Skip to main content
sharethis


ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล

14 พ.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสภานิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาประกาศยกเลิก คำนำหน้าระบุเพศ เป้าหมายคือความเสมอภาคทางเพศ หลังจากการประกาศนำร่องดังกล่าวนั้น สโมสรนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยประกาศยกเลิกการใช้คำนำหน้าเช่นเดียวกัน

ธัญวัจน์ กล่าวว่า กรณีนี้สังคมอาจมองเป็นก้าวเล็กๆ ของสภานิสิต แต่ ธัญวัจน์ มองว่ามีผลต่อภาพใหญ่ของสังคม เพราะในอนาคตอาจไม่ต้องการใช้คำนำหน้าชื่อแต่อย่างใดเพื่อระบุเพศ

ธัญวัจน์ อธิบายต่อว่าคำนำหน้าชื่อมีผลอย่างไรต่อความเสมอภาคทางเพศ โดยยกตัวอย่างจากในอดีตที่ผ่านมา พระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง เคยบัญญัติให้ ผู้หญิงที่ยังไม่ได้สมรสและอายุมากกว่า 15 ปีให้ใช้คำว่า นางสาว นำหน้าชื่อ แต่หากสมรสแล้วให้ใช้คำว่า นาง นำหน้าชื่อ ซึ่งสองคำนี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้หญิง เพราะคำว่า “นางสาว” ถูกให้คุณค่าแบบหนึ่ง และคำว่า “นาง” ถูกให้คุณค่าอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เท่ากัน จนนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง ให้ผู้หญิงสามารถเลือกใช้คำนำหน้าใดก็ได้ภายหลังจากการสมรส

ด้านสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรได้ออกกฎหมาย Gender Recognition เมื่อปี 2547 ที่ให้บุคคลข้ามเพศ (Transgender) สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศสภาพได้ จากปัญหาที่เพศสภาพไม่ตรงกับเอกสารทำให้กลุ่มคนข้ามเพศประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตรวมถึงการเดินทางในต่างแดน และมีอีกหลายประเทศมีกฎหมายดังกล่าวออกมาเช่นกัน อาทิเช่น สเปน อาเจนตินา อุรุกวัย เป็นต้น

ธัญวัจน์กล่าวว่า ทุกประเทศมีฝ่ายที่เห็นด้วยและมีฝ่ายที่ต่อต้านและถกเถียงกันมาตลอดเกือบ 20 ปี จึงมองว่านี่คือการปรับตัวของสังคมสู่ความเข้าใจใหม่ว่า คำนำหน้านั้นไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเพศกำเนิด คำนำหน้าคือการแสดงออก ตามแนวคิด SOGIESC

“หากการเปลี่ยนคำนำหน้าโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นข้อตกลงของสังคม ก็จะนำไปสู่สังคมไม่ยึดติดกับคำนำหน้าอีกต่อไป คำนำหน้ากลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นทางการ และจะต้องยกเลิกการใช้คำนำหน้าในที่สุด เพราะถ้าทุกอย่างสำคัญเท่ากันมันเท่ากับไม่มีอะไรสำคัญนั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องมีคำนำหน้า” ธัญวัจน์ กล่าว

ธัญวัจน์ ระบุต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องเก็บข้อมูลเพศโดยออกกฎหมาย รับรองเพศ ต่างหาก เพื่อการจัดสรรงบประมาณ ออกแบบมาตรการส่งเสริมความเสมอภาค กองทุน และ ด้านสุขภาพ รวมถึงการจัดการของรัฐในการบริการที่เหมาะสม รวมถึงพื้นที่ที่ต้องเป็นความปลอดภัย

“สิ่งที่สภานิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาประกาศยกเลิกคำนำหน้าระบุเพศ จึงเป็นภาพใหญ่ปลายทางที่กระโดดข้ามสู่ความสำเร็จที่สังคมไม่ตัดสินกันด้วยคำนำหน้า แต่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้าใจคนคนนั้นในฐานะที่เป็นปัจเจก ไม่มีอคติใดใด หรือภาพเหมารวมมายาคติด้านเพศจากคำนำหน้าอีกต่อไป ที่จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการลดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ” ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net