Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฉันจำได้ว่ารู้สึกสะพรึง ตอนที่เห็นภาพขาวดำของชายที่ถูกแขวนคอ... ใต้ต้นมะขามต้นนั้น เก้าอี้ตัวนั้น สีหน้าและอารมณ์ของฝูงชนวันนั้น กับบทกวีบทนั้นของจิระนันท์ พิตรปรีชา [1]

ฉันจำได้ว่าน้ำตาไหล คลื่นเหียนในลำคอ ราวกับได้กลิ่นคาวเลือดโชยออกมาจากภาพนั้น

ฉันจำได้ไม่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตฉันหลังจากวันนั้น

จำได้ชัดๆอีกที ก็ตอนที่ยืนอยู่บนรถเมล์สายหนึ่งในกรุงเทพฯ ท่ามกลางคนแปลกหน้า ฉันจ้องไปในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ น้ำตาซึมให้กับรูปหนังสือพิมพ์เก่าที่เปิดเผยอย่างไม่เหนียมอายว่าใครบ้างที่เข้าไปเยี่ยมและให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้านหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ฉันรู้สึกว่าบางส่วนข้างในมันแตกสลาย บางอย่างข้างในมันได้ตายไปกับพร้อมการรับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันได้ฆ่าทำลายความเข้าใจที่เกี่ยวกับความเป็นไทยและความเป็นพุทธแบบไทยๆ  แล้วแทนที่ภาพจำของ “ความดีงาม” แบบไทยพุทธด้วยภาพคนที่ถูกแขวนคอที่ต้นมะขาม

เขาบอกว่าคนเหล่านั้นสมควรถูกฆ่าเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะคอมมิวนิสต์น่ากลัว เพราะคอมมิวนิสต์จะทำลาย “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่การตัดสินคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วสังหารหมู่อย่างป่าเถื่อนในเช้าวันนั้น ทำให้ฉันสงสัยว่า ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับ ความกลัวคอมมิวนิสต์ (หรือ ความคลั่งรักใน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”) อะไรน่ากลัวมากกว่ากัน?

เก้าอี้ตัวนั้นและคนที่ปลุกระดมลูกเสือชาวบ้าน ทำให้ฉันตระหนักได้ว่า สังคมไทยไม่ได้ถูกขับคลื่นด้วย “ความดี” หรือ อุดมการณ์ใดๆ อย่างที่ฉันถูกปลูกฝังมาจากสังคมและโรงเรียนของรัฐ หรือถ้าจะมีอุดมการณ์ใดที่รัฐไทยยึดถือ ก็เป็นเพียงอุดมการณ์ที่มีไว้เพื่อปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” แบบที่ไม่มีประชาชนยืนอยู่อย่างเท่าเทียมในสมการนั้นเลย  เหมือนโรงละครที่ซ่อนการสังหารหมู่อันป่าเถื่อนไว้หลังม่าน  และฉันติดแหง็กอยู่ตรงผ้าม่านนั้น ระหว่างอดีตอันเจ็บปวดที่ยังไม่ถูกสะสาง กับรอยยิ้มของฆาตกรที่กำลังเล่นบท “เทวดา”  อยู่บนเวที

ฉันยังคงรู้สึกผูกพันกับสังคมไทยในฐานะบ้านที่หล่อหลอมตัวตนบางส่วนของฉันขึ้นมา มันคงเป็นสายสัมพันธ์ที่อย่างไรก็คงตัดไม่ขาด แต่ฉันไม่สามารถบอกว่าตัวเองเป็นคนไทย หรือพูดถึงความเป็นไทย โดยไม่นึกถึงคนที่ถูกฆ่าอย่างป่าเถื่อนเพราะ “ความเป็นไทย” ได้เลย

แม้จะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น แต่ในฐานะคนไทยที่ผูกพันกับสังคมไทย ฉันก็อดรู้สึกสะเทือนใจและเจ็บปวดไม่ได้ ฉันไม่สามารถยกเลิกการรับรู้ของตัวเองต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วกลับไปใช้ชีวิต—รู้สึก แบบที่เคยทำมา แม้ว่าฉันเองก็ไม่รู้ว่าจะจัดวางหรือหาที่ทางให้กับความรู้สึกและการรับรู้ของตัวเองอย่างไรดี 

แต่ฉันจะไม่บอกให้ตัวเอง “ปล่อยว่าง” หรือ “ลืม” และจะรู้สึกคันหัวใจมากหากได้ยินใครบอกให้ปล่อยวางหรือลืม 6 ตุลาฯ เพราะไม่มีใครสามารถกดปุ่ม “ลืม” หรือปุ่ม “ปล่อยวาง” ในสมองใครได้ ความทรงจำและการรับรู้ไม่สามารถลบกันง่ายๆ ด้วยคำพูดที่ไม่รับผิดชอบแบบนี้ ได้โปรดอย่าส่งต่อคำพูดแบบนี้กับเหยื่อความรุนแรงคนไหน เพราะมันช่างเลือดเย็นและโหดเหี้ยมเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหยื่อในวันนั้นยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและคนบงการยังไม่ต้องรับผิด

ฉันคิดว่าปัญหาหรือบาดแผลของเหตุการณ์นี้ไม่ได้อยู่ที่ใครลืมไม่ได้ ใครปล่อยวางได้มากหรือน้อย หรือใครอินมากอินน้อย เพราะสิ่งที่สร้างบาดแผลให้สังคมมาตลอดคือ “เทวดา” และรัฐไทยที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ดังนั้นต่อให้ใครจะไม่อิน ไม่อยากจำ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็นภาพ 6 ตุลาฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า เราอาศัยอยู่ในสังคมที่รัฐและฝูงชนสามารถตัดสินจบชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ล้อมฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อน และกระทำต่อศพอย่างเหี้ยมโหด โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบแม้แต่คนเดียว เราทุกคนในสังคมนี้ควรถามตัวเองดังๆ ดังให้เข้าไปในจิตสำนึกว่า เราจะอยู่ในสังคมแบบนี้และส่งต่อสังคมแบบนี้ไปให้ลูกหลานเราจริงๆหรือ?
 

ฉันไม่อยากลืมเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ รวมทั้งการทำลายการเคลื่อนไหวของประชาชนก่อนหน้าและความเลือดเย็นของชนชั้นนำฝ่ายขวาภายหลังเหตุการณ์ เพราะเมื่อไหร่ที่เราลืม ประวัติศาสตร์จะไม่มีวันถูกชำระ เมื่อไหร่ที่เราทำราวกับว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย เบือนหน้าหนี หรือพูดจาสั่วๆ ว่า “ไม่อิน” เมื่อนั้นเรากำลังสร้างบรรทัดฐานว่า ความอยุติธรรมและป่าเถื่อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ “เป็นปกติ” เมื่อเราไม่ส่งเสียงคัดค้านท้วงติง (หรือก่นด่า) เมื่อนั้นเราอนุญาต (แบบไร้เสียง) ว่าผู้มีอำนาจสามารถลงมือ (สั่ง) ฆ่าได้  แล้วมันก็จะเกิดขึ้นอีก เหมือนที่เกิดขึ้นใน พฤษภาฯ 2535 เมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือกับคนชาติพันธุ์ต่างๆ

 ………….

ในฐานะคนเกิดหลัง 6 ตุลาฯ ฉันจึงอยากรับฟังเรื่องราวของผู้ถูกกระทำและผู้รอดชีวิต ด้วยทุกอย่างที่ฉันมี

ฟังเพื่อจดจำการต่อสู้และเสียสละของคนรุ่นก่อน—ผู้เคยฝันใฝ่ถึงสังคมไทยที่ดีกว่า

จำเพื่อให้เกียรติพวกเขาและครอบครัวที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

จำเพื่อต่อต้านการสะกดจิตและบิดเบือนของรัฐไทย

จำเพราะยังมีความหวังว่าวันหนึ่งประวัติศาสตร์จะได้รับการชำระด้วยความยุติธรรม

จำเพราะเชื่อมั่นว่า มนุษย์ที่มีชีวิตในวันนี้และวันข้างหน้า สามารถเรียนรู้และต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่านี้ได้

 

หมายเหตุ

ผู้เขียนขออุทิศบทความนี้แด่ผู้เสียชีวิต  ผู้รอดชีวิต รวมถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการล้อมปราบในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผู้เขียนขอร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในฐานะมนุษย์และเพื่อนร่วมสังคมไทยคนหนึ่ง โดยมีเจตนาเพื่อจดจำและรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้กล้าและผู้เสียสละในวันนั้น ด้วยความเคารพในความเจ็บปวดและคราบน้ำตาของผู้ผ่านเหตุการณ์และครอบครัวทุกคน

 

 

 

อ้างอิง

1. https://www.facebook.com/photo/?fbid=10153732160186180&set=a.193480581179

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net