ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย โต้ 'ประยุทธ์' ส่งโฆษกฯ ให้ข้อมูลมั่ว แนะ ศึกษาข้อเสนอช่วยค่าครองชีพของพรรค

คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย สวน 'ประยุทธ์' ไม่มีความรู้ต้องหัดศึกษาข้อมูล อย่าคิดเข้าข้างตัวเอง จะถูกคนหาว่าโง่ ชี้ ประชาชนลำบากกันมาก บริหารล้มเหลว 7 ปี แต่ยังคิดว่าดี แนะ กลับไปอ่านข้อแนะนำทางเศรษฐกิจของเพื่อไทย ก่อนคนจะจนกันทั้งประเทศ พร้อมแนะ 7 มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน

23 มี.ค. 2565 พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหาร และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตามที่พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ ได้ออกมาเตือนสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนลำบากกันมาก ราคาข้าวของแพง ไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน ราคาพุ่งและจะแพงมากขึ้น เงินเฟ้อจะยิ่งสูง พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก่รัฐบาลให้ปรับลดราคา ไฟฟ้า ก๊าซ และ น้ำมัน ให้ลดลงอย่างเป็นรูปธรรมและทำได้จริง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ไปรับฟังคำแนะนำเพื่อศึกษาและนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ แต่กลับให้โฆษกรัฐบาลมาตอบกลับโดยไม่ศึกษาหาข้อมูลมาก่อน การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หมดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยพชรระบุว่าการกระทำเช่นนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่คนหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โง่ และทำให้คนยิ่งเอือมระอา ตามผลสำรวจล่าสุดพบว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึง 77.89% ตนจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ ได้ศึกษาและเข้าใจปัญหาและความเป็นมาที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่จากข้อมูลทางราชการที่เป็นจริงและพิสูจน์ได้

พชรกล่าวว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้คนออกมาตอบโต้แบบมั่วๆ บอกว่าเศรษฐกิจไทยปี 2555 ในช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขยายตัวได้ถึง 7.2%  มาจากประชานิยม ตนจึงอยากให้ความรู้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นทำสำเร็จเพราะมีนโยบายหลายด้านออกมาพร้อมกัน ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มาก เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นโยบายช่วยชาวนา บ้านหลังแรก รถคันแรกที่ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก ยกเว้นการเก็บกองทุนน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลงลิตรละ 7-8 บาท ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% และเหลือ 20% รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่หาเสียงแล้วทำได้จริง ทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีเงินเต็มกระเป๋า

ตนจึงอยากย้อนกลับไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 20 ล้านล้านบาท มากกว่านโยบายประชานิยมที่ พล.อ.ประยุทธ์เรียกนโยบายของพรรคเพื่อไทย การใช้งบประมาณสูงเช่นนี้ทำให้หนี้ประเทศพุ่งไป 10 ล้านล้านบาทแล้ว เหตุใดเศรษฐกิจไทยถึงไม่สามารถขยายตัวได้เท่าสมัยนั้น คนไทยกลับมีหนี้ท่วม โดยหนี้ครัวเรือนมากขึ้นไปถึง 15 ล้านล้านบาทแล้ว แสดงว่าพลเอกประยุทธ์ใช้งบประมาณไม่เป็น คิดเป็นแต่แจกเงิน บริหารเศรษฐกิจล้มเหลวใช่หรือไม่ ทั้งที่ราคาน้ำมันในช่วง 7 ปี ลดลงอย่างมาก ยอดการนำเข้าลดลงถึงปีละ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี (3-4% ของ GDP) แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สามารถทำให้ GDP ไทยโตได้เท่ากับราคาน้ำมันที่ลดลง ยังไม่รวมถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐจำนวนมากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400-425 บาท ข้าวเจ้าตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 18,000 บาท เงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท ปริญญาตรีเดือนละ 20,000 บาท โครงการมารดาประชารัฐ เป็นต้น

พชร นริพทะพันธุ์
 

ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและอยากขอให้เป็นบันทึกของประวัติศาสตร์ประเทศไทย โดยอยากจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่าในปี 2556 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายได้ 4% หลังจากปี 2555 สามารถขยายตัวได้สูงถึง 7.2% แต่เพราะมีการประท้วงของ กปปส. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปิดบ้านปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ถึงกับติดลบ ถึงเช่นนั้น เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ก็ยังขยายได้ถึง 2.9 % ถ้าไม่มีการประท้วงก็น่าจะถึง 4% เพราะครึ่งปีแรกของปี 2556 ยังขยายได้ 4.2% ต่อมาการประท้วงยังลามไปถึงต้นปี 2557 และพล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และเป็นฝีมือของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บริหารแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 0.8% ในปี 2557 และเศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่มาตลอดหลังจากนั้นเพราะขยายตัวได้ต่ำสุด และต่ำที่สุดในอาเซียนมาตลอด การลงทุนจากต่างประเทศหดหายไปเกือบหมด ปี 2558 ขยายได้ 2.8% ปี 2559 ขยายได้ 3.2% ปี 2560 ขยายได้ 3.9% และที่โอ้อวดว่าปี 2561 นั้น เศรษฐกิจขยายได้ 4.1% ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี และเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกในปีนั้นดี เศรษฐกิจสหรัฐบางไตรมาสในปีนั้นยังขยายได้ถึง 4.8% ซึ่งมากกว่าของไทยเสียอีก

หลังเลือกตั้งในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยกลับยิ่งทรุดหนักในปีนั้น ก่อนมีวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายได้เพียง 2.4% เท่านั้นที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายได้เพียง 1.6% เท่านั้น และปี 2563 เกิดวิกฤตไวรัสโควิดเศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดและติดลบมากสุดที่ -6.2% และปี 2564 ฟื้นขึ้นมาได้แค่ 1.6%  นี่เป็นความล้มเหลวอย่างชัดเจน ตัวเลขเศรษฐกิจไม่สามารถจะมาโกหกกันได้ และนี่เป็นสาเหตุที่ทำไมคนไทยถึงลำบาก รายได้ลด ตกงานกันมาก คนจนพุ่ง คนไทยต้องทุกข์ทรมานจากการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์ มาตลอด 7 ปี มาเจอวิกฤตไวรัสโควิดอีก 2 ปี และมาเจอสงครามรัสเซียยูเครนซึ่งหนักมาก ประเทศจะเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งน้ำมันแพง ข้าวของแพง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่มีแนวทางที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้เลย และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับไปอ่านทบทวนทุกเรื่องที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอซึ่งถูกต้องทั้งหมดมาตลอด ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างทางความรู้ความสามารถและแนวความคิดที่เหนือชั้นกว่ากันมาก

"ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประชาชนทราบดีว่าใครโง่ใครฉลาด ใครเก่งหรือใครไม่เก่ง ใครบริหารประเทศได้ดีหรือใครบริหารล้มเหลว ผลงานทางเศรษฐกิจไม่สามารถจะใข้วาทกรรมมาบิดเบือนได้ เงินในกระเป๋าประชาชนเท่านั้นที่เป็นเครื่องตัดสิน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หมดเวลาของความล้มเหลวแล้วก่อนที่ประชาชนจะจนกันหมดทั้งประเทศไม่ใช่คนจนหมดไปตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้โม้กันไว้"

โฆษกรัฐบาลพูดว่าอะไร

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจในช่วง 7 ปีให้เติบโตแม้น้ำมันจะมีราคาถูก และไม่ช่วยประชาชนให้มีชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่เหมือนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เศรษฐกิจเติบโตถึง 7.2% แม้น้ำมันจะมีราคาสูง โดยธนกรกล่าวว่าคำกล่าวอ้างของพิชัยเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ครบถ้วน เพราะปีที่เศรษฐกิจเติบโต 7.2% คือ ปี 2555 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันอยู่ในระดับปกติจึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และที่แน่นอนกว่านั้นคือผลจากนโยบายประชานิยมระยะสั้นอย่าง รถคันแรก ที่ช่วงแรกเหมือนจะดูดีแต่สุดท้ายก็ต้องอวสานไปเพราะหลายคนไม่ได้โอนสิทธิ์ ผ่อนต่อไม่ไหว ถูกไฟแนนซ์ยึด จนถูกยกเป็นตัวอย่างของโครงการประชานิยมที่ล้มเหลวมาถึงปัจจุบัน

ธนกร วังบุญคงชนะ
 

ธนกรกล่าวว่า ถ้าดูต่อไปปี 2556 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 2.7% จนปี 2557 ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.8% สาเหตุมาจากความวุ่นวายทางการเมืองเพียงเพราะรัฐบาลในขณะนั้นต้องการทำ ผิดให้เป็นถูกด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ส่วนราคาน้ำมันดีเซลก็พุ่งถึง 29.99 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินแตะราคาสูงสุด 49.15 บาท/ลิตร ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำไมพิชัยถึงไม่พูดให้หมด หลังจากนั้นเศรษฐกิจจึงค่อยกลับมาขยายตัวในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จาก 0.8% ในปี 2557 เป็น 4.1% ในปี 2561 และต่อมาเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในขณะนี้นั้นครอบคลุมทั้งราคาน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดหาและผลิตก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG ส่วนมาตรการควบคุมค่าไฟฟ้าหลังจากที่ กกพ. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าเอฟที รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 เพื่อให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงนั้น รัฐบาลรับทราบปัญหาและจะหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะมีมาตรการชุดใหญ่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในไม่อีกกี่วันนี้

ข้อเสนอของ 'พิชัย เพื่อไทย' มีอะไรบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่าพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้กลับมาเป็นขาขึ้นใหม่หลังจากราคาลงไปต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอยู่ไม่กี่วันแล้วกลับขึ้นมาอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ หากมีการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม รัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะเลิกพยุงราคาดีเซลต่ำกว่า 30 บาทในไม่ช้า และค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับราคาขึ้นเป็นหน่วยละ 4 บาทเริ่มเดือน พ.ค. นี้ จากราคาเดิมที่หน่วยละ 3.78 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากและเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยปรับขึ้นมา ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับขึ้นโดยถัง 15 กก. จาก ราคา 318 เป็น 333 บาทในวันที่ 1 เม.ย. นี้ และจะปรับทั้งหมด 3 ครั้งราคาจะขึ้นไปถึง 363 บาทซึ่งจะหนักมาก ประชาชนจะอยู่กันได้ยากถ้าราคาพลังงานปรับขึ้นสูงมากขนาดนี้ อีกทั้งราคาสินค้ากำลังจะเรียงหน้าขึ้นราคากันอีกจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว โดยเอสเอ็นอีประกาศจะขึ้นราคาแล้วภายใน 3-6 เดือนนี้

พิชัย นริพทะพันธุ์
 

สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนจะกระทบกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในสินค้าจำนวนมากกว่า 200 ชนิด ทำให้ราคาสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย ราคาอาหารสัตว์ ราคาแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก นิกเกิล ไททาเนียม อลูมิเนียม พาลาเดียม ฯลฯ รวมถึง แร่ธาตุหายากที่ใช้ผลิตไมโครชิปด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้ระดับราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้น อีกทั้งสินค้าจำเป็นหลายชนิดได้เริ่มขึ้นราคากันแล้วเช่น ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูป นมข้นหวาน มะนาว ฯลฯ และจะมีสินค้าต่างๆ ขึ้นราคาเพิ่มขึ้นกันอีก

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหันกลับมาพิจารณาแล้วว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพของประชาชนเพื่อให้ประชาชนอยู่รอดได้ คำแนะนำเพียงให้เปิดแอร์ที่ 27 องศา ควบคู่เปิดพัดลม และไม่ใช้เตารีด ไดร์เป่าผมในห้องที่เปิดแอร์ และหมั่นล้างแอร์ รวมถึงใช้รถเท่าที่จำเป็น ก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องที่เก่ามาก และจะไม่สามารถช่วยประชาชนให้มีชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในภาวะเช่นนี้ได้ จึงอยากแนะนำให้พลเอกประยุทธ์ ได้พิจารณาลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนที่เป็นสาเหตุหลักที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้จริง ดังนี้

ราคาน้ำมัน 

  • ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก 2.99 บาท จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 3.20 บาท (ภาษีมูลค่าเพิ่มจะลดลง 0.21 บาทด้วย) ลดลงมาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพียงลิตรละ 0.005 บาทเหมือนในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
  • ลดราคาหน้าโรงกลั่นของไทยให้เท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ (ไม่บวกค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ)
  • ถ้าราคาเอทานอลถูกกว่าราคาเนื้อน้ำมัน ควรพิจารณาผสมสัดส่วนของเอทานอลเพิ่ม เพื่อลดราคาน้ำมันเบนซิน
  • พล.อ.ประยุทธ์ต้องคืนเงิน 20,087.42 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่โอนไปเป็นรายได้รัฐกลับคืนมา เพื่อช่วยลดราคาน้ำมันในช่วงนี้ ถ้าจะไม่คืนก็ต้องชี้แจงเหตุผล ไม่ใช่ทำเงียบเหมือนกรณีเหมืองทองอัครา

ราคาก๊าซ

  • ราคาก๊าซหุงต้มเป็นสัดส่วนที่ประเทศไทยผลิตได้เองจากโรงแยกก๊าซและได้จากการกลั่นน้ำมัน ดังนั้นจึงควรรักษาระดับราคาเดิมเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดย บมจ. ปตท ควรสนับสนุนราคาในส่วนนี้ โดยขึ้นราคาเฉพาะก๊าซ LPG ที่เติมรถยนต์และก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรม
  • เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มสำหรับก๊าซ LPG ที่ใช้ในธุรกิจโปโตรเคมี เพื่อมาช่วยพยุงราคาก๊าซ ซึ่งในอดีตตนเคยสั่งเก็บไว้แล้ว กก. ละ 1 บาท 

ราคาไฟฟ้า

  • เจรจาขอลดค่าความพร้อมสำหรับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแต่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเพราะกำลังการผลิตล้นเกิน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตเกินกว่า 40% โดยขอให้เก็บค่าความพร้อมลดลง ค่าไฟจะได้ลดลง และหยุดการให้ใบอนุญาตไฟฟ้าจนกว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้ยังให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ากันอยู่เลย ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าล้นเกินมาก
  • ลดส่วนต่างของไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าของเอกชนในราคาถูก แต่ กฟผ. นำมาขายให้กับประชาชนในราคาที่แพง เพื่อลดราคาไฟฟ้านี้ ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ. มีกำไรสะสมประมาณสามแสนล้านบาท การไฟฟ้านครหลวงมีกำไรสะสมประมาณ แสนล้านบาท ทั้งสองแห่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งน่าจะนำมาช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงลำบากนี้
  • การเจรจาหาแหล่งก๊าซราคาถูกเพื่อลดราคาไฟฟ้า เพราะประเทศไทยใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 70% 

พิชัยกล่าวว่าเรื่องเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถทำได้ทันทีและจะช่วยประชาชนได้ ดีกว่าจะมาบอกแต่เรื่องเก่าๆ ที่ประชาชนทราบอยู่แล้ว และไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งถ้าจะให้เปรียบเทียบผลงาน 8 ปี 10 ปี ก็อยากจะบอกว่าในอดีตที่น้ำมันราคาสูง รัฐบาลสมัยพรรคเพื่อไทยภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็สามารถทำเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี โดยในปี 2555 เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 7.2% ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยทำได้แม้ราคาน้ำมันจะลดต่ำลงมากมาตลอด นี่เป็นความล้มเหลวอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ และเป็นการเสียโอกาสของประเทศไทยที่จะได้พัฒนาในช่วงราคา 7 ปีที่น้ำมันมีราคาถูก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท