สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 พ.ค. 2565

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย (สมภพ.) หารือผู้ประกอบการเปิดโอกาสให้ผู้พักโทษได้รับโอกาสกลับเข้าตลาดแรงงาน ลดอัตราทำผิดซ้ำ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า โดยมีนางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย (สมภพ.) ร่วมลงพื้นที่ด้วย

นายวีริศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมอบนโยบายและหารือแนวทางการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโครงการ "สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม" เพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้พักโทษและผู้พ้นโทษได้กลับคืนสู่สังคม คืนแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งแรงงานในตลาดอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแรงงานผู้พ้นโทษต่อปีมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นคนในวัยแรงงาน มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งยังได้รับการฝึกทักษะที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ

"การเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้พ้นโทษเหล่านี้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ไม่กลับไปก่ออาชญากรรมซ้ำอีก เป็นการลดปัญหาอาชญากรรมในชุมชนและสังคม รวมถึงมีส่วนช่วยให้คนกลุ่มนี้กลับมาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป”

สำหรับผู้พ้นโทษที่ต้องการปฏิบัติงานในโรงงาน ควรได้รับการฝึกทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การทำงานกับเครื่องจักร การทำบัญชีเบื้องต้น โดยมีโรงงานเป็นผู้กำหนดหลักสูตรอบรมทักษะจำเป็น เมื่อพ้นโทษออกมาหรือเมื่อรับการฝึกอบรมเสร็จแล้วสามารถเข้าปฏิบัติงานในนิคมฯ ได้ทันที

ด้านนางสาวนันทรัศมิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้พักโทษที่จะเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งนั้น จะมีคณะกรรมการดูแลควบคุมผู้พักโทษ และมีการติดกำไล EM (อุปกรณ์ใช้สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะคล้ายนาฬิกา หรือสายรัดข้อเท้า โดยมีตัวอุปกรณ์ส่งรับสัญญาณ เพื่อให้ศูนย์ควบคุมสามารถติดตามตัวได้)

ทั้งนี้ สมภพ.จะบริหารจัดการเพียงในเชิงเทคนิค แต่สิ่งสำคัญคือ ยิ่งให้โอกาสมากเท่าไหร่ การกระทำผิดซ้ำก็จะลดลงทันที เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้รับความเชื่อมั่น ได้รับการยอมรับ และมีผู้เห็นคุณค่า ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมทันที ทำให้คนเหล่านั้นได้รับโอกาสในสังคม

“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะดีหรือเลว ล้วนเคยเป็นคนดีมาก่อน เมื่อวันหนึ่งต้องกลายเป็นคนไม่ดี คำที่จะทำให้คนเหล่านั้นกลับมามีชีวิตที่ดีได้ก็คือ โอกาส หากผู้ประกอบการเห็นว่า การให้โอกาสเป็นประโยชน์ และสามารถทำให้คนเหล่านี้มีชีวิตรอดได้ ก็อยากขอให้พิจารณาให้โอกาสคนเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่า เขาเหล่านี้จะกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/5/2565

เร่งพัฒนาแรงงานเขตพื้นที่พิเศษ เสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้า 12,480 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด -19 โดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) เพื่อให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตพร้อมเพรียงกันทุกภาค ช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย การเตรียมความพร้อมด้านทักษะของแรงงานจึงสำคัญเพื่อรองรับการเจริญเติบโตตามเส้นทางการคมนาคม

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานนั้น ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนา และยกระดับทักษะฝีมือด้านการท่องเที่ยว ด้านดิจิทัล และ ภาษาต่างประเทศให้กับกำลังแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ และกำลังแรงงานทั่วไป ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจให้มีจำนวนเพียงพอรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ และสอดคล้องกับความต้องการของภาคท่องเที่ยวและบริการ เช่น หลักสูตรด้านภาษา หลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ หลักสูตรการท่องเที่ยววิถีไทยในชุมชนยุค Thailand 4.0 หลักสูตรการพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับงานบริการ หลักสูตรการสร้างการบริการที่ประทับใจ และหลักสูตรเทคนิคการเป็นผู้นำท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยว

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้น 12,480 คน ได้แก่โครงการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 7,200 คน โครงการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 4,600 คน อีกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือ โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าสูง กลุ่มนี้มีเป้าหมายอีก 680 คน ดำเนินการแล้วทั้ง 3 โครงการ รวม 9,921 คน โดยหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานทั่วไปและแรงงานในสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว และบริการให้มีความพร้อม สามารถพัฒนาทักษะให้เป็นแรงงานฝีมือในยุค 4.0

"ผู้สนใจเข้าฝึกอบรมสามารถสมัครฝึกอบรมกับหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 อีกช่องทางหนึ่ง" นายประทีป กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/5/2565

ผู้นำแรงงานขอบคุณนายกผ่าน รมว.แรงงาน ปลดล็อค พ.ร.บ.ประกันสังคม ‘3 ขอ’

11 พ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับกลุ่มผู้นำแรงงาน นำโดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม และคณะ ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อมอบช่อดอกไม้แสดงความขอบคุณรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้ดำเนินการช่วยผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.65) เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มผู้นำแรงงานได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางแผนการปฏิรูปประกันสังคม เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ และนำเงินกรณีชราภาพที่ตนเองสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนได้ ตลอดจนรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับนี้ ได้แก่

1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้

2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย

5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง และ 6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในนามกลุ่มผู้นำแรงงานต้องขอบคุณรัฐบาลที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างดี เนื่องจากร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรงอย่างแท้จริง

ที่มา: ข่าวสด, 11/5/2565

แรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มแรก 288 คน เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตาม MOU ผ่านด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

10 พ.ค. 2565 แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาในระบบเอ็มโอยู ระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศเมียนมา จำนวน 288 คน ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยผ่านด่านพรแดมนแม่สอด-เมียวดี ช่องทางถาวรทางบก บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.ตม.แม่สอด พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เดินทางไปตรวจความเรียบร้อย ซึ่งบรรยากาศต่างฝ่ายต่างดีใจ และมีความรู้สึกที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ที่จะได้มีโอกาสมาทำงานในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนแรกแรงงานต้องนำกระเป๋าสัมภาระทั้งหมดไปวางในพื้นที่ตรวจเก็บกระเป๋าสัมภาระจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคพร้อมนำชุดสุนัขสงครามเข้าตรวจค้นหาวัตถุต้องห้ามทั้งยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย จากนั้นแรงงานจะถูกนำตัวไปเข้าแถวเพื่อตรวจเอกสารสำคัญประจำตัวของแรงงาน และเอกสารการลงทะเบียนแรกรับพร้อมนำตัวไปถ่ายรูปเก็บเป็นฐานข้อมูลกรมการจัดหางานพร้อมนำตัวแรงงานไปตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ​​และเข้าสู่ขบวนการการตรวจลงตราวีซ่าของด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากจนถึงขั้นตอนสุดท้ายเป็นการตรวจโรคอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลในอำเภอแม่สอดเพื่อตรวจหาโรคต้องห้ามจำนวน 6 โรคต้องห้าม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/5/2565

ครม.เคาะค่าจ้างแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา สูงสุด 650 บาท/วัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

โดยแบ่งเกณฑ์วัดระดับฝีมือแรงงาน เป็น 3 ระดับ และมีเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา

การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ มีการกำหนดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ 1 กลุ่มสาขาอาชีพ รวม 4 สาขา โดยมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ดังนี้

1. กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง (กลุ่มสาขาอาชีพเดิม) รวม 5 สาขา คือ

- สาขาช่างติดตั้งยิปซั่ม มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 595 บาท/วัน

- สาขาช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 645 บาท/วัน

- สาขาช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน ระดับ 3 - ค่าจ้าง 650 บาท/วัน

- สาขาช่างสีอาคาร มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 465 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 600 บาท/วัน

- สาขาช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 475 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 575 บาท/วัน

2. กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ (กลุ่มสาขาอาชีพเดิม) รวม 7 สาขา คือ

- สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 460 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 475 บาท/วัน

- สาขาผู้ประกอบขนมอบ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 505 บาท/วัน

- สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 565 บาท/วัน

- สาขาพนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน

- สาขาช่างแต่งผมสตรี มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 510 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน

- สาขาช่างแต่งผมบุรุษ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 430 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 630 บาท/วัน

- สาขาการดูแลผู้สูงอายุ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 500 บาท/วัน

3. กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ (กลุ่มสาขาอาชีพที่กำหนดขึ้นใหม่) รวม 4 สาขา คือ

- สาขาช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน

- สาขาช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 430 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน

- สาขาช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 525 บาท/วัน

- สาขาช่างเครื่องถม มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 625 บาท/วัน

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ที่มา: PPTV, 10/5/2565

ครม.เห็นชอบอนุมัติหลักการ 3 ขอ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

10 พ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (10 พ.ค.65) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตนนั้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

นายสุชาติ กล่าวว่าสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับนี้ ได้แก่ 1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้ 2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้) 3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน 4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย 5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง และ 6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

“การปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/5/2565

กสร. เข้าตรวจสอบ "พรอมเมนาดา เชียงใหม่" พบยังไม่มีการเลิกจ้าง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีศูนย์การค้า พรอมเมนาดา จังหวัดเชียงใหม่ประกาศปิดกิจการชั่วคราว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้สั่งการให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าให้การช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของศูนย์การค้า กรมฯ จึงได้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที โดยได้รับข้อมูลเบื้องต้นจาก นายโจเวลเพร์ท ลิมาลิมา กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนของบริษัทอีซีซี เชียงใหม่ โครงการ 1 จำกัด

ผู้บริหารศูนย์การค้าฯ ว่า บริษัทฯปิดศูนย์การค้าฯ กะทันหัน เนื่องมาจากปัญหาการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามที่จะชำระค่าไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมีหนังสือแจ้งการไฟฟ้าขอชำระค่าไฟฟ้าที่ คงค้างทั้งหมดภายใน 45 วัน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ โดยบริษัทฯ กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์นี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับการร้องเรียนใดๆ จากลูกจ้าง เนื่องจากทางบริษัทฯยังไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง และให้ทำงานตามปกติ โดยมีบางส่วนทำงานที่บ้าน (Work from home) และย้ายไปทำงานสาขาอื่น ซึ่งทางบริษัทฯ ยังจ่ายค่าจ้างตามปกติให้แก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ กรมฯ ได้ชี้แจงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางการให้ความช่วยเหลือให้กับทางบริษัทฯที่บริหารศูนย์การค้า และขอให้ทางบริษัทฯนัดหมายร้านค้าต่างๆ เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายต่างๆ ให้รับทราบต่อไป

นายนิยม สองแก้ว อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ จะติดตามสถานการณ์การจ้างงานของศูนย์การค้าฯ แห่งนี้อย่างใกล้ชิด หากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ต้องการได้รับการช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 5389 0472 - 3 หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/5/2565

ขึ้นทะเบียนว่างงาน-หางาน ผ่าน E- service กับ 5 อันดับอาชีพที่ต้องการมากที่สุด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของประชาชน ซึ่งกระทรวงแรงงานขานรับนโยบาย โดยมุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ประหยัดเวลา สอดคล้องกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับบริการของประชาชนที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน หรือถูกลูกเลิกจ้าง ให้สามารถขึ้นทะเบียนว่างงาน รายงานตัว ตรวจสอบข้อมูลขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน และหางานทำ ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-service.doe.go.th เบ็ดเสร็จในจุดเดียว (Single Window) จากนั้นรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นเอกสารที่สำนักงาน ในระหว่างนี้ยังสามารถหางาน ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ที่ปัจจุบันรวบรวมตำแหน่งงาน ไว้ถึง 216,240 อัตรา รวมทั้งค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสการมีงานทำ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากรายงานสรุปการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ในเดือนเมษายน 2565 พบว่ามีประชาชนยื่นขอรับสิทธิ์กรณีว่างงานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 81,151 คน ซึ่งกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเตรียมตำแหน่งงานว่างจากทั่วประเทศ (Active ในระบบ) จำนวน 216,240 อัตรา เพื่อให้บริการประชาชนที่ประสงค์มีงานทำ โดยตำแหน่งงาน 5 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่

1. แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์

2. แรงงานด้านการประกอบ

3. พนักงานขายของหน้าร้านและสาธิตสินค้า

4. ตัวแทนจัดหาบริการทางธุรกิจและนายหน้าการค้าอื่น ๆ

5. ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน หรือถูกเลิกจ้าง และต้องการรับสิทธิ์กรณีว่างงานสามารถขอรับบริการได้ที่เว็บไซต์ e-service.doe.go.th หากใช้บริการครั้งแรกให้ทำการลงทะเบียนขอใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทาง Digital ID ของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เพื่อยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน จากนั้นจึงเข้าสู่ระบบ เพื่อทำการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แนบไฟล์หน้าสมุดบัญชีธนาคาร หลังจากขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว สามารถตรวจสอบผลการขึ้นทะเบียนได้ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องรายงานตัวอย่างน้อยเดือนละครั้งตามตารางนัดหมาย กรณีมีงานทำแล้วให้แจ้งการมีงานทำ โดยกรอกวันเดือนปีที่เริ่มงาน ตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง ชื่อสถานประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิ์ หากต้องว่างงานอีกครั้ง โดยผู้ที่ต้องการตรวจสอบการขึ้นทะเบียน การรายงานตัว การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน สามารถตรวจสอบที่เมนู “ข้อมูลขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน”

โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนฯ หลังจากมีการรายงานตัวตามกำหนด ซึ่งหากต้องการติดตามการจ่ายประโยชน์ทดแทนสามารถติดต่อที่สายด่วน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม นอกจากนี้หากต้องการค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเอง สามารถใช้บริการได้ที่ แพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ที่ให้บริการทั้ง Web Application และ Mobile Application โดยจะ Matching ตำแหน่งงานตามพื้นที่ และ ภูมิลำเนา รวมถึงจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ และทักษะตามข้อมูลของผู้ใช้บริการ ซึ่งกรมการจัดหางานได้รวบรวมข้อมูลการจ้างงานจากภาครัฐที่เชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ. ที่มีตำแหน่งงานจากหน่วยงานราชการกว่า 300 หน่วยงาน ตำแหน่งงานภาคเอกชน และตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานชั้นนำ

ที่มา: TNN, 9/5/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมความพร้อมจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เชียงใหม่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยผู้ประกอบกิจการ และแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ จากการที่ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิดและไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้ ส่งผลให้มีแรงงานถูกเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการ พนักงาน ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ต้องการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อให้สามารถนำความรู้ ทักษะที่ได้ไปประกอบอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ โดยสอบถามความต้องการของแรงงานที่ต้องการจะฝึกอบรม เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น หลักสูตร การประกอบอาหารไทย อาหารนานาชาติ การทำเบเกอรี การผสมเครื่องดื่ม เกษตรสมัยใหม่ การขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้นสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการรายย่อยนั้น ได้ประสานกับผู้แทนห้างฯ ขอให้ติดต่อร้านค้ารายย่อย ที่มีความต้องการจะเข้ารับการพัฒนาทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือสร้างรายได้ระหว่างรอห้างสรรพสินค้าฯเปิดดำเนินการ โดยจะเข้าไปพบกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวพร้อมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคมจังหวัด จัดหางานจังหวัด แรงงานจังหวัด เพื่อช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนต่อไป

ผู้ที่สนใจต้องการเข้ารับการฝึกอบรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีหลักสูตรฝึกอบรมมากกว่า 1,000 หลักสูตร สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ โทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 9/5/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท