สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาส 1/2563 คนว่างงาน 3.9 แสนคน เด็กจบใหม่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคน

สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาส 1/2563 คนว่างงาน 394,520 คน เด็กจบใหม่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคน ในช่วง พ.ค.-ก.ค. คาดอัตราว่างงานทั้งปี 2563 อยู่ที่ 3-4% มีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน

28 พ.ค. 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) หรือ 'สภาพัฒน์ฯ' เผยแพร่ 'รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2563' ระบุว่าการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน 

ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

ปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ปี 2563 1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ (3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน 

และ 2. ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน 

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

ประเด็นที่ต้องติดตาม 1.ความครอบคลุมของมาตรการช่วยเหลือ ทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านราย กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ซึ่งต้องพิจารณาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว  2.การติดตามภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น แรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้ 

และ 3.การเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อรองรับการฟื้นตัว ในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ผู้ประกอบการ/ธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน/ติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทำให้การทำงานบางประเภทไม่ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่ ซึ่งแรงงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท