Skip to main content
sharethis

เนื่องในโอกาสที่ปีนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา และครบรอบ 46 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มการเมืองไทยหลายกลุ่มที่เข้าร่วมการเฉลิมฉลองดังกล่าว ทั้งแกนนำพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ามีการชื่นชมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเปิดเผย เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชื่นชมว่า นโยบายจีนได้ทำให้ประเทศพ้นจากกับดักความยากจนกลายเป็นประเทศพัฒนา โดยมีมณฑลกวางสีเป็นต้นแบบ

เหตุใดกลุ่มการเมืองไทยหลายกลุ่มจึงให้ความสำคัญกับการครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในแง่ของการชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฐานะต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมองย้อนกลับมายังกลุ่มการเมืองไทยฝ่ายซ้าย เช่นขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศไทย หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกลับไม่มีโอกาสชื่นชมความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ประชาไทจึงชวน 'ธิกานต์ ศรีนารา' อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยหาคำตอบในประเด็นว่าด้วยมุมมองของกลุ่มการเมืองไทยที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน รวมถึงอดีตอันไม่น่าจดจำของรัฐไทยเกี่ยวกับขบวนการฝ่ายซ้ายไทยในอดีต

'ธิกานต์ ศรีนารา' อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แฟ้มภาพ)
 

โมเดลแมวสีไหนไม่สำคัญ…ขอแค่จับหนูได้เป็นพอ

ธิกานต์ กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศจีนในปัจจุบัน ไม่ใช่รัฐในอุดมคติ แต่เป็น “รัฐเผด็จการ” ทางการเมืองที่ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยมีการอ้างหรือสวมหน้ากากว่าตนเองเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ หรือ ประเทศสังคมนิยม ธิกานต์มองว่าการที่จีนยังคงยึดถือจุดยืนการเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ก็เพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกาและระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกซึ่งน่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2520

ธิกานต์กล่าวว่าการที่จีนจำเป็นต้องแข่งขันกับมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่จะไม่เปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการมองว่าประชาธิปไตยคือภัยคุกคาม และภัยคุกคามที่มาจากประชาธิปไตยก็คือภัยคุกคามที่มาจากสหรัฐฯ 

ธิกานต์ อธิบายเพิ่มว่า จีนอ้างว่า ‘การปกครองของจีน คือ วิถีแบบเอเชีย’ หรือ ลักษณะเฉพาะแบบเอเชีย เพื่อต่อต้านแรงกดดันจากตะวันตกและสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งธิกานต์มองว่าการอ้างลักษณะเฉพาะแบบเอเชียของจีนส่งผลให้การปกครองแบบจีนกลายเป็น “แหล่งอ้างอิงที่ชอบธรรม” ของรัฐเผด็จการต่างๆ ในเอเชียที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก คล้ายคลึงกับประเทศไทยในอดีตที่มีการใช้คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” เพื่อต่อต้านประชาธิปไตยแบบตะวันตก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
ร่วมประชุมสุดยอดระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคการเมืองทั่วโลก
(ภาพจากเพจ Chinese Embassy Bangkok)
 

จากเหตุผลข้างต้น ธิกานต์ระบุว่าจีนคอมมิวนิสต์จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับชั้นนำไทย (เจ้าไทย) กลุ่มการเมืองไทย หรือกลุ่มทุนไทยอีกต่อไป อีกทั้งยังกลายมาเป็นแนวร่วมกันต่อต้านประชาธิปไตยและสหรัฐฯ ซึ่งถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นด้วยการที่จีนมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับชนชั้นนำไทย กลุ่มการเมืองไทย และกลุ่มทุนไทย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กลุ่มชนชั้นนำไทย กลุ่มการเมืองไทย และกลุ่มทุนไทย จะมองจีนเป็นในยุคปัจจุบันเป็นพันธมิตรและแหล่งอ้างอิงความชอบธรรม เพราะทั้งสองฝ่ายต่างสมประโยชน์ กล่าวคือ กลุ่มการเมืองไทยและทุนไทยก็ได้แหล่งอ้างอิงสำหรับการปกครองที่ไม่ใชประชาธิปไตย ฝ่ายจีนเองก็ได้ภาพว่าเป็นมหาอำนาจใจกว้างที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เก่าแก่ในเอเชีย

กระแสการหวนคืนของการปลุกผีคอมมิวนิสต์ในยุคปัจจุบัน

ความพยายามปลุกผีคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย โดยเฉพาะจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ดังจะเห็นได้จากการกลับมาของ ‘เพลงหนักแผ่นดิน’ หรือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวเมื่อปี 2562  โดยระบุถึง “นักวิชาการ ฝังชิพเรื่องความเป็นคอมมิวนิสต์อยู่” ซึ่งธิกานต์มองว่า ความพยายามในการปลุกผีคอมมิวนิสต์ในยุคปัจจุบัน คือ ‘เรื่องตลก’ และ ‘ความล้าสมัย ไม่ทันโลก’ เพราะปฏิปักษ์ที่แท้จริงของระบอบเผด็จการคือระบอบประชาธิปไตยและสาธารณรัฐ อีกทั้งการปลุกผีคอมมิวนิสต์ยังย้อนแย้งและขัดแย้งกับความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีนของตนเองอีกด้วย

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. (ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น)
บรรยายพิเศษบทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคง
 

ธิกานต์วิเคราะห์ว่าชนชั้นนำไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่เติบโตมาภายใต้การครอบงำของความคิดเรื่อง “ผีคอมมิวนิสต์” ซึ่งถูกสร้างโดยสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยชนชั้นนำไทยในตลอดสมัยสงครามเย็น ซึ่งตรงกับช่วง พ.ศ. 2490-2520 ดังนั้น ชนชั้นนำไทยจึงไม่มีความรู้อย่างอื่น รวมทั้งไม่เข้าใจกระแสความคิดทางการเมืองแบบอื่น เช่น ระบอบประชาธิปไตย หรือ ระบอบสาธารณรัฐ ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการ นอกจาก “ผีคอมมิวนิสต์” 

ธิกานต์ยังเสริมอีกว่าที่ผ่านมาชนชั้นนำไทยไม่เคยแยก “คอมมิวนิสต์” และ “สังคมนิยม” ออกจากการต่อต้านและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือชนชั้นนำไทยมองว่าใครก็ตามที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนแต่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยชนชั้นนำไทยมีมุมมองและความคิดแบบดังก่าวมาอย่างยาวนาน

นับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2475 ชนชั้นนำไทยก็ไม่แยก ‘คอมมิวนิสต์’ กับ ‘สังคมนิยม’ ออกจากกัน จะเห็นได้จากกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกโจมตีจากชนชั้นนำว่าเป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ปรีดีจะอ้างว่าเขียนขึ้นตามแนวคิดแบบสังคมนิยม จนกระทั่งในเวลาต่อมาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็กลายมาเป็นไปเพื่อปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเน้นที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก

ธิกานต์กล่าวว่า ในทางกลับกัน สมมุติฐานของ พล.อ.อภิรัชต์ ก็ถูกสนับสนุนให้ดูเป็นจริง ด้วย “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีการฉวยใช้ “สัญลักษณ์” ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอดีตมาเคลื่อนไหว เช่น การใช้ภาษา อาทิคำว่า “ปลดแอก” การใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียว และการเสนอความคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีการอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักวิชาการไทยในวาระต่างๆ ดังนั้นสมมุติฐานที่ว่า “วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ = ล้มเจ้า” และ “ล้มเจ้า = คอมมิวนิสต์” ตามนิยามโดยกลุ่มชนชั้นนำไทยจึงดูเหมือนจริง ทั้งนี้ ต้องอธิบายว่าคอมมิวนิสต์ในแง่นี้ของชนชั้นนำ คือ คอมมิวนิสต์ในแบบสงครามเย็น ไม่ใช่แบบจีนในยุคปัจจุบันที่มีการปฏิรูปแล้ว

ทำไมขบวนการฝ่ายซ้ายไทย และ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถึงไม่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว

ธิกานต์ อธิบายในประเด็นแรกว่า เป็นเพราะความขัดแย้งภายในระหว่างฝ่ายซ้ายรุ่น 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางและกลุ่มปัญญาชนที่มีการศึกษา คนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่มีบรรยากาศอิสระทางความคิดและประชาธิปไตย และ มีการจัดตั้งองค์กร  รับแนวคิดแบบมาร์กซิสม์จากหลากหลายทางทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก และมีความเป็นชาตินิยมสูง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบด้วยลูกคนจีนเป็นส่วนใหญ่และเป็นการผสมกันระหว่างปัญญาชนและกลุ่มที่ไม่ใชปัญญาชน เติบโตท่ามกลางยุคเผด็จการทหารและบ่มเพาะจากนักปฏิวัติรุ่นเก่า ส่วนมากรับแนวคิดมาร์กซิสม์จากจีนเป็นหลัก เนื่องจากเรียนในประเทศจีน ใช้ชีวิตอยู่ในจีน มีลักษณะความเป็นสากลนิยมสูง คือ เติบโตมากับการมีปฏิสัมพันธ์กับหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ และ ส่วนมากเคลื่อนไหวการปฏิวัติมาตลอดชีวิต

 

ในประเด็นถัดมา ธิกานต์มองว่า ความขัดแย้งกันระหว่างคอมมิวนิสต์ในระดับสากลก็มีผลต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เช่น การที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องพึ่งพิงการสนับสนุนจากจีนเป็นหลัก แต่จีนขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นพันธมิตรกับลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ส่งผลให้เส้นทางความช่วยเหลือจากประเทศจีนซึ่งต้องผ่านประเทศเหล่านี้ถูกสกัดส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขาดการสนับสนุน และ เมื่อจีนเปลี่ยนนโยบายความสำคัญกับประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2520 ก็ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขาดการสนับสนุนมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ธิกานต์ ยังเสริมว่า ประเทศไทยต่างจากลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ตรงที่ทั้งลาว กัมพูชา และ เวียดนาม มีบาดแผลร่วมกันผ่านการเป็นอาณานิคมส่งผลให้ทั้งสามประเทศมีการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมโดยตรง ส่งให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประสบความยากลำบากในการปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านสหรัฐฯ เพราะ คนไทยไม่เคยมีบาดแผลเหมือนประชาชนในอินโดจีน

และสุดท้าย คือ ในช่วงสงครามเย็น รัฐไทยนับตั้งสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมารัฐไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมาก โดยเกิดจากการที่สหรัฐฯ สถาบันกษตริย์ และ กองทัพ มีการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นในการปราบคอมมิวนิสต์

ปราบคอมมิวนิสต์: อาชญากรรมโดยรัฐกับบาดแผลที่สังคมไทยถูกทำให้ลืม

ธิกานต์มองว่าความทรงจำเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยควรถูกรื้อฟื้นอย่างต่อเนื่องไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น จัดงานวิชาการ งานวัฒนธรรม งานรำลึก พิพิธภัณฑ์ งานรณรงค์ ไปจนถึงนวนิยาย กวี เพลง หรือ ภาพยนตร์ เนื่องจากเราเป็นฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า และ มีทรัพยากรน้อยกว่า ขณะที่รัฐไทยมีอำนาจมากกว่าส่งผลให้เกิดการทำให้ลืมและบิดเบือนตลอดเวลา

ธิกานต์เสริมว่าความทรงจำที่ถูกรื้อฟื้นต้องแม่นยำและถูกต้องให้มากที่สุด ธิกานต์ย้ำว่า ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเคารพ “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง เช่น กรณีของ 6 ตุลา 2519 เริ่มมีนักวิชาการออกมาช่วยกันอธิบายจนเริ่มมีที่ทางในประวัติศาสตร์ไทย อย่างไรก็ตามก็ยังน้อยอยู่และต้องดำเนินต่อไป 

ภาพโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้ในการปราบลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย
(ภาพจาก Southeast Asia Digital Library ของ Northern Illinois University)
 

ในกรณีประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ธิกานต์มองว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีความอาภัพ เพราะถูกกดทับจากอคติหลายชั้น เช่น ฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ออกมาวิจารณ์ตัวพรรคเอง รวมทั้งปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก็ออกมาวิจารณ์ และที่หนักที่สุด คือ รัฐไทยก็พยายามสร้างภาพให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็น “ผู้ร้าย” ในทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกซ้ำเติมอีก เช่น ความล้มเหลวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในระดับสากลก็ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยดูย่ำแย่ขึ้นไปอีก รวมทั้งการเป็นรัฐเผด็จการในบางประเทศผ่านการอ้างว่าเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทยดูแย่มาก 

ธิกานต์ระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นขบวนการทางการเมืองที่เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 ผ่านการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานและถูกปราบปรามหลายครั้ง แต่ผู้คนมักจดจำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่าง พรรคฯ กับผู้นำนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคฯ ในเขตป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังเป็นขบวนการปฏิวัติที่มี “ชนชั้นล่าง” เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ความรังเกียจพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยของวงวิชาการไทยในปัจจุบันส่งผลให้วงวิชาการไทยละเลยที่จะศึกษา “ชนชั้นล่าง” เหล่านั้น 

“การรื้อฟื้นการศึกษาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงไม่ใช่แค่เพื่อชมยกย่องปลาบปลื้มแบบไม่ลืมหูลืมตา”

เพื่อ “แก้ต่าง” ให้กับขบวนการประชาชนขบวนหนึ่งที่ต่อต้านทุน รัฐ และสถาบันกษัตริย์มาตลอดช่วงสงครามเย็น และขบวนการนั้นพยายามก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และเพื่อศึกษาว่าทำไมประชาชนชั้นล่างจึงเข้าร่วมกับขบวนการนี้เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้จำได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตในความพยายามปฏิวัติครั้งดังกล่าว ธิกานต์กล่าวว่าควรวิพากษ์ทุกความคิดและกระบวนการที่จะทำให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกลืม ไม่เว้นแม้แต่วิพากษ์ความเข้าใจผิดของฝ่ายประชาธิปไตยที่มีต่อขบวนการคอมมิวนิสต์เช่นกัน

“การรื้อฟื้นการศึกษาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงไม่ใช่แค่เพื่อชมยกย่องปลาบปลื้มแบบไม่ลืมหูลืมตา” ธิกานต์กล่าวทิ้งท้าย

นัธทวัฒน์ สมสุรวาณิชย์ ผู้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net