กลไกตรวจสอบไล่ล่าคุณ ‘ฆวน การ์ลอสที่ 1’ จากกษัตริย์นัก ปชต. สู่ผู้ลี้ภัยในวิกฤติศรัทธา

ในรอบปีที่ผ่านมา ชื่อของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 แห่งสเปน ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก จากเหตุอื้อฉาวด้านการทุจริตและการหนีภาษี เป็นเหตุให้ต้องเสด็จฯ ลี้ภัยเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบและลดแรงกดดันจากสังคม แม้กษัตริย์จะประทับอยู่ในต่างแดน แต่ไม่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมของประเทศตนเองได้

หนังสือพิมพ์เอลปาอีสของสเปนรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ฆวน การ์ลอสที่ 1 อดีตกษัตริย์สเปนทรงชำระภาษีย้อนหลังครั้งที่ 2 ให้แก่กรมสรรพากรเป็นจำนวนเงินกว่า 4.4 ล้านยูโร ซึ่งสืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมูลค่ารวม 8 ล้านยูโร โดยเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว พระองค์ทรงชำระภาษีพร้อมค่าปรับครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 678,393 ยูโร เพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา โดยกฎหมายของสเปนระบุว่าหากบุคคลใดถูกตรวจสอบว่ากระทำการหลบเลี่ยงภาษี สามารถจ่ายภาษีย้อนหลังรวมถึงค่าปรับทั้งหมดในชั้นไกล่เกลี่ยได้ เมื่อชำระเงินทุกอย่างเสร็จสิ้นก่อนถึงขั้นตอนการฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ จะถือว่าบุคคลนั้นไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ประชาไทเปิดปมหาคำตอบว่าเหตุใดอดีตกษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย’ ผู้เป็นที่เคารพยิ่งของชาวสเปน ถึงเผชิญกับพายุลูกใหญ่ที่พัดกระแสความนิยมในตัวพระองค์ไปจนหมดสิ้น

ฆวน การ์ลอสที่ 1: กษัตริย์นักฟื้นฟูประชาธิปไตย

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 เสร็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2518 ภายหลังนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการเสียชีวิตลงได้เพียง 2 วัน ซึ่งนาลพลฟรังโกเป็นผู้ออกกฎหมายเลือกประมุขของประเทศไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ พ.ศ.2512 ว่าหากตนเสียชีวิตหรือพ้นจากตำแหน่ง เจ้าชายฆวน การ์ลอส มกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) จะขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศต่อจากตน ซึ่งเป็นนโยบายป้องกันภาวะสุญญากาศทางการเมือง

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อหน้าสมาชิกรัฐสภากอร์เตสของสเปนว่า พระองค์ทรงมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและจะทรงเป็นกษัตริย์ของชาวสเปนทุกคนโดยไม่มีข้อแม้ ต่อมาในวันที่ 23 ก.พ. 2524 กลุ่มทหารผู้จงรักภักดีต่อนายพลฟรังโก ผู้นำเผด็จการผู้ล่วงลับ พยายามจะทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเข้ายึดครองสภาและควบคุมตัวคณะรัฐมตรีไว้ แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงปรากฏตัวต่อสาธารณะผ่านจอโทรทัศน์ เพื่อแถลงการณ์เรียกร้องให้มีถ่ายโอนอำนาจอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำในครั้งทำนี้สร้างความนิยมให้พระองค์อย่างมาก และลบล้างความเคลือบแคลงใจที่ประชาชนมีต่อราชวงศ์ไปหมดสิ้น

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 กล่าวแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ.2524
(ภาพจ
าก Good Manners and Etiquette)

สถาบันกษัตริย์ของสเปนไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2525 สิ้นสุด และพรรคสังคมนิยมแรงงานได้เป็นรัฐบาล กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่รวมแว่นแคว้นต่างๆ ของสเปนให้เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยผลการสำรวจคะแนนนิยมของสถาบันฯ ช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 ระบุว่าชาวสเปนจำนวน 3 ใน 4 ยังเห็นชอบให้มีสถาบันกษัตริย์ต่อไป

กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 กับความนิยมที่ลดต่ำลง

ความนิยมของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เหตุการณ์ล่าช้างที่ประเทศบอตสวานาในปี 2555 ซึ่งปรากฏภาพของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงถือปืนและทรงยืนแย้มพระสรวลอยู่หน้าช้างที่ตายแล้ว เดอะการ์เดียนรายงานว่าการล่าช้างดังกล่าวเกิดขึ้นที่แรนน์ซาฟารี ซึ่งเปิดให้ล่าสัตว์อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 25,700 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ทางสำนักพระราชวังของสเปนจะออกมายืนยันว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เสด็จฯ เยือนบอตสวานาเป็นการส่วนพระองค์ และไม่ได้ใช้เงินจากงบส่วนกลางที่มาจากภาษี แต่ประชาชนชาวสเปนแสดงความไม่พอใจและตั้งคำถามว่าการกระทำดังกล่าวของพระองค์เหมาะสมหรือไม่ เพราะในขณะนั้น สเปนประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและมีอัตราผู้ว่างงานสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลในกรุงมาดริด ภายหลังเข้ารับการรักษาพระอาการบาดเจ็บที่พระโสณี (สะโพก) พระองค์ได้ตรัสกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่ทำผิดพลาด แต่ข้าพเจ้าขอให้คำมั่นว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”

ภาพของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ขณะล่าช้างที่ประเทศบอตสวานา ปี 2555

ต่อมาใน พ.ศ.2557 ประชาชนชาวสเปนตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง เมื่อพระสวามีของเจ้าหญิงกริสตีนา พระราชธิดาองค์ที่ 2 ของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาโกงภาษีและฟอกเงิน ทำให้เจ้าหญิงกริสตีนาต้องขึ้นให้การในศาล ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สเปนที่ศาลสั่งสอบสวนเส้นทางการเงินของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงโดยใช้กฎหมายและหลักปฏิบัติเดียวกับประชาชนทั่วไป เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์สเปน โดยผลสำรวจคะแนนควานิยมของสถาบันกษัตริย์ลดลงอย่างมาก โดยชาวสเปนกว่า 2 ใน 3 มีความเห็นว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ควรสละราชสมบัติและให้เจ้าชายเฟลิเป (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ขึ้นครองราชย์แทน

แรงกดดันจากประชาชนทำให้กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 2 มิ.ย. 2557 โดยเจ้าชายเฟลิเป มกุฎราชกุมาร ทรงเข้าพิธีสาบานตนเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในวันที่ 19 มิ.ย. ปีเดียวกัน และดำรงพระอิสรยยศเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน เมื่อขึ้นครองราชย์ กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 มีพระบรมราชโองการถอดพระอิสริยยศ ‘ดัชเชสแห่งปัลมาเดมายอร์กา’ ของเจ้าหญิงกริสตีนา พระเชษฐภคิณี ถึงแม้ว่าศาลสูงสุดของสเปนตัดสินให้เจ้าหญิงกริสตีนาไม่มีความผิด ในขณะที่พระสวามีของพระองค์ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 10 เดือน และเหตุการณ์อื้อฉาวทางการเงินในครั้งนี้ ทำให้สมาชิกราชวงศ์สเปนทุกพระองค์ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน โดยในปี 2558 ราชวงศ์สเปนได้รับเงินรายปี 7,800,000 ยูโร ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับราชวงศ์อื่นๆ ในทวีปยุโรป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เส้นทางการเงินอันอื้อฉาวของอดีตกษัตริย์

แม้ว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 จะทรงสละราชสมบัติแล้ว แต่ข่าวอื้อฉาวของพระองค์กลับถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนมากขึ้น โดยใน พ.ศ.2561 หนังสือพิมพ์เอลเอสปาญอลของสเปนตีพิมพ์บทความหลายฉบับที่ถอดบทสนทนาจากคลิปเสียงของคอรินนา ลาร์เซน หรือคอรินนา ซู ซาย์น-วิตต์เก็นสไตน์ นักธุรกิจชาวเดนมาร์กเชื้อสายเยอรมัน อดีตคนรักของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 กับโฆเซ บีญาเรโฆ อดีตตำรวจสืบสวนที่ปัจจุบันต้องโทษจำคุก โดยบทความดังกล่าวอ้างคำพูดของลาร์เซนที่กล่าวถึงกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ว่าพระองค์ทรงขอให้เธอโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เธอได้รับพระราชทานจากกษัตริย์โมรอกโกไปให้พระองค์ได้หรือไม่ แต่เธอทูลพระองค์ไปว่าหากทำเช่นนั้นจะกลายเป็นการฟอกเงิน และจะทำให้เธอติดคุก

ต่อมาหนังสือพิมพ์ลาทริบูนเดอเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงมีทรัพย์สินจำนวนมากในสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้อัยการประเทศสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นการสอบสวนบุคคลใกล้ชิดของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทั้งทนายความ ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ช่วยคนอื่นๆ รวมถึงคอรินนา ลาร์เซน

อัยการสวิสพุ่งเป้าไปที่เงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด กษัตริย์ผู้ล่วงลับของซาอุดีอาระเบีย พระราชทานให้แก่กษัติรย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2551 ว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่ากว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติสเปนเป็นผู้ชนะราคาประมูลก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งอัยการสวิวพบหลักฐานว่าเงินจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกองทุนนอกประเทศจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิลูคัม (Lucum Foundation) ในปานามา ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรับเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอดีตกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่มูลนิธินี้จะปิดตัวลงใน พ.ศ.2555 และเงินเกือบทั้งหมดถูกโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารของลาร์เซน ซึ่งเธอชี้แจงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของขวัญที่ไม่อาจเรียกคืนได้ และปฏิเสธว่าไม่ใช่การฟอกเงิน ทั้งยังบอกว่าเธอได้คืนเงินทั้งหมดที่เธอยืมมาให้กับมูลนิธิลูคัมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเธอนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้ออะพาร์ตเมนต์ 2 แห่งในสวิสเซอร์แลนด์ร่วมกับกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1

อีกหนึ่งกองทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของอดีตกษัตริย์สเปน คือ มูลนิธิซากัตกา (Zagatka Fondation) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศลิกเตนสไตน์ ที่มี อัลวาโร เด ออร์ลีนส์ ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ ของอดีตกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก โดยอัยการสวิสตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดมูลนิธินี้ถึงได้รับเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐจากข้อตกลงธุรกิจภายนอกประเทศ ในขณะที่จ่ายเงินมากกว่า 6,000,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าเครื่องบินส่วนพระองค์ให้แก่กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 โดย เด ออร์ลีนส์ ชี้แจงว่าเขาช่วยเหลือกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 เพราะเป็นญาติและเขาเป็นเจ้าของมูลนิธิดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2563 อัยการประจำศาลสูงสุดของสเปนเริ่มต้นสอบสวนเส้นทางการเงินในประเทศของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเงินที่ได้รับจากอดีตกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียหรือไม่ รวมถึงสอบสวนว่างพระองค์ทรงเคยกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ ของสเปนหรือไม่ โดยหลังจากที่กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงสละราชสมบัติ ทำให้พระองค์ไม่ได้รับสิทธิคุ้มกันการสอบสวนตามกฎหมาย หากตรวจสอบพบว่ามีความผิด พระองค์จะต้องเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ต้องเสด็จฯ ลี้ภัยไปประทับยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือน ส.ค. 2563

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เอลปาอีส ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝั่งอนุรักษ์นิยม รายงานว่าอดีตกษัตริย์สเปนได้รับเงินสดจำนวน 1,900,000 ดอลลาร์สหรัฐจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮะมัด บิน อีซา อัลเคาะลีฟะฮ์ กษัตริย์บาห์เรน ขณะเสด็จฯ เยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ใน พ.ศ.2553 ส่งผลให้ชื่อเสียงของราชวงศ์สเปนตกต่ำลงอย่างมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปฏิบัติการกอบกู้ชื่อเสียงของราชวงศ์สเปน

กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 พยายามกอบกู้ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์ให้กลับคืนมาหลังเหตุอื้อฉาวของพระราชบิดาฉุดคะแนนความนิยมของสถาบันฯ ให้ลดลง โดยสำนักพระราชวังสเปนประกาศว่ากษัตริย์เฟลิเปที่ 6 จะทรงสละสิทธิ์การรับมรดกที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชบิดา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับมูลนิธิทั้ง 2 แห่ง นอกจากนี้ สำนักพระราชวังสเปนยังประกาศว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงไม่ได้รับเงินรายปีที่มาจากภาษีประชาชนในฐานะสมาชิกเชื้อพระวงศ์ นับตั้งแต่พระองค์ทรงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2562

สำนักพระราชวังสเปนปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอดีตกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 โดยให้เหตุผลว่าเป็น ‘เรื่องส่วนพระองค์’ ทว่า เรื่องอื้อฉาวทางการเงินของอดีตกษัตริย์สเปนยังคงส่งผลกระทบมายังกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะบทสนทนาช่วงหนึ่งในเทปเสียงของลาร์เซนระบุว่ากษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงมอบเงินส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่สมาชิกในราชวงศ์ รวมถึงกษัตริย์เฟลิเปที่ 6 โดยแหล่งข่าวรายงานว่าเงินดังกล่าวมีจำนวนหลายล้านยูโร และอดีตกษัตริย์สเปนมักใช้จ่ายเงินเหล่านั้นเป็นเงินสด ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้ ทำให้กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 ทรงพยายามอย่างหนักเพื่อนำพระองค์และสถาบันกษัตริย์สเปนออกห่างจากเรื่องอื้อฉาวของอดีตกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ผู้เป็นพระราชบิดา

โฆเซ อันโตนิโอ ซาร์ซาเลโฆ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ABC ของสเปนผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ให้ความเห็นว่า กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 ต้องทรงก้าวให้ไกลอีกหนึ่งขึ้น เพื่อรับประกันความมั่นคงของบัลลังก์และสถาบันกษัตริย์

“กษัตริยเฟลิเปทรงควรออกมาอธิบายต่อสาธารณชน และทรงต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ต่อประชาชนชาวสเปน แบบที่นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทำ” ซาร์ซาเลโฆกล่าว

ในวันที่ 24 ธ.ค. 2563 กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 ทรงกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันคริสต์มาสอีฟผ่านทางโทรทัศน์ของสเปน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประมุขของประเทศ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของสุนทรพจน์ คือการกล่าวให้กำลังใจประชาชนให้ที่กำลังต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่ในเนื้อความตอนหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงหลักศีลธรรมและจริยธรรมของสถาบันกษัตริย์ว่ามีความสำคัญมากกว่าเรื่องส่วนตัวและเรื่องของครบครัว ซึ่งถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้กล่าวอย่างระบุชี้ชัด แต่ก็สามารถดีความว่าพระองค์ทรงหมายถึงกรณีอื้อฉาวของพระราชบิดา

“ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าพิธีสาบานตนต่อหน้ารัฐสภาใน พ.ศ.2557 ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงหลักศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนของประเทศต้องการให้[สถาบันกษัตริย์]มีตามรัฐธรรมนูญ หลักศีลธรรมและจริยธรรมเหล่านั้นยึดโยงเราทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีข้อแม้ ซึ่งหลักดังกล่าวอยู่เหนือการตัดสินใจเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติก็ดี เรื่องส่วนตัวก็ดี หรือแม้แต่เรื่องของครอบครัว นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะประมุขของประเทศ และด้วยจิตวิญญาณแห่งการริเริ่ม ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้านับตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ”

สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสเปน
(ภาพจาก Wikipedia)

คดีความของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1

อัยการสเปนดำเนินคดีกับกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทั้งหมด 3 คดี โดยคดีแรกเป็นคดีหนีภาษี ซึ่งอัยการฝ่ายต่อต้านการทุจริตสอบสวนพบว่าตั้งแต่ พ.ศ.2559-2561 อดีตกษัตริย์สเปนมีเงินเข้าออกในบัญชีจำนวนมากกว่า 500,000 ยูโรโดยไม่ทราบแหล่งที่มา และพบว่าพระราชสหายของพระองค์ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวเม็กซิกัน คือ ผู้ถอนเงินจำนวนเหล่านี้ออกจากบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าโรงแรม ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งอัยการระบุว่าอดีตกษัตริย์สเปนทรงใช้เงินเหล่านั้นผ่าน พ.อ.นิโกลา มัวร์กา เมนโดซา นอกจากนี้อัยการยังระบุว่าสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ซึ่งไม่รวมกษัตริย์และพระราชินีองค์ปัจจุบัน ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนนี้ทั้งสิ้น แต่ผลการสอบสวนยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

คดีที่สองเป็นคดีเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกับคดีแรก แต่เป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนอกประเทศในดินแดนภาษีอัตราต่ำ (Tax Haven) ซึ่งกษัตริย์ฆวน การ์ลอสปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ด้านทีมทนายความส่วนพระองค์ก็ยืนยันว่าคดีนี้ไม่น่ากังวลมากนัก ส่วนคดีสุดท้ายเกี่ยวข้องกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติสเปนที่ชนะประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในนครเมกกะของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอัยการคาดว่าอาจมีส่วนพัวพันกับเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่กษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงรับจากอดีตกษัตริย์ของซาอุดีอาระเบีย

รัฐบาลสเปนเตรียมแก้กฎหมายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากเหตุอื้อฉาวของอดีตกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่ 1 ทำให้ประชานชนชาวสเปนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อกู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้กลับคืนมา โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ปีที่แล้ว เปโดร ซานเชซ หัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมและนายกรัฐมนตรีของสเปน กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของตนมีแผนพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพื่อปฏิรูปสถาบันให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังไม่มีแผนอันเป็นรูปธรรมออกมาว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเป็นไปในทิศทางใด

ถึงแม้นายกรัฐมนตรีสเปนซึ่งมาจากพรรคฝั่งซ้ายจะเปิดช่องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีการชำระภาษีย้อนหลังของอดีตกษัตริย์ว่า เขาไม่ยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามสิทธิของพลเมือง แต่การกระทำที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรนำมาตัดสินภาพรวมของสถาบันกษัตริย์ ท่าทีล่าสุดของนายกรัฐมนตรีสเปนจุดชนวนความไม่พอใจอย่างมากให้แก่ประชาชนชาวสเปนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะคำพูดดังกล่าวขัดกับสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ในตอนแรก หลายฝ่ายจึงจับตามองว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของสเปนจะมีท่าทีอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ และจะสามารถแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ได้หรือไม่

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท