Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. หนังสือนี้เป็นเหมือน Encyclopedia ใครเป็นใครในการเมืองไทย 2490 ถึง 2530 มีข้อมูลรายละเอียดเยอะมาก ซึ่งสะท้อนถึงการวิจัยอย่างอดทน ทำงานหนัก และวิธีเก็บข้อมูลต้องเป็นระบบระเบียบมาก จึงสามารถจัดการกับข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ได้

2. อาสาพยายามถอยห่างออกจากข้อมูลเหล่านี้ออกมา 1-2 ก้าว เพื่อที่จะ conceptualize ข้อมูลเหล่านี้ออกมาด้วยแนวคิดวิเคราะห์ (concept) จำนวนหนึ่ง ทั้งที่ประยุกต์จากที่มีอยู่แล้วและที่สร้างขึ้นมาใหม่จากข้อมูล แนวคิดวิเคราะห์ที่สำคัญ ได้แก่ 

A แนวคิดหลักตลอดทั้งเล่มมีสองอย่าง คือ พระราชอำนาจนำ (royal hegemony) และ “สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่าย” (Network Monarchy) หรือที่อาสาเรียกว่า “เครือข่ายกษัตริย์”

B แล้วศึกษาพระราชอำนาจนำและเครือข่ายดังกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ คือ ความเปลี่ยนแปลงจากประมุขกลุ่มสู่ประมุขของชนชั้นปกครอง (ตามความคิดของ สศจ.)  

C แนวคิดประกอบการอธิบายอีกสองย่าง คือ ฉันทามติ และ “ไม่ควบรวมอำนาจ” “หุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ” 

ในความเห็นของผม อาสาวิเคราะห์และอธิบายข้อมูลมหาศาลด้วยแนวคิดเหล่านี้ได้ดีทีเดียว แม้ว่ายังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา 

3. ปัญหาที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผมก็คือ ในขณะที่เน้นถึง “สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่าย” แต่สาระการอธิบายเป็นเรื่องการเมืองหรือสัมพันธภาพทางอำนาจะระหว่างวังกับกลุ่มอำนาจระดับบนสุดหรือที่ศูนย์อำนาจในแต่ระยะ ซึ่งในช่วงเวลาที่เล่มนี้ศึกษาจะหมายถึงกลุ่มทหารเป็นหลัก จนดูเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่ศูนย์อำนาจ ทำนองเดียวกับที่มีคนทำกันมามากพอควรแล้ว (เพียงแต่มีรายละเอียดของผู้เล่นมากขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น) 

คำถามก็คือ “เครือข่ายกษัตริย์” หมายถึง สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างวังกับกลุ่มอำนาจที่ศูนย์กลาง หรือ? 

ก่อนอื่น กรณีศึกษาที่ Duncan McCargo ใช้ในการเสนอเรื่อง Network Monarchy แต่แรกเมื่อปี 2005 คือ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดว่า ศอ.บต. ไม่ใช่ตัวการหนึ่งในศูนย์อำนาจแต่อย่างใด แต่เป็นการปรากฏตัวของสถาบันกษัตริย์แบบเครือข่ายในการจัดการกับปัญหาสำคัญมากของประเทศกรณีหนึ่ง สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่ายนี้ปรากฏตัวในหน่วยงานราชการที่มีบทบาทมากต่อกรณีนั้น แต่ไม่ใช่การเมือง ณ ศูนย์กลางอำนาจ

คงไม่สามารถกล่าวได้ว่าอาสาเข้าใจถูกหรือผิด เพราะแนวความคิดในการวิเคราะห์เป็นของแต่ละคนจะกำหนดขึ้นมาในการวิจัย และการที่อาสากำหนดเช่นนี้สำหรับการวิจัยของเขา ก็ไม่ได้ขัดแย้งตรงข้ามกับที่ McCargo ใช้ ถึงแม้จะไม่ตรงกันนักก็ตาม ดังนั้น ผมเพียงจะอภิปรายว่า การใช้ “เครือข่ายกษัตริย์” แบบที่อาสาในงานชิ้นนี้ช่วยให้เราเห็นอะไรและมองข้ามอะไรไปบ้าง

4. การกำหนดให้ “เครือข่ายกษัตริย์” มีนัยเช่นนี้ อาจจะตรงมากกับจริตของผู้อ่านจำนวนมากก็ได้ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองในช่วง 2530 และก่อนหน้านั้นสักเท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสืออ้างอิงว่าด้วยใครเป็นใครในสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างวังกับกลุ่มอำนาจที่ศูนย์กลาง ระหว่างปี 2500-2530 แต่สำหรับคนที่ติดตามการเมืองมานานหลายทศวรรษ หนังสือเล่มนี้จึงดูเป็นการสรุปรวบรวมข่าววิเคราะห์การเมือง ราวกับเอานิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ (สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ สยามนิกร ไทยนิกร อาทิตย์ ข่าวพิเศษรายสัปดาห์ ฯลฯ) ในระยะ 2500-2530 มาประมวลไว้ในเล่มเดียวกัน สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจที่ศูนย์กลาง ดูจะเป็นแนวคิดวิเคราะห์ที่นิตยสารวิเคราะห์ข่าวเหล่านั้นใช้กันเป็นประจำ เพียงแต่โดยมากพวกเขาไม่ได้ทุ่มความสนใจไปที่วังกับกลุ่มทหารอย่างที่หนังสือเล่มนี้ทำและทำได้ดีมากๆ ด้วย 

แต่สิ่งที่ผมคาดหวังจะเห็นจากชื่อหนังสือและคำกล่าวขวัญ คือได้เห็น “สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่าย” ที่มีบทบาทโลดแล่นในสังคมกว้างกว่ากลุ่มทหารหรือผู้เล่นหลักที่ศูนย์อำนาจ คาดหวังว่าจะได้เห็นตัวการที่แข็งขันในการสร้างพระราชอำนาจนำของกษัตริย์จากนอกศูนย์อำนาจ ที่อยู่แวดล้อมศูนย์อำนาจแต่มีความสำคัญไม่น้อยเพราะทำให้ประเทศไทยในด้านต่างๆ เดินหน้าไปทิศทางหนึ่งๆ ซึ่งนอกพ้นนโยบายของอำนาจที่มาจากประชาชนจะไปจัดการได้ ทำนองเดียวกันที่ McCargo ได้แสดงให้เห็นในกรณี ศอ.บต. มาแล้ว เป็นต้น กลับกลายเป็นว่าเครือข่ายแบบนี่ไม่ใช่กลุ่มหลักๆ ที่หนังสือเล่มนี้สนใจ แม้มีกล่าวถึงเป็นระยะ แต่ก็ไม่มากนัก (ที่มากหน่อยคือในบทที่ 8) 

5. พระราชอำนาจนำ (royal hegemony): การเสนอว่าพระราชอำนาจนำมีการขึ้นลง ข้อนี้แทบไม่ต้องถกเถียงเลยก็ได้ เพราะในเมื่อวังเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่ง ไม่ใช่เทวดาที่สูงส่งพ้นการเมือง ย่อมต้องมีการต่อรอง เจรจา ขัดแย้ง ได้บ้าง เสียบ้าง ดังนั้น พระราชอำนาจนำจึงไม่มีทางคงที่ ไม่มีทางจะมีแต่กราฟขึ้นหรือกราฟตกอย่างสม่ำเสมอ

คำถามที่น่าสนใจในความเห็นของผมคือ เครือข่ายนอกศูนย์อำนาจมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อการสร้างพระราชอำนาจนำเพื่อชิงความเหนือกว่า ณ ศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะหลัง 14 ตุลาที่สถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจรายสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับจาก 2475 (หรือกล่าวได้ว่ามีอำนาจอย่างสัมพัทธ์พอเทียบเคียงได้กับทหาร เพราะเป็นแหล่งความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุด แม้จะยังมีฐานในกองทัพไม่พอก็ตาม) นั้น ในความเห็นของผม ในระยะเดียวกับที่พยายามสร้างฐานของ “ทหารพระราชา” ในกองทัพโดยผ่านบทบาทของเปรมนั้น มีการสร้างพระราชอำนาจนำที่อาศัย “ทุนวัฒนธรรม” เป็นพื้นฐาน และเป็นการสร้างในหมู่มวลชนหรือในประชาสังคม (civil society) โดยตรง พระราชอำนาจนำแบบนี้เพิ่มพูนอย่างมหาศาลในช่วงหลัง 14 ตุลา เป็นอำนาจทางการเมืองแบบมวลชน และมีส่วนสำคัญต่อการขึ้นเป็นประมุขของชนชั้นปกครองนับจากปี 2535 ด้วย สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่ายในหมู่มวลชนหรือในประชาสังคมเป็นอย่างไร 

ตามความเข้าใจของผม (ที่รู้จัก Gramsci แบบงูๆ ปลาๆ) อำนาจนำหรือ hegemony ให้ความสนใจกับอำนาจเพื่อสร้างความยินยอมโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับข่มเหงด้วยอาวุธหรือกฎหมาย การสร้างอำนาจชนิดนี้จึงเน้นที่ประชาสังคมและชีวิตวัฒนธรรมตามปกติของผู้คน ไม่ใช่เน้นที่การต่อรองแย่งชิง ณ ศูนย์อำนาจ

6. สถาบันแบบเครือข่ายที่สร้างพระราชอำนาจนำจากนอกศูนย์อำนาจ หมายถึง เครือข่ายที่ช่วยกันสร้างภาวะ Hyper royalism (หรือลัทธิคลั่งใคล้เจ้าหรือกษัตริย์นิยมล้นเกิน) ภาวะดังกล่าวนี้เป็นสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญเพราะเป็นพลังสังคม (หรือมวลชน) ที่ส่งผลต่ออำนาจนำทางการเมืองหรือการต่อรองต่อสู้ของกษัตริย์กับอำนาจทหารและอื่นๆ ณ ศูนย์อำนาจอย่างมาก “เครือข่ายกษัตริย์” นอกศูนย์อำนาจหรือที่อยู่ในประชาสังคม นี่แหละที่มีบทบาทมากในการผลิตและเข้าร่วมภาวะคลั่งไคล้เจ้า จนนำไปสู่อำนาจสูงเหนือกลุ่มอื่นๆ นับจากพฤษภา 2535

อาสากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่มากเลย มีเพียงบทที่ 8 และ section เดียวของบท 12 (เกี่ยวกับพระราชพิธี 200 ปีกรุงเทพฯ งาน 5 ธันวามหาราช ฯลฯ) และเอ่ยถึงอีกบางคนเป็นครั้งคราว เช่น นายธนาคารผู้สนับสนุนราชสำนัก (p.101) คหบดีที่อุดรธานี (p.279) ในความเห็นของผม บทบาทกิจกรรมพรรค์นี้ คนและกลุ่มนอกศูนย์อำนาจเหล่านี้ สำคัญมากและดูเหมือนเราจะรู้แต่รู้ไม่กระจ่าง ไม่เป็นระบบ ยังมีการศึกษาถึงน้อย

7. หนังสือเล่มหนึ่งไม่ว่าจะดีแค่ไหน ก็มีขีดจำกัด ถ้าเช่นนั้น “เครือข่ายกษัตริย์” หรือ “สถาบันกษัตริย์แบบเครือข่าย” ที่เราต้องการเข้าใจมากกว่านี้ จำแนกแยกแยะความต่างหลากหลายของเครือข่ายได้มากกว่านี้ และเห็นความเปลี่ยนแปลง (เป็นประวัติศาสตร์) ของเครือข่ายด้วยนั้น หมายถึงใครกลุ่มไหน 

ตัวอย่างประเภทสำคัญๆ ตามความเข้าใจแบบผิวเผินเท่าที่ผมมีอยู่ ได้แก่ 

A นอกจาก ศอ.บต. แล้ว มี Network Monarchy ทำนองอย่างนี้อีกไหมในระบบราชการ เช่น ในกระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ฯ? กรมชลประทาน? (ซึ่งไม่ถูกเอ่ยถึงเลยในเล่มนี้ ไม่ใช่แค่บทบาทชัดเจนในโครงการพระราชดำริตามที่ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ศึกษาไว้ แต่เกี่ยวพันกับนโยบายการจัดการน้ำในประเทศไทยด้วย) ในกระทรวงการต่างประเทศ? (ซึ่งน่าจะชัดเจนเช่นกันจากคำเล่าลือและจากการศึกษาประวัติกระทรวงนี้โดยปราณ จินตะเวช แต่ไม่ถูกเอ่ยถึงเลยในเล่มนี้เช่นกัน) ตำรวจตระเวนชายแดน (ชัดยิ่งกว่าชัด ซึ่งบทบาทหลักไม่ใช่ลูกเสือชาวบ้านหรือ 6 ตุลาด้วยซ้ำไป แต่คือภารกิจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตามชายแดน) กรมไหนกระทรวงไหนอีก

B ในภาคประชาสังคมที่เป็นกึ่งราชการ เช่น วงการสาธารณสุข ที่ทั้งอยู่ในและนอกระบบราชการ คำเรียกล้อเล่นว่า “เครือข่ายประเวศ” นั้นผมว่าไม่ใช่เรื่องเล่น (แต่หนังสือนี้ไม่ได้กล่าวถึงเช่นกัน ดูการศึกษากลุ่มนี้ในหนังสือของ Joseph Harris แต่เขาไม่ได้ดูในแง่การเป็นเครือข่ายกษัตริย์) 

C เครือข่ายในภาคธุรกิจเอกชน เช่น บทบาทของ SCG SCB ที่ไม่ใช่ในแง่เป็นแหล่งทุนทรัพย์ของสถาบัน เป็นอย่างไร 

D เครือข่ายในวงการสำคัญอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน ผ่านบทบาทของปีย์ มาลากุล และโดยสื่อมวลชนที่ทำตัวเองให้กลายเป็นเครือข่ายกษัตริย์เพราะความกลัว ความอยากชเลียร์ หรือเพราะอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอยู่เหนือความเที่ยงตรงในวิชาชีพ (professional integrity) เครือข่ายกษัตริย์อีกวงการที่น่าสนใจคือ นักวิชาการและชาวมหาวิทยาลัย

น่าสนใจว่าเครือข่ายของกษัตริย์มีหลักๆ กี่ประเภท หรือในแต่ละระยะมีประเภทไหนที่มีบทบาทมากและน้อยเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นการจัดตั้งอย่างมีแผนการของกลุ่มกษัตริย์นิยม หรือเป็นความกระหายอยากรับใช้ใกล้ชิดเจ้าของคนในกรมกองและในประชาสังคมเหล่านั้นเอง หรือเป็นความสอดคล้องทางอุดมการณ์และค่อยๆ เกิดเครือข่ายขึ้นมาตามบริบทของสถานการณ์ การก่อตัวหรือสิ้นสุดลงของเครือข่ายหนึ่งๆ เป็นอย่างไร คุณสมบัติของเครือข่ายหนึ่งๆ เป็นอย่างไร บทบาทของเครือข่ายนั้นๆ ส่งเสริมพระราชอำนาจนำอย่างไร เหล่านี้น่าจะได้หนังสือดีๆ อีกหลายเล่มในอนาคต

หากเรามีความรู้ต่อเครือข่ายของกษัตริย์มากกว่านี้ เราควรมองเครือข่ายที่ศูนย์อำนาจอย่างสรุปเป็นภาพรวมให้มากขึ้น แล้วเพิ่มเรื่องเครือข่ายนอกศูนย์อำนาจให้มากขึ้น หรือพลิกอย่างหลังมาเป็นประเด็นหลักก็น่าจะได้ 

8. ประวัติศาสตร์ตามข้อเสนอของ สศจ. นั้น ผมไม่เข้าใจว่าขัดแย้งกับธงชัยตรงไหน ผมอ่านที่เขาเขียนแต่แรก ก็ไม่เห็นข้อขัดแย้งเพราะผมเห็นด้วย แต่เห็นว่าเสริมกันได้พอดี ไม่เห็นเป็นข้อขัดแย้งเลย ดังนั้นผมก็รับมาใช้อธิบายการเมืองไทยมานานเกินสิบปีแล้ว เช่น ตั้งแต่บทความ “Toppling Democracy” 2008 ซึ่งแปลแล้วอยู่ในเล่มเหลือง 

เหตุที่ผมไม่เห็นเป็นความขัดแย้งก็เพราะผมเห็นว่าเป็นการพูดถึงบทบาทอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ในคนละแง่กันแต่เสริมกันได้พอดี กล่าวคือ ผมไม่เคยเสนอว่า 14 ตุลาเป็นจุดสูงสุดของอำนาจกษัตริย์ ผมตั้งใจใช้คำว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” (turning point) ของอำนาจกษัตริย์ที่สัมพัทธ์กับอำนาจทหารในการเมืองไทย คือกษัตริย์เถลิงขึ้นเป็นตัวการหลักทางการเมืองรายหนึ่ง (หากเรียกตามอาสาก็ต้องเรียกว่าเป็น “หุ้นส่วนใหญ่” รายหนึ่ง) ในศูนย์อำนาจ ทั้งๆ ที่เคยเป็นตัวการรอง (หุ้นส่วนรองๆ) มาตลอดนับจาก 2475 ที่สำคัญคือนับจาก 14 ตุลา ได้กลายเป็นแหล่งของความชอบธรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตามจะต้องเข้ามาอิงหรือพยายามทำให้กษัตริย์รับรอง ในขณะที่ทหารเริ่มถดถอยลงไป (ดังจะเห็นได้จากกรณีกบฏยังเติร์กหรือกบฏเมษาฮาวาย ซึ่งกำลังได้เปรียบในการยึดอำนาจจากเปรม แต่ล่มทันที่ที่กษัตริย์แสดงตัวชัดว่าหนุนเปรม) ผมไม่เคยเสนอว่าอำนาจของกษัตริย์ขึ้นสูงสุดนับแต่ 14 ตุลา หรือเป็นอำนาจหลักอย่างเมื่อปี 2535 อาสาชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนนี้อย่างชัดเจน (esp. pp. 291-292) แต่ก็แสดงชัดเจนเช่นกันว่าวังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าสิบปีจึงจะสร้างฐานในกองทัพได้พอ (ทหารพระราชา) 

หรือกล่าวอีกอย่างก็ได้ว่า มิติที่ผมสนใจคือ “ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” ได้ขยับเข้าสู่ขั้นใหม่ หมายถึงอยู่ข้างบนหรือมาเป็นผู้กำกับเป็นผู้เล่นทางการเมืองโดยตรงถึงขนาดเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับจาก 2475 นี่คือความหมายของการที่ 14 ตุลา 2516 เป็นจุดเปลี่ยน ผมต้องการจะพูดถึงประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (หรือประเด็นหลักของเล่มเหลืองน่ะแหละ) จึงไม่ได้ขัดเลยกับ สศจ ที่พูดถึง peak ของอำนาจกษัตริย์ 

ขอฝากให้คิดอีกประเด็นว่า ผู้นิยม สศจ บางคนให้ความสำคัญแต่กับ peak ถึงขนาดมองข้ามการก่อตัวอย่างสำคัญของอำนาจกษัตริย์ช่วงตั้งแต่หลัง 14 ตุลาจนถึงพฤษภา 2535 เพราะเอาแต่เน้นว่าอำนาจสูงสุดๆ ๆ ๆ เมื่อ 2535 ผมได้แต่หวังว่าเขาจะตระหนักได้ว่า ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของช่วง 2516-2535 ดังกล่าว ซึ่งการสร้างอำนาจเกิดขึ้น ณ ศูนย์อำนาจ ในประชาสังคม และในหมู่มวลชนไปควบคู่กัน สภาวะ Hyper-royalism ซึ่งมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่อำนาจสูงสุดในปี 2535 นั้น เกิดขึ้นและเข้มข้นมาก่อน 2535 เกือบ 20 ปี ผมสนใจและให้ความสำคัญกับส่วนนี้โดยที่ไม่เห็นว่าขัดแย้งกับข้อเสนอของ สศจ แต่อย่างใด ยิ่งเขากล่าวถึง mass monarchy ก็ยิ่งชัดเจนว่าไม่ได้จู่ๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 แต่การสร้าง ”พระราชอำนาจนำ” มีมาก่อนหน้านั้นและทำกันในหมู่มวลชนอย่างเอิกเกริกโครมครามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

9. ในขณะที่อาสาเห็นว่า ผม “เหมารวม” ว่าภาวะหลัง 14 ตุลาเหมือนๆ กันหมด (ทั้งๆ ที่ผมได้อธิบายความเปลี่ยนแปลงหรือประวัติศาสตร์ของ “ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” หลายครั้งดังที่ปรากฏในบทความต่างๆ ที่รวบรวมไว้ในเล่มเหลือง) ในทางกลับกัน เราไม่ควรเหมารวมช่วง “ก่อน พฤษภา 2535” โดยไม่สนใจแยกแยะว่ามี periodization ของอำนาจกษัตริย์สูงต่ำต่างกัน แม้แต่ภาวะ Hyper-royalism ก็มีความต่างกันเช่น ช่วงปลายสงครามเย็นกับช่วงหลังสงครามเย็น เป็นต้น

หนังสือของอาสายืนยันความผันแปรของ “ก่อน พฤษภา 2535” ได้ดี รวมทั้งชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนเมื่อ 14 ตุลาด้วย อธิบายชัดเจนว่าประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองหลัง 14 ตุลานั้น เต็มไปด้วยการต่อรองแบ่งสรรอำนาจกับทหารกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อย่างที่เรารู้จักว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นระยะที่บทบาทของกษัตริย์ยังไม่สามารถครอบงำและยังไม่ใช่ “หุ้นส่วนใหญ่สุด” ก่อนที่อำนาจของสถาบันขึ้นสูงสุดในปี 2535 

ทว่าในขณะที่หนังสือทั้งเล่มอธิบายถึงช่วงก่อน 2535 แต่กลับมุ่งเน้นว่าตนกำลังอธิบายว่ากษัตริย์ขึ้นสู่จุดสูงสุดได้อย่างไรในปี 2535 โดยไม่ได้ “ฟันธง” ออกมาเป็นนิยามของแต่ละระยะเพื่อทำให้เห็นคุณภาพหรือคุณสมบัติเฉพาะของระยะต่างๆ ก่อน 2535 อย่างกระชับจับใจความว่าเป็นอย่างไร อาสาอาจต้องการให้ผู้อ่านฟันธงเอาเองก็เป็นได้

10. ฉันทามติ – ผมคิดว่าอาสาใช้คำนี้บ่อยไป จนบางครั้งทำให้ความหมายเลอะเลือนไป ยกตัวอย่างเช่น “แนวทางจัดการปัญหาของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ อย่างน้อยก็เป็นฉันทามติที่ชนชั้นนำไทยเห็นพ้อง” (น 357) “ฉันทามติในการแทนที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ด้วย พล.อ. เปรม” (น.373) และอีกหลายแห่ง ทั้งที่เป็นการเห็นพ้องตรงกัน ณ สถานการณ์สั้นๆ ขณะหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่น่าเหมือนกับคำ ฉันทามติ ที่อยู่ในวลี “ฉันทามติภูมิพล” 

รังสรรค์ก็พูดถึง ฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งหมายถึงการค้าเสรี เสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นกรอบความเห็นพ้องที่กว้างขวางมากและสถาบันกลุ่มองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวภายใต้ร่มของฉันทามตินั้น เกษียรใช้ว่า “ฉันทามติภูมิพล” ก็ทำนองนั้น สำหรับความเห็นพ้องในทางระยะยาวๆ และในระดับที่ครอบคลุมนโยบายและกลุ่มการเมืองกว้างขวาง แม้กลุ่มคนสารพัดที่เห็นพ้องยังอาจเห็นต่างกัน ต่อสู้กันในกรอบหรือใต้ร่มนี้ยังได้ แต่ยังเห็นร่วมกันในแง่กรอบของฉันตามมตินั้นๆ การเห็นตรงกันระยะสั้นๆ เช่นเห็นว่าควรสนับสนุนเกรียงศักดิ์หรือเปรม หากเรียกว่าเป็นฉันทามติ ก็จะทำให้คำๆ นี้ลดความสำคัญลงไปเลย

11. “ไม่ควบรวมอำนาจ” เป็นฉันทามติหรือ? หมายความว่าเป็นความเห็นร่วมกันอย่างกว้างกว้างของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในระยะเวลายาวพอสมควร หรือว่าไม่ใช่ฉันทามติ แต่เป็น “ความไม่สามารถ” (inability) ที่จะควบรวมอำนาจได้ 

หมายความว่าในระยะหลายสิบปีทางการเมืองไทยที่หนังสือเล่มนี้ศึกษา เป็นระยะที่ไม่มีกลุ่มใดมีพลังอย่างเด็ดขาดหรือสามารถจะควบรวมอำนาจได้นาน ถ้าได้ก็ไม่นาน ทำได้เพียงสั้นๆ เช่น สฤษดิ์ นอกเหนือจากนั้น แตกเป็นกลุ่มใหญ่น้อยหรือเป็นเสี่ยงๆ จนกระทั่งไม่สามารถมีใครครอบอำนาจได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมสงสัยว่าควรเรียกว่าฉันทามติไม่มีการควบรวมอำนาจ หรือ เพราะเป็นภาวะของกระบวนการทางการเมืองที่ไม่มีใครรวมอำนาจได้ต่างหาก ถ้าคุณเทียบกับการที่พูดถึงฉันทามติภูมิพล ไม่มีใครอยากจะออกนอกฉันทามติภูมิพลนับแต่ปี 35 ในขณะที่ผมว่ามีความพยายามรวมอำนาจบ่อยครั้งแต่ทำไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะเกิดจากฉันทามติ แต่เพราะทำไม่ได้

12. ฝากอีกหนึ่งประเด็นจิ๊บจ๊อย: ในเชิงอรรถท้ายหน้า 74 สม = “เท่ากัน เสมอกัน” ใช่หรือ? ผมว่าไม่น่าจะถูก “สม” (Sama สันสกฤต) ในคำว่าราชประชาสมาศัย น่าจะแปลว่า ซึ่งกันและกัน (mutual) โดยไม่จำเป็นต้องได้เสียเท่ากันหรือเสมอกัน 

ทั้งหมดนี้หมายความว่าน่าจะยังมีคำถามและมีประเด็นที่น่าศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเครือข่ายกษัตริย์ได้อย่างน่าสนใจมากอีกหลายเรื่อง อาสาอาจจะทำต่อ หรือคนอื่นอาจจะทำสิ่งที่อาสาได้เริ่มไว้แล้ว ต่อยอดขยายความเพิ่มกลุ่มได้อีกมาก บางคนควรถอยห่างออกจากข้อมูลเยอะแยะเหล่านี้และมองเห็นคำถามอื่นแง่มุมอื่นของเรื่องเครือข่ายกษัตริย์ก็เป็นอีกทางที่น่าจะทำได้

ผมหวังว่าความเห็นทั้งหมดนี้จะไม่ถูกหาว่าเป็นการวิจารณ์นอกประเด็นหรือ unfair เพราะว่าเป็นประเด็นที่เกินเลยไปกว่าขอบเขตของหัวข้อ “เครือข่ายในหลวง” (ตามที่นิยามในหน้า 125) เพราะอาสาทำมาขนาดนี้ก็มากมายมหาศาลแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่เสนอทั้งหมดนี้ อยู่ในประเด็นและไม่ได้นอกเรื่อง แต่ผมเห็นด้วยว่าอาสาทำมามากอย่างน่าชมเชย เพียงแต่การวิจัยแต่ละชิ้นต่อหัวข้อใหญ่ขนาดนี้ย่อมไม่สามารถทำได้หมดในคราวเดียวเล่มเดียว 

ขอขอบคุณมากๆ ที่ทำงานวิจัยดีๆ และเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อ่านกันกว้างขวาง หวังว่าจะได้เห็นงานต่อไปที่ดีๆ เช่นนี้อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net