Skip to main content
sharethis

เพื่อไทยเปิดตัวนโยบาย 'ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า' ลุยศึกษานโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้ผู้มีประจำเดือนทุกคน หวังเสริมความมั่นคงด้านรายได้ สร้างความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมเปิดตัว 'นิทรรศกี' จัดแสดงผลงานศิลปะที่ให้ความรู้ด้านการมีประจำเดือนและแนะแนวทางการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้มีประจำเดือน นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา 'ผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน' เชิญภาคประชาชนร่วมถกปัญหาและความต้องการเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยเพื่อทุกคน

8 มี.ค. 2565 วันนี้ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปี ในปีนี้มีธีมรณรงค์ว่า #BreakTheBias ปลดแอก อคติ การเหมารวม การเลือกปฏิบัติ และการกระทำที่มาพร้อมกับอคติทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกสังคมต้องร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน เพื่อสังคม เพื่อประเทศ เพื่อโลกที่เสมอกว่า ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการผลักดันในปัจจุบัน ในปีนี้พรรคเพื่อไทยจึงได้งาน ‘นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ เพื่อเผยแพร่การศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า รายละเอียดของการศึกษานโยบาย ทั้งแนวคิด งบประมาณ วิธีการดำเนินงาน โครงการนำร่องในพรรคเพื่อไทยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นผ่านการชมนิทรรศการ และยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะเพื่อลดอคติที่มีต่อ ‘ผู้มีประจำเดือน’ และ ‘ผ้าอนามัย’ โดยศิลปินหญิง 3 คน ได้แก่ Juli baker and summer , Prim Issaree และ Pyra (ไพร่า) และตลอดเดือนมีนาคมจะมีการจัดเสวนาหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผ้าอนามัย สิทธิแรงงาน และบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับผู้มีประจำเดือน ผ้าอนามัย ที่ควรต้องได้รับการตระหนักรู้ในทุกมิติ ตั้งแต่วันที่ 8-31 มี.ค. 2565 ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งมีหนังสือออนไลน์ ‘กี บุ๊ก’ ให้ผู้ที่สนใจแต่ไม่ได้มาชมนิทรรศการได้ศึกษาข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ด้วย เมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง คณะทำงานจะมีการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาการศึกษานโยบายต่อไป

ภาพบรรยากาศภายในงาน 'นิทรรศกี' มีการจัดแสดงผลงานศิลปะเพื่อเรียกร้องการเข้าถึงสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีแก่ผู้มีประจำเดือน
 

ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า การศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ต้องการลดรายจ่ายของประชาชน มีแนวคิดทางสังคมที่ส่งเสริมความเสมอภาค ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองสามารถผลักดันประเด็นทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับประเด็นทางสังคม ทำทั้งสองแนวทางได้ในนโยบายเดียว ทั้งนี้ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงให้มีความมั่นคงทางรายได้ ซึ่งกองทุนนั้นได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในศึกษานโยบายความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน ซึ่งการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ถือเป็นประตูบานใหญ่ที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับมุมมองใหม่ๆ เป็นบันไดขั้นแรกของการศึกษาอัตลักษณ์ที่หลากหลาย และจะส่งผลถึงการสร้างนโยบายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“การศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าครั้งนี้ เป็นการสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีประการณ์ในการทำงานเป็นรัฐบาลจริง และบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีมุมมองความสนใจที่หลากหลาย เป็นการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่ และพัฒนาจุดอ่อนที่เราขาด ด้วยการสร้างการทำงานร่วมกัน เรากำลังผลัดใบบนต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรงต้นเดิม ทำให้การผลิตนโยบายในปัจจุบันได้รับแนวคิดที่รอบด้าน และคำนึงถึงความเป็นไปได้จริงภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการ หลายนโยบายที่พรรคกำลังศึกษา และรอเวลาเหมาะสมในการการเปิดเผยต่อไป” ธีรรัตน์ กล่าว

มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความภูมิใจ และถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่พรรคได้มีกระบวนการคิดและนำเสนอโครงการเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางสังคม และเศรษฐกิจในทุกมิติ ที่ผ่านมามีประชาชนเรื่องร้องเรียนมายัง กมธ. เกี่ยวกับผ้าอนามัย 14 ครั้ง กมธ. ได้พิจารณาและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติหลายครั้งเช่นกัน เพราะยิ่งสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีประจำเดือนได้รับผลกระทบต่อเนื่องรุนแรงมากขึ้น บางรายมีการนำผ้าขาวม้าใช้แทนผ้าอนามัย เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ จึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ช่วยให้ผู้หญิงซึ่งถือเป็นประชากรของไทยกว่าครึ่งประเทศได้รับสวัสดิการที่ดีกว่านี้

“ประจำเดือนไม่ควรถูกผลักความรับผิดชอบให้เพศหญิงเท่านั้น” มุกดา กล่าว พร้อมระบุว่าเพื่อไทยเดินหน้าศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า หลังผลการศึกษาพบทั้งชีวิตผู้หญิงต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยเกือบ 200,000 บาท

มุกดา พงษ์สมบัติ
 

ด้าน ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ศึกษาออกแบบโครงการ ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ (Free Pads for All) เนื่องจากตระหนักดีว่า ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติตามเพศสรีระ ที่บ่งบอกถึงวัยเจริญพันธุ์ของมนุษย์ ประจำเดือนและการใช้ผ้าอนามัยจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และไม่ใช่ความรับผิดชอบของเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสังคม ทั้งนี้ในเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน กำลังหันไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ หลายประเทศมีนโยบายเกี่ยวข้องกับเรื่องประจำเดือน เช่น สกอตแลนด์ เป็นประเทศแรกที่ทำให้ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ฟรี หรือในหลายประเทศมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ศึกษานโยบายนี้ในหลายประเทศเพื่อใช้เป็นต้นแบบและปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทยมากที่สุด

ชานันท์ กล่าวว่า จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ผู้ที่มีประจำเดือนต้องใช้ผ้าอนามัยเดือนละ 15-35 ชิ้น คิดเป็น 350-400 บาท/เดือน หรือ 4,800 บาท/ปี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่าย 192,000 บาทตลอดชีวิต ผู้มีประจำเดือนทุกคนต้องสูญเสียเงินหรือโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นเงินสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 331 บาท/วันเท่านั้น นอกจากนี้ ในการประเมินทางสถิติพบว่า 64.72% ของผู้เป็นประจำเดือนเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยอย่างเพียงพอ บางรายต้องใส่ซ้ำ ต้องหยุดทำงาน หยุดเรียน หรือใช้วัสดุอย่างอื่นแทน เพื่อลดการใช้ผ้าอนามัยเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้

พรรคเพื่อไทยจึงได้ผลักดันการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าด้วยจุดประสงค์ ดังนี้

  1. ลดรายจ่ายประชาชน เพราะผ้าอนามัยคือรายจ่ายในครัวเรือน
  2. ผู้มีประจำเดือนทุกคนต้องเข้าถึงสุขอนามัย
  3. สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ

ชานันท์ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษานโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ’ ของพรรคเพื่อไทยมองเห็นว่า หน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดในการรับผิดชอบเรื่องนี้คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ สามารถกระจายสิทธิประโยชน์เป็นมาตรฐานเดียวกัน และต้องมีการก่อตั้ง “กองทุนส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ” ในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า '30 บาทรักษาทุกโรค' เพื่อเป็นตัวกลางในการจัดสรรงบประมาณ

นอกจากนี้ ผลการศึกษาได้ออกแบบระบบการเข้าถึงผ้าอนามัยตามวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของทุกกลุ่มประชากรไว้ 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. แจกผ่านหน่วยงานใต้การกำกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับผู้มีรายได้น้อย เด็กและเยาวชนในวัยเรียนแต่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา และผู้มีประจำเดือนในครอบครัวยากจน
  2. แจกผ่านสถานบันการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมหาวิทยาลัย เรือนจำและสถานพินิจ
  3. แจกผ่านแอปพลิเคชันของรัฐ โดยให้ประชาชนยืนยันสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเลือกรับผ้าอนามัยได้ทั้งรูปแบบ ขนาด และจำนวนที่ต้องการ พร้อมทั้งสามารถเลือกสถานที่รับ หรือเลือกให้จัดส่งตามสถานที่ที่ต้องการ

ชานันท์ กล่าวอีกว่า จากการคำนวณราคาผ้าอนามัย จำนวนผู้ใช้ และจำนวนการใช้ คาดว่า งบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี (หรือคิดเป็น 0.6 % ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น) ซึ่งงบประมาณจะมาจาก Vat 7% จากผ้าอนามัย เป็นสัดส่วนประมาณ 5.04 พันล้านบาท คำนวณจากจำนวนการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตผ้าอนามัย และรัฐบาลต้องสนับสนุนงบเพิ่มเติมประมาณ 1-1.3 หมื่นล้านบาท/ปี

ชานันท์ ยอดหงษ์
 

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้มีการทดลองโครงการ ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ ภายในพรรค ตั้งแต่วันนี้เพื่อเป็นการนำร่อง ทดลองนโยบาย และจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดสนใจรายละเอียดของ การศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ‘กี บุ๊ก’ เผยแพร่ผ่านทางนิทรรศการที่และเพจเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 11 มี.ค. 2565

“หากนำภาษีผ้าอนามัย มาเป็นต้นทุนโครงการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า จะทำให้ทุกคนเข้าถึงผ้าอนามัยร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ เพราะทุกการซื้อผ้าอนามัย คือการซื้อเพื่อผู้มีประจำเดือนทุกคน ทุกภาษีจากผ้าอนามัย จะช่วยเหลือผู้มีประจำเดือนทุกคน สำหรับผ้าอนามัยที่จะนำมาเป็นรัฐสวัสดิการ พรรคเพื่อไทยได้มีการศึกษาแล้วว่าในการผลิตผ้าอนามัยจะต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายและมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้” ชานันท์ กล่าว

การจัดแสดงผ้าอนามัยแต่ละขนาดให้หยิบไปใช้ได้ฟรี สะท้อนสิ่งที่เพื่อไทยทดลองดำเนินนโยบายสวัสดิการผ้าอนามัยภายในพรรค
ในงาน 'นิทรรศกี' มีการแจกคัพเค้กรูปอวัยวะเพศหญิงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน
 

สรุปวงเสวนา 'สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน'

เพื่อไทย จัด เสวนา ‘สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’ ชี้ อนามัยเจริญพันธุ์ คือความจำเป็นพื้นฐาน รัฐต้องให้ความสำคัญและผลักดันเป็นนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรม ‘ภาคประชาชน’ หนุนเดินหน้า ‘ผ้าอนามัยฟรี’ เนื่องในวันสตรีสากล พรรคเพื่อไทยจัดงานใหญ่เปิดตัวการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า และนิทรรศการที่ชื่อ ‘นิทรรศกี’ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องอคติที่มากับประจำเดือนและค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้จากการเป็นเมนส์ ในบ่ายของวันเดียวกันจึงจัดคุยวงใหญ่ ‘สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’ เพื่อขยายความต่อจากในนิทรรศการนิทรรศกี

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา, วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์การขจัด Period shaming และ โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ และผู้ดำเนินรายการ ‘Sex is More’ โดยมี ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

ขัตติยา เล่าว่า แม้พรรคไทยรักไทยในอดีตจะไม่มีนโยบายเพื่อความหลายทางเพศโดยตรง แต่ก็ได้จัดทำนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการและความเสมอภาคในภาพรวม ตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณพ์ (OTOP) รวมไปถึงนโยบายเพื่อครอบครัวและพัฒนาการของเด็ก อย่าง ‘ถุงรับขวัญ’ ต่อมา เมื่อเป็นพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายอย่าง ‘กองทุนสตรี’ ที่ตั้งใจให้ผู้หญิงเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำมาสู่การพัฒนานโยบายเพื่อความหลากหลายทางเพศ ให้รับกับความหลากหลายของสังคม

“วันนี้พรรคเพื่อไทยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนานโยบาย เชื่อมกับบุลคลากรในพรรคที่เคยทำนโยบายสำเร็จ นี่จึงเป็นก้าวใหม่ของพรรคเพื่อไทยที่จะพัฒนานโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และร่วมมือกันของคนหลายรุ่นเพื่อทำงานร่วมกัน” ขัตติยากล่าว

ขัตติยา สวัสดิผล
 

จิตติมา ในฐานะภาคประชาชน อธิบายถึงความพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับผ้าอนามัยตลอดมาว่า แม้มีความพยายามจะแก้ปัญหา แต่ก็เป็นการแก้เฉพาะเรื่อง เช่น แก้ปัญหาเรื่องโรค แต่ไม่ได้มองไปถึงความเป็นธรรม อนามัยเจริญพันธุ์ หรือมองถึงรากของปัญหาเพื่อตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆ

จิตติมา ทิ้งท้ายว่า ความพยายามผลักดันนโยบายผ้าอนามัย ไม่ใช่เพียงแค่การออกกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดของสังคมว่าเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เคารพสิทธิ เราจะออกกฎหมายเพื่อเป็นหลักพิงสำหรับคุ้มครองความเป็นธรรม ออกกฎหมายเพื่อให้คนรู้สึกดีกับอวัยวะเพศตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง เพราะถ้าไม่รู้จักเราจะรักไม่เป็น และถ้ามีผ้าอนามัยอยู่ในห้องน้ำและฟรี มันกำลังจะบอกกับเราในฐานะพ่อ ในฐานะลุงป้าน้าอาว่า มันเป็นเรื่องปกตินะ คือเรากำลังเปลี่ยนมายเซ็ตว่ารัฐเห็นความจำเป็นพื้นฐาน และเรื่องนี้ต้องการความมุ่งมั่นตั้งใจในฐานะนโยบายการเมือง ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่หยิบมาเพื่อสร้างความสนใจแต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

จิตติมา ภาณุเดชะ
 

วรางทิพย์ ในฐานะผู้ประกอบการย้ำว่า ไม่ได้ทำผลิตภัณฑ์เพื่อผลตอบแทนทางการตลาด ไม่ได้ทำเพียงผ้าอนามัย แต่ต้องการเป็นกระบอกเสียงเพื่อขจัด Period shaming (ความละอายในการมีประจำเดือน), Period joke (การล้อเลียนเรื่องประจำเดือน) และ Period poverty (ความจนประจำเดือน) ด้วย ซึ่งจะขจัดมายาคติทั้งหมดนี้ได้ ต้องทำงานเชิงข้อมูลและต้องสร้างทางเลือกให้กับประชาชน

วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ
 

สุดท้าย กับประเด็นคำถามที่ว่านโยบายนี้จะเป็นเพียงการสร้างประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มหรือไม่ โชติรสตอบคำถามด้วยการตั้งคำถามกลับว่า ผู้ที่นั่งอยู่ในงานเสวนานี้ได้ใช้เรือดำน้ำหรือไม่ คนต่างจังหวัดได้ใช้รถไฟใต้ดินหรือรถไฟฟ้าหรือไม่ คำตอบชัดเจนก็คือ นโยบายบางชิ้นไม่ได้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม แต่ความสำคัญคือ พรรคการเมืองหรือรัฐบาล ควรสนับสนุนนโยบายที่แก้ปัญหาประชาชนที่แตกต่างหลากหลายกันให้ได้ และทิ้งท้ายว่า คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่มีอะไรใหม่ หลายคนต่อสู้เพื่อให้ได้มาและสิทธิของเราพัฒนาขึ้นทุกวัน เรียกว่าสิทธิมนุษยชนอัพเดทรายนาทีตามโลกที่หมุนไว จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เราจะพัฒนานโยบายนี้

โชติรส นาคสุทธิ์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net