า 8 ราย รวมทั้งเปาโหย่วเฉียงผู้นำสูงสุดว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และ 30 ปีก่อตั้งกองทัพสหรัฐว้า

ทั้งนี้พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ซึ่งต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่ชายแดนพม่ามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล่มสลายในเดือนเมษายนปี 1989 หลังการแยกตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าที่เมืองปางซาง ฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า มีการก่อตั้งกองทัพสหรัฐว้า/พรรคสหรัฐว้า (UWSA/UWSP) แทนที่ขึ้นในวันที่ 17 เมษายน 1989 และลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายกับรัฐบาลทหารพม่า และได้พื้นที่ปกครองตนเองที่เมืองปางซาง ตอนเหนือของรัฐฉาน

ในปีนั้นเองยังมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่แยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้แก่ กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ-รัฐฉานตะวันออก (National Democratic Alliance Army- Eastern Shan State (NDAA-ESS) หรือ กองทัพเมืองลา (NDAA-ESS) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือ กองทัพโกก้าง (MNDAA) โดยกองทัพโกก้างถูกกองทัพพม่ารุกหนักในเดือนสิงหาคมปี 2009 จนเสียฐานที่มั่นเมืองเหลากาย ก่อนที่จะรวบรวมกำลังและตอบโต้กองทัพพม่าในปี 2015

มีการประเมินว่ากองทัพสหรัฐว้ามีกำลังพลมากถึง 25,000 นาย หรือเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังพลมากที่สุดในพม่า และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับภาคการทหารของกองทัพสหรัฐว้า ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 9 กองพล โดย 5 กองพลอยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ กองพล 778 (คายโหลง-ตากแดด-น้ำกั๊ด)  กองพล 772 (เมืองเต๊าะ เมืองทา เมืองจ๊อด) กองพล 775 (ห้วยอ้อ-บุ่งป่าแขม) กองพล 248 (หัวป่าง-หัวยอด) และกองพล 518 (เมืองยอน) อีก 4 กองพลอยู่ที่ปางซาง ติดชายแดนจีน-พม่า ได้แก่ กองพล 318 กองพล 418 กองพล 468 และกองพล 618 ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ที่เมืองมังแสง-หนองเข็ด นอกจากนี้มีกองกำลังทหารบ้านอีก 3 กองพลน้อย คือกองพลน้อย 916, 917 และ 918 ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 เขตปกครองตนเองว้าประกอบไปด้วย 6 อำเภอทางตอนเหนือของรัฐฉาน

ทั้งนี้กองทัพสหรัฐว้า ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้กองทัพพม่า ก่อนเส้นตายการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2010 และต่อมาลงนามหยุดยิง 2 ฝ่าย ในระดับรัฐและระดับสหภาพอีกครั้งสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง เมื่อ 6 กันยายน 2011 อย่างไรก็ตามปฏิเสธที่จะร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ในปี 2015

โดยกองทัพสหรัฐว้า เป็นโต้โผหลักของคณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (Federal Political Negotiation Consultative Committee : FPNCC) หรือพันธมิตรฝ่ายเหนือ FPNCC ก่อตั้งในเดือนเมษายน 2017 นับเป็นขั้วใหญ่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า โดยกลุ่ม FPNCC ซึ่งถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากจีน ในปัจจุบันประกอบด้วย 7 กลุ่มหลักคือ 1. กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) 2. กองทัพเมืองลา (NDAA) 3. กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) 4. กองทัพโกก้าง (MNDAA) 5. พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) 6. กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น KIA และ 7. กองทัพอาระกัน ULA/AA 

ที่ผ่านมากองทัพพม่ายังคงสู้รบกับกองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น KIA กองทัพโกก้าง MNDAA กองทัพตะอาง TNLA และกองทัพอาระกัน ULA/AA รวมทั้งพรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA ที่เพิ่งลงนามหยุดยิงรอบใหม่เมื่อปี 2012 ก่อนที่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2018 กองทัพพม่าประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาสันติภาพ

ที่มา:

UWSA Set to Mark 30th Anniversary of Peace Deal, HOM HURNG, S.H.A.N., 12 April 2019

State Counselor, Military Chief to Skip Wa’s 30th Anniversary Celebration, The Irrawaddy, 16 April 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net