Skip to main content
sharethis

กลับมาอีกครั้งกับช่วงคุยกับมนุษย์ม็อบ คอลัมน์ที่ทำให้ทุกคนมองเห็นถึงความหลากหลายของผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง#ม็อบ20มีนา ทั้งปัญหาที่พวกเขาประสบ ความคิด ความฝัน และความหวังของพวกเขา  

  • แอม ทีมงานจัดกิจกรรม บอกเล่าเหตุที่ควรจำกัดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ สะท้อนผ่านกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในท้องสนามราษฎร และแนวทางต่อไปของการชุมนุม 
  • นักเรียน ม.6 เล่าความรู้สึกของการมาชุมนุม และ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม REDEM  
  • ร่วมระลึกถึงสนามหลวงเมื่อครั้งอดีตกับ ชลธร อดีตเพื่อนร่วมงานทนายอานนท์ 
  • เอก เสื้อ ‘นารูตู่’ สะท้อนปัญหาความบิดเบี้ยวของการใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขต และปัญหาการฝากขังนักกิจกรรมการเมืองช่วงพิจารณาคดี มาตรา 112
  • ไนท์ คุณพ่อลูกหนึ่งที่อยากให้ไทยมีสนามเด็กเล่นมากกว่านี้   
  • คุยถึงแนวคิดกิจกรรม ‘ส่องไฟใส่กะลา’ ของสุพัตรา 

บทสัมภาษณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่จะมีเหตุสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงตั้งแต่เวลา 19.00 น. ที่สนามหลวง-แยกคอกวัว-สะพานวันชาติ 

แอม ทีมงานจัดกิจกรรม ตอบปัญหาทำไมต้องจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์  

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ แอม ทีมงานของกลุ่มคณะราษฎร และช่วยงานแนวร่วมธรรมศาสตร์การชุมนุม พูดถึงแนวคิดการจัดงาน ‘จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์’ นัดโดยกลุ่ม REDEM วันนี้ว่า ‘เพื่อเน้นย้ำข้อเรียกร้องของกลุ่ม REDEM ข้อที่สาม คือ การจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ เพราะว่าตอนนี้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 มีการให้อำนาจกับกษัตริย์จนมากล้นเกิน เกินกว่าในรัฐธรรมนูญในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเคยให้มา เลยส่งผลกระทบถึงทั้งเรื่องของการจัดเก็บภาษีของราษฎร ส่งผลกระทบถึงการตั้งกองกำลังของสถาบันกษัตริย์ ก็เลยทำให้พวกเราออกมาเรียกร้อง เพื่อให้มีการจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้น’ 

พ.ร.ก.โอนถ่าย อัตรากําลังพลทหารและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 จากต้นสังกัดเดิมคือกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ไปสังกัดหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ในมือของแอม เป็นว่าวที่พ่นสีสเปรย์เป็นรูปหน้า พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน นักกิจกรรมการเมืองที่ถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดี มาตรา 112 ซึ่งแอมเล่าว่า นี่เป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานในวันนี้ ต้นคิดมาจาก ‘Free Art’ หรือ ศิลปะปลดแอก เพื่อเป็นการระดมทุนของกลุ่ม เพื่อจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป 

“ขายเป็นตัวว่าวชุดละ 50 บาท สามารถนำว่าวตัวนี้ไปสกรีนเป็นลายเพื่อน ๆ แกนนำที่ถูกคุมขังโดยไม่ชอบ มีทั้งคำพูดต่าง ๆ เช่น ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112 หรือเป็นโลโกของกลุ่มศิลปะปลดแอก เพื่อเอามาเล่นว่าวกันในสนามหลวง อย่างที่หลาย ๆ คนเคยพูดกันว่า เล่นว่าวกันในท้องสนามหลวง วันนี้เราก็นำว่าวมาให้ทุกคนได้เล่นแล้วครับ” 

นอกจากนี้ แอมมองว่าการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีประชาชนมาร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองขึ้น หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมาคนมาร่วมน้อยลง 

"อย่างการชุมนุมในปีนี้เรายังไม่เห็นการชุมนุมที่เป็นลักษณะเชิงสร้างสรรค์มากเท่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเราจะเห็นการชุมนุม อย่างเช่น การเกิดคณะราษแดนซ์ หรือกลุ่มคณะราษเก็ต ที่มาเล่นสเก็ตบอร์ดกัน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความสร้างสรรค์ในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งการแกงตำรวจ ก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นได้ว่าปีที่แล้วการชุมนุมถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างมาก การชุมนุมปีนี้เน้นไปที่การย้ำข้อเรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลตอบสนอง ก็เลยทำให้เราห่างหายเรื่องความคิดสร้างสรรค์ตรงนี้ไปค่อนข้างเยอะ พอมาวันนี้เราก็อยากจะนำความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นกลับมา และกลับมาสู่ท้องสนามราษฎร ที่เราเคยมาปักหมุดหมายกันเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง" แอม กล่าว

แนวทางในอนาคต แอมกล่าวว่า การชุมนุมก็ยังมีต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเน้นย้ำให้ทางภาครัฐมองเห็นถึงข้อเรียกร้องของเรา และก็อยากให้หลังจากนี้ รัฐตอบสนองข้อเรียกร้องของเราบ้าง ก็จะเห็นว่าพวกเราทำกิจกรรมกันมาหลายต่อหลายครั้ง ก็ไม่ค่อยจะเห็นการสนองที่ดีจากภาครัฐเท่าไร 

“ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองที่ดีหรือไม่ดี เราก็จะยืนยันที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่เราสามารถทำได้ต่อไป” แอม ทิ้งท้าย

แอม ทีมงานจัดกิจกรรม

แอม ทีมงานจัดกิจกรรม

คุยกับนักเรียน ม.6 จากสนามสอบสู่สนามหลวง

เอ (นามสมมติ) นักเรียน ม.6 คนหนึ่งที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมชุมนุมบริเวณสนามหลวง ในวันที่ 20 มี.ค. บอกว่า กิจกรรมวันนี้ตรงกับวันสอบวันแรกของการสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT/PAT ซึ่งเอมีสอบเพียง 1 วิชา คือ วิชา GAT (การทดสอบความถนัดทั่วไป) และสอบเสร็จตั้งแต่ 11.30 น. ทำให้เขามีเวลาในการเดินทางจากสนามสอบที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยมายังสนามหลวง พร้อมเผยว่าวันนี้เขามาร่วมกิจกรรมเพียงลำพัง โดยเอบอกว่าการมาร่วมกิจกรรมชุมนุมในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกในของปี 2564 เนื่องจากเขาติดภารกิจการเรียนออนไลน์และอ่านหนังสือสอบเพื่อเตรียมสอบปลายภาค รวมถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผู้สื่อข่าวถาม เอ ว่าคิดอย่างไรกับกระแสในโลกโซเชียลที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในวันนี้ เพราะตรงกับวันสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียน ม.6 หลายคนอาจได้รับผลกระทบ

“ผมคิดว่าก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการจัดม็อบต่างๆ ซึ่งเด็กหลายคนก็อยากมาแต่มาไม่ได้ หลายคนได้รับผลกระทบจริงแต่ผมคิดว่าถ้าใครที่มาไม่ได้ก็ส่งแรงใจมาให้ก็แล้วกัน ช่วยติดตามข่าวสาร ช่วยกันเผยแพร่ต่อ แล้วก็ช่วยกันตรวจสอบว่ามีข่าวปลอมปนมาบ้างหรือเปล่า ขอให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องด้วย” เอกล่าว พร้อมบอกอีกว่าถ้าตนสอบเสร็จในช่วงเย็นก็คิดว่าสามารถมาร่วมกิจกรรมได้ แต่เขาเข้าใจนักเรียน ม.6 คนอื่นๆ ที่ไม่พร้อมมาร่วมกิจกรรมในวันนี้

“ผมคิดว่าเขามีเหตุผลมากพอที่จะไม่มาร่วมม็อบในวันนี้ อยากให้เข้าใจหัวอกของคนอื่น ๆ ด้วย” เอกล่าว

เอ เผยว่า เขาสนับสนุนการเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพต้องลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะข้อ 3 เพราะ เอ มองว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือหนทางเดียวที่จะทำให้สถาบันฯ อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยได้

“ที่เราเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะเราอยากให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังเช่นโลกตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งจริง ๆ ผมคิดว่ามันเป็นทางรอดทางเดียวที่ทำให้ระบอบกษัตริย์อยู่รอดในระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอดไป”

ด้าน บี (นามสมมติ) นักเรียน ม.6 อีกคนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เผยว่า เธอมีสอบทั้งหมด 2 วิชา คือ GAT และ PAT1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) ซึ่งใช้เวลาสอบเต็มวันตั้งแต่ 8.30-16.00 น. โดยโรงเรียนที่เป็นสนามสอบอยู่บริเวณย่านนางเลิ้ง ซึ่งไม่ไกลจากสนามหลวงเท่าไรนัก

“จริง ๆ เราก็มาร่วมกิจกรรมตลอด แต่หยุดไปเพราะเป็นช่วงสอบ เรารู้สึกว่าต้องมา เพราะคนเริ่มมาร่วมน้อยลงเรื่อย ๆ แต่จริง ๆ เราก็รู้สึกแอบหงุดหงิดนิดหน่อยนะ ตอนที่เห็นว่าจะจัดกิจกรรมในวันนี้ เพราะกังวลว่าจะกระทบการเดินทาง แต่เห็นตอนเช้ายังไม่ปิดถนน เพิ่งมาปิดช่วงหลัง 4 โมงเย็น เด็กที่สอบเสร็จก็กลับบ้านทัน ก็โล่งขึ้นมานิดหน่อย” บี กล่าว

บี บอกว่า เธอสนับสนุนทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง โดยต้องการให้ข้อ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่เธอคิดว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อควรขึ้นพร้อม ๆ กัน เพราะการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้รับประกันว่าอนาคตการเมืองไทยจะดีขึ้น

“ถ้าขาดไปสักข้อ ก็ไม่รู้ว่าข้ออื่นจะเป็นไปได้หรือเปล่า” บี กล่าว

บี เล่าว่า เธอรู้สึกสนใจการเมืองมาตั้งแต่ช่วง ม.ต้น แต่ไม่ค่อยได้พูดคุยเรื่องนี้กับครอบครัว จนเมื่อปีที่แล้ว กระแสการเมืองร้อนแรงขึ้น เธอจึงเริ่มแสดงออกและมาเข้าร่วมกิจกรรมบ่อยขึ้น

“มันเป็นรุ่นของเราค่ะ ถ้าเกิดว่าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้ ลุกขึ้นมาเปลี่ยน เราก็ไม่รู้ว่าโตขึ้นจะมีอนาคตแบบไหน” บี กล่าว

นักเรียนชั้น ม.6 ที่มาร่วมกิจกรรมที่สนามราษฎร 

คิดถึงสนามหลวงเมื่อครั้งอดีต

ชลธร อดีตเพื่อนร่วมงานของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ผู้ร่วมกิจกรรม ‘เล่นว่าว ยกเลิก 112’ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าวันนี้เลือกว่าวรูปทนายอานนท์มาเล่น เพราะต้องการให้กำลังใจอดีตเพื่อนร่วมงานและนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

“เรารู้สึกว่านักกิจกรรมแต่ละคนไม่ต้องมาทำตรงนี้ก็ได้ เขามีทางเลือกที่สามารถจะอยู่สบาย ๆ ได้ อย่างอานนท์ก็เป็นคนเรียนเก่ง เป็นคนมีอนาคต หรือเพนกวินก็เป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ทุกคนเสียสละมาทำหน้าที่เรียกร้องตรงนี้ เรารู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่รับฟังเสียงของประชาชน ในช่วงรัฐประหารมีการนำประชาชนขึ้นศาลทหาร เราก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าศาลพลเรือนก็ทำหน้าที่ได้ไม่ต่างจากศาลทหารเลย เราจึงอยากเรียกร้องจิตสำนึกจากคนในกระบวนการยุติธรรมทุกคน ทุกฝ่าย เข้าใจว่าอาจจะได้รับแรงกดดันจนไม่สามารถทำตามเจตจำนงของตนเองได้ แต่อยากให้นึกถึงประเทศและสังคม รวมถึงหลักการนิติศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา” ชลธร กล่าว

ชลธร เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าย้อนกลับไปช่วงประมาณ 15 ปีก่อน เธอเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีโอกาสมาใช้พื้นที่สนามหลวงในการทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ รวมถึงใช้เป็นพื้นที่ในการหาข้อมูลประกอบการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

“เราเป็นนักเขียน งานเขียนเรื่องแรกก็คือเรื่องสนามหลวง เพราะตัวเองตั้งโจทย์งานสมัยเรียนว่าต้องเขียนงานสารคดีหนึ่งเรื่อง ก็เลยเลือกสนามหลวง ตอนนั้นสนามหลวงยังเป็นสนามที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ แม้จะมีนโยบายปิดไฟไล่คนเร่ร่อนในช่วงหนึ่ง แต่ก็ยังเปิดให้คนเข้ามาทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ กิจกรรมทางการเมืองก็ได้ ตอนนั้นที่เรามาเก็บข้อมูลงานเขียนในช่วงกลางคืน เจอทั้งแม่ค้าขายส้มตำ เจอคนเปิดร้านนวด เจอคนไร้บ้าน พอดึกมาก ๆ ก็เจอโสเภณีเด็กอายุ 13 ปี ซึ่งเมื่อก่อนการเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลวงถือเป็นเรื่องธรรมดา คนต่างจังหวัดเข้ามา กทม. ไม่รู้จะไปไหนก็มาตั้งหลักที่สนามหลวงก่อน แม้ว่าสนามหลวงในอดีตจะดูไม่ค่อยปลอดภัยและไร้ระเบียบในระดับหนึ่ง แต่มันก็มีชีวิตชีวามากกว่าตอนนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันคือพื้นที่สาธารณะ และสอนอะไรเราหลายอย่างในฐานะนักศึกษา มันทำให้เราได้เห็นชีวิตคนในมุมมองที่หลากหลาย” ชลธร กล่าว

ชลธร เล่าว่า เธอคิดถึงสนามหลวงในแง่ของการเป็นพื้นที่เปิดของสาธารณชน ให้คนมาร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง แต่ในปัจจุบันพื้นที่สาธารณะมีจำกัด คนต้องไปกระจุกตัวตามห้างสรรพสินค้า ร้านหนังสือ หรือหากต้องการแสดงออกทางการเมืองก็มักไปรวมตัวกันที่สกายวอล์ค และพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งไม่ปลอดภัย

“พอเราเรียนจบ ประมาณปี 2551-2552 เริ่มมีการล้อมรั้วสนามหลวง ไม่ค่อยให้จัดกิจกรรม แต่วันหนึ่งเรากลับมาที่สนามหลวงอีกครั้ง เราเห็นคนต่างชาตินอนอาบแดดกลางพื้นหญ้าของสนามหลวง นอนเขียนไดอารีแบบชิล ๆ เราก็รู้สึกว่าทำไมสนามหลวงถึงไม่ใช่พื้นที่ของคนไทย ทำไมกลายเป็นพื้นที่อาบแดดของคนต่างชาติ ในขณะที่คนไทยอยากใช้พื้นที่กลับใช้ไม่ได้ แต่จริง ๆ เราสะเทือนใจในจุดที่ว่าพอล้อมรั้วแล้ว สนามหลวงหลายเป็นพื้นที่ที่ห้ามแสดงออกทางการเมืองมากกว่า คือเราคิดถึงสนามหลวงในแง่ที่ว่ามันคือพื้นที่ที่เคยใช้เปลี่ยนแปลงประเทศประเทศมาตลอด เป็นที่ที่รวมสิทธิ์รวมเสียงคน เช่น การปราศรัยต้านรัฐประหารปี 2549 บริเวณนี้ มันก็ช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง” ชลธร เล่า

ชลธร ขณะกำลังเล่นว่าวที่สนามราษฎร
ชลธร ขณะกำลังเล่นว่าวที่สนามราษฎร

เอก เสื้อ ‘นารูตู่’ 

เอก (ที่ไม่ใช่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) มากับเสื้อลายเด่นสะดุดตา สกรีนเป็นลายการ์ตูน 'นารูตู่' บอกกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า 'ปกติถ้ามีการชุมนุมก็มาอยู่แล้ว มาจากลาดพร้าว' 

สำหรับเหตุผลที่เขาอยากร่วมกิจกรรมวันนี้ เนื่องจากต้องการแสดงความโกรธต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย 

"โกรธที่ ส.ว. โกรธที่การล้มร่างรัฐธรรมนูญ โกรธที่เพื่อนเราโดนจับขังโดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน คือมันผิดหลักการสากล ผิดทุกทฤษฎี ผิดทุกอย่าง"

นอกจากนี้ เรื่อง 'จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์' เอก กล่าวว่า "ตามที่ทนายอานนท์ (นำภา) พูดเลยครับ คือสถาบันฯ มีอำนาจเกินที่รัฐธรรมนูญให้ไป แล้วมันก็ทำให้กระทบหลักการอื่นๆ" 

เขายังยกตัวอย่างการดำเนินคดีตาม ม. 112 ที่ไม่ให้ประกันตัวทั้งที่อยู่ในช่วงพิจารณาคดีและโทษก็สูงอีกด้วย

ขณะที่เสื้อของเอกวันนี้ก็โดดเด่นสะดุดสายตา ด้วยลวดลายการ์ตูนล้อเลียนจากเพจ 'นารูตู่' ที่มักจะนำเรื่องราวการเมืองไทยมาวาดเป็นลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่น คล้ายตัวละครจากเรื่อง ‘นารูโตะ’ หรือชื่อไทย ‘นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ’

เอก กล่าวว่า ตนชอบสตรีทแบรนด์ และเป็นการล้อเลียนของไทยด้วย เลยอยากอุดหนุน และอยากแสดงออกทางการเมือง 

"ชอบธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เพราะมันดูออกง่าย ชัดเจนดี" เอก กล่าวถึงตัวละครบนเสื้อที่เขาคิดว่าสวยที่สุด

สุดท้าย เอกฝากถึงรัฐบาลว่า "ออกไปเถอะ สงสารเด็ก มันไม่มีอนาคตในประเทศนี้"

เอก เสื้อนารูตู่
เอก มาร่วมกิจกรรมที่สนามราษฎร โดยใส่ชุดนารูตู่
 

พ่อที่อยากเห็น กทม. มีสนามเด็กเล่นมากกว่านี้ 

ไนท์ เป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง วันนี้เขามาเล่นโรลเลอร์เบลดที่สนามหลวง ซึ่งเผอิญจังหวะไนท์นั่งพักอยู่ในสนามหลวง ผู้สื่อข่าวจึงถามถึงเหตุผลที่ไนท์มาร่วมกิจกรรมวันนี้ 

“มาประท้วงแทนเด็ก” ไนท์ กล่าว 

ไนท์มาที่สนามหลวงด้วยความรู้สึกว่า เขาอยากเป็นปากเป็นเสียงแทนเด็ก ๆ ทุกคนที่ไม่มีโอกาสได้เล่นในสนามเด็กเล่น 

“ทุกสวนสาธารณะติดป้ายบอกไว้เลยว่า ห้ามล้อ ห้ามสเก็ตเข้า สเก็ตบอร์ดห้ามเข้า สนามหลวงตอนนี้ก็เริ่มห้ามเล่นแล้ว” ไนท์ พูดถึงการที่ไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมเล่นสเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลดในพื้นที่สาธารณะ 

“สวนสาธารณะพื้นที่กี่ตารางเมตร กี่ไร่ และมีสนามเด็กเล่นขนาดเท่าไหร่ ผมเชื่อได้เลยไม่ถึง 200 วา ไม่ถึง 100 วาด้วยซ้ำไป กับสวนสาธารณะที่มีเป็นพัน ๆ ไร่ มันน้อยมากที่นี่ (จ.กรุงเทพฯ) แล้วมาบ่นว่าเด็กติดเกม จริง ๆ เด็กไม่มีที่เล่น ซึ่งเมืองนอกมีทุกที่ ในชุมชนขนาดไหนก็ตาม จะต้องมีสวนสาธารณะ ประเทศนี้ไม่มีอะไรเหลือให้เลย… รัฐบอกว่ารักเด็ก แต่เอาที่ไปทำเป็นตึกหมดเลย”

“ในเมืองนอกเวลาเรียนน้อย แต่เขามีเวลาเล่นมากกว่าเราในหนึ่งวัน แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญในการออกข้างนอกมากกว่าอยู่ในห้องเรียน ซึ่งสะท้อนว่าสนามเด็กเล่นมีความสำคัญกับเรามาก ...พัฒนาการที่ดีขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจจากการเห็นของจริง ลองเล่น … การเรียนรู้ด้วยทักษะสำคัญกว่าการเรียนรู้ด้วยโจทย์ ไม่มีการอ่านหนังสือวิธีเล่นสเก็ต และไปเล่นได้เลย มันเล่นไม่ได้ หรือต่อให้ดูวิดีโอเป็นพันครั้ง แต่ไม่ได้ลองของจริงเลย ก็เล่นไม่ได้” ไนท์ กล่าว 

ไนท์ สะท้อนปัญหาต่อว่า การไม่มีสนามเด็กเล่นทำให้เด็กหลายคนจมปลักอยู่กับเกม และไม่ออกจากบ้าน ถ้าออกไปเล่นนอกบ้าน ก็มีแต่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 100-150 บาท ถึงจะไปเล่นได้ ซึ่งอาจมีเด็กน้อยคนถึงจะได้เล่นแบบนี้ประจำ 

สำหรับไนท์ ปัจจุบันก็ต้องพาลูกสาวของเขาไปเล่นตามที่ว่างเล็ก ๆ ในเมืองที่มีแต่ตึกปูนแห่งนี้ หรือตามห้างซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง  

"ก็ต้องเจียดตังค์เพื่อเล่นในห้างบ้างก็ต้องยอม จะให้มานั่งเรียน เข้าเรียนแปดโมงเช้า เลิกเรียนบ่ายสาม มีเรียนพิเศษถึงสี่โมงเย็น เฮ้ย เรียนกี่ชั่วโมง นี่เท่าเวลาทำงานเลยนะ" ไนท์ กล่าว

ส่วนกิจกรรมเล่นโรลเลอร์เบลด ไนท์ สะท้อนว่า "อยากเล่นเหมือนเด็ก อยากลอง อยากเรียนรู้ มันสนุก ถ้าอยากสอนเด็ก ต้องให้เด็กสนุก และพื้นที่สนามหลวงเคยเป็นที่เล่นมาก่อน ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ มันไม่ควรจะเอามากั้นอย่างนี้" 

"เป็นห่วงเด็กทุกคน แต่ถ้าไม่ออกมาก็ต้องทนอยู่แบบนี้ ก็เลยต้องออกมา ไม่มีอิสรภาพประเทศไหนที่แลกออกมาได้ โดยการนั่งคอยไปวัน ๆ" ไนท์ ทิ้งท้ายโดยบอกเล่าถึงความรู้สึกการออกมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และอยากจะชวนคนอื่น ๆ มาร่วมเรียกร้องด้วยกัน เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ลูกหลานของเราก็ต้องออกมาเปลี่ยนแปลงอยู่ดี  

ไนท์ คุณพ่อลูกหนึ่งมาทำกิจกรรมที่สนามราษฎร
 

จุดเทียนไขส่องไฟใส่กะลา

นอกจากนี้ยังมี สุพัตรา ประชาชนใน กทม. ที่เดินทางมาจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณสนามหลวงร่วมกับสามี โดยนำกะลามะพร้าวจำนวนหนึ่งมาวางเรียงเป็นตัวเลข 112 พร้อมจุดเทียนด้านบน เพื่อสะท้อนว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เปรียบเสมือนความคิดล้าหลังที่ติดอยู่ในกะลา

"ความคิดของสังคมไทยมันยังเหมือนว่าอยู่ในกะลา ต้องการให้เราทะลุออกจากกะลา เพราะโลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ถ้าเรายังอยู่ในทัศนคติและมุมมองแบบเดิมๆ เราจะก้าวไม่ทันโลก" สุพัตรา กล่าว

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ จุดเทียนส่องกะลา โดยสุพัตรา
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ จุดเทียนส่องกะลา โดยสุพัตรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net