นัดวีโว่ตรวจหลักฐานคดีอั้งยี่ 12 ก.ค.-กระเดื่อง ‘Free Arts’ เลื่อนไต่สวนละเมิดอำนาจศาล

ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐานคดี 'อั้งยี่-ซ่องโจร' ของกลุ่มวีโว่ จากกรณีถูกจับที่ห้างเมเจอร์ฯ วันที่ 12 ก.ค.64 ด้านกระเดื่อง จากกลุ่ม Free Arts เลื่อนไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลจากกรณีชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดา 29 เม.ย. ไปวันที่ 18 มิ.ย.64 แต่ต้องวางเงินประกัน 10,000 บาท 

สมาชิกกลุ่ม We Volunteer หรือวีโว่ จำนวน 45 คน และ 'โตโต้' ปิยรัฐ จงเทพ ขณะใส่ชุด PPE มาที่ศาลอาญา รัชดา (ที่มา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน)

20 พ.ค.64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสำนักข่าวราษฎร รายงานเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ระบุว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอาญา รัชดา นัดสอบคำให้การในคดีหมายเลขดำ อ. 920/2564 ที่ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ และสมาชิกกลุ่ม 'We Volunteer' หรือวีโว่ รวม 45 คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่โดยฯ, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมฯ, กระทำการซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ, ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ, หลบหนีไปจากการถูกคุมขังฯ จากกรณีถูกจับกุมที่เมเจอร์รัชโยธิน ในวันที่ 6 มี.ค.64 โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 12 ก.ค.64

ทั้งนี้ บรรยากาศการรายงานตัวของกลุ่มสมาชิกวีโว่วันนี้ ทั้งหมดร่วมกันแต่งชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ พีพีอี โดยกลุ่มวีโว่ ชี้แจงการใส่พีพีอีมาศาลในวันนี้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก เพจ 'We Volunteer' ซึ่งเป็นเพจทางการของกลุ่มวีโว่ ระบุว่า "เป็นมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ" 

เลื่อนไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของกระเดื่อง 'Free Arts' แต่ต้องวางเงินประกัน 1 หมื่นบาท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดไต่สวน พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือ กระเดื่อง สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก หรือ Free Arts หลังจากก่อนหน้านี้เขาได้รับหมายเรียกไต่สวนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ประกันแกนนำราษฎร 7 คน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา โดยคดีมีผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือ กระเดื่อง สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก หรือ Free Arts
 

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชน และกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน เข้ารวมตัวกันเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ศาลอาญา นอกจากนี้ ยังมีความพยายามยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งมีการยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัตน์” ที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ต่อมา ศาลมีการออกหมายเรียกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรมทั้งหมด 6 คน ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง นักศึกษาสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรี, พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือกระเดื่อง และ เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่ม Free Arts โดยแยกดำเนินคดีเป็นรายบุคคล รวมเป็น 6 คดี

สำหรับกรณีของพิสิฎฐ์กุล ต่อมา ได้ทราบพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุปว่า พิสิฏฐ์กุลได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลบริเวณหน้าบันไดบริเวณทางขึ้น ด้านหน้าศาลอาญา รัชดา ในลักษณะที่ก่อความวุ่นวาย โดย พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันและปราบปราม สน.พหลโยธิน ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่เชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตาม 

ผู้กล่าวหายังกล่าวหาว่า พิสิฏฐ์กุลได้พูดตะโกนด่าด้วยถ้อยไม่สุภาพอยู่หลายครั้ง และยังได้ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ทั้งได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์กับกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อก่อความ วุ่นวายให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 จึงให้เรียกมาไต่สวนฐานละเมิดอํานาจศาลและลงโทษ ตามกฎหมายต่อไป

ศาลเลื่อนนัดไต่สวน เหตุทนายเพิ่งได้รับคำร้อง

ในวันนี้ ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจกระเป๋าผ่านเครื่องสแกนโลหะเท่านั้น ไม่ได้มีแผงเหล็กกั้น หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตรึงกำลังในจุดตรวจใดๆ พร้อมทั้งไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิหรือการลงทะเบียนก่อนเข้าพื้นที่ศาลอย่างวันที่มีการตัดสินคดีใหญ่ๆ 

เวลา 14.10 น. ห้องพิจารณา 704 ศาลขึ้นบัลลังก์ วันนี้ทนายความและผู้ถูกกล่าวหามาศาลตามนัด แต่เนื่องจากผู้กล่าวหาได้รับเพียงหมายนัด และเพิ่งได้ทราบรายละเอียดข้อกล่าวหา สำหรับการไต่สวน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเช่นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอื่น ทนายความและผู้ถูกกล่าวหาจึงแถลงขอเลื่อนการไต่สวนคดีออกไป

ทนายความยังระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งได้รับสําเนาคําร้อง และได้ดูภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริงมากพอสมควร จึงขอเวลาไปตรวจสอบพยานหลักฐาน พร้อมทั้งแถลงขอคัดถ่ายดีวีดีทั้งสองแผ่นและขอคัดถ่ายบันทึกรายงานการสืบสวนกรณีกลุ่มบุคคลมาชุมนุมหน้าศาลอาญา และข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 และขอให้ศาลสอบคําให้การในนัดหน้า โดยผู้กล่าวหาไม่ได้คัดค้านการเลื่อนคดี

ศาลจึงได้สั่งเลื่อนการไต่สวนออกไป ระบุกรณีมีเหตุอันสมควรเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนในวันที่ 18 มิ.ย.64 เวลา 9.00 น. ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน 

พร้อมทั้งกําชับให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนําพยานหลักฐานมาให้พร้อมไต่สวน รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ หมายขังเว้นแต่มีประกัน และให้ออกหมายเรียก พ.ต.ต.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน มาในนัดหน้าตามที่ผู้กล่าวหาแถลง

เวลา 17.17 น. หลังศาลสั่งให้รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ ทำให้ต้องมีการขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกัน 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เท่าสัญญาประกัน ผิดสัญญาประกันปรับเต็มสัญญาประกัน

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลปรากฎตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 กำหนดโทษจำคุกไว้ได้ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล โดยศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวน และลงโทษผู้กระทำผิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง ข้อหานี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเป็นกฎหมายในส่วนแพ่ง แต่มีกำหนดบทลงโทษทางอาญาคือจำคุกเอาไว้ด้วย แม้ในทางทฤษฎีจะถือว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม

สำหรับทั้ง 6 นักกิจกรรมที่ถูกตั้งเรื่องไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลนั้น ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย และศาลอาญาได้ออกหมายจับทั้งหก โดยกรณีของพิสิฎฐ์กุล ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา และฝากขังกับศาลอาญาทุจริตฯ โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท