Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายตระกูลหมิ่น เรื่องนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อการหมิ่นประมาททุกวันนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะชื่อเสียงเกียรติยศ แต่ผลกระทบอาจถึงขั้นชีวิต และถ้ากรณีบุคคลทั่วไปไม่มีโทษทางอาญา เหตุใดจึงยังคงไว้ในกรณีประมุขของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อเสียงเกียรติยศเหมือนกัน

  • การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายตระกูลหมิ่นออกทั้งหมดจำเป็นต้องมีการศึกษามากกว่านี้ เพราะการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอาจไม่สามารถป้องปรามการหมิ่นประมาทที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เช่นการไซเบอร์ บุลลี่ เป็นต้น
  • ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับหรือนำมาปรับใช้ได้ควรต้องพิจารณาเขียนกฎหมายใหม่เพื่อใช้กรณีที่การหมิ่นประมาทส่งผลกระทบร้ายแรงมากกว่าชื่อเสียงเกียรติยศ
  • สาวตรีแสดงทัศนะว่าหากยกเลิกโทษทางอาญากรณีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ก็ควรยกเลิกโทษทางอาญากรณีประมุขของรัฐด้วยเพื่อให้เกิดความคงเส้นคงวา เพราะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติยศเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลร่วมกันเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.… เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งจะแก้กฎหมายตระกูลหมิ่นทั้งหมด ใจความสำคัญคือการยกเลิกโทษจำคุกฐานความผิดดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ทั้งในบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงาน และศาล

และรวมไปถึงการยกเลิกมาตรา 112 แล้วเขียนหมวดใหม่ขึ้นว่าด้วยเรื่องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ พร้อมกับลดอัตราโทษลงจากเดิมจำคุก 3-15 ปี เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ให้มีบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ

สาวตรี สุขศรี (แฟ้มภาพ)

การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้รับเสียงตอบรับจากฟากฝั่งประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมองประเด็นกฎหมายหมิ่นให้รอบด้านมากขึ้น แม้โดยหลักการเธอจะเห็นด้วย แต่การตัดโทษจำคุกออกทั้งหมดมีประเด็นให้ต้องพิจารณาและศึกษาทำความเข้าใจอีกมาก อีกทั้งหากจะตัดโทษอาญาออกในกรณีบุคคลทั่วไป เหตุใดจึงยังคงโทษทางอาญาในกรณีประมุขของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงเช่นเดียวกัน

กฎหมายตระกูลหมิ่น

เราคงต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายฐานหมิ่นประมาทกันก่อน สาวตรี อธิบายว่าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องมีการใส่ความหรือยืนยันข้อเท็จจริงหนึ่ง ด้วยการพูด โฆษณา การเขียน การคอมเม้นต์ในเฟซบุ๊ค กล่าวคือรวมทุกสื่อ เกี่ยวกับบุคคลหนึ่งต่อบุคคลที่ 3 โดยหลักการ หมิ่นประมาทคือการทำให้บุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทเสียชื่อเสียงเกียรติยศในสายตาของบุคคลอื่นที่ได้รับรู้ หมิ่นประมาทจึงอยู่ในบทความผิดทั่วไปว่าด้วยเกียรติยศชื่อเสียง

ขณะที่ความผิดฐานดูหมิ่น เป้าหมายคือไม่ให้มีการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ 3 เช่น นาย ก. ด่าทอ นาย ข. ด้วยถ้อยคำรุนแรงโดยไม่มีข้อเท็จจริงประกอบ ซึ่งถือเป็นความผิดลหุโทษ ส่วน

นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานดูหมิ่นในเรื่องอื่นๆ เช่น ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นผู้พิพากษาหรือศาล เป้าหมายคือต้องการคุ้มครองการใช้อำนาจรัฐ โดยผูกกับคนที่ปฏิบัติหน้าที่ มีองค์ประกอบว่าการจะดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาลได้ต้องดูหมิ่นในเรื่องที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

พรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.64 

จะยกเลิกโทษอาญาต้องรอบคอบ

ทำไมสาวตรีจึงมีความเห็นว่าการจะยกโทษอาญาออกจากความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องพิจารณาให้รอบคอบ

“ปัจจุบัน ทั้งหมิ่นประมาทและดูหมิ่นมีโทษทางอาญา ทีนี้บอกว่าไม่เอาโทษทางอาญาแล้ว ให้ใช้โทษทางแพ่งอย่างเดียวคือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ที่เราบอกว่าต้องคิดหน้าคิดหลังเพราะหลายๆ ครั้งการหมิ่นประมาทหรือการทำร้ายกันด้วยคำพูด ผลกระทบที่ได้รับอาจเกินไปกว่าแค่ชื่อเสียงเกียรติยศหรือการถูกดูหมิ่นดูแคลน ยิ่งถ้าเป็นหมิ่นประมาทที่มีการยืนยันข้อเท็จจริง มันทำให้คนเข้าใจผิดได้ แล้วมันเกิดผลกระทบหนักๆ เช่น ไซเบอร์ บูลลี่ ทัวร์ลง จนเกิดอาการซึมเศร้า หรือเกิดผลมากกว่าการถูกทำร้ายแค่เพียงชื่อเสียง

“ในต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้ ถ้าถอดโทษอาญาออก เหลือแต่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ค่อนข้างชัดว่าเหยื่อผู้ถูกหมิ่นประมาทเกิดอาการซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือเกิดผลทางกายภาพ แม้ว่าเขาจะทำร้ายตัวเอง มันได้สัดส่วนไหมที่จะให้เป็นเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แทนที่จะปรามด้วยการมีโทษทางอาญาด้วย”

หรือในกรณี Hate Speech ซึ่งกฎหมายไทยยังไม่มีความผิดฐานนี้ แต่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส มีบทบัญญัติที่ว่าด้วย Hate Speech ถ้ามีการกระตุ้นเร้าหรือพูดให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มคน หมู่ชน โดยอาศัยอัตลักษณ์บางอย่าง เช่น ศาสนา สีผิว จะมีข้อกำหนดความผิดทางอาญา

กล่าวโดยสรุปคือการหมิ่นประมาท หากส่งผลกระทบเฉพาะชื่อเสียงเกียรติยศ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็สมเหตุสมผล ทว่า หลายกรณี โดยเฉพาะในปัจจุบัน การหมิ่นประมาทสามารถส่งผลต่อร่างกาย สภาพจิต หรือชีวิตของผู้ถูกหมิ่นประมาท การมีโทษทางอาญาเพื่อป้องปรามยังอาจเป็นทางเลือกที่ต้องมี

“เราคิดว่าการจะให้เหลือแต่การชดใช้ค่าสินไหมอย่างเดียวอาจจะต้องดูผลกระทบด้วย พูดง่ายๆ ว่าการหมิ่นประมาทบางครั้งมีเฉดหรือมีระดับความร้ายแรงของมันอยู่ ต้องจำแนกแยกแยะหรือไม่ หรือมีกฎหมายมาทดแทนหรือไม่ ถ้าสุดท้ายแล้วต่อชื่อเสียงเอาแค่แพ่ง แต่ถ้ากระทบไปถึงสิ่งอื่นด้วย เป็นไปได้ไหมที่จะบัญญัติกฎหมายมารองรับให้เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”

มีกฎหมายรองรับหรือไม่?

ถึงกระนั้นการลงโทษทางอาญาก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆ เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ส่งผลกระทบมากกว่าชื่อเสียงเกียรติยศมีรายละเอียดมากมายที่ต้องคิดคำนึง

สาวตรี ยกตัวอย่างกฎหมายอาญา มาตรา 292  ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตน ในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

“อันนี้ต้องมีการทำทารุณหรือที่คล้ายกัน ซึ่งคำพูดมันไปไม่ถึงแน่ๆ แต่มีมาตรา 239”

มาตรา 293  ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสารสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“มันมีเรื่องพวกนี้ แต่การตีความก็ค่อนข้างลำบาก เช่น ต้องไปถึงขั้นยุยงหรือช่วยเหลือ เช่นเด็กอายุ 15 ปีบอกว่าผมขอปืนสักกระบอกหนึ่งจะไปฆ่าตัวตาย แล้วเราให้ไป มันเป็นความผิด หรือเราพูดยุยงเด็กคนนั้นซึ่งอาจจะน้อยใจอะไรอยู่แล้ว แล้วสุดท้ายเขาฆ่าตัวตาย เราอาจจะมีความผิดได้

“แต่ถ้าการกระทำของคุณเป็นการด่าทอซ้ำๆ จนทัวร์ลง สุดท้ายเด็กเกิดอาการแบบนี้และฆ่าตัวตาย มีข้อเท็จจริงชัดเจน คำถามคือเราจะเอาผิดฐานนี้ได้หรือไม่ มันก็ไม่ได้ มันไม่ชัดเจนขนาดนั้น หรือถ้าบอกว่าการพูดในลักษณะคุกคาม ทำให้เดือดร้อนรำคาญ หรือรังแกกัน อาจจะเป็นความผิดลหุโทษได้ในอีกมาตราหนึ่ง”

มาตรา 397  ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ถ้าเอาโทษทางอาญาออกจากกฎหมายหมิ่นประมาท แล้วมาใช้ 397 ซึ่งมีโทษทางอาญา มันก็ยังพออธิบายได้ เพียงแต่เป้าหมายของเราคือการจะเอาโทษทางอาญาออกจากกฎหมายหมิ่นประมาทควรต้องมีการศึกษา ถ้ามีคนโต้แย้งเรื่องนี้ คุณจะให้เหตุผลยังไง ถ้าหมิ่นประมาทกันจนเด็กฆ่าตัวตายแล้วไม่มีกฎหมายใช้ แค่แพ่งพอเหรอ คือเวลาศึกษาพวกนี้ต้องคิดให้รอบว่ามีกฎหมายใช้แล้วหรือยัง มีกฎหมายที่รองรับแล้วเรารับมันได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นทุกประเทศคงถอดออกหมดแล้ว

“อย่างเยอรมนีน่าสนใจมาก หมิ่นประมาทเป็นอาญาทั้งนั้นเลย เขามีแนวคิดอะไร เราอาจต้องไปศึกษาว่าทำไมเยอรมนี ฝรั่งเศสยังคงโทษอาญาเอาไว้ อย่างอเมริกาเองในหลายมลรัฐก็ยังมีโทษอาญา เพียงแต่เวลาฟ้องเขาไม่ฟ้องอาญา แต่ฟ้องค่าสินไหมทดแทน”

แฟ้มภาพ

ปัญหาในทางปฏิบัติ

และต่อให้มีกฎหมายก็ยังอาจเจอปัญหาในขั้นตอนการบังคับใช้ เช่น การไซเบอร์ บุลลี่ต่อบุคคลหนึ่ง มักไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนคนเดียว แต่เป็นการกระทำซ้ำๆ ของคนหลายคน การจะเอาผิดจึงมีปัญหาในทางปฏิบัติไม่ว่าจะในอังกฤษหรืออเมริกา

หรือการหมิ่นประมาทซ้ำๆ จนทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทฆ่าตัวตาย ก็ยังมีคำถามอีกว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าการหมิ่นประมาทเป็นสาเหตุทั้งหมดหรือเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากการตัดสินใจฆ่าตัวตายมีปัจจัยกำหนดจำนวนมาก สาวตรียอมรับว่า

“ใช่ การบังคับใช้ยาก การหาพยานหลักฐานก็ยาก แต่ถามว่าประเทศไหนที่มีการทำแบบนี้กันเยอะๆ และได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม และมีอะไรบางอย่างชัดเจนว่าเกิดจากสิ่งนี้ มันมี แล้วเขาก็ตัดสินใจออกกฎหมาย ยกตัวอย่างกฎหมายของอเมริกามีอยู่เซ็คชั่นหนึ่งบอกว่า ผู้ใดทำร้าย ก่อกวน ล่วงละเมิด ข่มขู่ หรือสอดแนมบุคคลอื่น ด้วยเป้าหมายเพื่อฆ่า ทำร้าย ก่อกวน ล่วงละเมิด ข่มขู่ และกระทำโดยใช้จดหมายบริการโต้ตอบทางคอมพิวเตอร์ ระบบติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ ซึ่ง (A) ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกทำอันตรายถึงตายหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งต่อบุคคลใด ต่อคู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัว (B) ก่อให้เกิดหรือพยายามก่อให้เกิดหรือคาดหมายได้อย่างมีเหตุผลว่าจะทำให้เกิดความทุกข์ทางอารมณ์อย่างมากต่อบุคคลใด ต่อคู่สมรสของเขา สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งผู้ใกล้ชิด

“คือเรื่องพวกนี้เขาบัญญัติไว้ แต่ถึงเวลาสืบกันในศาล มันไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีข้อความ มีหลักฐานที่จะบอกได้ไหมว่าคนนี้มีเจตนาแบบนี้และนำไปสู่สิ่งนี้ สุดท้าย การฆ่าตัวตายมันสัมพันธ์กับการกระทำนี้อย่างไร คือมันต้องมีความเชื่อมโยงกัน มันยาก แต่มีวิธีการหรือศาสตร์ในการพิสูจน์อยู่ ไม่อย่างนั้นไม่มีกฎหมายลักษณะนี้หรอก อเมริกามีปัญหาเรื่องนี้จริงและมีเคสเยอะ

“หรือประเทศสิงคโปร์ก็เพิ่งออกกฎหมายเรื่อง Cyber Harassment มาเมื่อปี 2017 ชื่อ Protection from Harassment Act เขาจะพยายามกำหนดระดับของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้าผลของการทำแบบนี้ส่งผลไปถึงเรื่องนี้ได้รุนแรงขนาดนี้ การกระทำก็น่าจะเป็นความผิด ซึ่งเป็นความผิดอาญา มันก็แล้วแต่บางประเทศว่าปัญหานี้มากพอจะออกมาเป็นกฎหมายได้แล้วหรือยัง”

ประเด็นเหล่านี้ต้องกลับมาสำรวจกฎหมายไทยว่า ถ้าจะยกเลิกโทษอาญา มีบทบัญญัติรองรับหรือสามารถนำมาปรับใช้เพียงพอหรือไม่ แต่...

“ในเรื่อง Hate Speech ไม่มีแน่นอน มีอันเดียวที่จะไปได้คือยุยงอย่างชัดเจนให้เข่นฆ่า กระทำความผิดกับกลุ่มคนที่ถูก Hate Speech อาจจะมีอยู่มาตราหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการใช้เรื่องนี้ อย่างตอนที่กิตติวุฒโฑพูด ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ซึ่งน่าจะมีความผิด แต่เราจะเห็นในหลายๆ กรณีว่า บางทีคนที่พูด Hate Speech หรือสร้างความเกลียดชัง เขาก็ไม่ได้ไปถึงยุยงให้เข่นฆ่า แต่ว่ามันเป็นการลดทอนในสเกลใหญ่ บ้านเรายังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ อาจเป็นไปได้ว่าบ้านเรายังไม่เห็นว่าเป็นปัญหามาก แต่ในเยอรมนีมี เพราะเขาถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อสันติภาพของประชาชนหรือสังคมโดยรวมก็มีโทษทางอาญา เราต้องมาถกเถียงกันว่า Hate Speech ในบ้านรุนแรงขนาดต้องมีกฎหมายไหม”

ชื่อเสียงเกียรติยศไม่ใช่เรื่องความมั่นคงและ ม.112

เมื่อนำประเด็นการถอดบทลงโทษทางอาญามาเชื่อมกับมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกและเขียนหมวดใหม่ว่าด้วยเรื่องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สาวตรี แสดงความเห็นว่า

“ถ้าคุณเรียกร้องว่าต้องถอดโทษทางอาญาของการหมิ่นประมาทคนทั่วไปออก เหลือแต่ทางแพ่ง การหมิ่นประมุขของรัฐก็ควรเป็นทางแพ่งเหมือนกัน แต่ถ้าคุณไม่ได้เรียกร้องว่าการหมิ่นประมาทคนทั่วไปต้องเป็นทางแพ่ง เป็นอาญาก็ได้ การหมิ่นประมาทต่อชื่อเสียงต่อประมุขของรัฐก็อาจจะอยู่ในอาญาได้

“มันต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปใช้ทางแพ่งอย่างเดียว แต่ประมุขของรัฐใช้อาญา แบบนี้ก็ดูไม่เมคเซ๊นส์ ในเมื่อสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองอาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากคือเป็นเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เพียงแต่เขาอาจจะมีระดับของตำแหน่งหน้าที่มากกว่า ซึ่งถ้าเป็นแพ่งก็ปรับโทษในส่วนค่าเสียหายให้แตกต่างกันไป”

สาวตรี กล่าวว่าควรจับหลักการที่ว่ากฎหมายต้องการคุ้มครองอะไร ถ้ามุ่งเน้นเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงก็ควรไปด้วยกันอย่างคงเส้นคงว่าทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐหรือบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม เธอตั้งข้อสังเกตว่า

“ตอนนี้เราไปติดกับความมั่นคง ทำกับประมุขรัฐเป็นอาญาได้ แต่ทำกับคนทั่วไปเป็นแพ่ง แสดงว่ากระทำต่อประมุขของรัฐกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งมันจริงหรือเปล่า เรามองว่ามันไม่จริง สุดท้ายก็แค่เกียรติยศชื่อเสียง แต่ถ้าลอบปลงพระชนม์ อย่างนี้ใช่ กระทบแน่ เราต้องตั้งหลักอย่างนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net