เปิด 20 พื้นที่ค่าฝุ่นอันตรายภาคเหนือ เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมจ่อฟ้องรัฐแก้ PM 2.5

เปิด 20 พื้นที่ค่าฝุ่นอันตรายภาคเหนือที่รัฐไม่รายงาน เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมเตรียมเดินทางยื่นฟ้องรัฐต่อศาลปกครองกลาง ให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำหน้าที่ตามกฎหมาย แก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม

21 มี.ค. 2565 Facebook เพจ WEVO สื่ออาสา เปิดเผย 20 พื้นที่ค่าฝุ่นอันตรายภาคเหนือที่รัฐไม่รายงาน ซึ่งมีปริมาณค่าฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่วัดจากเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กในรอบ 08.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 2565 รายชั่วโมงเกินกว่าค่ามาตรฐาน

ภาพจาก Facebook เพจ WEVO สื่ออาสา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย เดินทางไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทวงสิทธิอากาศสะอาดของประชาชน และผลักดันหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยเร่งด่วน โดยตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร รวมถึงนักกิจกรรมที่แต่งตัวในชุดมาสคอทมลพิษทางอากาศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแผน “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง” ปี 2562

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและกรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ดังนี้

1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่เข้มงวดขึ้น โดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลกเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ทำให้พบว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยเดิมยังไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองได้ โดยควรปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ยรายปี

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และหน่วยงานรัฐจะต้องประกาศการค่ามาตรฐานปลายปล่องของ PM2.5 เพื่อเป็นการจำกัดการปล่อยฝุ่นละอองชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด

3. กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถประเมินปริมาณสารพิษ (รวมถึง PM2.5) ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศได้อย่างแม่นยำ ดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงภาคประชาสังคมและประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้

 

ในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค. 2565) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กรีนพีซ ประเทศไทย สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่าย เตรียมไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำหน้าที่ตามกฎหมาย แก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม และหยุดละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท