Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้ชุมนุมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แต่งดำหน้าศาลยืนไว้อาลัย 'กระบวนการ (อ)ยุติธรรม' 112 นาที หน้าศาลอาญา เรียกร้องสิทธิประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ชี้การไม่ให้ประกันตัวเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ลงโทษก่อนมีคำพิพากษาว่าถูกหรือผิด

24 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.พ. 64) เวลา 16.00 น. ที่หน้าศาลอาญา รัชดา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ เพื่อนนักโทษ จัดกิจกรรม #แต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัย "กระบวนการ (อ)ยุติธรรม" พร้อมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 112 นาที

จากนั้นเวลา 17.45 น. ผู้ร่วมกิจกรรมจุดเทียนและวางเทียนเป็นตัวเลข 112 ซึ่งแสดงออกถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามด้วยการอ่านแถลงการณ์พร้อมกันและยุติกิจกรรมในเวลา 17.59 น.

ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัย ม.112

เวลา 17.53 น. ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเริ่มการแถลงการณ์พร้อมกันโดยไม่ใช้เครื่องเสียง

ระหว่างกิจกรรม นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เดินทางมาให้กำลังใจประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมนำภาพเหมือนของนักกิจกรรมทั้ง 4 คนซึ่งตนเป็นผู้วาด มาตั้งเพื่อให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความให้กำลังใจบุคคลในภาพ

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นำภาพเหมือนของนักกิจกรรมที่ตนวาดมาให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความให้กำลังใจนักกิจกรรม

ทั้งนี้ เวลา 16.50 น. ชายคนหนึ่งพยายามจะแขวนป้ายที่มีข้อความว่า "ศักดินาจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" บริเวณหน้าประตู 9 ศาลอาญา แต่เจ้าหน้าที่ห้าม จึงเปลี่ยนมาคลี่ม้วนกระดาษทิชชูที่มีข้อความวิจารณ์ประเด็นต่างๆ ในสังคม ซึ่งรวมถึงเรื่องเรือดำน้ำ และการยกเลิกกฎหมาอาญามาตรา 112 โดยผู้สื่อข่าวสอบถามภายหลังทราบว่า ดัง (นามสมมติ) เดินทางมาร่วมกิจกรรมเพราะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นำมาใช้เป็นเงื่อนไขไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 คน ตนจึงออกต้องการแสดงออกให้สังคมรับรู้

"คนที่พัวพันกับการพนันอย่างหลงจู๊ (สมชาย จุติกิต์เดชา) หรือเสี่ยโป้ (เสี่ยโป้ โป้อานนท์) ทำไมถึงได้ประกัน คนที่ยิงการ์ดอาชีวะ คนที่ยิงราษฎร ทำไมได้ประกัน แต่คนที่ออกมาเรียกร้องกลับไม่ได้อะไร มีแต่จะได้คุกได้ตาราง"

ดัง (นามสมมติ)

ดัง บอกว่านักกิจกรรมทั้ง 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฎิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ สมควรได้รับการประกันตัว เพราะทั้ง 4 คนไม่ได้ฆ่าคนตาย โกงกินแผ่นดิน หรือเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องหรือนายทุน และดังบอกว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สมควรถูกยกเลิก

"ยกเลิกสถานเดียว เพราะมันถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน" ดังกล่าว

มนุษย์ม็อบ 24 ก.พ. กับกฎหมาย ม.112 ที่ยังมีปัญหา

แบงค์ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมที่สวมหน้ากากกาย ฟอกส์ พร้อมถือป้ายและหุ่นซึ่งแสดงสัญลักษณ์ว่าต้องการยกเลิก ม.112

แบงค์ (นามสมมติ) มาพร้อมกับหุ่นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าต่อต้าน ม.112

"ม.112 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนถึงชีวิต และมีการอุ้มหาย ทางรัฐบาลใช้ข้ออ้างนี้เพื่อควบคุมประชาชน หุ่นนี้คือตัวแทนของประชาชนที่เสียชีวิตและสูญหายจากการใช้ ม.112 เราอยากให้ยกเลิกหรือถ้าจะมีก็ควรแก้ไขบางประการ ถ้าจะมีก็ต้องมาคุยกัน มาถามประชาชนแต่ไม่มีดีกว่า" แบงค์กล่าว

ส่วนกรณีของนักกิจกรรมทั้ง 4 คน แบงค์บอกว่าทั้ง 4 คนไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะพวกเขาใช้สิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นหลักสากล ดังนั้นการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจึงถือว่าไม่ยุติธรรม

ด้าน โทนี่ (นามสมมติ) ผู้แต่งตัวคอสเพลย์เป็นทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เผยว่า ต้องการมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้ง 4 คนที่ไม่ได้รับการประกันตัว และขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยยึดสันตวิธีเป็นที่ตั้ง ทั้งยังระบุว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือว่ามีปัญหา เพราะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

"มันคือการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน สิทธิในการประกันตัว เพราะศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่ศาลก็ยืนกรานว่าไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาเพราะใครจะมาแจ้งความจับก็ได้ ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ" โทนี่กล่าว

โทนี่ (นามสมมติ) สวมหน้ากากรูปทักษิณ ชินวัตร พร้อมชูป้ายที่เขียนข้อความว่า

"#ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112 Free Thailand"

นักการภารโรง (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเผยว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ตามเป็นโจทก์ยื่นฟ้องได้

"การเปิดให้ใครก็ได้มาฟ้อง มันไม่เหมือนกฎหมาย มันเป็นกฎหมู่ เพราะว่ามันไม่มีหลักการอะไร มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายทุกฉบับมีเงื่อนไขอยู่ว่าคนฟ้องต้องมีส่วนได้ส่วนเสียหรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่กรณีนี้มันกลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง เรามองว่าควรจะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ แต่ถ้ากฎหมายนี้มันทำให้สถาบันฯ มัวหมอง เราว่าควรยกเลิก เพราะเท่าที่เห็นอยู่นี้ คงไม่มียุคไหนที่คนถูกจับเพราะกรณีนี้ คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีที่เราเห็นกษัตริย์ผู้ที่เราศรัทธามีชื่อเกี่ยวข้องในคดีที่ประชาชนถูกจับมากขนาดนี้ ยิ่งคนฟ้องเยอะ ยิ่งทำสถิติว่ากษัตริย์ของเรามัวหมอง"

นักการภารโรง (นามสมมติ) ผู้ร่วมกิจกรรมหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

ส่วนกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 คนเพราะคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น นักการภารโรงมองว่าไม่ยุติธรรม เพราะทั้ง 4 คนยังไม่ถูกตัดสินโทษ จึงมีสิทธิได้รับการประกันตัว

"คนระดับอาจารย์มหาวิทยาออกมาแถลงการณ์ต่างๆ มันมีเหตุมีผล แต่เหตุผลที่เราได้รับจากศาลมันไม่ตอบปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้เลย เพราะเราอยู่ในช่วงที่กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว เราเลยต้องออกมาแสดงพลังให้เขารู้ว่าเราเห็นนะ ประชาชนไม่ได้ยอมรับ" เธอกล่าว

มานี ผู้ร่วมกิจกรรมอีกคนเผยว่า ตน สามี และลูกชายวัย 1 ขวบ เดินทางมาจากบ้านย่านรามคำแหง เพราะต้องการแสดงออกให้สังคมเห็นว่ากระบวนการศาลไม่ยุติธรรม เพราะไม่มีเหตุผลมากพอที่จะคุมขังนักกิจกรรมทั้ง 4 คน โดยมานีบอกว่าโทษของกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นร้ายแรงเกินกว่าเหตุ และตนคิดว่ากฎหมายมาตรานี้สมควรถูกยกเลิก

มานี ประชาชนผู้เดินทางมาร่วมกิจกรรมพร้อมครอบครัว

"เขาแค่พูด แค่วิจารณ์แต่มาโดนคดีแบบนี้ เราว่าไม่ยุติธรรม เรารู้สึกว่าเขาใช้กฎหมายกับคนเห็นต่าง" มานีกล่าว

ด้าน ยายเป้า ผู้เดินทางมาถึงหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่ช่วงเที่ยง เพื่อรอร่วมกิจกรรม บอกว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นำมาเป็นข้ออ้างจับกุมนักกิจกรรมนั้นไม่ยุติธรรม เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ที่บรรดานักกิจกรรมพูดไม่ใช่สิ่งผิด

ยายเป้า ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรม

"การใช้กฎหมายมาตรา 112 มันไม่มีประโยชน์ เขาไม่ได้ทำความผิดอะไร เขาไม่ได้ฆ่าคนตาย แค่เขาขึ้นเวที แค่บอกให้ทุกอย่างในประเทศมันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กฎหมาย แล้วมันผิดอะไร" ยายเป้ากล่าว

ส่วน 4 แกนนำราษฎร ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์ ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วเป็นเวลา 16 วันแล้ว มีการยื่นขอประกันมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกในวันที่ 9 ก.พ. 2564 ทนายจำเลยยื่นประกันในวันสั่งฟ้องคดี โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท และวันที่ 17 ก.พ. 2564 มีการยื่นของประกันตัวจำเลยเป็นครั้งที่ 2 ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท ก่อนที่ครั้งล่าสุด ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่มหลักทรัพย์เป็น 400,000 บาท แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวดังกล่าว

 

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชน 23 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 3 คดี ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net