Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวบีบีซีและเดอะการ์เดียนของอังกฤษ รวมถึงเดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานบทสัมภาษณ์และบทวิเคราะห์กระแสความนิยมของราชวงศ์อังกฤษในอดีตประเทศอาณานิคมแถบแคริบเบียนที่ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะในจาไมกา ที่นายกฯ บอกเจ้าชายวิลเลียมว่าในอนาคตอาจจะถอด ‘ควีน’ ออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและตั้งสาธารณรัฐที่แท้จริง

28 มี.ค. 2565 แม้ว่าพระราชกรณียกิจของเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเคท มิดเดิลตัน ดัสเชสแห่งเคมบริดจ์ ในการเสด็จฯ เยือนประชาชนในประเทศจาไมกาและบาฮามาสตั้งแต่วันที่ 19-26 มี.ค. 2565 ได้เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการและได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลรวมถึงประชาชนในประเทศเหล่านั้นอย่างอบอุ่น แต่สำนักข่าวหลายแห่งในอังกฤษ เช่น บีบีซีและเดอะการ์เดียน ออกมาวิเคราะห์ว่าการเสด็จฯ เยือนประเทศเครือจักรภพในครั้งนี้ของดยุคและดัสเชสแห่งเคมบริดจ์นั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ราชวงศ์อังกฤษยุคใหม่ไม่ได้ทำให้กระแสความต้องการเป็น “สาธารณรัฐ” ในอดีตประเทศอาณานิคมลดน้อยถอยลง เห็นได้จากการประท้วงต่อต้านราชวงศ์อังกฤษในประเทศเบลีซที่ทำให้ดยุคและดัชเชสทั้ง 2 พระองค์ต้องยกเลิกแผนการเดินทางกะทันหัน รวมถึงเสียงเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ชาวจาไมกาที่ระบุว่าพวกเขาอยากเห็นประเทศมีอิสรภาพอย่างแท้จริง

แพทริค เวอร์นอน (Patrick Vernon) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษเชื้อสายจาไมกา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษว่า “สหราชอาณาจักรยังคงมีสายสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ประเทศอย่างจาไมกาจะมีอิสรภาพอย่างแท้จริง ปีนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนจะได้ส่งเสียงสะท้อนให้เห็นว่า ‘เราต้องการจะเป็นสาธารณรัฐใช่ไหม แล้วมันหมายความว่าอะไร’ ถ้าจาไมกาตัดสินใจเช่นนั้น จะเกิดโดมิโน่เอฟเฟ็กต์กับประเทศอื่นๆ ในทะเลแคริบเบียนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ” ทั้งนี้ เวอร์นอนเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์เพื่อสิทธิของชาวอังกฤษผิวดำและเป็นผู้นำในโครงการวินด์รัช (Windrush) หรือการเรียกร้องสิทธิให้ผู้อพยพและลูกหลานผู้อพยพจากทะเลแคริบเบียนที่เข้ามาเป็นแรงงานในสหราชอาณาจักรในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1970

ด้านมาร์ค โกลดิ้ง ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาชนแห่งชาติ (PNP) ของจาไมกาเคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจาไมกาถอดถอนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ฮิว สมอล ทนายความอาวุโสชาวจาไมกาผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพระราชินี (Queen’s Counsel: QC) ได้ออกมาเผา ‘วิกผม’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบตุลาการแบบอังกฤษ เพื่อประท้วงให้องค์กรตุลาการของจาไมกายกเลิกสภาองคมนตรี (Privy Council) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของจาไมกาที่เลียนแบบมาจากอังกฤษในยุคอาณานิคม แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบอำนาจศาลสูงสุดตามศาลยุติธรรมแห่งแคริบเบียน (Caribbean Court of Justice: CCJ) ซึ่งเป็นระบบตุลาการที่ใช้ร่วมกันในประเทศแถบทะเลแคริบเบียน

*หมายเหตุ: ตำแหน่งที่ปรึกษาพระราชินี (QC) เป็นทนายความที่มีสิทธิว่าความในศาลสูงสุดของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ แต่งตั้งโดยกษัตริย์อังกฤษตามการเสนอชื่อของสภาเนติบัณฑิตและสมาคมกฎหมายผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีฐานะเป็นประธานศาลสูงและหัวหน้าฝ่ายตุลาการ (เทียบเท่าตำแหน่งประธานศาลฎีกาของไทย)

เสียงเรียกร้องการประกาศอิสรภาพอย่างแท้จริงในจาไมกา ไม่ได้มีแค่เสียงจากฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักกิจกรรม และประชาชนชาวจาไมกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสียงจากฝ่ายรัฐบาลของจาไมกาชุดปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคแรงงาน ที่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน พรรคนี้เคยคัดค้านการยุบสภาองคมนตรี และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนไปใช้ระบบศาลยุติธรรมแห่งแคริบเบียน อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ขณะที่ดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เสด็จฯ เยือนจาไมกานั้น บีบีซีรายงานว่าแอนดรูว์ โฮลเนสส์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานของจาไมกาได้บอกกับเจ้าชายวิลเลียมว่า “จาไมกาเตรียมเดินหน้าตามเป้าหมายที่จะมีอิสรภาพอย่างแท้จริง” และพร้อมระบุว่ามีประเด็นบางอย่าง “ที่ไม่ได้รับการแก้ไข” แต่การเสด็จฯ เยือนของราชวงศ์อังกฤษครั้งนี้อาจเป็นโอกาสดีที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการแก้ไขเสียที บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่าปัญหาดังกล่าวที่นายกรัฐมนตรีจาไมกาพูดถึงนั้นคือเสียงเรียกร้องจากประชาชนชาวจาไมกาที่ต้องการให้รัฐบาลถอดถอนตำแหน่งกษัตริย์อังกฤษออกจากการเป็นประมุขของประเทศ เพื่อชดใช้เรื่องการค้าทาสในยุคอาณานิยม นอกจากนี้ บีบีซียังรายงานว่านายกรัฐมนตรีของจาไมกากล่าวว่าประเทศของเขากำลังก้าวไปข้างหน้า เขาและชาวจาไมกาต้องการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงเติมเต็มความทะเยอะทยาน และโชคชะตาด้วยตนเองในฐานะประเทศเอกราชที่มั่งคั่งและพัฒนาแล้ว

 

 

ต่อมา ในงานเลี้ยงอาหารค่ำในวันที่ 24 มี.ค. 2565 เจ้าชายวิลเลียมได้กล่าวว่าพระองค์ทรงเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกรณีการค้าทาสในอดีตที่อังกฤษกระทำต่อชาวจาไมกา พร้อมระบุว่า “การค้าทาสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรจะเกิดขึ้น และเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของเราตลอดไป” อย่างไรก็ตาม จอห์นนี่ ดีมอนด์ นักข่าวสายวังของบีบีซีวิเคราะห์ว่าคำพูดของเจ้าชายวิลเลียมสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่มีมานานระหว่างอังกฤษและจาไมกา แต่เขามองว่าการกล่าวคำว่า ‘เสียใจ’ ไม่เท่ากับการกล่าวคำว่า ‘ขอโทษ’ เพราะการกล่าวคำว่าขอโทษนั้นหมายถึงการยอมรับความผิดจากการกระทำในอดีตและเปิดทางไปสู่การชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากนี้ ดีมอนด์ยังระบุว่าร่องรอยความเจ็บปวดในประวัติศาสตร์ของชาวจาไมกาต่อเรื่องการค้าทาสนั้นยังคงอยู่ และเสียงที่ถูกกดทับจากในอดีตค่อยๆ ดังขึ้นตามกาลเวลาจากรุ่นสู่รุ่น

เจ้าชายวิลเลียมขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่งานเลี้ยงอาหารค่ำ จัดโดยรัฐบาลจาไมกา (ภาพจากสำนักพระราชวังอังกฤษ)
 

ปลดกษัตริย์ สร้างสาธารณัฐที่แท้จริง

เวอร์นอนกล่าวว่าการปลดพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ออกจากการเป็นประมุขแห่งรัฐของจาไมกานั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะถึงแม้คนจะตระหนักได้ว่าผลกระทบด้านลบจากมรดกตกทอดยุคอาณานิคมยังคงมีอยู่ แต่ความรู้สึกว่า “อังกฤษคือประเทศแม่” ก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน เขาบอกว่าชาวจาไมกายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าประเด็นวินด์รัชซึ่งเป็นการค้าแรงงานทาสยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นคือมุมมองที่ประเทศอังกฤษมีต่อพวกเขา เพราะการรายงานข่าวเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลายนักในจาไมกา อย่างไรก็ตาม เวอร์นอนเห็นด้วยว่าช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ชาวจาไมกาจะทำประชามติถอดถอนพระราชินีอังกฤษออกจากการเป็นประมุขของรัฐนั้นมาถึงแล้ว

อย่างไรก็ตาม การค้าแรงงานทาสชาวจาไมกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่โดยจักรวรรดิอังกฤษ แต่ในช่วงเวลากว่า 300 ปีที่อังกฤษปกครองจาไมกา ผู้ปกครองชาวอังกฤษได้นำทาสชาวแอฟริกันหลายพันคนเดินทางมาที่จาไมกาตามเส้นทางการค้าทาสในมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Slave Trade) และปกครองทาสเหล่านั้นอย่างโหดร้าย ป่าเถื่อน ตลอดระยะเวลาการปกครองของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม แรงงานทาสชาวจาไมกาได้ลุกขึ้นมาก่อกบฎต่อต้านการปกครองที่กดขี่อย่างนับครั้งไม่ถ้วน โดยหนึ่งในการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเรื่องราวของ “ควีนแนนนี่” ทาสหญิงจากกลุ่มเมารูนที่ลุกขึ้นมาสู้กับกองทัพอังกฤษ และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีเพียงหนึ่งเดียวใน 8 วีรบรรพชนแห่งชาติจาไมกา

เอมิลี โซเบล มาร์แชล อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณกรรมหลังยุคอาณานิคม คณะวัฒธรรมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์เบ็กเค็ตต์ (Leeds Beckett University) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมแคริบเบียนให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนว่าการประกาศปลดสถาบันกษัตริย์อังกฤษออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของบาร์เบโดส ประเทศที่ได้สมญานามว่า “อังกฤษน้อย” (Little England) สร้างความประหลาดใจให้ชาวโลกอย่างมาก และถือเป็นความสำเร็จของมีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบาร์เบโดสที่สร้างความประทับใจให้ชาวโลกในฐานะผู้นำหญิงแกร่ง ขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ ในแคริบเบียนที่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษยังคงกลัวว่าการประกาศ ‘ปลดสถาบันกษัตริย์อังกฤษ’ จะทำให้เสียคะแนนนิยม

ผู้ประท้วงชาวจาไมกาถือป้ายเรียกร้องให้ราชวงศ์อังกฤษขอโทษและชดใช้ต่อกรณีการค้าทาสที่กดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวจาไมกาในยุคอาณานิคม (ภาพจาก democracynow.org)
 

โซเบล มาร์แชล กล่าวว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ควรกังวลเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติ แต่ควรทำงานร่วมกับรัฐบาลอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการพูดคุยกับประเทศในแถบทะเลแคริบเบียนให้การประกาศตนเป็นอิสรภาพเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ และทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นรู้สึกได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างมีความหมาย การส่งสมาชิกราชวงศ์ที่มีข่าวฉาวน้อยที่สุดออกไปเยือนแคริบเบียนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร นอกจากเป็นการตอกย้ำภาพความรุ่งเรืองของสถาบันกษัตริย์อังกฤาในอดีต สิ่งที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษควรทำคือการพูดถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศในแถบแคริบเบียน

“เรามีการค้าทาสมาหลายร้อยปี ตามมาด้วยยุคล่าอาณานิคมในทะเลแคริบเบียน ความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยจักรวรรดิอังกฤษนั้นใหญ่หลวงมาก และมรดกตกทอดจากสิ่งเหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไป การมีพระราชินีแห่งอังกฤษเป็นประมุขแห่งรัฐแบบทุกวันนี้ทำให้ฉันรู้สึกสับสนมาก” เธอกล่าว

“ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่[แสดงออกว่า]ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งในระบบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศในทะเลแคริบเบียนจะต้องภาคภูมิใจว่าพวกเขามีสิทธิเป็นของตัวเอง และไม่มีพันธนาการใดๆ กับอังกฤษ” เธอกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ด้านสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าไมค์ เฮนรี อดีต ส.ส. 10 สมัยของจาไมกา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ทางโทรศัพท์ว่าการกล่าวขอโทษเป็นเพียงก้าวแรกของการปลดล็อก “การกระทำที่ละเมิดต่อชีวิตมนุษย์และแรงงาน” โดยเฮนรีเป็นบุคคลที่พยายามอย่างยาวนานเพื่อเรียกร้องให้อังกฤษชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากกรณีการค้าทาส ซึ่งเขาประเมินว่าค่าเสียหายที่อังกฤษต้องจ่ายเป็นเงินสูงกว่า 7,000 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ ผู้นำทางความคิดของจาไมกาจำนวน 100 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักการเมือง ลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้ราชวงศ์อังกฤษออกมาขอโทษและชดใช้ต่อการค้าทาสในอดีต พร้อมระบุว่าพวกเขาต่อต้านการเสด็จฯ เยือนของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการประชาสัมพันธ์พระราชพิธีฉลองครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ และตรงกับการครบรอบ 60 ปีที่จาไมกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ โดยกลุ่มผู้นำทางความคิดของจาไมการะบุว่าพวกเขาจะฉลอง 60 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพของจาไมกา เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของชาวจาไมกาที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมจากยุคอาณานิคม

“เราไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องฉลองครบรอบ 70 ปีที่พระอัยยิกา (ย่า) ของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์บนบัลลังก์กษัตริย์แห่งอังกฤษ เพราะการขึ้นมาเป็นผู้นำของพระองค์ซึ่งมาจากการสืบสายเลือดบนบัลลังก์นั้น นำมาซึ่งโศฏนาฏกรรมครั้งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ” ข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์จากกลุ่มผู้นำทางความคิดในจาไมการะบุ

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net