สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ เสรีภาพในแง่ที่ว่าเราเป็นเจ้านายตัวเราเอง 
และเสรีภาพในแง่ที่ว่าเราไม่ถูกขัดขวางการเลือกโดยคนอื่น
เมื่อมองดูผิวเผินแล้ว มันดูไม่ได้เป็นมโนทัศน์ที่แตกต่างจากกันสักเท่าไหร่
ดูจะเป็นการพูดในแง่ลบและแง่บวกของสิ่งเดียวกันเท่านั้นเอง
หากแต่ว่าแท้จริงแล้ว ความคิดเสรีภาพ ‘แง่บวก’ และ ‘แง่ลบ’ 
มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในทิศทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “

-ไอเซยา เบอร์ลิน –

ข้อความข้างบนมาจากหน้า 20 ในหนังสือ “สองมุมมองของเสรีภาพ” (Two Concepts of Liberty) ของไอเซยา เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) แปลโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และชยางกูร ธรรมอัน เบอร์ลินวิพากษ์แนวคิดและประวัติศาสตร์ของ “เสรีภาพเชิงบวก” (positive liberty) และ “เสรีภาพเชิงลบ” (negative liberty ไว้อย่างน่าสนใจ 

เสรีภาพเชิงบวก หรือเสรีภาพแบบเป็นนายของตัวเอง หมายถึง “freedom to…” คือ เสรีภาพในการกระทำตามเหตุผลและเจตจำนงของตนเอง หรือเสรีภาพในการกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง

ในความหมายพื้น ๆ ก็อย่างเช่น เราอยากเรียนแพทย์ เราก็สามารถเตรียมความรู้เพื่อสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ และเรียนจบมาเป็นแพทย์ตามความฝัน เราอยากเที่ยวรอบโลก เราก็สามารถเตรียมข้อมูลความรู้ เงิน และอื่น ๆ ให้ตัวเองไปเที่ยวรอบโลกได้ 

แต่เบอร์ลินยังพูดถึงเสรีภาพเชิงบวกในความหมายที่ลึกซึ้งยิงขึ้นว่า หมายถึง เสรีภาพที่จะกระทำตามธรรมชาติของ “ตัวตนที่แท้จริง” ซึ่งเป็นตัวตนเชิงอุดมคติ เช่น เสรีภาพที่จะกระทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ตามแนวคิดของเพลโต, เสรีภาพที่จะกำหนดเจตจำนงของตนเองให้เป็น “เจตจำนงทั่วไป” ของทุกคนตามความคิดของรุสโซ, เสรีภาพที่จะใช้เหตุผลและเจตจำนงของตนเองให้กระทำตามกฎศีลธรรมสากลตามความคิดคานท์ หรือเสรีภาพที่เกิดจากการที่สังคมเข้าถึงความเสมอภาค อันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในทิศทางที่มีเหตุผล ตามความคิดของเฮเกลและมาร์กซ์ เป็นต้น

เสรีภาพเชิงลบ หรือเสรีภาพจากการเป็นทาส, การตกอยู่ใต้บงการ หมายถึง “freedom from…” คือ เสรีภาพจากการถูกบังคับขัดขวางโดยอำนาจเผด็จการของบุคคลอื่น, สังคม หรือรัฐ 

แนวคิดเสรีภาพประเภทนี้มองว่า ปัจเจกบุคคลคือผู้มีอำนาจสูงสุด (sovereign) เหนือชีวิต รางกาย และจิตใจของตนเอง เช่น แนวคิด “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ของล็อกที่ถือว่าสิทธิตามธรรมชาติ (ซึ่งรวมถึงสิทธิในเสรีภาพ) เป็นสิ่งที่เรามีพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ และแนวคิดของมิลล์ ที่ถือว่าปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ บุคคลอื่น สังคมหรือรัฐจะเข้ามาแทรกแซงหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพในการเลือกของปัจเจกบุคคลได้ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ เพื่อ “ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนอื่น” ตราบที่ปัจเจกบุคคลเลือกกระทำอะไรก็ตามที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น สังคม, รัฐ หรือใครก็ตามย่อมไม่มีสิทธิชอบธรรมที่จะขัดขวางการใช้เสรีภาพนั้น

เบอร์ลินมองว่า แนวคิดเสรีภาพเชิงบวกมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ เพราะการนึกถึง “ตัวตนที่แท้จริง” หรือ “ตัวตนที่มีเสรีภาพที่แท้จริง” มันคือการแบ่งแยกระหว่างตัวตนตามเป็นจริงของเรากับตัวตนเชิงอุดมคติ ตัวตนตามเป็นจริงของเราอาจเป็นทาสของอารมณ์ หรืออยู่ภายใต้การกดขี่ทางชนชั้นและอื่นๆ เพื่อที่จะหลุดพ้นจากสภาวะเช่นนี้เราจำเป็นต้องค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ความเป็นตัวตนที่มีเสรีภาพที่แท้จริง เป็นนายของตัวเองได้จริงตามอุดมคติ 
 

 

Sir Isaiah Berlin (1909 – 1997) was a Russian-British liberal thinker. 
(https://netiwit.com/isaiah-berlin-for-thai-liberty/?lang=en/)

แต่ตัวตนตามอุดมคติ เป็นตัวตนที่เป็นตัวแทนของทุกคน หรือของชาติ ศาสนา, ศาสนจักร เช่น ตัวตนที่แท้จริงตามความคิดของเพลโต คือตัวตนซึ่งกระทำหรือใช้ชีวิตด้วยอำนาจของปัญญาเหนืออารมณ์ ดังนั้น ผู้ทรงปัญญาหรือราชานักปรัชญาจึงควรเป็นผู้ปกครอง หรือตัวตนที่แท้จริงของเราตามความเชื่อของคริสต์ศาสนาหรือศาสนจักรยุคกลาง ย่อมหมายถึง “ตัวตนที่รอดจากบาป” ดังนั้น การปกครองเพื่อเตรียมประชาชนให้บรรลุถึงตัวตนที่มีเสรีภาพที่แท้จริงตามอุดมคติเช่นนั้น จึงเป็นการปกครองแบบเผด็จการในนามของพระเจ้า หรือศีลธรรมศาสนา

พุทธศาสนาที่ปกครองโดยโพธิสัตว์หรือกษัตริย์ที่เป็นตัวแทนของพุทธะก็เช่นกัน ย่อมมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองอาณาจักรและศาสนจักร เพื่อให้ผู้ใต้ปกครองมีศีลธรรม และมีโอกาสเข้าถึงเสรีภาพที่แท้จริงคือความหลุดพ้น กษัตริย์ก็คือ “ผู้ปกครองแบบนักบุญ” ที่มีบทบาทปกป้องเสรีภาพของไพร่ ทาสจากข้าศึกภายนอก และอุปถัมภ์ศาสนาให้เจริญสถาพร การปกครองจึงเป็นการบำเพญบารมีส่วนตัวของผู้ปกครอง และช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้รู้ทางพ้นทุกข์ไปด้วย โดยนัยยะนี้ ส่วนตัวกับส่วนรวมจึงไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน

พูดอีกอย่าง ความคิดเรื่องเสรีภาพเชิงบวกแบบศาสนา เช่น เสรีภาพที่จะทำดี เป็นคนดี ซึ่งเป็นไปได้ด้วยการรู้และปฏิบัติตามคำสอนศาสนา คือรากฐานของการทำให้ “ศาสนาเป็นเรื่องส่วนรวม” ที่มักนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพเชิงลบ เช่น เพราะเชื่อว่าศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี จึงต้องบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ให้นักบวชไปเทศนาหรือจัดค่ายปฏิบัติธรรมในโรงเรียนรัฐ เกณฑ์นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นต้น ซึ่งไปละเมิดหลักเสรีภาพเชิงลบ คือเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคล 

นอกจากการทำดีแบบศาสนาจะละเมิดเสรีภาพพื้นฐานดังกล่าวได้โดยชอบธรรมแล้ว ยังสร้างวัฒนธรรม “นักบุญทุนชาวบ้าน” ที่ผู้สวมบทบาทนักบุญเช่นนี้คือชนชั้นนำต่างๆ เช่น พวกเจ้า พวกนักบวช ดารานักร้องเป็นต้นที่มีชื่อเสียงและมีผู้คนศรัทธาบริจาคให้พวกเขากลายเป็นนักบุญให้ “ทาน” ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งไม่ใช่ว่าการช่วยเหลือผู้ยากไร้ไม่ดี แต่บรรดานักบุญเหล่านั้นคือเครือข่ายชนชั้นนำที่ปกป้องโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมและเหลื่อมล้ำ อันเป็นสาเหตุให้พวกเขาได้ทำความดีด้วยสวัสดิการแบบสงเคราะห์บนสำนึกแบบ “ทานบารมี” ของคนดีหรือผู้มีบุญ 

แน่นอนว่า แนวคิดการสอนให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม และการช่วยเหลือด้วยสวัสดิการสงเคราะห์แบบทานบารมี ย่อมไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้าง เพราะไม่ว่าระบบโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ถ้าในระบบโครงสร้างนั้นผู้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม ย่อมแก้ปัญหาต่างๆ ไปได้ ยิ่งคนที่บรรลุตัวตนที่แท้จริงที่มีเสรีภาพด้านใน ยิ่งมีมุมมองแบบผู้ปล่อยวางสมมติบัญญัติทางสังคม ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวายกับอำนาจทางการเมืองใดๆ อันจะรบกวนต่อความสงบทางจิต แต่ผู้บรรลุความสงบทางจิต ก็ใช่ว่าจะปลีกตัวอยู่ในโลกส่วนตัว หากแต่เขากลายเป็นนักบุญ หรือพระอริยเจ้าที่สังคมเทิดทูนบูชาในฐานะแบบอย่างของผู้ไปถึงจุดสูงสุดของการมีเสรีภาพเชิงบวก 

ดังนั้น แนวคิดเสรีภาพเชิงบวก ที่ยึดตัวตนที่มีเสรีภาพแท้จริงเป็นตัวตนที่แท้ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางศาสนาหรือปรัชญาใดๆ จึงมีแนวโน้มที่จะยอมรับการปกครองแบบเผด็จการเพื่อปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงผู้ใต้ปกครองให้มีเสรีภาพตามอุดมคตินั้นๆ ในยุคกลางบทลงโทษต่อผู้ที่เชื่อหรือใช้ชีวิตสวนทางกับตัวตนตามอุดมคคติทางศาสนานั้นรุนแรงเกินจินตนาการ 

ส่วนแนวคิดเสรีภาพเชิงลบถือว่า อำนาจชอบธรรมต้องอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ รัฐหรือสังคมจะใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพปัจเจกบุคคลไม่ได้ แต่รัฐที่จะคุ้มครองหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพปัจเจกบุคคลได้ ก็อาจเป็นได้ทั้งรัฐเผด็จการและประชาธิปไตย ดังที่ฮอบส์เสนอว่า อำนาจเด็ดขาดของบุคคลหรือคณะบุคคลจะคุ้มครองสิทธิตามธรรมชาติได้ ขณะที่ล็อกยืนยันรัฐบาลตัวแทนของประชาชน ส่วนมิลล์พูดถึงทรราชที่เป็นบุคคล คณะบุคคล และทรราชเสียงข้างมาก 

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของแนวคิดเสรีนิยม คือความพยายาม “จำกัดอำนาจรัฐ” และวางมาตรการตรวจสอบเพื่อให้อำนาจรัฐปกป้องเสรีภาพเชิงลบมากที่สุด แต่ระบบทุนนิยมก็พัฒนาขึ้นบนการยืนยันเสรีภาพปัจเจกบุคคล ความย้อนแย้งก็คือ จะจัดการอย่างไรกับอำนาจทุนผูกขาด ทุนกินรวบซึ่งทำให้คนกลุ่มน้อยบางกลุ่มมีเสรีภาพปัจเจกบุคคลมากกว่าด้วยการเบียดบังเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ 

พูดอีกอย่าง การมีเสรีภาพเชิงลบในรัฐสมัยใหม่ เราอาจพ้นจากความเป็นทาสของระบบศักดินา แต่เรายังเป็นทาสของระบบทุนนิยมอยู่หรือเปล่า การจำกัด “ขอบเขต” เสรีภาพว่าเราทำอะไรก็ได้ตราบที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น หมายความว่าเราจะเป็นทาสอารมณ์ ความปรารถนาตามใจตนเองอย่างไรก็ได้ กระทั่งเลือกที่จะมีความสุขกับการเป็นข้ารับใช้ผู้จงรักภักดีต่อนายเหนือหัว หรือการขายตัวเองเป็นทาสก็ได้เช่นนั้นหรือ ในแง่นี้ คำถามเรื่องเสรีภาพเชิงบวก หรือการเป็นนายของตนเองกลับมีน้ำหนักมากขึ้น หรือแม้แต่นักปรัชญาที่ยืนยันเสรีภาพเชิงลบต่างก็เห็นว่าการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ปัจเจกบุคคลใช้เสรีภาพในทางสร้างสรรค์ หรือเอื้อต่อความก้าวหน้าในชีวิตตนเอง สังคม และมนุษยชาติโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องเสรีภาพเชิงลบที่เน้นการไม่ตกเป็นทาสของเผด็จการรูปแบบใดๆ การจำกัดและตรวจสอบอำนาจรัฐ เพื่อให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพมากที่สุด กลับสะท้อนประวัติศาสตร์ของการสูญเสียอิสรภาพของปัจเจกบุคคลเพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพ เช่นประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาชน การต่อต้านเผด็จการในที่ต่างๆ ของโลก การตรวจสอบอำนาจรัฐที่มักแลกด้วยอิสรภาพและชีวิตของเหล่าวีรชนผู้เรืองนามและไร้นามจำนวนมาก 

ส่วนประเด็นปัญหาเสรีภาพเชิงบวก เบอร์ลินไม่ได้มองเพียงว่าเสรีภาพเชิงบวกตามแนวคิดปรัชญาและศาสนาโบราณ มีแนวโน้มสนับสนุนการเมืองแบบเผด็จการเท่านั้น แม้แต่เสรีภาพตามความคิดแบบคานท์ที่มอง “ตัวตนนามธรรม” ของมนุษย์ คือตัวตนของสัตผู้มีเหตุผลที่มีเป้าหมายในตัวเอง อันเป็นตัวตนนามธรรมของมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตัวเอง ที่ต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายตามอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและตามเป้าหมายของคนอื่น ครอบครัว ศาสนา ประเพณี หรือรัฐ โดยนัยยะนี้ปัจเจกบุคคลผู้มีศักดิ์ศรีและเป็นนายตัวเอง ต้องกระทำการต่างๆ ตามเหตุผลและเจตจำนงที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นเสมอ ซึ่งทำให้กีดกันผู้ที่ใช้เสรีภาพตามอารมณ์เหนือเหตุผลออกไป

เราอาจเข้าใจมุมมองข้างบน จากการที่คานท์เสนอว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐคือระบบการปกครองที่ดี แต่คนรับใช้ที่อยู่ในอาณัติของเจ้านายไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง และผู้หญิงก็ไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่มีความสามารถใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ที่จะทำให้เกิดวิจารณญาณในการเลือกตัวแทนที่ดีได้ หรือกรณีตัวอย่างในนวนิยายเรื่อง “สะพรึง” เมื่อเครื่องบินที่มีผู้โดยสารหลักร้อยจะพุ่งชนสนามกีฬาที่มีคนดูกีฬานับหมื่นคน หากเจ้าหน้าที่ยอมให้ “มนุษย์นามธรรม” คือมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตัวเองบงการมโนธรรมของตน เขาก็จะไม่ยิงเครื่องบินให้ระเบิดกลางอากาศ เพราะเป็นการละเมิด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของผู้โดยสารบนเครื่องบิน แต่การปล่อยให้เครื่องบินพุ่งชนสนามกีฬาและเกิดการระเบิดขึ้น ย่อมหมายความว่ามนุษย์ตัวเป็นๆ ในเครื่องบินและในสนามกีฬาอีกจำนวนมากต้องตาย

ดูเหมือนเบอร์ลินมองเห็นปัญหาแนวคิดเสรีภาพเชิงบวกและเชิงลบที่ยืนยันว่า เสรีภาพขึ้นกับอำนาจสูงสุดของปัจเจกบุคคลและตัวตนนามธรรมของมนุษย์ เขาจึงเสนอเสรีภาพในความหมายที่สาม คือเสรีภาพในการกำหนดสถานะตัวตนทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับความคิดพหุนิยม (pluralism) ที่ถือว่าคนในวัฒนธรรมต่างๆ อาจจะไม่ได้ต้องการถูกยอมรับในฐานะปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ หรือในฐานะตัวตนนามธรรมที่มีศักดิ์ศรีในตัวเอง แต่ต้องการถูกยอมรับในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ ที่ต้องการมีตำแหน่งแห่งที่หรือมีตัวตนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของสังคมตนเอง 

เบอร์ลินมองว่า พหุนิยมอาจสะท้อนความเป็นมนุษย์ของเราตามเป็นจริงมากกว่า เพราะตามข้อเท็จจริงที่เราเห็น มนุษย์ย่อมแตกต่างกันตามความแตกต่างทางวัฒนธรรม แน่นอนว่า มันไม่ใช่ไม่มีวัฒนธรรมที่ดี-เลวต่างกัน แต่การมีชีวิตในวัฒนธรรมที่หลากหลายจะทำให้เราได้เรียนรู้และสามารถเลือกคุณค่าที่ดีมากกว่าได้ เสรีภาพจึงเป็นการเรียนรู้และต่อรองภายในแต่ละสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น สังคมเอเชียที่มีวัฒนธรรมของตนเองต่างจากสังคมเสรีแบบตะวันตก ก็อาจมีมาตรฐานของเสรีภาพของตนเองแตกต่างกันไป 

อย่างไรตาม เสรีภาพในความหมายที่สามของเบอร์ลิน ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่เอื้อให้เกิดการปกครองเผด็จการ เพราะการอ้างอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของสังคมเอเชีย มักนำไปสู่การเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม หรือประชาธิปไตยแบบเอเชียที่เน้นระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม อันเนื่องมาจากอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์กษัตริย์นิยม

อีกด้านหนึ่ง ในสังคมเอเชียที่เน้นอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมก็เกิดปรากฏการณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพเชิงลบและเชิงบวกแบบเสรีนิยมนั่นเอง แน่นอนว่า แนวคิดเสรีภาพเชิงบวกแบบปรัชญาและศาสนาโบราณ และเสรีภาพตามแนวคิดเสรีนิยมก็มีปัญหาหลายแง่มุมตามที่เบอร์ลินวิจารณ์ แต่แนวคิดเสรีภาพแบบคานท์ทั้งในแง่ตัวหลักการและประวัติศาสตร์การปรับใช้ ก็ชัดเจนว่ามีพัฒนาการมาในทางสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่า

ตัวอย่างเช่น คานท์เสนอว่าปัจเจกบุคคลมี “อิสรภาพปกครองตนเองทางศีลธรรม” (moral autonomy) ซึ่งบ่งถึงความหมายของเสรีภาพเชิงลบและเชิงบวก เสรีภาพเชิงลบก็คือ ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพจากการถูกครอบงำโดยอารมณ์ของตนเอง และมีเสรีภาพจากอิทธิพลครอบงำของคนอื่น ประเพณี ศาสนา ศาสนจักร และรัฐ และเสรีภาพเชิงบวก ก็คือปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพใช้เหตุผลสร้างกฎศีลธรรมสากลขึ้นมาได้และมีเจตจำนงเสรีกระทำตามกฎศีลธรรมนั้นได้ ซึ่งการใช้เหตุผล และเจตจำนงทำตามกฎศีลธรรม ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเสมอ ดังนั้น ความคิดพื้นฐานทางปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์ จึงปฏิเสธระบบเผด็จการอำนาจนิยมมากกว่า

จอห์น รอลส์ นำไอเดีย “moral autonomy” มาพัฒนาเป็น “อิสรภาพปกครองตนเองทางการเมือง” (political autonomy) ของพลเมืองเสรีและเสมอภาคในระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่รัฐธรรมนูญและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมต้องประกัน “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ซึ่งได้แก่ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม คือเสรีภาพเชิงลบของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง ประกันหลักการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน และหลักสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้พลเมืองใช้เสรีภาพเชิงบวกเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของตนเองได้

เมื่อมองจากหลักความยุติธรรมสาธารณะของรอลส์ คำถามต่อเบอร์ลินก็คือ พหุนิยมทางศีลธรรมและทางวัฒนธรรมจะเป็นไปได้จริงอย่างไร หากไม่มี “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” เป็นกติกากลางรองรับความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อและคุณค่าทางศาสนา, ศีลธรรม และวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพและมีขันติธรรมระหว่างกัน 

เช่น พลเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อ พวกเขาอาจมีแนวคิดเสรีภาพเชิงบวกเกี่ยวกับการบรรลุตัวตนที่แท้จริงแตกต่างกัน ถ้ารัฐให้หลักประกันการมีเสรีภาพเชิงลบ แต่ละคนที่สมาทานศาสนา ปรัชญาเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงแตกต่างกัน พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะนำเสนอความเชื่อนั้นๆ ในตลาดเสรีทางความคิด นี่คือหลักการพื้นฐานที่ทำให้พหุนิยมเป็นไปได้ ตราบที่ผู้คนซึ่งมีวัฒนธรรมความเชื่อแตกต่างกันยังเคารพเสรีภาพปัจเจกบุคคลของกันและกัน และร่วมปกป้องรักษาเสรีภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกัน

แนวคิดปรัชญาว่าด้วยเสรีภาพดังอภิปรายมาอาจดูซับซ้อน แต่โลกความเป็นจริงอาจซับซ้อนยิ่งกว่า และดูเหมือนไม่ได้แยกขาดจากโลกความคิดทางปรัชญา เช่น ทำไมคนบางคน บางกลุ่มจึงต่อสู้ต้านเผด็จการ ด้วยการยอมแลกอิสรภาพของตนเองเพื่อเสรีภาพสำหรับทุกคน พวกเขาต้องสมาทานคุณค่านามธรรมของเสรีภาพตามแนวคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างเป็นแน่ 

ข้อเท็จจริงชัดเจนอีกอย่างคือ การไม่มีเสรีภาพเชิงลบทำให้สูญเสียเสรีภาพเชิงบวกด้วย เช่น เมื่อรัฐไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ประกันเสรีภาพในการพูด ทำให้คนแบบอานนท์ที่ต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้มีเสรีภาพทางการเมืองต้องสูญเสียเสรีภาพเชิงบวกในการทำหน้าที่ทนายความ ไผ่สูญเสียเสรีภาพเชิงบวกในการสอบตั๋วทนาย เพนกวินและเบนจาสูญเสียเสรีภาพเชิงบวกในการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไมค์สูญเสียโอกาสในการทำงานเลี้ยงครอบครัว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทำไมครอบครัวผู้มีอำนาจบางครอบครัวถึงหมอบกราบบุพการีและสวมกอดคนที่ตนรักต่อหน้าสาธารณชน หรือต่อหน้างกล้องสื่อมวลชน ราวกับกำลังแสดงความหมายและคุณค่าของ “ความรักความอบอุ่น” ในครอบครัว ขณะที่โดยอำนาจของชนชั้นผู้เป็นตัวแสดงนั้นได้ทำให้ครอบครัวสามัญชนอีกจำนวนมากที่ลูกๆ พ่อ แม่ สามี และญาติมิตรต้องทนทุกข์ทรมานในคุกขังลืม เพียงเพราะพวกเขาออกมาเรียกร้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย 

ดังนั้น ความคิดและอุดมการณ์ที่ยืนยันเสรีภาพ กับความคิดและอุดมการณ์ที่กดทับเสรีภาพ ย่อมสำคัญต่อการมีความเป็นคนและการคอร์รัปฯ ความเป็นคนของเราอย่างไม่ต้องสงสัย การวิพากษ์ความคิดและอุดมการณ์พวกนี้ในแง่ด้านต่างๆ จึงจำเป็นต่อการปกป้องความเป็นคนของเราทุกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท