Skip to main content
sharethis

‘จิราพร เพื่อไทย’ ชวนจับตาคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัครา 31 ม.ค. นี้ ส่อมีดีลใหญ่ยกทรัพย์สินชาติแลกถอนฟ้อง พร้อมเชิญร่วมลงชื่อค้านนำสมบัติชาติไปสังเวยความผิดพลาดของ ‘ประยุทธ์’ หลังคิงส์เกตออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่ารัฐบาลไทยมอบประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงอายุ 10 ปี พร้อมต่อใบอนุญาตประกอบกิจการแปรรูปโลหกรรมที่ถูกระงับมาตั้งแต่ปี 2560 ตามคำสั่งที่ 72/2559 ของ คสช.

26 ม.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่าจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าคดีพิพาทระหว่างประเทศไทยและบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุด บริษัทคิงส์เกตแจ้งว่ารัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ 4 แปลงให้กับบริษัทและเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีได้อีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จิราพรกล่าวว่าการที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัครากลับมาดำเนินการก่อนจะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ เท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทองคำเป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกต และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดี จึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง

ที่ผ่านมา คดีเหมืองทองอัคราถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาดถึง 3 ครั้ง ซึ่งล่าสุด ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกฎของ UNCITRAL ซึ่งเป็นกฎที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตัดสินคดี คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประณีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และ รูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประณีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะสามารถนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้

แนวทางที่ 2 ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง และแนวทางที่ 3 คือ ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด

"รัฐบาลไทยกำลังมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ ให้กับบริษัทคิงส์เกต และยังเร่งอนุมัติสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้ ซึ่งมีประเด็นปัญหาว่า การที่รัฐบาลไทยนำทรัพยากรชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองในลักษณะนี้เป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายได้ จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันจับตาผลการตัดสินคดีเหมืองทองอัคราในวันที่ 31 ม.ค. นี้ และเชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อกับพรรคเพื่อไทย เพื่อคัดค้านการนำสมบัติชาติไปสังเวยความผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผลักความผิดของตัวเองมาให้ประชาชนและประเทศชาติต้องรับผิดชอบแทน" จิราพรกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คิงส์เกตแจ้ง รบ.ไทยให้ที่ดิน 4 แปลง เดินหน้าทำเหมืองต่อ

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 บริษัทคิงส์เกตเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ kingsgate.com.au ระบุว่าบริษัทได้รับอนุมัติใบอนุญาติประกอบกิจการเหมืองแร่แล้ว ซึ่งจะเปิดทางให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทคิงส์เกตระบุว่า "บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด รู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่คงค้างในที่ดิน 4 แปลงซึ่งจำเป็นสำหรับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีให้แก่บริษัทแล้ว"

"ประทานบัตรเหมืองแร่เหล่านี้ประกอบด้วยประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลง และประทานบัตรเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง ซึ่งประทานบัตรเหมืองแร่ควอตซ์ฉบับนี้รอการอนุมัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2554 และจำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในบ่อแร่ A ประทานบัตรทั้งหมดนี้ ได้แก่ ประทานบัตรหมายเลข (1) 26910/15365, (2) 26911/15366, (3) 26912/15367 และ (4) 25528/14714"

"ประทานบัตรแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค. 2564 บริษัทคิงส์เกตขอแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่าทุกขั้นตอนจำเป็นในการต่ออายุใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมนั้นได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและได้รับการอนุมัติแล้ว เจ้าหน้าที่ของบริษัทอัคราจะไปรับใบอนุญาตดังกล่าวจากรัฐบาลไทยในเร็วๆ นี้"

"การอนุมัติทั้งหมดนี้ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ตามที่บริษัทคิงส์เกตเคยออกจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 ที่ระบุว่า 'เหมืองแร่ทองคำชาตรีจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง' และการดำเนินการต่างๆ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการลงทุนในสินทรัพย์ (CAPEX) ภายในเหมืองแร่เพื่อเตรียมเปิดกิจการอีกครั้ง โดยการลงทุนในสินทรัพย์ที่ว่ารวมถึงการปรับปรุงโรงงานแห่งที่ 1 และ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 5 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีการตั้งสำนักงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินกิจการเหมือง"

"ขณะนี้ จุดมุ่งหทายสำคัญคือการยกระดับและการรายงานคำชี้แจงทรัพยากรแร่และสินแร่สำรองของคิงส์เกต หลังจากที่คิงส์เกตได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้ว บริษัทจะนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อคณะกรรมการสินแร่สำรองแห่งออสเตรเลีย (JORC) ซึ่งคำชี้แจงดังกล่าวอยู่ในกระบวนการขั้นสุดท้าย"

"นอกจากนี้ คิงส์เกตได้ดำเนินการสำรวจตัวเลือกทางการเงินที่เป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการพูดคุยทวิภาคีกับแหล่งเงินกู้ที่สำคัญ เพื่อเร่งรัดการเปิดเหมืองให้รวดเร็วขึ้น"

"บริษัทคิงส์เกตตระหนักถึงความร่วมมือและมิตรไมตรีของรัฐบาลไทยผ่านการอนุมัติใบอนุญาตที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้ และการเปิดดำเนินการของเหมืองแร่ทองคำชาตรีจะมอบโอกาสการเติบโตที่มีมูลค่าสูงให้แก่บริษัท ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงเศรษฐกิจไทย ขณะที่ข้อตกลงเพิ่มเติมต่างๆ จะอยู่ในกระบวนการต่อรอง แต่ความสำคัญสูงสุดยังคงเป็นการเปิดดำเนินการกิจการเหมืองแร่"

 

ตัวแทนบริษัทอัคราเข้ารับประทานบัตรเหมืองแร่ทั้ง 4 ใบแล้ว

บีบีซีไทยรายงานเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 โดยอ้างอิงการรายงานของเว็บไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ที่ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เชิญกรรมการผู้จัดการบริษัทอัคราเข้าพบ เพื่อรับมอบนโยบายการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตทองคำ ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ให้ความเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2564 ถึง 29 ธ.ค. 2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด

ประทานบัตร 4 แปลง ได้แก่ ประทานบัตรที่ 25528/14714 ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และประทานบัตรที่ 26910/15365, 26911/15366 และ 26912/15367 ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร รวมถึงได้ต่อใบอายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทอัคราเพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2565 ถึง 18 ม.ค. 2570

บีบีซีไทยอ้างอิงคำแถลงของนิรันดร์ตามเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจที่ระบุว่าการอนุญาตเปิดกิจการเหมืองของบริษัทอัคราต่อจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ลดการนำเข้าวัตถุดิบเงินและทองคำ รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในบริเวณใกล้เคียงในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง นอกจากนี้ กพร. ยังกำชับให้บริษัทอัคราดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

สำหรับการสั่งปิดเหมืองทองอัครา เกิดขึ้นใน พ.ศ.2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่ให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ทำให้เหมืองทองอัคราต้องหยุดดำเนินการโดยทันที โดยคำสั่งของหัวหน้า คสช. อ้างว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ต่อมา วันที่ 31 พ.ค. 2561 บริษัทคิงส์เกตซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัคราได้ยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรณีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัทอัครา โดยบริษัทคิงส์เกตระบุว่าคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ละเมิดความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทั้งนี้ บีบีซีไทยรายงานโดยอ้างอิงจากกรุงเทพธุรกิจที่ระบุว่าช่วงเดือน ก.ย. 2563 ว่า รัฐบาลไทยต่อสู้ข้อพิพาทดังกล่าวด้วยการยืนยันต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า "ไม่เคยออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทอัครา หรือสั่งปิดเหมือง เพียงแต่ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือโรงแต่งแร่ทองคำ และประทานบัตรบางแปลงที่หมดอายุ" เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงชะลอการต่ออายุจนกว่าจะได้ข้อยุติ หากมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงก็จะให้คิงส์เกตปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการเหมืองให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เพื่อจะได้มาขออนุญาตประกอบการอีกครั้ง แต่คิงส์เกตยังไม่ดำเนินการขออนุญาตในขณะนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net