Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน แถลงประณามและไล่ รมต.สุชาติ ออกจากตำแหน่ง พร้อมร้อง กมธ.แรงงาน ช่วยติดตาม มติ ครม. 28 กันยา-แก้ปัญหา ตร.ไถเงินคนงานข้ามชาติ  

3 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.45 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ อาคารรัฐสภา ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางมาที่รัฐสภา เกียกกาย ยื่นหนังสือแถลงการณ์ “สำหรับชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ “กระทรวงแรงงานแจ้งจับแรงงานข้ามชาติ” เพื่อประณามกระทรวงแรงงาน-ตำรวจ และขับไล่ สุชาติ ชมกลิ่น พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ต่อกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน รัฐสภา

หลังยื่นหนังสือให้ นายสุเทพ อู่อ้น ประธาน กมธ.แรงงาน ธนพร วิจันทร์ อ่านแถลงการณ์ ชี้แจงกรณีการจับกุมตัวแรงงานข้ามชาติทั้ง 7 คนที่มายื่นหนังสือติดตามข้อเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 นั้น เป็นการจับกุมที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากแรงงานข้ามชาติทั้งหมดเซ็นเอกสารรับสารภาพ โดยไม่มีล่ามมืออาชีพ และขาดสิทธิพบทนายความ นอกจากนี้ การจับกุมดังกล่าวยังเป็นการละเมิดมติ ครม. วันที่ 28 ก.ย. 64 มติผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารอยู่ในประเทศไทยต่อได้ถึง 13 พฤศจิกายน 2564 โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีใดๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศระเบียบ หรือถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจาฯ แต่ในธรรมเนียมปฏิบัติมักถือว่ามติ ครม. มีผลใช้บังคับ สามารถใช้ได้ การจับกุมในครั้งนี้ จึงมีผล “ละเมิดต่อแรงงาน” 

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน วิจารณ์ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีทัศนคติด้อยค่าข้อเรียกร้องของแรงงานข้ามชาติ และกล่าวหาว่า แรงงานที่มายื่นหนังสือถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจ้างวานมา เครือข่ายแรงงานฯ จึงขอประณาม สุชาติ ว่าขาดความจริงใจในการดูแลและปกป้องสิทธิแรงงาน และเรียกร้องให้มีการปลดสุชาติ ออกจากตำแหน่ง รมต.แรงงาน

สำหรับข้อเรียกร้องต่อ กมธ.แรงงาน มีด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) ขอให้ กมธ.แรงงาน ช่วยติดตามการประกาศบังคับใช้ มติ ครม. 28 กันยายน 2) ขอให้ช่วยเหลือแรงงานกัมพูชา ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำงาน สะเก็ดตะปูกระเด็นเข้าดวงตา จนตาบอด และแรงงานคนดังกล่าวยังเข้าไม่ถึงกองทุนเงินสดทดแทน และ 3) ขอให้ประธาน กมธ. แรงงาน ช่วยแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ

ขณะที่ ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนแรงงาน และผู้อยู่ในเหตุการณ์จับกุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา ทางแรงงานมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของกระทรวงแรงงานมาโดยตลอด จึงมายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา และปรับปรุงการทำงาน แต่ว่าเหตุการณ์เมื่อ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานทำลายความเชื่อใจ ทั้งที่กระทรวงแรงงานควรมีภารกิจหน้าที่ในปกป้องแรงงาน แต่วันนี้กลายเป็นคนที่ละเมิดสิทธิแรงงานเอง

“ตลอดมาเรายังคงหวังว่ากระทรวงแรงงานยึดมั่นในภารกิจหน้าที่ของตัวเองในการปกป้องดูแลสิทธิของแรงงาน แต่ในวันที่ 29 ต.ค. 64 มีความชัดเจนมากว่ากระทรวงแรงงานไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเอง กระทรวงแรงงานที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองแรงงาน กลับทำตัวเป็นคนคุกคามแรงงานโดยตรง 

“คิดว่าคำถามใหญ่ต่อกระทรวงแรงงานก็คือ ยังคงมีความไว้วางใจเหลืออยู่หรือไม่ในการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานปกป้องแรงงานในประเทศนี้ แรงงานหลายสิบล้านคนยังสามารถไว้ใจกระทรวงแรงงานได้หรือไม่ให้ทำหน้าที่แทนตนเอง คำถามนี้เป็นคำถามที่สังคมไทยต้องถามกระทรวงแรงงาน” ศิววงศ์ ทิ้งท้าย

หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้นลง สุเทพ อู่อ้น ในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน รับปากจะเร่งดำเนินการ และประชุม กมธ.แรงงานวันนี้ (3 พ.ย.) จะนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาของแรงงาน

สุเทพ อู่อ้น ประธาน กมธ.แรงงาน

ทั้งนี้ สุเทพ กล่าวถึงกรณีแรงงานที่มายื่นหนังสือที่กระทรวง ถูก รมต.แรงงาน กล่าวหาว่า ถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจ้างมาว่า “ถ้ามีความเดือดร้อนของประชาชน นักการเมืองต้องสนับสนุน ถ้าไม่สนับสนุน ใครจะให้โอกาสแรงงานเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้ ต้องถามกลับไป คุณเป็นรัฐบาล คุณเป็นรัฐมนตรี คุณมีหน้าที่อะไรในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เอาปัญหาที่เขามายื่น ตีเป็นประเด็นปัญหาของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แบบนี้ไม่ถูกต้อง” สุเทพ กล่าว


แถลงการณ์ “สำหรับชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ “กระทรวงแรงงานแจ้งจับแรงงานข้ามชาติ” เพื่อประณามกระทรวงแรงงาน-ตำรวจ และขับไล่ สุชาติ ชมกลิ่น พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน รายละเอียดมีดังนี้

สรุปเหตุการณ์โดยย่อ

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 ที่เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สหภาพคนทำงาน และเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ ในนามของ “คณะทำงานติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน” ได้ยื่นติดตามของความชัดเจนของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แต่มติ ครม. ฉบับดังกล่าวกลับมีวันที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการไม่ชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้ติดตามข้อเรียกร้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอื่นด้วย เช่น ปัญหาการเรียกเก็บส่วยแรงงาน ปัญหาค่าใช้จ่ายการทำเอกสาร 

ปรากฏว่า ระหว่างที่ตัวแทนเจรจาได้เข้าไปยื่นหนังสือและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ก็มีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ก็มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานอีกส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด “รมต.แรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น” ควบคุมตัวแรงงานไม่เอกสาร จำนวน 8 ราย (ตรวจสอบซ้ำเหลือ 7 ราย) ไปยังสถานีตำรวจดินแดง โดยไม่ยอมให้แรงงานได้พบทนาย หรือบุคคลที่ไว้วางใจ แต่เร่งรีบส่งตัวให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ และกดดันให้แรงงานทั้ง 7 รายลงนามรับสารภาพผิดในเอกสารที่ตนอ่านไม่ออก โดยไม่มีแม้แต่ทนายหรือล่ามภาษาที่สามารถอ่านออกเขียนได้อยู่ด้วย 

การจับกุมแรงงานข้ามชาตืทั้ง 7 รายในครั้งนี้ ขัดกับมติ ครม. ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศระเบียบ หรือถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจาฯ แต่ในธรรมเนียมปฏิบัติมักถือว่ามติ ครม. มีผลใช้บังคับ สามารถใช้ได้ การจับกุมในครั้งนี้ จึงมีผลละเมิดต่อแรงงาน 

จึงสรุปได้ว่าการจับกุมนั้นเกิดขึ้นโดยมิชอบ ภายใต้อาคารกระทรวงแรงงาน โดยการสั่งการของกระทรวงแรงงานในความรับผิดชอบของนายสุชาติ ชมกลิ่น โดยที่แรงงานมายื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาการทำงาน และความชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนทำเอกสารให้ถูกต้องเท่านั้น โดยขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อจะได้มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย 

จึงเป็นที่น่าอับอายเหลือเกินที่ “กระทรวงแรงงาน” กลับเมินเฉย ไม่ได้แสดงความพยายามสักกะผีกที่จะปกป้องสิทธิของ ‘แรงงาน’ ให้คุ้มค่ากับเงินเดือนจากภาษีประชาชนชนชั้นแรงงานทุกสัญชาติในประเทศไทย ซ้ำยังมีการเปิดเผยภายหลังว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวหาว่าคนงานที่มาร้องเรียนเป็นผู้ถูกจ้างวานมาจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกับตน โดยใช้ถ้อยคำรังเกียจผู้ใช้แรงงาน ด้อยค่าความเดือดร้อน ไม่มีความรู้ความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาหรือความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนทำเอกสาร และเต็มไปด้วยมาดยะโสโอหังอย่างที่ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่ควรมี 

“เก็บส่วย และรีดไถ” หัวข้อเจรจาก่อนถูกจับกุม 

และบทบาทอันมิชอบของตำรวจ 

สืบทราบภายหลังว่า แรงงานทั้ง 7 ราย ล้วนเป็นแรงงานที่มีเอกสารเข้าเมืองอย่างถูกต้องที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยออกให้ และมีนายจ้างอย่างชัดเจนทุกคน แต่ได้ขึ้นทะเบียนล่าช้าด้วยเหตุโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำเตือนว่า ต่อให้แรงงานทั้ง 7 รายนี้จะไม่มีเอกสาร ก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิทางคดี สิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชนจะหมดลงไปด้วย 

เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่งที่แรงงานข้ามชาติมาทวงถามความชัดเจนของนโยบายเอกสารอนุญาตทำงาน (คนละฉบับกับเอกสารอนุญาตเข้าเมือง) แต่กลับถูกแจ้งจับเมื่อไม่มีเอกสารมาแสดง และยิ่งตลกร้าเมื่อหัวข้อที่ยังพูดคุยกันค้างอยู่คือเรื่องบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการแรงงานข้ามชาติ เพราะพบว่าตำรวจไทยได้รีดไถแรงงานข้ามชาติทั้งที่มีและไม่มีเอกสารตลอดมา 

การจับกุมแรงงานข้ามชาติครั้งนี้ มีตำรวจ สน.ดินแดง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตม. สวนพลู เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญ จุดสำคัญคือการจับกุมคนงานไม่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ เข้าห้องกักกันเพื่อสืบสวนโดยสันนิษฐานว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ให้พบทนาย ไม่จัดเตรียมล่ามภาษา ขณะหว่านล้อมให้คนทำงานเซ็นรับสารภาพ 

สิทธิในการมีทนายความเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าแรงงานนั้นจะเป็นแรงงานที่มีหรือไม่มีเอกสาร แม้ว่าคดีนั้นจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ร้ายแรง แต่สิทธิของแรงงานที่เป็นผู้ต้องหาในการมี “ทนายความ” ยังคงอยู่ การที่ทนายความในคดีนี้ถูกกีดกันไม่ให้พบแรงงาน ทำให้แรงงานไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง และถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม

อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดหาล่ามที่เหมาะสมให้ แค่ให้ใช้ล่ามที่เป็นคนงานด้วยกันเอง ซึ่งมีข้อจำกัดทางภาษา (กล่าวคือ ล่ามคนงานคนดังกล่าวสามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ แต่ไม่สามารถอ่านเขียนเอกสารใดๆ ได้) โดยไม่เปิดโอกาสให้ทนายความหาล่ามที่เหมาะสม ทำให้แรงงานทั้ง 7 คน ไม่เข้าใจสิทธิทางกฎหมาย และกระบวนการทางกฎหมายที่ตำรวจดำเนิการ จนต้องถุกควบคุมตัว แม้ตำรวจจะอ้างว่าได้ทำการแจ้งสิทธิแล้วก็ตาม 

ปัจจุบัน มีการศึกษาจนชัดเจนแล้วว่า ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย/แรงงานไม่มีเอกสาร เป็นผลกระทบจากการจัดการชายแดนที่ล้มเหลว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มุ่งสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึง ทั้งกระบวนการทำเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือทำเอกสาร หรือนโยบายรัฐที่เน้นปราบปรามมากกว่าส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง ก็ทำให้ “คนข้ามแดน” กลายเป็น “คนผิดกฎหมาย” ซึ่งในทางที่ถูกต้อง รัฐบาลต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจากการจับกุม ตีตราแรงงานข้ามชาติว่าเป็น “คนเถื่อน” ที่ชั่วร้าย เป็นอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกระบวนการทำเอกสารได้โดยสะดวก ลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนที่ต้องผ่านนายหน้าคนกลาง 

การดำเนินการดังกล่าวของกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายสุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหา การสั่งจับกุมแรงงานข้ามชาติที่กระทรวงแรงงานครั้งนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น โดยตรง จากความล่าช้าของการรับสนองนโยบายภายในกระทรวง โดยละเลยชีวิตของแรงงานทั้ง 7 รายที่ถูกจับกุม และแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ทั่วประเทศไทยที่ยังคงรอคอยความคืบหน้ามติ ครม. ดังกล่าว

ข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขสถานการณ์ 

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขอยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน ดังนี้

  1. ขอให้ติดตามความชัดเจนของการประกาศมติ ครม. วันที่ 28 กันยายน 2564 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการประกาศต้องมีผลย้อนหลังเพื่อประโยชน์สูงสุดของแรงงานข้ามชาติทุกราย 
  2. ขอให้ติดตามประเด็นเร่งด่วน เช่น กรณีแรงงานก่อสร้างกัมพูชาถูกสะเก็ดตะปูเข้าดวงตา จนต้องควักนัยตาทิ้ง ที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับกองทุนเงินสดทดแทน 
  3. ให้แก้ไขปัญหาตำรวจรีดไถ เก็บส่วยจากแรงงานข้ามชาติโดยทันที

รวมถึงขอติดตามข้อเรียกร้องเดิมที่เคยมีการยื่นถึงกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เช่น เรื่องการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม การเข้าถึงนโยบายป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเหมาะสมและถูกสุขอนามัย การแก้ไขปัญหาให้แรงงานข้ามชาติโดยไม่แบ่งแยกกลุ่ม เชื้อชาติ สัญชาติ 

ที่ผ่านมา มีการโจมตีว่า เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเพื่อสิทธิประชาชนเข้ามาเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานข้ามชาติ เพราะมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และผู้นำแรงงานที่เป็นพวกพ้องของรัฐมนตรีหลายรายได้ผลักให้ความเดือดร้อนของคนที่พูดคนละภาษา แต่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองอันเล็กน้อย แทนที่จะรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ก็ทำให้เครือข่ายแรงงานฯ ต้องออกมาขับเคลื่อนเพื่อทวงถาม และกระตุ้นเตือนต่อท่านทั้งหลายที่ควรมีอำนาจ (แต่ไม่เคยจัดการแก้ไข) ว่า “ปัญหาสิทธิแรงงานคือปัญหาสิทธิมนุษยชน และเป็นหน้าที่ของชาวสหภาพแรงงานที่จะรับรองให้คนงานสัญชาติใดก็ตาม ถือเอกสารเข้าเมืองหรือไม่ แบบใดก็ตาม ต้องเข้าถึงสิทธิแรงงานตามกฎหมาย”

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขอประณามกระทรวงแรงงานที่ไม่ได้มีความจริงใจในการดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นภารกิจหลักของตนเอง แต่กลับดำเนินการอย่างไร้ ประสิทธิภาพ ล่าช้า ตื้นเขิน ไม่เข้าใจประเด็นปัญหา หยิ่งผยองจองหองว่าเป็นเจ้าคนนายคน ไม่ใช่ผู้รับใช้ประชาชน 

นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้มีการพิจารณาสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวขั้องอย่างเร่งด่วน รวมถึงพวกเราในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี และคนทำงาน ซึ่งเป็นประชาชนส่วนมากของประเทศ ขอขับไล่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน ให้พ้นจากตำแหน่งโดยทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ “ไม่สามารถรับผิดชอบ” ปัญหาแรงงานในชาติได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net