Skip to main content
sharethis

หมอซินเธีย ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ของเกาหลีใต้ คณะกรรมการให้เหตุผลว่า หมอซินเธียทำกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้กับอนาคตของพม่า

 

หมอซินเธีย

3 พ.ค. 2565 ซินเธีย หม่อง หรือ หมอซินเธีย ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ของเกาหลีใต้ คณะกรรมการให้เหตุผลว่า หมอซินเธียทำกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้กับอนาคตของพม่า

แม่ตาวคลินิกก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ. 2532 โดยหมอซินเธียกว่า กว่า 33 ปี ที่แม่ตาวคลินิกรับรักษาคนไข้ยากจนตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งประชากรในพื้นที่ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย

 

หมอซินเธียเกิดในครอบครัวชาวกะเหรี่ยงที่ย่างกุ้งในปี 2502 พ่อเป็นผู้ช่วยพยาบาล เธอเติบโตที่มะละแหม่ง รัฐมอญ ต่อมาเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ช่วงปี 2523 ซึ่งขณะนั้นขบวนการนักศึกษาพม่าเริ่มก่อตัว ปี 2530 หมอซินเธียเริ่มทำงานเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านอินตู (Eain Du) ในรัฐกะเหรี่ยง เมืองที่อยู่ไม่ไกลจากผาอันเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเมืองเมียวดีที่ชายแดนไทย-พม่า ที่นี่เองหมอซินเธียได้เห็นการละเมิดของกองทัพพม่า ทั้งการบังคับเก็บภาษี การเกณฑ์แรงงาน การเข้าถึงแพทย์เป็นไปอย่างจำกัดในขณะที่วัณโรคกำลังระบาด

กระทั่งเกิดการลุกฮือประท้วงในย่างกุ้งและลามไปทั่วประเทศในพ.ศ. 2531 หรือเหตุการณ์ 8888 (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) หมอซินเธียได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย หลังกองทัพพม่าปราบปรามนักศึกษาในเดือนสิงหาคมนั้น วันที่ 21 กันยายนหมอซินเธียและเพื่อนอีก 14 คนก็ตัดสินใจเดินเท้าเป็นเวลา 10 คืนจนมาถึงชายแดนไทย หมอซินเธียรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บตามแนวชายแดน จนกระทั่งเปิดแม่ตาวคลินิกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จากบ้านไม้หลังเล็กๆ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

แต่ละปีแม่ตาวคลินิกรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ในจำนวนนี้เป็นการทำคลอดราว 2,300 ราย และที่นี่ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขให้กับอาสาสมัครและบุคลากรสาธารณสุขขั้นพื้นฐานมาแล้วมากกว่า 2,000 คน

แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง รักษาผู้ป่วยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายในปี 2532

(ที่มา: แม่ตาวคลินิก)

แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง รักษาผู้ป่วยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายในปี 2533

(ที่มา: แม่ตาวคลินิก)

คนที่เคยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2549 ต่อมาในปี 2560 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักศึกษา ม.ขอนแก่น (ในขณะนั้น) และอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 ในฐานะผู้ยืนหยัดสู้กับความอยุติธรรมจากรัฐ

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) คือ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 (พ.ศ.2523) มูลนิธิฯ เริ่มมอบรางวัลให้แก่บุคคลที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 โดย ชานานา กุฌเมา นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวชาวติมอร์-เลสเต ผู้นำการปลดปล่อยประเทศจากอินโดนีเซีย เป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net