Skip to main content
sharethis

นักวิชาการและนักวิเคราะห์มองปัญหาจีน-ไต้หวัน เทียบวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ชี้จีนไม่ได้ใช้กำลังทหารโจมตีไต้หวันโดยตรง แต่ก็อาจใช้ปฏิบัติการประเภทอื่นๆ เช่น การก่อกวนภายใน สงครามไซเบอร์ หรือการกดดันทางทหารเพื่อหวังผลทางการทูต ด้าน 'หวังอี้' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ที่ระบุว่าประเด็นจีน-ไต้หวัน "เป็นกิจการภายใน ไม่ใช่เรื่องระหว่างสองประเทศ"

9 มี.ค. 2565 หวังอี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าจีนยินดีเป็นตัวกลางร่วมกับประชาคมนานาชาติในการเจรจาไกล่เกลี่ยวิกฤติสงครามในยูเครน พร้อมระบุว่าประเด็นเกี่ยวระหว่างจีนและไต้หวันนั้นไม่เหมือนกันกับสถานการณ์ในยูเครนที่มีรัสเซียเป็นฝ่ายรุกราน โดยหวังอี้กล่าวว่าประเด็นไต้หวันเป็น "กิจการภายในประเทศโดยทั้งหมด" และไม่ใช่เรื่องระหว่างสองประเทศ และยังกล่าวอีกว่า "เป็นเรื่องสองมาตรฐาน หากบางประเทศเคารพอธิปไตยของยูเครน แต่กลับล่วงล้ำอธิปไตยของจีนซ้ำๆ ในเรื่องไต้หวัน"

ข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวันเกิดขึ้นจาก 'นโยบายจีนเดียว' ซึ่งเป็นจุดยืนทางการทูตของรัฐบาลจีนหลังสิ้นสุดสงครามการเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ต.ศ.1949 ที่ให้นานาชาติยอมรับและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐบาลจีนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ต้องเลือกระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ กับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ข้อมูลจากบีบีซีไทยระบุว่าในตอนแรก รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกายอมรับรัฐบาลไต้หวัน เพราะไม่ต้องการรับรองรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่วงช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทยอยตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันและยอมรับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ไต้หวันเสียที่นั่งในองค์การสหประชาชาติ (UN) และประเทศส่วนใหญ่ไม่รับรองความเป็นเอกราชของไต้หวัน ทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างความชอบธรรมเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไต้หวัน โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายืนยันว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีอธิปไตยของตัวเองและไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน

แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของจีนจะวางบทบาทของจีนให้ดูเป็นกลางและพยายามทำให้วาทกรรมการเปรียบเทียบเรื่องยูเครนไปในเชิงให้ความชอบธรรมแก่ตนเอง แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากประชาคมโลกอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันและนักวิชาการด้านเอเชียศึกษา เตือนให้ระวังเรื่องการรุกรานทางทหารที่จีนอาจจะนำมาใช้กับไต้หวันแบบที่รัสเซียนำมาใช้กับยูเครนโดยอ้างว่าเป็น "ปฏิบัติการทหาร"

แดน บลูเมนทาล ผู้อำนวยการโครงการเอเชียศึกษาแห่งสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน (AEI) และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน เตือนให้ระวังเรื่องการรุกรานทางทหารที่จีนอาจจะนำมาใช้กับไต้หวันแบบที่รัสเซียนำมาใช้กับยูเครนโดยอ้างว่าเป็น "ปฏิบัติการทหาร" เพื่อจัดฉากให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและทางการทหารเพื่อบีบบังคับให้ไต้หวันศิโรราบต่อพวกเขา บลูเมนทาลซึ่งเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เสนอว่าหากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อยากเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้แบบไม่ทันตั้งตัว พวกเขาควรจะเตรียมตัวรับมือความเป็นไปได้นี้ไว้ด้วย

นอกจากนักวิชาการชาวอเมริกันแล้ว บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเคยเตือนเช่นกันว่า "หากยูเครนถูกรุกราน แรงสั่นสะเทือนของเรื่องนี้จะดังก้องไปทั่วโลก...และเสียงสะท้อนนี้จะดังไปถึงเอเชียตะวันออก และจะได้ยินไปถึงไต้หวัน"

ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่ากุญแจสำคัญของสมดุลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภูมิศาสตร์การเมืองแห่งยุคศตวรรษที่ 21 จะแสดงให้เห็นผลในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก และความมั่นคงของช่องแคบไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดด้านความมั่นคงของภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

เลอ ดริยอง กล่าวว่า ฝรั่งเศสกระตือรือร้นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ขณะเดียวกัน เขายังกล่าวว่าฝั่งเศสประณามการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการพยายามทำลายสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) และการกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การยกระดับสถานการณ์ ซึ่งความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสและประเทศพันธมิตรในยุโรปมีร่วมกัน

ฉีเล่ออี้ (Qi Leyi) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันและกิจการความมั่นคงภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ระบุในรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ว่านี่เป็นครั้งแรกที่สองประเทศใหญ่ในยุโรปแสดงการสนับสนุนประเด็นความมั่นคงของไต้หวันต่อสาธารณะ แม้ว่าการรุกรานของรัสเซียกับความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันอาจจะมีเงื่อนไขที่ต่างกันแต่ลักษณะของการพยายามรุกล้ำมีเหมือนกัน เธอจึงเห็นว่าประชาคมโลกควรประณามและยับยั้งเหตุดังกล่าว

เมื่อเดือน ต.ค. 2564 คอนโดลีซซา ไรซ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยเสนอความคิดเห็นในการประชุมออนไลน์ที่จัดโดยกลุ่มคลังสมองของอังกฤษ เธอระบุว่าจีนจะไม่บุกรุกไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ แต่อาจจะใข้วิธีให้กองกำลังผสมแทรกซึมเข้าไปในไต้หวัน แล้วก่อกวนจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลมีเดีย การตัดสายเคเบิลใต้น้ำ การสร้างภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงพยายามหล่อเลี้ยงและควบคุมกลุ่มผู้สนับสนุนจีนในไต้หวันให้บ่อนทำลายไต้หวันแบบที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกระทำต่อยูเครน นอกจากนี้ ปูตินเคยพูดไว้ว่าจีนไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารในการผนวกรวมไต้หวัน พวกเขาสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ฉีเล่ออี้วิเคราะห์ว่าเป้าหมายระยะสั้นของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน คือการหล่อเลี้ยงความตึงเครียดอย่างหนักในช่องแคบไต้หวันด้วยการใช้กำลังทหารเพื่อทำให้ไต้หวันหันไปซบสหรัฐฯ มากขึ้นในการประกาศเอกราข หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ให้เป็นไปในทางความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ หรือ เป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ในคำแถลงล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าไม่ทำตามสัญญาที่บอกว่าจะไม่พยายามเผชิญหน้ากับจีน และสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนความเป็นเอกราชของไต้หวัน ทั้งยังบอกว่าสหรัฐฯ "ยั่วโมโหจีนในประเด็นที่สำคัญ"

ฉีเล่ออี้วิเคราะห์ต่อไปว่าเป้าหมายในระยะกลางและระยะยาวของสีจิ้นผิงคือการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ เพื่อทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ และการผนวกรวมไต้หวันให้สำเร็จก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสีจิ้นผิง โดยดำเนินการตามแนวทางการทำให้เป็นสมัยใหม่ในช่วงกลางศตวรรษนี้ แต่วิธีการที่ผู้นำจีนจะใช้บรรลุเป้าหมายนั้นขึ้นอยู่กับว่าเขาจัดการกับประเด็นไต้หวันอย่างไร หนึ่งในความเป็นไปได้คือ "การบีบบังคับให้มีการเจรจาผ่านทางสงคราม" พร้อมกันนี้ ฉีเล่ออี้ยังมองว่าสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญต่อประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน และแนะนำว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่ต้องการเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้แบบไม่ทันตั้งตัว รัฐบาลอเมริกันควรเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าเผื่อวันนั้นมาถึง

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net