ศาลปกครองรับฟ้อง กรณี กขค. มีมติควบรวม 'ซีพี-เทสโก้'

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยศาลปกครองรับฟ้อง กรณี กขค. มีมติควบรวม 'ซีพี-เทสโก้' อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3 เม.ย. 2564 เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​

ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564

ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อน
การพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ในกรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีมติอนุญาติให้บริษัท ซีพี และบริษัทเทสโก้ควบรวม ต่อศาลปกครองในวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยสาระสำคัญของการฟ้องมีเนื้อหา ดังนี้

มตินี้อาจขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีแข่งขันทางการค้ามากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม ปล่อยให้บริษัทที่มีส่วนแบ่งในตลาดอยู่แล้วมากถึงร้อยละ 69.3 ก่อนการควบรวม ให้ได้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.97 หลังการควบรวม ซึ่งมตินี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากทำให้เกิดการผูกขาดสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ ที่ขาดอำนาจการต่อรอง และทำลายโอกาสการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับคู่แข่งเดิมและคู่แข่งหน้าใหม่ และเมื่อจำนวนผู้แข่งขันลดลง ย่อมทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าน้อยลง จนทำให้ผู้บริโภคอาจตกอยู่ในภาวะที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนั้นแล้ว คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีการกำหนดกรอบในการลงมติของคณะกรรมการเป็นการกำหนดกรอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะไม่มีสิทธิกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท