Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้หญิงในอัฟกานิสถานจัดการประท้วงในแบบที่หาได้ยากเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ลูกสาวของพวกเขาไปโรงเรียนได้ภายใต้การปกครองของกลุ่มติดอาวุธตอลีบัน โดยต่อรองว่าพวกเขาจะยอมสวมชุดคลุมปิดหน้าที่เรียกว่าบุรกาถ้าหากมีการอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ

 

 

ผู้ประท้วงหญิงประมาณ 50 คนเดินถือป้ายประท้วงไปตามถนนในเมืองเฮราตทางตะวันตกของอัฟกานิสถานพร้อม ประสานเสียงคำขวัญร่วมกันว่า "มันเป็นสิทธิของพวกเราที่จะมีการศึกษา, ได้ทำงาน และมีความปลอดภัย"

ในช่วงแรกสุดที่ตอลีบันยึดอำนาจประเทศก่อนหน้าการบุกรุกของกองกำลังตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ปี 2544 นั้น ผู้หญิงจะถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการศึกษาและการทำงาน มีการบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมเสื้อคลุมหน้าและคลุมตัวแบบที่เรียกว่าบุรกาเมื่อออกมาในที่สาธารณะ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ออกมานอกบ้านพร้อมกับมีผู้ชายมาด้วย ทำให้การประท้วงบนท้องถนนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ได้เลยในยุคนั้น

เฟเรชตา ทาเฮรี หนึ่งในผู้ชุมนุมบอกว่าพวกเขามาเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง และบอกว่าพวกเธอยอมต่อรองแลกเปลี่ยนด้วยการยอมสวมบุรกาถ้าหากพวกตอลีบันบอกให้ทำแต่ต้องแลกกับการให้ผู้หญิงไปโรงเรียนและไปทำงานได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการประท้วงในครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองเฮราตซึ่งเป็นเมืองเส้นทางสายไหมในอดีตมีพื้นที่ติดกับพรมแดนอิหร่าน เป็นเมืองที่มีความเป็นสากลนิยมทางวัฒนธรรมเมื่อเทียบกับศูนย์กลางที่มีความอนุรักษ์นิยมมากกว่า ถึงแม้ว่าในเมืองนี้มีผู้หญิงบางส่วนที่สวมใส่บุรกาก็ตาม

หลังจากที่ตอลีบันยึดอำนาจอัฟกานิสถานสำเร็จในเดือน ส.ค. ที่่ผ่านมา พวกเขาก็กำลังอยู่ในช่วงหารือกันในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถึงแม้ว่าตอลีบันจะให้สัญญาว่าพวกเขาจะทำให้มี "การคำนึงถึงอย่างครอบคลุม" มากขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลแต่ผู้คนจำนวนมากก็สงสัยว่าจะมีตำแหน่งแห่งที่ให้ผู้หญิงในการเมืองของอัฟกานิสถานหรือไม่ ผู้ประท้วงรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเท่าที่เธอมองเห็น ไม่พบว่ามีผู้หญิงในการประชุมของกลุ่มตอลีบัน

ทั้งนี้กลุ่มตอลีบันก็พยายามปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูเป็นสายกลางมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่มีภาพลักษณ์แบบสุดโต่งโดยที่เคยแถลงว่าพวกเขาจะอนุญาตให้ผู้หญิงทำงานได้แต่แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมาย แต่การสร้างภาพลักษณ์ใหม่นี้ก็ยังคงทำให้ผู้คนไม่เชื่อใจ มีผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่ามันจะกลายเป็นแค่การปรับตัวในระยะสั้นๆ เพื่อเรียกร้องการยอมรับจากนานาชาติและได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อไปเท่านั้น

หนึ่งในผู้จัดการประท้วง บาสิรา ทาเฮรี กล่าวว่าเรื่องที่ตอลีบันพูดกันเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลไม่มีการพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงเลย ทาเฮรีบอกว่าเธออยากให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในรัฐบาลด้วยและให้ตอลีบันมีการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้หญิง

นอกจากนี้การยึดอำนาจของตอลีบันก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้หญิงในอัฟกานิสถานเกิดความกังวลและกลัวความปลอดภัยของตัวเอง ทาเฮรีบอกว่ามีผู้หญิงที่เคยทำงานในเฮราตส่วนใหญ่อยู่บ้านในเวลานี้เพราะกลัวความไม่แน่นอนจากกลุ่มตอลีบัน มีผู้หญิงที่ทำงานเป็นหมอและพยาบาลไปทำลานแล้วถูกกลุ่มตอลีบันเย้ยหยันและคุกคามด้วยสีหน้าท่าทาง พวกตอลีบันไม่ได้พูดกับผู้หญิงเหล่านี้โดยตรงแต่แสดงให้หน้าโกรธใส่ผู้หญิงเหล่านี้

ในเรื่องการศึกษาแล้ว มีเด็กผู้หญิงในวัยประถมยังคงเดินทางไปเรียนหนังสือแต่กลุ่มตอลีบันบอกว่าจะให้ระงับการศึกษาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น

การประท้วงนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยถ้าเป็นในช่วงยุคสมัยการตอลีบันปกครองก่อนหน้านี้ เนฮาน นาร์กิส อดีตรัฐมนตรีอัฟกานิสถานที่ลี้ภัยไปนอร์เวย์เพราะการยึดอำนาจของตอลีบันกล่าวว่าอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเทียบกับในช่วงที่ตอลีบันยังคงอำนาจก่อนหน้านี้

กลุ่มตอลีบันเคยทำการยึดอำนาจเมืองหลวงคาบูลได้สำเร็จในปี 2539 หลังจากที่มีสงครามกลางเมืองเป็นเวลาหลายปี ซึ่งหลังจากนั้นความขัดแย้งยังไม่จบลงโดยสิ้นเชิงแต่ยังมีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรบุกอัฟกานิสถานในปี 2544 ในยุคสมัยปี 2539 นั้นกลุ่มผู้หญิงในเฮราตก็เคยพยายามประท้วงเรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติและแสดงการต่อต้านตอลีบันแต่ก็ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง

นาร์กิสกล่าวถึงการแสดงออกต่อต้านตอลีบันในยุคปัจจุบันว่า ในยุคปัจจุบันประชาชนมีความตระหนักรู้กันมากขึ้นแล้วและมีความมุ่งหวังที่แตกต่างออกไปจากในอดีต มีความคาดหวังจากรัฐบาลที่แตกต่างออกไป อีกทั้งโซเชียลมีเดียก็ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมที่คิดเหมือนกันร่วมกันเปล่งเสียงของตัวเอง

ทาเฮรีบอกว่าพวกเขาจะยังคงประท้วงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการทำตามข้อเรียกร้อง อีกทั้งยังหวังว่าการประท้วงของผู้หญิงในเฮราตจะกลายเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้ที่อื่นๆ ทั่วประเทศ "ผู้หญิงในแผ่นดินนี้มีความรู้และได้รับการศึกษา ... พวกเราจะเริ่มต้นจากเฮราตและอีกไม่นานหลังจากนี้ก็จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ" ทาเฮรีกล่าว


เรียบเรียงจาก
Afghan women call for respect in rare protest, France 24, 02-09-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Afghan_Civil_War_(1992%E2%80%931996)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net