‘ทนายอานนท์’ ได้รับรางวัล 'กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน' ของเกาหลี ในฐานะผู้ยืนหยัดสู้กับความอยุติธรรมจากรัฐ

อานนท์ นำภา ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ของเกาหลีใต้ กก.ให้เหตุผลว่า ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องวยาวนาน และยืนหยัดต่อสู้แม้ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมจากรัฐ

14 ม.ค. 2564 สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า อานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)  โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่าทนายอานนท์ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องวยาวนาน และยืนหยัดต่อสู้แม้ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมจากรัฐ

อานนท์เริ่มต้นอาชีพในฐานะทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยทำหน้าที่ทนายอาสา ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงว่าความให้ฟรีแก่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ต่อมา ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 อานนท์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงใช้ลงโทษนักเคลื่อนไหวด้านการเมืองและด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง อานนท์ยังให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกจับขึ้นศาลทหารเพราะการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการทำรัฐประหารในครั้งนั้น

นอกจากนี้ ใน พ.ศ.2557 อานนท์ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizens) กับกลุ่มนักเคลื่อนไหว เพื่อต่อสู่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่คนในสังคม ทั้งยังเป็น 1 ในผู้นำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ.2561

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ปีที่แล้ว อานนท์กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประชาชนปลดแอกและเครือข่ายภาคี อานนท์เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเขาเน้นย้ำไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิไตยในไทยไปอีกขั้น ภายหลังการปราศรัยวันนั้น อานนท์ถูกตำรวจแจ้งจับ 4 ข้อหา ได้แก่ ฐานยุยงปลุกปั่นกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ได้รับการประกันตัวออกมาโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภาพอานนท์ กล่าวชักชวนคนที่ผ่านไปผ่านมาเข้าร่วมการชุมนุม และขอให้ตำรวจไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่มาชุมนุม และผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นเริ่มลงมาบนถนนด้านหน้าแมคโดนัลด์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 (ภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราช)

แม้ทราบดีว่าต้องเผชิญความเสี่ยงถูกตั้งข้อหาและถูกคุมขังจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อานท์ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐเผด็จการ และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการตัดสินของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึกจึงเลือกให้อานนท์เป็นเจ้าของรางวัลสูงสุดประจำปีนี้

นอกจากทนายอานนท์แล้ว ยังมีกลุ่ม Watchdoc Documentary Maker จากประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับรางวัลพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ด้วยผลงานการผลิตสารคดีด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า 200 ตอน และละครสั้นฉายทางโทรทัศน์กว่าอีก 700 ตอนที่สะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งหลักนิติธรรม การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สิทธิสตรี ชนกลุ่มน้อย และประวัติศาสตร์ ผลงานสารคดีของกลุ่ม Watchdoc Documentary Maker เปิดให้ชมฟรีผ่านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและโรงเรียน ซึ่งถือว่าสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนได้ในวงกว้าง ทั้งยังได้รับรางวัลจากหลายเวที เช่น CinemAsia Film Festival ในกรุงอัมสเดอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ International Anti-Corruption East Asia Documentary Film Festival ในประเทศบราซิล

ก่อนหน้านี้ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2549 ต่อมาในปี 2560 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักศึกษา ม.ขอนแก่น (ในขณะนั้น) เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าของรางวัลนี้

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) คือ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 (พ.ศ.2523) มูลนิธิฯ เริ่มมอบรางวัลให้แก่บุคคลที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 โดย ชานานา กุฌเมา นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวชาวติมอร์-เลสเต ผู้นำการปลดปล่อยประเทศจากอินโดนีเซีย เป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลนี้

ที่มา :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท