ศธ.-รองโฆษก รบ. ยืนยันฉีดไฟเซอร์ให้ นร. 4 ล้านคน ต.ค. นี้ ด้าน สปพ.บึงกาฬเตรียมเปิดเรียน on site 1 พ.ย. ไม่รอไฟเซอร์

กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน 12-18 ปีให้เสร็จภายใน 1 เดือนหลังได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขในเดือน ก.ย. ขณะที่รองโฆษกรัฐบาลยืนยัน ต.ค. นี้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 4 ล้านคนแน่นอน พร้อมฉะ 'นพดล ปัทมะ' #ขออภัยที่ข่าวสารไปไม่ถึงคุณ ด้าน สพป.บึงกาฬ พร้อมเปิดเรียนเต็มรูปแบบ 1 พ.ย. นี้แม้ยังไม่มีไฟเซอร์

26 ส.ค. 2564 วันนี้ (26 ส.ค. 2564) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาแก่ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้นักเรียน เพราะขณะนี้โรงเรียนยังเปิดทำการเรียนการสอนไม่ได้ และการเรียนออนไลน์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตนจึงอยากทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับนักเรียนโดยเฉพาะหรือไม่ และจะทำได้เมื่อไร เพราะตนอยากเห็นนักเรียนกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ตรีนุชไม่ได้เป็นผู้ตอบกระทู้นี้ แต่ได้มอบหมายให้กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ชี้แจงแทน โดยนกนวรรณกล่าวว่าจำนวนครูและบุคลากรการศึกษามีเกือบ 900,000 คน ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 600,000 คน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564) และเหลือบุคลากรอยู่ประมาณ 320,000 คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะเดียวกัน นักเรียนอายุ 12-18 ปีทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 4,000,000 กว่าคน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตั้งงบประมาณซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียน แต่ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่าเมื่อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งสามารถฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี เข้ามาปลายเดือน ก.ย. 2-3 ล้านโดส กระทรวงศึกษาธิการจะวางแผนยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระจายวัคซีนไปฉีดให้นักเรียน 4,000,000 กว่าคนโดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการฉีดวัคซีนให้นักเรียนตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ แต่ต้องดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถเปิดเรียนเต็มรูปแบบได้หรือเปล่า

รองโฆษกรัฐบาลยืนยันเริ่มฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 4 ล้านคน ต.ค. นี้

26 ส.ค. 2564 เวลา 15.54 น. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า "ทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์เข้ามา ประมาณตุลาคมนี้ รัฐบาลจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้นักเรียน อายุ 12-18ปี จำนวน 4 ล้านคนทั่วประเทศค่ะ #ขออภัยที่ข่าวสารไปไม่ถึงคุณ" พร้อมแนบรูปบันทึกหน้าจอพาดหัวข่าวจากสยามรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวกับการทวงถามไปยังรัฐบาลของนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย กรณีการจัดหาวัคซีน mRNA ซึ่งระบุว่า 'เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนปีนี้ ไม่ใช่รอไปปีหน้า 2565 ตามที่แถลง'

 

ต่อมา นพดลได้มาตอบกลับทวีตของรองโฆษกรัฐบาล โดยระบุว่า "ข้อมูลถึงผมคือข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่แถลงในวันที่ 21 สิงหาคมครับ กรุณาไปตรวจสอบ" โดยผู้สื่อข่าวประชาไทได้ตรวจสอบข้อมูลการแถลงจากหน่วยงานรัฐในวันที่ 21 ส.ค. ตามที่นพดลกล่าว พบว่า สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 ว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า "ปี 2565 ศบค. เห็นชอบแผนจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ครอบคลุมกลุ่มเด็ก และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกรูปแบบ ทั้ง mRNA, Viral vector, เชื้อตาย และอื่นๆ โดยจะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 50 ล้านโดส แอสตราเซเนก้าอีก 50 ล้านโดส โดยหากบริษัทผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 สำเร็จ มีข้อมูลรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะให้ส่งมอบเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งทั้งปริมาณ กำหนดการส่ง และราคา อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และทำข้อตกลงสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งสัญญาของปี 2564 ไม่เกี่ยวเนื่องกับปี 2565 และไม่เกี่ยวข้องกันตามที่สื่อโทรทัศน์บางแห่งได้กล่าวอ้าง"

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 ข่าวสดออนไลน์ รายงานโดยอ้างอิงคำพูดของ นพ.โอภาส ซึ่งระบุว่า "อีกไม่กี่เดือนจะถึงปี 2565 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีนพบว่า อาจจะต้องจำเป็นใช้เข็มที่ 3 และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น กลุ่มเด็ก ที่มีการวิจัยในหลายบริษัท หลายประเทศ เพราะพบว่า หลังจากฉีด 2 เข็มไม่ว่ายี่ห้ออะไร ภูมิคุ้มกันจะตกลง การฉีดเข็มสามจะเป็นการกระตุ้นให้ภูมิสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ปี 2565 จะต้องหาวัคซีนมาเพิ่มเติมเพื่อฉีดใน 2 กลุ่มนี้ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงเสนอความเห็น และผ่านความเห็นชอบของ ศบค.ว่าปี 2565 จะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างน้อย 120 ล้านโดส และวัคซีนมีความหลากหลาย เช่น mRNA ไวรัลเวคเตอร์ เชื้อตาย ฯลฯ" ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักข่าวอื่นๆ เช่น มติชนออนไลน์, สยามรัฐออนไลน์, และข่าวช่อง 8 เป็นต้น อีกทั้งข้อมูลเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนที่เผยแพร่โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคในวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ไม่มีการกล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กในเดือน ต.ค. แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (25 ส.ค. 2564) ไทยพีบีเอสรายงานแผนการจัดหาวัคซีนตามการแถลงของ ศบค. ว่าเดือน ก.ย. นี้จะมีวัคซีนที่มาถึงไทยรวม 15 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส, แอสตราเซเนกา 7 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ส่วนเดือน ต.ค.-พ.ย. จะได้รับวัคซีนรวม 17 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส/เดือน แอสตราเซเนกา 7 ล้านโดส/เดือน เป็นอย่างน้อย ส่วนไฟเซอร์ในเดือน ต.ค. จะได้รับจัดสรร 8 ล้านโดส และเดือน พ.ย.- ธ.ค. จะได้รับอีกเดือนละ 10 ล้านโดส ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มประกาศฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับหญิงตั้งครรภ์และเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น ยังไม่กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กอายุ 12-18 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวแต่อย่างใด

สพป.บึงกาฬ ร่อนหนังสือ 'ด่วนที่สุด' เปิดเทอมเต็มรูปแบบ 1 พ.ย. นี้

วันนี้ (26 ส.ค. 2564) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พลชัย ชุมปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จ.บึงกาฬ มีหนังสือ "ด่วนที่สุด" เกี่ยวกับการเปิดเทอม ส่งถึงถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งในสังกัดใน จ.บึงกาฬ เรื่องการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้เปิดเรียนแบบ On site หรือเปิดเรียนเต็มรูปแบบในสถานศึกษา

หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 25 ส.ค. 2564 ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัดบึงกาฬ อีกทั้งจังหวัดบึงกาฬได้กำหนดให้แต่ละอำเภอใช้สถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามตามลำดับ คือ (1) โรงแรมหรือรีสอร์ท (2) สถานศึกษา (3) วัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬได้พิจารณาในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2564 ณ ห้องประชุมภูทอก ชั้น 2 ศาลากลาง จ.บึงกาฬ มีมติเห็นชอบให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬสามารถตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้

  1. การเปิดเรียนของสถานศึกษาระหว่างวันที่ 1 ก.ย. - 10 ต.ค. 2564 ให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ On Air/On Line/On hand และ On Demand เพื่อความปลอดภัยของครู, บุคลากรทางการศึกษานักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน
  2. การเปิดเรียนของสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป ให้จัดรูปแบบการ เรียนการสอนแบบเต็มรูป (On Site) หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อความปลอดภัยของครู, บุคลากร, นักเรียน และผู้ปกครอง

ทั้งนี้ คมชัดลึกออนไลน์ระบุว่าการเปิดเทอมของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดช่องให้อำนาจที่สามารถดำเนินการได้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม จ.บึงกาฬ ถือเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของ ศบค. เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 จึงสามารถเปิดเรียนเต็มรูปแบบได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการควบคุมโรค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท