Skip to main content
sharethis

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส่องงบประมาณ 2564 ชี้ที่ผ่านมารัฐบาลยังใช้งบประมาณจัดสวัสดิการดูแลคนในประเทศน้อยเกินไป แต่กลับไปอุ้มชูกลุ่มทุน เห็นได้ชัดนโยบายอุ้มทุนช่วงปิดเมืองเพราะโควิด-19 ชี้ส่วนราชการสะสมเงินนอกงบประมาณไว้กว่า 4 ล้านล้านบาท หากเอากลับเข้าระบบได้ 10% ก็ใช้จัดสวัสดิการประชาชนได้อีกเยอะ

11 ก.ค. 63 ในเวทีเสวนา [365 วัน] รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า? ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แยกคอกวัว จัดโดย We Fair ในช่วงหนึ่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า "อภิปรายหัวข้อ ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคมและข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564"

ในช่วงแรกเขากล่าวเชิญชวนประชาชนว่าหากต้องการให้เขาไปพูดอภิปรายกับภาครัฐเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ จ.สงขลา เขาพร้อมมาก (ชมคลิป) จากนั้นเขาเริ่มกล่าวว่า ต้องการพูดเรื่องรูปธรรมจากงบประมาณที่เกิดขึ้นจริงในงบประมาณปี 2563 และร่างงบประมาณปี 2564 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อยืนยันสองเรื่องได้แก่ 1) รัฐบาลดูแลแต่กลุ่มทุนไม่เหลียวแลประชาชน พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง จากงบที่รัฐบาลใช้ 2) เขาต้องการทำลายมายาคติที่ว่า ประเทศไทยของเรามีเงินไม่พอสร้างสวัสดิการให้ประชาชนที่ดีกว่านี้ การจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำสามารถทำได้ทันที ไม่ใช่เรื่องเงินไม่พอ เป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมืองล้วนๆ

เขาเริ่มกล่าวว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการสังคม 6 ตัวใหญ่ๆ ที่กระจายไปในแต่ละช่วงอายุของคนที่ต่างกันไป คือ 1) สวัสดิการเด็กยากจน 2) สวัสดิการเรียนฟรี 3) บัตรคนจน 4) เบี้ยผู้สูงอายุ 5) ประกันสังคม และ 6) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2563 งบประมาณสวัสดิการ 6 ตัวนี้รวมกันเป็นงบประมาณ 3.52 แสนล้านบาท ส่วนปี 2564 รวมกัน 3.85 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องรัฐสวัสดิการไปพูดกับฝั่งอนุรักษ์นิยม สิ่งที่เขาจะบอกตลอดแค่นี้ก็พอแล้ว คนจนให้ไม่เคยพอ คนจนขี้เกียจไม่คิดจะหาเลี้ยงดูตัวเอง ต้องพึ่งพิงจากรัฐตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมจะพูดตลอด

อย่างไรก็ตามเขาจะพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือคำโกหก ในความเป็นจริง คือเรายังดูแลคนในประเทศเราน้อยไปด้วยซ้ำ แต่กลับไปอุ้มชูกลุ่มทุนแทน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDFหรือกองทุนที่ทุกธนาคารต้องส่งเงินประมาณ 0.46% ของยอดเงินฝากทุกปี เพื่อใช้หนี้ที่กู้มาสมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ทุนธนาคารได้ประโยชน์ หรือการผยุงหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับ ผู้ประกอบการ SMEs และมี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ได้วงเงินไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง หรืออีกตัวอย่าง กรณี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยเป็นการลดค่าเช่าก่อนมาตรการปิดเมืองในเดือนมีนาคมด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ในวันต่อมาหุ้นการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยตกทันทีหลังมีนโยบายอุ้มค่าเช่า

แกนนำคณะก้าวหน้ากล่าวต่อว่า รัฐราชการรวมศูนย์ คือ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้งบประมาณไม่ได้ถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่กลับเอามาหล่อเลี้ยงระบบรัฐราชการที่ใหญ่โตมโหฬาร ที่ไม่ตอบสนองความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐราชการที่ใหญ่ขึ้นนี้เป็นปัญหาจริงๆ กับเงินภาษีของเรา ยกตัวอย่าง ในปี 2560 บุคลากรในกระทรวงกลาโหมในอัตราที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์มีอยู่ 3.96 แสนคน พอมาปี 2563 เพิ่มเป็น 4.8 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9 หมื่นคน แต่ในเวลาเดียวกัน พยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยเมื่อปี 2559 มีอยู่ 1.08 แสนคน ส่วนปี 2564 เพิ่มขึ้นมาเป็นแค่ 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคน

"นี่คือเรื่องของสามัญสำนึกพื้นฐาน มีใครคิดว่าช่วงนี้ ในช่วงรอบ 4 ปีมานี้เราต้องการทหารมากกว่าพยาบาลบ้าง ใช้สามัญสำนึกพูดกันเลยง่ายๆ ว่าคนที่คุณจะต้องควรเอางบไปเพิ่ม ควรจะเป็นใครระหว่างทหารกับพยาบาล แล้วนี้คุณเพิ่มทหารมา 8-9 หมื่นคนในช่วงเวลานี้ ขณะที่พยาบาลเพิ่มหมื่นคน นี่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่แค่ใช้สามัญสำนึก ว่าถ้าคุณเป็นนายกคุณจะเพิ่มอัตราที่ไหน ที่สำคัญคือบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องมาดิ้นรนวันนี้เพื่อให้ได้รับการบรรจุ นี่คือคนที่มีคุณค่าของสังคม แต่คุณไม่ให้เขาบรรจุ แล้วไหนล่ะที่คุณบอกว่าเขามีคุณค่าต่อสังคม"

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาทนั้น มีงบที่รัฐบาลจัดสรรโยกย้ายได้ 1.1 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำที่จัดสรรโยกย้ายไม่ได้ ใครเป็นรัฐบาลขึ้นมาก็ต้องใช้จ่าย แต่เวลาที่เขาพูดว่าประเทศเรามีเงินพอ ยังมีอีกตัวที่เรามองไม่เห็น ตรวจสอบไม่ได้ คือเงินนอกงบประมาณ (หมายถึง เงินที่หน่วยงานต่างๆ หาได้ แล้วนำเงินนั้นมาลงไว้ในกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ที่ฝากกับกระทรวงการคลัง) ซึ่งมูลค่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี เรามองไม่เห็น แม้กระทั่งผู้แทนราษฎร เป็นงบที่ไม่ต้องสำแดงต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องแสดงต่อกรรมาธิการ มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก นี่เป็นประเด็นที่ใหญ่มากที่เราต้องต่อสู้กัน จะมีงบแบบนี้ให้หน่วยงานรัฐเก็บกันเองแล้วไม่ต้องสำแดงไม่ได้

"เพราะฉะนั้น การสร้างรัฐสวัสดิการ มันเป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองล้วนๆ เลยว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ถ้าไอ้ 4 ล้านล้านบาทที่อยู่ข้างนอกนั่นเอากลับมาได้สัก 10% เราจะได้งบเพิ่มอีก 4 แสนล้านบาท เราจะจัดสรรสวัสดิการได้อีกเยอะ แนวคิดที่เราบอกว่ารัฐอุ้มคนรวย ไม่เห็นหัวคนจน มันแสดงผ่านงบประมาณ จับต้องได้ว่าป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่จะเอามาลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลคนไทยด้วยกันได้ดีกว่านี้ ถ้าเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการนั้น" ธนาธร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net