ICJ ประณามการสังหารผู้ประท้วงในพม่า เสนอให้สืบสวน 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ'

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ (ICJ) ออกแถลงการณ์ประณามจากสังหารผู้ชุมนุมประท้วงในพม่าและเสนอว่าควรจะมีการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ในฐานะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยมีการพูดถึงเรื่องการใช้ "เขตอำนาจศาลตามหลักสากล" เพื่อดำเนินคดีต่อเผด็จการในพม่าที่ก่อเหตุร้ายแรงต่อพลเรือน

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ (ICJ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันเรื่องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแถลงเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าการยกระดับการสังหารผู้ชุมนุมโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่านั้นควรจะได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันทีในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แถลงการณ์นี้ออกมาในวันเดียวกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมหารือแบบไม่เปิดเผยข้อมูลต่อคนนอกเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า

ICJ ระบุว่าพวกเขาได้รับข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือทำให้ทราบว่ากองกำลังฝ่ายความมั่นคงสังหารผู้คนไร้อาวุธไปอย่างผิดกฎหมายประมาณ 50 ราย ในนั้นมีที่เป็นเด็กอยู่อย่างน้อย 5 ราย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในมากกว่า 10 เมืองในช่วงเวลาหลายวันนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพในวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยที่ในวันที่ 3 มี.ค. เพียงวันเดียวก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารประชาชนไปอย่างน้อย 38 ราย

นอกจากจะมีประชาชนผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บแล้ว เจ้าหน้าที่ทางการยังจับกุมประชาชนอย่างน้อยรวม 1,498 ราย มีการตั้งข้อหาและลงโทษในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหาร จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า

คิงสลีย์ แอบบอตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตรวจสอบความรับผิดชอบและความยุติธรรมนานาชาติของ ICJ กล่าวว่า จากการที่ความรุนแรงในพม่าทวีเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งดูเหมือนจะมาจากนโยบายการรวมศูนย์อำนาจอย่างเป็นระบบในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ประท้วงอย่างสันติ ทำให้กองกำลังความมั่นคงพม่าน่าจะเข้าข่ายารเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แอบบอตต์กล่าวอีกว่าความรุนแรงจากเผด็จการทหารพม่ายังเน้นย้ำให้ทุกประเทศรวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรเห็นความสำคัญเร่งด่วนในการเลิกปกป้องเผด็จการทหารพม่าและทำงานร่วมกันเพื่อเปิดให้มีการใช้ความยุติธรรมแก่ประชาชนชาวพม่า

แอบบอตต์เสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรจะยื่นเรื่องประเด็นของพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศให้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้อย่างอิสระและอย่างมีประสิทธิภาพโดยทันที

นอกจากกรณีการสังหารประชาชนแล้วแถลงการณ์ ICJ ยังได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าจะมีความผิดจากกรณีอื่นๆ ที่เป็นการก่อเหตุในวงกว้างและอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจะนับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกกรณี เช่น การคุมขังผู้คน การทารุณกรรม และการบังคับให้สูญหาย สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดกลายเป็นการเกื้อหนุนให้มีการโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อไป

แอบบอตต์ระบุในถ้อยแถลงว่าการสังหารและอาชญากรรมอื่นๆ ที่รัฐบาลพม่าก่อภายใต้กฎหมายนานาชาตินั้นเป็นผลลัพธ์โดยตรงมาจากวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิดของเผด็จการในพม่าที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปี จึงควรจะมีกลไกการเข้าไปสืบสวนอย่างออิสระและเก็บหลักฐานการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในพม่าเหล่านี้ และควรจะมีการนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาตั้งนานแล้วไม่ว่าจะในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือกลไกการดำเนินคดีอื่นๆ ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลตามหลักสากล

ในมาตราที่ 7 ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศระบุว่าการปฏิบัติการโจมตีพลเรือนในวงกว้าง อย่างเป็นระบบ และรับรู้การกระทำเหล่านั้นนับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ถึงแม้ว่าคำว่า "ในวงกว้าง" ของธรรมนูญนี้จะเน้นระบุถึงลักษณะภูมิศาสตร์ประชากรหรือจำนวนตัวเลขของเหยื่อ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในนิยามนี้เสมอไป

โดยที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงของยูเอ็นก็เคยลงพื้นที่ตรวจสอบอิสระเมื่อปี 2561 กรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาและเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศนำตัวกองทัพพม่าเข้าสู่กระบวนการไต่สวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่กองทัพพม่ากระทำต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน, คะฉิ่น และยะไข่ รวมถึงที่อื่นๆ ของประเทศ

ถึงแม้พม่าจะไม่ได้เป็นรัฐที่ร่วมในธรรมนูญดังกล่าวนี้ แต่กรณีการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นการกระทำในบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนกับธรรมนูญ ICC ขณะเดียวกันถ้าหากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีความเลวร้ายรุนแรงในระดับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก็จะสามารถใช้ "เขตอำนาจศาลตามหลักสากล" (Universal jurisdiction) เพื่อให้รัฐต่างๆ มีอำนาจหรือมีพันธกิจในการที่จะต้องดำเนินการต่อผู้ก่อเหตุเพราะการก่อเหตุส่งผลรุนแรงไม่เกี่ยวว่าจะเป็นการกระทำจากรัฐชาติใดต่อคนของชาติใด

เรียบเรียงจาก
Myanmar: Security forces’ killings of protesters should be investigated as crimes against humanity, ICJ, 04-03-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท