Skip to main content
sharethis

อัยการกรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้อง 'นิว' จตุพร แซ่อึง ตามความผิด ม. 112 ปมแต่งกายชุดไทยร่วมกิจกรรมแคตวอล์กราษฎร ถนนสีลม เมื่อ 29 ต.ค. 63 ก่อนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ สั่งปล่อยตัวชั่วคราว นิว เมื่อเวลา 13.00 น.พร้อมเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียชื่อเสียงสถาบันฯ และห้ามออกนอกประเทศ พร้อมกันนี้ ฝั่งอัยการ ถนนรัชดาภิเษก สั่งฟ้อง แกนนำและสมาชิกคณะราษฎรรวมทั้งหมด 14 คน ความผิด ม.116 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่นๆ จากกรณีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดยเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 

'นิว' จตุพร แซ่อึง ถ่ายวันที่ 15 ก.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง (ที่มา iLaw)

15 ก.ค. 64 ไอลอว์ โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล 'ทวิตเตอร์' วันนี้ (15 ก.ค.) ระบุว่า เวลา 10.15 น. อัยการกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง มีความเห็นสั่งฟ้อง 'นิว' จตุพร แซ่อึง หญิงวัย 24 ปี ชาวบุรีรัมย์ ตามความผิดคดีมาตรา 112 กรณีแต่งชุดไทยในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 'แคตวอล์กราษฎร' เดินแฟชั่นหน้าวัดพระศรีอุมาเวที หรือวัดแขก ถนนสีลม นัดรวมตัวโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า เป็นการแต่งกายเลียนแบบพระราชินี ขณะนี้จตุพรอยู่ที่ห้องเวร ศาลอาญากรุงเทพใต้ และอยู่ระหว่างรอฟังว่า ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อ 13.00 น. ระบุว่า ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว "จตุพร" แซ่อึง ในคดี #ม112 กรณีร่วมชุมนุมที่สีลม วันที่ 29 ต.ค 63 โดยต้องวางหลักทรัพย์วงเงิน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำ หรือเข้าร่วมกิจกรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ หรือทำในลักษณะที่จะถูกฟ้องร้องอีก และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ กิจกรรมแคตวอล์กราษฎร เป็นกิจกรรมสืบเนื่องรายงานในเว็บไซต์ประชาไท เรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ มีส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายโดยตรงของกระทรวงต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 13 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำหรับโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ SIRIVANNAVARI นำไปสู่การจัดกิจกรรมเดินแบบและจัดแสดงศิลปะของประชาชน และเพื่อแสดงออกถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ ไอลอว์ ระบุว่า รูปแบบกิจกรรมเน้นที่การแสดงศิลปะ และแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ไม่มีการปราศรัย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากิจกรรมแคตวอล์กคณะราษฎรถูกจัดในวันเดียวกัน และสถานที่ใกล้เคียงกับแฟชั่นโชว์เปิดตัวคอลเลกชันล่าสุดของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ซึ่งจัดที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล 

ในวันดังกล่าวนิว ไปเข้าร่วมกิจกรรมโดยสวมชุดไทย แม้ว่ากิจกรรมจะยุติลงด้วยความเรียบร้อย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายหลัง โดยนิว ถูกหมายเรียกเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า เธอมีเจตนาแต่งกาย และแสดงท่าทางเสียดสีพระราชชินี  

ในกิจกรรมเดียวกันนี้นอกจาก 'นิว' จตุพรแล้ว สายน้ำ ผู้ร่วมกิจกรรมอีกคนหนึ่งซึ่งขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ถูกดำเนินคดีจากการแต่งคร็อปท็อปมาร่วมเดินแฟชั่นด้วยเช่นกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีนี้คือ วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

#ม็อบ29ตุลา แคตวอล์กราษฎร เดินแฟชั่นโชว์หน้าวัดแขกสีลม

สมาชิก 'บุรีรัมย์ปลดแอก' ได้รับหมายเรียก ม.112 แล้ว

ตร.ปล่อย 'จตุพร' คดีแต่งชุดไทยม.112 ส่วนเด็ก 16 ถูกส่งศาลเยาวชนต่อ

อัยการสั่งฟ้อง 14 แกนนำกลุ่มราษฎร ชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปี 63

ในวันเดียวกัน หลายสำนักข่าว รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก แกนนำคณะราษฎร พร้อมแนวร่วม ทั้งหมด 14 คน ได้แก่ 1. นายอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ 2. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 3. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง 4. นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 5. นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี 6. นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ 7. นายกรกช แสงเย็นพันธ์ 8. นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก 9. นายธนายุทธ ณ อยุธยา 10. นายบารมี ชัยรัตน์ 11. นายทศพร สินสมบุญ 12. นายเดชาธร บำรุงเมือง 13. นายธานี สะสม และ 14. นายภานุมาศ สิงห์พรม เดินทางมาฟังคำสั่งคดีที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ส่งสำนวน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง แกนนำและแนวร่วมคณะราษฎร รวม 14 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่น มาตรา 215 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ หรือ Free Youth ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 

บรรยากาศการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกคณะราษฎร 5 คนไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งอัยการได้ ประกอบด้วย ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ อยู่ในระหว่างการกักตัว 14 วัน นายภาณุพงศ์ ติดรายงานตัวรับทราบคำสั่งอัยการที่ จ.ระยอง ขณะที่อีก 2 คน คือ นายภานุมาศ สิงห์พรม เเละนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ไม่สามารถติดต่อได้

ต่อมา เวลา 10.59 น. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย ในความผิดมาตรา 116 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนี้ก็จะประสานพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามมายื่นฟ้องต่อศาลต่อไป โดยวันนี้ทางพนักงานอัยการจะยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาจำนวน 11 คนก่อน ประกอบด้วยผู้ต้องหาที่มารายงานตัวกับ นายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ เนื่องจากตัวอยู่ในอำนาจศาลในคดีอื่น ส่วนอีก 3 คนจะเเยกฟ้องในวันอื่นต่อไป

สำหรับการประกันตัวผู้ต้องหาที่มาในวันนี้ ทางทีมทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เตรียมหลักทรัพย์ไว้ในวงเงิน 35,000 บาทต่อคน โดยจะใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และส.ส. รวม 5 คน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม และนายธัญวัจน์​ กมลวงศ์วัฒน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​พรรคก้าวไกล​ ในการค้ำประกันตัวในคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64 เวลา 0.30 น. ระบุว่าเวลา 14.30 น. ภายหลังอัยการสั่งฟ้อง ทั้ง 9 คนถูกนำตัวไปยังห้องเวรชี้ โดยทั้งหมดให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ทนายความได้ยื่นประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยศาลตีวงเงินประกันตัวคนละ 35,000 บาท ยกเว้นสุวรรณา ตาลเหล็ก และกรกช แสงเย็นพันธ์ ซึ่งศาลตีวงเงินประกันตัวคนละ 70,000 บาท เนื่องจากเคยต้องคดีที่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 ที่ศาลแขวงดุสิต โดยทั้ง 11 คน ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคก้าวไกล จำนวน 5 คน เพื่อยื่นประกันตัว 

เมื่อเวลา 17.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด และได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ยังไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุมทั้งหมดด้วย บางรายเพียงแต่ถูกเชิญขึ้นร่วมปราศรัย หรือบางรายเป็นนักดนตรีเพลงแร็ปที่ขึ้นทำการแสดงโดยไม่ได้ปราศรัย หรือกรณีทศพร ก็ไม่ได้ขึ้นร่วมปราศรัยแต่อย่างใด เพียงแต่ถูกกล่าวหาจากป้ายข้อความที่นำมาชูในที่ชุมนุม 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กลุ่มเยาวชนนัดชุมนุมเรียกร้องยุบสภา-ร่าง รธน.ใหม่ ตร. อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุม

สั่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุม #18กรกฎา อีก 15 คน ที่ศาลแขวงดุสิต ข้อหาหลัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ที่ศาลแขวงดุสิต เวลา 13.00 น. นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 นัดฟังคำสั่งฟ้องคดีในส่วนของผู้ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก จำนวน 15 คน ได้แก่ ทักษกร มุสิกรักษ์, ปรัชญา สุรกำจรโรจน์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, กฤษณะ ไก่แก้ว, ยามารุดดิน ทรงศิริ, พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ, สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ณัฐพงษ์ ภูแก้ว, ธนชัย เอื้อฤาชา, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, จิรฐิตา ธรรมรักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่, กานต์นิธิ ลิ้มเจริญ และ ลัลนา สุริโย 

บรรยากาศการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดย เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63

ทั้ง 15 คน ถูกสั่งฟ้องจำนวน 5 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน และพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะกีดขวางการจราจร 

จาก 5 ข้อกล่าวหา มีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นที่มีอัตราโทษจำคุก ขณะที่ข้อหาอื่นๆ มีอัตราโทษปรับเท่านั้น

ทั้งนี้ สิรินทร์ มุ่งเจริญ ยังถูกฟ้องในข้อหาเรี่ยไรในถนนหลวงหรือที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร เพิ่มอีกข้อหาหนึ่ง เหตุจากการถือกล่องขอรับบริจาคเงินจากผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อสำหรับทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน อยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ด้วย ข้อหานี้มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน

พนักงานอัยการยังระบุว่า 'ไผ่' จตุภัทร เคยถูกลงโทษในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกลับมากระทำผิดซ้ำอีกภายในเวลา 5 ปี นับจากพ้นโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษตามกฎหมายด้วย

เวลา 15.00 น. ทนายความได้ยื่นปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ จนเวลา 16.30 น. ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้ปฏิญาณตนตามความเชื่อ และไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเหตุที่อัยการเร่งสั่งฟ้องในทั้งสองคดีจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เนื่องเพราะในข้อกล่าวหาที่มีเพียงอัตราโทษปรับ จะมีอายุความไม่เกิน 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ ทำให้จะไม่สามารถฟ้องในข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้ ทำให้ต้องมีการสั่งฟ้องในช่วงไม่กี่วันก่อนครบรอบ 1 ปี การชุมนุมครั้งนี้ที่กำลังจะมาถึง 

 

หมายเหตุ ประชาไทมีการอัปเดตเนื้อหามาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64 เวลา 0.54 น.  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net