การศึกษาฉบับล่าสุดชี้ประเทศไทยควรเร่งขจัดวงจรการไร้สัญชาติ

การศึกษาฉบับล่าสุดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สหภาพยุโรปและองค์การยูนิเซฟ ชี้แม้ไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ปัจจุบันผู้คนอีกหลายแสนคน รวมถึงเด็กอีกกว่า 200,000 คน ยังคงไร้สัญชาติหรือยังคงไม่ได้รับการลงทะเบียนและไม่มีเอกสารระบุตัวตน ทำให้พวกเขามักเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การถูกละเมิด การถูกแสวงผลประโยชน์ และการเลือกปฏิบัติ

ฝ่ายสื่อสาร องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ว่า การศึกษาฉบับล่าสุดซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สหภาพยุโรปและองค์การยูนิเซฟ  ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ในปัจจุบัน ผู้คนอีกหลายแสนคน รวมถึงเด็กอีกกว่า 200,000 คน ในประเทศไทยยังคงไร้สัญชาติหรือยังคงไม่ได้รับการลงทะเบียนและไม่มีเอกสารระบุตัวตน ทำให้พวกเขามักเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การถูกละเมิด การถูกแสวงผลประโยชน์ และการเลือกปฏิบัติ

การศึกษา ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปี สถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย (2515-2563) (Invisible Lives: 48 Years of the Situation of Stateless Children in Thailand (1972-2020) ซึ่งเผยแพร่วันนี้ จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป  และองค์การยูนิเซฟ  ซึ่งได้ให้ภาพรวมและวิเคราะห์อุปสรรคที่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยต้องเผชิญในการพัฒนาสถานะและขอสัญชาติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การศึกษาชิ้นนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบาย และทางปฏิบัติ รวมถึงพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง  มุ่งหวังให้กระบวนการพัฒนาสถานะ และสัญชาติไทย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

นอกจากการศึกษาฉบับนี้แล้ว ยูนิเซฟยังได้เปิดตัแคมเปญชีวิตที่มีตัวตน (Lives Untold: Invisible No More) ซึ่งสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและความยากลำบากที่เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยกำลังเผชิญในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งให้สังคมตระหนักว่าเด็กทุกคนต่างมีสิทธิที่จะมีสัญชาติ และไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติใดหรือไร้สัญชาติ เด็กทุกคน คือ #ชีวิตที่มีตัวตน แคมเปญนี้ยังได้เรียกร้องให้ผู้คนในสังคมร่วมสนับสนุนให้เด็กไร้สัญชาติ มีโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการทางสาธารณสุข และการปกป้องคุ้มครอง เช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ

ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิเด็กรวมถึงสิทธิในการมีสัญชาติถือเป็นสิทธิมนุษยชน เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และมีชิวิตอยู่ได้โดยปลอดจากภัยคุกคามและการข่มขู่ทุกรูปแบบ ในสนธิสัญญาลิสบอนซึ่งเป็น รากฐานของธรรมนูญยุโรปที่บังคับใช้ในปี 2552 ได้ระบุ

ไว้อย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการปกป้องสิทธิของเด็กทั้งในยุโรปและทั่วโลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเช่นยูนิเซฟ รัฐบาลไทย องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ เราร่วมสนับสนุนให้มีการเข้าถึงบริการในการจดทะเบียนเกิดของเด็กทุกคนอย่างทั่วถึง  สหภาพยุโรปพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานในการรับมือกับปัญหาเรื่องไร้สัญชาติและไร้รัฐในสถานการณ์ที่ท้าทายของการระบาดของโควิด -19”

นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ภาวะไร้สัญชาติมักมีสภาพปัญหาเป็นวงจรสืบเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ชีวิตที่ไร้ตัวตนจากการไร้สถานะทางกฎหมาย ทำให้เด็กต้องพบกับข้อจำกัดในการใช้ชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่แรกเกิด พวกเขามักตกอยู่ในวงจรความยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การรักษาพยาบาล หรือการปกป้องคุ้มครอง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พวกเขามักเสี่ยงต่อความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอาเปรียบและถูกแสวงประโยชน์ อีกทั้งมีแนวโน้มต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายหรือเป็นงานที่ได้รับผลตอบแทนต่ำ นอกจากนี้ พวกเขายังขาดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถลงคะแนนเสียง ยิ่งไปกว่านั้น เด็กกลุ่มนี้ยังไม่มีเอกสารการเดินทาง เช่น หนังสือเดินทาง การที่ต้องพบเจออุปสรรคมากมายในชีวิต ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่เด็กไร้สัญชาติจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ หรือสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่และทำตามความฝันได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรที่ต้องตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยปี 2562 ระบุว่า มีบุคคลไร้สัญชาติมากกว่า 539,000 คนในประเทศไทย  ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กราว 206,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนากฎหมายและนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่การศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า  ปัญหาหลักยังคงอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ไมว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอ หรือการกำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น ตลอดจนการที่เจ้าหน้าที่บางคนยังมีทัศนคติทางลบต่อเด็กและบุคคลไร้สัญชาติ ในขณะเดียวกัน ยังพบอุปสรรคอื่น ๆ ที่เกิดในกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติเอง เช่น พ่อแม่ไม่ทราบขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิด ขาดข้อมูลในการขอสถานะทางกฎหมายหรือการขอสัญชาติ หรือกลัวที่จะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานะของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

นางคิม กล่าวเพิ่มเติมว่า การยุติวงจรไร้สัญชาติต้องอาศัยความมุ่งมั่น และการลงทุนทั้งในด้านเจ้าหน้าที่และงบประมาณที่เพียงพอ พร้อม ๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อบุคคลไร้สัญชาติ ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนรัฐบาล ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเร่งดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการจดทะเบียนเกิด ได้พัฒนาสถานะทางกฎหมายและมีสัญชาติ ซึ่งล้วนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

การศึกษาชิ้นนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะหลักเพื่อช่วยแก้ปัญหาและยุติภาวะไร้สัญชาติในประเทศไทย เช่น

  • พัฒนาหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติงานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนการเกิด  เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะได้รับการจดทะเบียนการเกิด และเด็กที่ตกหล่นจากการจดทะเบียนการเกิดจะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ
  • ยืดหยุ่นและผ่อนคลายหลักเกณฑ์ทางกฎหมายบางข้อในการพัฒนาสิทธิในสัญชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและวิถีชีวิตของเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย เช่น การผ่อนคลายคุณสมบัติทางการศึกษาของเด็ก
  • รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการตระหนักถึงสิทธิในการมีสัญชาติของเด็กทุกคน พร้อมมีทักษะในการ ปฏิบัติงาน เพื่อให้การแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นไปอย่างยุติธรรม ครอบคลุม และไม่แบ่งแยก
  • พัฒนาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเพื่อให้เด็กและครอบครัวมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ในระหว่างที่เด็กและครอบครัวเหล่านั้นกำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์พัฒนาสถานะ

 

ดาวน์โหลดผลการศึกษา ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปีสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย https://www.unicef.org/thailand/reports/invisible-lives

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม แคมเปญ ชีวิตที่มีตัวตน Lives Untold: Invisible No More ได้ที่ https://www.unicef.org/thailand/th/livesuntold

ติดตามหรือรับชมย้อนหลัง การนำเสนอผลการศึกษา ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปีสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย https://www.facebook.com/watch/?v=489686982184505

เกี่ยวกับความร่วมมือ

สหภาพยุโรปได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 10.5 ล้านยูโร (ประมาณ 379 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนองค์การยูนิเซฟในการดำเนินงานปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลางจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ไทย   บังกลาเทศ มาเลเซีย เมียนมาร์ และอุซเบกิสถาน เงินทุนนี้ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมุ่งหวังให้การดำเนินการนี้เข้าถึงเด็ก ๆ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน หรือถูกบังคับให้พลัดถิ่นไม่ว่าภายในประเทศ หรือข้ามพรมแดน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท